ลงขันสร้างสรรค์เมือง ผ่าน Civic Crowdfunding

คนกรุงเทพฯ กำลังตื่นตัวเตรียมเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้เราได้เห็นนโยบายพัฒนาเมืองหลากหลายรูปแบบจากผู้สมัคร จนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า อยากให้เมืองที่อยู่พัฒนาไปในรูปแบบไหน อะไรเป็นนโยบายสำคัญที่ผู้ว่าฯ ในฝันควรเริ่มจัดการก่อน และเราเองมีส่วนร่วมสร้างเมืองที่อยากอยู่ได้อย่างไรอีกบ้างนอกเหนือจากการลงคะแนนเลือกผู้ว่าฯ ซึ่งเทคโนโลยีก็เอื้อให้เรามีบทบาทได้มากขึ้นผ่านเครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า Civic Crowdfunding

Civic Crowdfunding คือการระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในสังคมไทย ที่ในอดีตจนถึงปัจจุบันเรามีสถาบันทางศาสนาเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมเงินบริจาคจากคนในชุมชนเพื่อพัฒนาท้องที่ ตั้งแต่การซ่อมโรงเรียน สร้างศูนย์ชุมชน ตั้งโรงครัวช่วยคนเดือดร้อน เป็นต้น

แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้ทำให้การริเริ่มโครงการมาจากใครก็ได้ที่มีไอเดียดีและศักยภาพทำงาน ไม่จำเป็นต้องผ่านศูนย์กลาง ซึ่งเพิ่มจำนวนผู้เล่นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งจากคนทั่วไป วิสาหกิจชุมชน องค์กรประชาสังคม หน่วยงานรัฐ ไปจนถึงบริษัทเอกชน ความหลากหลายนี้ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาเดิมที่มี และทำให้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการพัฒนาเมือง

นอกจากนี้แล้วยังช่วยสร้างธรรมาภิบาลการทำโครงการจากภาคประชาชน ทั้งเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ของโครงการ ที่ต้องมีข้อมูลพื้นฐานก่อนเริ่มระดมทุน จำนวนเงินที่ต้องการใช้ จำนวนเงินที่ได้รับบริจาคไปแล้ว รวมไปถึงอัปเดตผลงานหลังระดมทุนและทำโครงการเสร็จ

เมืองที่เอา Civic Crowdfunding มาใช้อย่างจริงจังคือ มหานครลอนดอนผ่านนโยบาย “Crowdfund London” ซึ่งริเริ่มโดยนายกเทศมนตรีตั้งแต่ปี 2014 และขยายผลต่อช่วงการระบาดโควิด-19 ผ่าน “Make London” ซึ่งได้ร่วมมือกับ Civic Crowdfunding platform “Spacehive” เพื่อเปิดพื้นที่ระดมทุนให้โครงการริเริ่มโดยชุมชนที่จะช่วยให้มหานคร

ลอนดอนสามารถฟื้นตัวหลังโควิด-19 โดย City Hall จ่ายค่า fee ในการระดมทุนให้ และมี matching fund สนับสนุนมากถึง £50,000 ต่อโครงการ ซึ่งจำนวนเงินสนับสนุนขึ้นอยู่กับเขต/แขวงของโครงการ งบประมาณรวมที่ต้องใช้ และจำนวนเงินและจำนวนประชาชนที่ร่วมลงขันกับโครงการผ่าน Crowdfunding

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะนายกเทศมนตรีมหานครลอนดอนอยากได้ไอเดียใหม่ในการพัฒนาเมือง โดยเชื่อว่าคนที่คิดวิธีแก้ปัญหาพื้นที่ตัวเองได้ดีที่สุดก็คือคนที่อยู่ หรือองค์กรที่ทำงานในชุมชน และยังช่วยสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาในพื้นที่ตอนทำโครงการจริงอีกด้วย

รวมถึงเป็นการทดลองจัดสรรงบประมาณเมืองแบบเปิดตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้มีโครงการเกิดขึ้นแล้ว 177 โครงการ รวมเป็นเงิน £6,820,753 ซึ่งมาจากงบประมาณของมหานครลอนดอน และจากประชาชนอีก 25,871 คน

ถึงจะไม่มีการริเริ่มจากภาครัฐแบบแข็งขันเช่นมหานครลอนดอน ในประเทศไทยมี Civic Crowdfunding platform ชื่อเทใจดอทคอม (Taejai.com) ที่ก่อตั้งมาแล้ว 10 ปี โดยสนับสนุนโครงการไปแล้วกว่า 479 โครงการ จากประชาชนผู้สนับสนุนมากกว่า 150,000 คน รวมเป็นเงินกว่า 250 ล้านบาท มีตัวอย่างโครงการน่าสนใจในการพัฒนาเมืองและแก้ปัญหาชุมชน ที่ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของภาคประชาชนและนวัตกรรมในการพัฒนาเมือง

 เช่น คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม เป็นโครงการที่ช่วยเหลือชุมชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระยะแรกในประเทศไทย เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 เกิดจากการริเริ่มของกลุ่ม Music Sharing/คลองเตยดีจัง ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเรื่องเด็ก เยาวชน และการศึกษาในชุมชนคลองเตยมาแล้ว 7 ปี

ในช่วงระลอกแรกของการระบาดนั้น ชุมชนคลองเตยได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะมีนโยบายปิดเมืองแบบปัจจุบันทันด่วน ทำให้หลายครัวเรือนในชุมชนต้องตกงานและขาดรายได้ทันที กลุ่มคลองเตยดีจังเห็นว่าปัญหานี้จะนำไปสู่การขาดแคลนอาหาร และเข้าใจถึงความหลากหลายของครัวเรือนในชุมชนที่มีความต้องการและทรัพยากรที่ต่างกัน เช่น บ้านที่อยู่ไม่กี่คนอาจจะต้องการข้าวกล่อง

ในขณะที่ครอบครัวใหญ่พอมีหม้อหุงข้าวเอง อาจจะต้องการกับข้าวเพื่อมาแบ่งกินกันในครอบครัว ครัวเรือนที่มีคนแก่ติดเตียงต้องการอาหารอ่อน ครัวเรือนมีเด็กเล็กต้องการนม เป็นต้น จึงออกแบบโครงการที่คิดว่าตอบสนองต่อบริบทและสถานการณ์ในชุมชนมากที่สุดในรูปแบบคูปองแลกอาหาร เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน 6,178 คน ซึ่งนอกจากได้ช่วยคนในชุมชนแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เข้าถึงช่วยเหลือทุกคนในชุมชน รวมประชากรแฝงและแรงงานข้ามชาติที่มักจะตกหล่นและถูกมองข้ามจากภาครัฐแล้ว ยังทำให้ร้านค้าขายของได้เกิดการหมุนเวียนรายได้ในชุมชนอีกด้วย

               สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยกลุ่ม We!Park-We Create Park แพลตฟอร์มที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยสวนแห่งนี้เป็น 1 ใน 4 พื้นที่นำร่องที่จะเปลี่ยนพื้นที่เศษเหลือจากการพัฒนาเมืองให้เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวของคนกรุงเทพฯ จากการใช้พื้นที่ว่างในซอยหน้าวัดหัวลำโพงที่เอกชนบริจาคให้ กทม.พัฒนาเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม (Pocket Park) กลุ่ม We!Park เริ่มจากชวนคนในชุมชนใกล้เคียงมาร่วมออกแบบการใช้พื้นที่ร่วมกันจนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ “สวนข้างบ้าน”

โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทาง กทม. เพื่อสร้างส่วนงานหลักของภูมิทัศน์พื้นที่ และระดมทุนเพิ่มจากประชาชนในส่วนที่อยู่นอกกรอบงบประมาณรัฐ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในละแวกพื้นที่ รวมถึงประชาชนที่อยากเห็นเมืองพัฒนาไปในทิศทางที่ให้ความสำคัญของพื้นที่สาธารณะสีเขียวได้ร่วมเป็นเจ้าของดูแลสวนด้วยกัน โดยเงินที่ระดมทุนได้ถูกใช้ในการจัดซื้อเครื่องเล่น ชุดโต๊ะ-เก้าอี้ และอุปกรณ์ตกแต่งสวน

จากตัวอย่างข้างต้น การมีเครื่องมือที่เอื้อให้ประชาชนสามารถระดมทุนเพื่อเริ่มทำโครงการพัฒนาเมือง/ชุมชน เชื่อมคนลงแรงและลงขันเงิน สร้างการเข้าถึงทรัพยากรที่ทำให้ประชาชนสามารถคิดและลงมือด้วยตัวเองได้ นอกจากจะช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงจากรากหญ้า (bottom-up development) แล้ว ยังทำให้เกิดนวัตกรรมสังคมใหม่ๆ และสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองอีกด้วย ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นยั่งยืน (resilience and sustainability) ให้กับการพัฒนาเมืองในยุคแห่งความผันผวนนี้ได้ในระยะยาวอีกด้วย

 

อ้างอิง

- Make London: https://www.spacehive.com/movement/mayoroflondon/

- เทใจดอทคอม: https://taejai.com

- คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม: https://taejai.com/th/d/punkan_im/

- We!Park: https://taejai.com/th/d/wepark/

 -ขอบคุณภาพ ภาพจาก Facebook Page “Sarakadee Magazine” วันที่ 29 มีนาคม 2565

'เอด้า จิรไพศาลกุล' กรรมการมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

CEO เทใจดอทคอม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ฟีฟ่า'ลงบทความ ชื่นชมฟุตซอลไทย และการเป็นเจ้าภาพที่ยอดเยี่ยม

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า เขียนบทความชื่นชม ฟุตซอลทีมชาติไทย ที่มีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2012 ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน FIFA Futsal World Cup

สมหมาย ภาษี -อดีตรมว.คลัง รัฐบาล-ฝ่ายการเมืองต้องหยุด ยุ่มย่าม ก้าวก่าย “แบงก์ชาติ”

การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หลังได้”ขุนคลังคนใหม่-พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง”หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร น่าติดตามอย่างยิ่ง

คนเถื่อนที่ไร้ธรรม .. ในวิกฤตการณ์โลกเดือด!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะวิกฤตการณ์ดินฟ้าอากาศแปรปรวน ก่อเกิดสภาวะโลกร้อน (Global warming) อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจก

ส่อเลื่อนประชามติ รอแก้กฎหมาย ร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องไม่จุดไฟความขัดแย้ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานของ”คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ

บทธรรมดับโลกร้อน .. ที่นักปกครองต้องอ่าน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. โลกกำลังเข้าสู่ห้วงธรรมวิกฤต.. ที่มนุษยชาติประพฤติตนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ มีความโลภที่รุนแรงและราคะความกำหนัดที่ผิดธรรม .. เป็นส่วนใหญ่

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา