ลงขันสร้างสรรค์เมืองผ่าน Civic Crowdfunding

คนกรุงเทพฯกำลังตื่นตัวเตรียมเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้เราได้เห็นนโยบายพัฒนาเมืองหลากหลายรูปแบบจากผู้สมัคร จนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า อยากให้เมืองที่อยู่พัฒนาไปในรูปแบบไหน อะไรเป็นนโยบายสำคัญที่ผู้ว่าฯในฝันควรเริ่มจัดการก่อน และเราเองมีส่วนร่วมสร้างเมืองที่อยากอยู่ได้อย่างไรอีกบ้างนอกเหนือจากการลงคะแนนเลือกผู้ว่าฯ ซึ่งเทคโนโลยีก็เอื้อให้เรามีบทบาทได้มากขึ้นผ่านเครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า civic crowdfunding

Civic crowdfunding คือการระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในสังคมไทยที่ในอดีตจนถึงปัจจุบันเรามีสถาบันทางศาสนาเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมเงินบริจาคจากคนในชุมชนเพื่อพัฒนาท้องที่ ตั้งแต่การซ่อมโรงเรียน สร้างศูนย์ชุมชน ตั้งโรงครัวช่วยคนเดือดร้อน เป็นต้น แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้ทำให้การริเริ่มโครงการมาจากใครก็ได้ที่มีไอเดียดีและศักยภาพทำงานไม่จำเป็นต้องผ่านศูนย์กลาง ซึ่งเพิ่มจำนวนผู้เล่นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งจากคนทั่วไป วิสาหกิจชุมชน องค์กรประชาสังคม หน่วยงานรัฐ ไปจนถึงบริษัทเอกชน ความหลากหลายนี้ ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆในการแก้ปัญหาเดิมที่มี และทำให้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการพัฒนาเมือง นอกจากนี้แล้วยังช่วยสร้างธรรมาภิบาลการทำโครงการจากภาคประชาชน ทั้งเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ของโครงการ ที่ต้องมีข้อมูลพื้นฐานก่อนเริ่มระดมทุน จำนวนเงินที่ต้องการใช้ จำนวนเงินที่ได้รับบริจาคไปแล้ว รวมไปถึงอัพเดทผลงานหลังระดมทุนและทำโครงการเสร็จ

เมืองที่เอา civic crowdfunding มาใช้อย่างจริงจังคือ มหานครลอนดอนผ่านนโยบาย “Crowdfund London” ซึ่งริเริ่มโดยนายกเทศมนตรี ตั้งแต่ปี 2014 และขยายผลต่อช่วงการระบาดโควิด-19 ผ่าน “Make London” ซึ่งได้ร่วมมือกับ civic crowdfunding platform “Spacehive” เพื่อเปิดพื้นที่ระดมทุนให้โครงการริเริ่มโดยชุมชนที่จะช่วยให้มหานครลอนดอนสามารถฟื้นตัวหลังโควิด-19 โดย City Hall จ่ายค่า fee ในการระดมทุนให้ และมี matching fund สนับสนุนมากถึง £50,000 ต่อโครงการ ซึ่งจำนวนเงินสนับสนุนขึ้นอยู่กับเขต/แขวงของโครงการ งบประมาณรวมที่ต้องใช้ และจำนวนเงินและจำนวนประชาชนที่ร่วมลงขันกับโครงการผ่าน

crowdfunding ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะนายกเทศมนตรีมหานครลอนดอนอยากได้ไอเดียใหม่ในการพัฒนาเมืองโดยเชื่อว่าคนที่คิดวิธีแก้ปัญหาพื้นที่ตัวเองได้ดีที่สุดก็คือคนที่อยู่หรือองค์กรที่ทำงานในชุมชน และยังช่วยสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาในพื้นที่ตอนทำโครงการจริงอีกด้วย รวมถึงเป็นการทดลองจัดสรรงบประมาณเมืองแบบเปิดตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ซึ่งตอนนี้มีโครงการเกิดขึ้นแล้ว 177 โครงการ รวมเป็นเงิน £6,820,753 ซึ่งมาจากงบประมาณของมหานครลอนดอน และจากประชาชนอีก 25,871 คน

ถึงจะไม่มีการริเริ่มจากภาครัฐแบบแข็งขันเช่นมหานครลอนดอน ในประเทศไทยมี civic crowdfunding platform ชื่อเทใจดอทคอม (Taejai.com) ที่ก่อตั้งมาแล้ว 10 ปี โดยสนับสนุนโครงการไปแล้วกว่า 479 โครงการ จากประชาชนผู้สนับสนุนมากกว่า 150,000 คน รวมเป็นเงินกว่า 250 ล้านบาท มีตัวอย่างโครงการน่าสนใจในการพัฒนาเมืองและแก้ปัญหาชุมชนที่ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของภาคประชาชนและนวัตกรรมในการพัฒนาเมือง เช่น

คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม เป็นโครงการที่ช่วยเหลือชุมชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระยะแรกในประเทศไทย เดือนเมษายน ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 เกิดจากการริเริ่มของกลุ่ม Music Sharing / คลองเตยดีจัง ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเรื่องเด็ก เยาวชน และการศึกษาในชุมชนคลองเตยมาแล้วเจ็ดปี ในช่วงระลอกแรกของการระบาดนั้น ชุมชนคลองเตยได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะมีนโยบายปิดเมืองแบบปัจจุบันทันด่วน ทำให้หลายครัวเรือนในชุมชนต้องตกงานและขาดรายได้ทันที กลุ่มคลองเตยดีจังเห็นว่าปัญหานี้จะนำไปสู่การขาดแคลนอาหาร และเข้าใจถึงความหลากหลายของครัวเรือนในชุมชนที่มีความต้องการและทรัพยากรที่ต่างกัน เช่น บ้านที่อยู่ไม่กี่คนอาจจะต้องการข้าวกล่อง ในขณะที่ครอบครัวใหญ่พอมีหม้อหุงข้าวเอง อาจจะต้องการกับข้าวเพื่อมาแบ่งกินกันในครอบครัว ครัวเรือนที่มีคนแก่ติดเตียงต้องการอาหารอ่อน ครัวเรือนมีเด็กเล็กต้องการนม เป็นต้น จึงออกแบบโครงการที่คิดว่าตอบสนองต่อบริบทและสถานการณ์ในชุมชนมากที่สุด ในรูปแบบคูปองแลกอาหาร เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน 6,178 คน ซึ่งนอกจากได้ช่วยคนในชุมชนแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เข้าถึงช่วยเหลือทุกคนในชุมชนรวมประชากรแฝงและแรงงานข้ามชาติที่มักจะตกหล่นและถูกมองข้ามจากภาครัฐแล้ว ยังทำให้ร้านค้าขายของได้ เกิดการหมุนเวียนรายได้ในชุมชนอีกด้วย

สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยกลุ่ม We!Park – We Create Park แพลตฟอร์มที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยสวนแห่งนี้เป็น 1 ใน 4 พื้นที่นำร่องที่จะเปลี่ยนพื้นที่เศษเหลือจากการพัฒนาเมืองให้เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวของคนกรุงเทพฯ จากการใช้พื้นที่ว่างในซอยหน้าวัดหัวลำโพงที่เอกชนบริจาคให้ กทม. พัฒนาเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม (Pocket Park) กลุ่ม We!Park เริ่มจากชวนคนในชุมชนใกล้เคียงมาร่วมออกแบบการใช้พื้นที่ร่วมกันจนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ “สวนข้างบ้าน” โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทาง กทม. เพื่อสร้างส่วนงานหลักของภูมิทัศน์พื้นที่ และระดมทุนเพิ่มจากประชาชนในส่วนที่อยู่นอกกรอบงบประมาณรัฐ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในละแวกพื้นที่ รวมถึงประชาชนที่อยากเห็นเมืองพัฒนาไปในทิศทางที่ให้ความสำคัญของพื้นที่สาธารณะสีเขียว ได้ร่วมเป็นเจ้าของดูแลสวนด้วยกัน โดยเงินที่ระดมทุนได้ถูกใช้ในการจัดซื้อเครื่องเล่น ชุดโต๊ะเก้าอี้ และอุปกรณ์ตกแต่งสวน

จากตัวอย่างข้างต้น การมีเครื่องมือที่เอื้อให้ประชาชนสามารถระดมทุนเพื่อเริ่มทำโครงการพัฒนาเมือง/ชุมชน เชื่อมคนลงแรงและลงขันเงิน สร้างการเข้าถึงทรัพยากรที่ทำให้ประชาชนสามารถคิดและลงมือด้วยตัวเองได้ นอกจากจะช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงจากรากหญ้า (bottom-up development) แล้ว ยังทำให้เกิดนวัตกรรมสังคมใหม่ๆและสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองอีกด้วย ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ จะช่วยสร้างความยึดหยุ่นยั่งยืน (resilience and sustainability) ให้กับการพัฒนาเมืองในยุคแห่งความผันผวนนี้ได้ในระยะยาวอีกด้วย

เอด้า จิรไพศาลกุล
กรรมการมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
CEO เทใจดอทคอม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สร้างวัฒนธรรมการฟื้นฟูนิเวศวิทยา สังคม สุขภาพในสมการการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในวันนี้ที่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นคำพูดสวยหรูที่แพร่หลายไปทั่วทุกแวดวงสังคม ตั้งแต่เป็นป้ายอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา ไปจนถึงหัวข้องานสัมมนาโดยบริษัทชั้นนำและองค์กรระหว่างประเทศ ชีวิตของรจและชาวบ้านนาหนองบง จังหวัดเลย ได้ผ่านวันคืนที่เติบโตมากับเสียงหริ่งเรไรยามค่ำท่ามกลางป่าที่สมบูรณ์ สู่ยุคที่เสียงธรรมชาติและอากาศสะอาดถูกทดแทนด้วยเสียงระเบิดเหมืองและมลพิษ มาถึงจุดปัจจุบันที่ซากการพัฒนาทิ้งสารเคมีไว้ในดินและน้ำ ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี และเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของชุมชนที่ประสบภัยจากปัญหาการพัฒนาเหมืองแร่ที่ขาดมิติการฟื้นฟู และขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในสมการ