เปลี่ยนความชัง เป็นความรัก พาประเทศเดินหน้า

บรรยากาศการเมืองวันนี้…ทำให้ผมหวนรำลึกถึงบรรยากาศของการทำงานในอดีต เมื่อสัก 30-40 ปีที่แล้ว…ซึ่งก็มีบริบททางการบ้านการเมืองคล้ายๆกับบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองทำนองเดียวกันกับที่กำลังเกิดขึ้นกับบ้านเมืองเราทุกวันนี้…

วันนั้นดูเหมือนว่าอาการของความขัดแย้งจะรุนแรงหนักข้อยิ่งกว่าทุกวันนี้ซะด้วยซ้ำไป…เพราะเป็นความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรงเข้าต่อสู้กัน…ไม่ได้ใช้เวทีรัฐสภา…ไม่ได้ใช้แนวทางสันติวิธีเป็นหลักอย่างในทุกวันนี้

ตอนนั้นพวกเรา..ทุกหมู่ทุกเหล่า…ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ-ทหาร-ตำรวจ-ครูบาอาจารย์-นักเรียน นักศึกษา-ประชาชน…เหมือนมีแรงมีพลังบางอย่างดึงดูดพวกเราให้เข้ามาพูดจา-แลกเปลี่ยน-เรียนรู้ทำความเข้าใจและเข้าอกเข้าใจฝ่ายอื่นๆ ด้วยท่าทีที่โอนอ่อนผ่อนปรน ต่างฝ่ายต่างเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน โดยมุ่งให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและใช้เวทีรัฐสภาเป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของทุกคนในชาติ

สมัยนั้นผมมีความสนุกกับการทำงานที่มีความสามัคคีปรองดองเป็นเดิมพันอย่างมาก…สนุกกับการได้จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งภายในหน่วยงานและระหว่างหน่วยงาน ทั้งกิจกรรมทางปัญญาที่เป็นสาระ กิจกรรมกีฬาและสันทนาการต่างๆ โดยมุ่งให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีระหว่างรุ่น-ระหว่างวัย และระหว่างหน่วยงาน กระทั่งได้มีโอกาสร่วมกันทำงานให้กับบ้าน-กับเมืองร่วมกัน-ต่อเนื่องยาวนานจนต่างฝ่ายต่างเกษียณจากหน้าที่การงานมาด้วยกัน ด้วยความรัก-ความเข้าใจกันมาตราบจนทุกวันนี้…

ผมจำได้ว่าเรา…แต่ละหน่วยงานจะมีกลุ่ม-ชมรมทางวิชาการ..ทางกีฬาหรือสันทนาการมาผลัดกันเป็นเจ้าภาพ

มีการจัดกิจกรรมสัมนาทางวิชาการโดยเชิญนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมกันถกเถียงแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆของบ้านเมือง โดยไม่มีการแบ่งเพศแบ่งวัย แบ่งการศึกษา แบ่งสถาบัน-แบ่งนักเรียนนอก-นักเรียนใน แบ่งทหาร แบ่งพลเรือน แบ่งข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการประจำ…

ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะเรารู้ว่าเราเป็นพวกเดียวกัน…มีเจ้านายคนเดียวกันคือประชาชน-คือชาติ-บ้านเมือง…

ทุกคน-ทุกฝ่ายพยายามทำหน้าที่ ที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด เป็นมืออาชีพในสาขาวิชาที่ตัวเองถนัด…ไปร่วมแรงกายแรงใจกัน-ช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้เป็นพลังผลักดันประเทศชาติบ้านเมืองให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เสริมขีดความสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆที่รายรอบ กระทั่งบ้านเมืองเจริญเติบโตต่อเนื่องจน GDP ประเทศเติบโตสูงเป็นตัวเลข 2 หลัก และใกล้จะยกระดับเป็นเสือตัวที่ 5 ถ้าไม่ประสบปัญหาฟองสบู่แตกในปี 2540

ว่าที่จริง…วันนี้….ประเทศไทย-สังคมไทยของเราเติบโต-ก้าวหน้ามาไกลมาก…จากวันที่เราเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเมื่อปี 2504 ความรุนแรงของปัญหาความยากจนในชนบทก็บรรเทาเบาบางลง…เด็กศรีสะเกษไม่ต้องกินดิน…บุรีรัมย์ไม่ต้องตำน้ำกิน-ทุ่งกุลาฯไม่ได้แยกแตกระแหง…คนที่ดอกคำใต้ไม่ต้องเอาลูกมาตกเขียว…

เดี๋ยวนี้เรามีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีหมอมีพยาบาลวิชาชีพคอยบำบัดรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ต้องรักษาตัวตามสุขศาลาเหมือนแต่ก่อน …เรามีถนนหนทาง…มีไฟฟ้า-ประปา มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตครอบคลุมไปทั่วพื้นที่ทุกภาค…มีกระทั่งสนามบินกระจายไปในหลายๆพื้นที่ตามต่างจังหวัด…

เรามีเด็กที่ได้รับการศึกษาครบ 12 ปีเป็นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย…มีเงินกู้ยืมทางการศึกษาสำหรับอาชีวศึกษาจนถึงอุดมศึกษา…เรามีมหาวิทยาลัยกระจายทั่วถึงทั้งภาครัฐ-เอกชนนับร้อยแห่ง…เรามีระบบประกันสังคม…มีระบบบัตรทอง-30 บาทรักษาทุกโรค…มีเบี้ยคนชรา..มีเบี้ยเด็กแรกเกิด

ที่สำคัญความมั่นคงภายใน…ความมั่นคงภายนอกและการเมืองระหว่างประเทศล้วนมีเสถียรภาพและความมั่นคงสูงในทุกด้าน..

สังคมโดยรวมนับว่ามีความมั่นคงมีเสถียรภาพ และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องทั้งในมิติทางสังคม มิติทางเศรษฐกิจ และมิติทางความมั่นคง…

เหลือเพียงมิติทางการเมือง การบริหารที่ยังไม่มีเสถียรภาพ..

หนึ่งในสาเหตุแห่งปัญหาของเสถียรภาพทางการเมืองในปัจจุบันของเราก็คือ ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสมาชิกรัฐสภาด้วยกันเอง

พูดให้ชัดก็คือความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
กับสมาชิกวุฒิสภาที่มีการแบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่าย และถูกติฉินนินทาว่ามุ่งประโยชน์ของพรรคหรือพวกตัวเองเป็นใหญ่ กระทั่งมองข้ามประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน

เวทีประชุมรัฐสภา แทนที่จะถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ในการหาทางออกจากปัญหาข้อขัดแย้งด้วยสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า เพื่อแก้ไขความทุกข์ยากแก่พี่น้องประชาชน กลับถูกนำไปใช้ทิ่มแทงกัน โจมตีกันด้วยถ้อยวาจาที่เกรี้ยวกราด รุนแรง กระทั่งกลายเป็นเวทีของการบั่นทอนบ่อนทำลายพลังของชาติไปอย่างน่าเสียดาย..!

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ ผมก็ยังฝันถึง….บรรยากาศการทำงานดีๆในอดีตที่ผมได้มีโอกาส มีส่วนร่วมกับแทบจะทุกท่าน…และปรารถนาจะให้บรรยากาศของความร่วมแรงร่วมใจได้รับการปลุกให้ฟื้นขึ้นในยามนี้ ยามที่บ้านเมืองกำลังบอบช้ำ และประชาชนจำนวนมากกำลังลำบาก

การหลอมความขัดแย้ง การทำละลายความชัง เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังฉุดประเทศขึ้นจากหล่ม แล้วผลักดันให้เดินไปข้างหน้า ไม่ใช่สิ่งเหลือบ่ากว่าแรง และไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพย์สินเงินทองใดๆ…

แค่เปลี่ยนอารมย์ความรู้สึกเกลียดชัง ให้เป็นความรู้สึกรักและปรารถนาดีต่อกัน แล้วเปิดใจแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่ชุดความรู้ที่จะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ยากแก่ประชาชน และช่วยส่องสว่างให้ประเทศหลุดพ้นจากความอึมครึม

สุดท้าย….หากว่าพอจะเป็นไปได้ ในห้วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฏรจะครบวาระ ผมอยากจะขอวิงวอนให้ผู้หลัก ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ได้โปรดใช้อำนาจวาสนาและบารมี บันดาลให้คณะบุคคลที่มีทัศนะต่างกัน ได้มีโอกาสหันหน้ามาเปิดอกปรับทุกข์กันฉันท์คนไทยด้วยกัน และนำไปสู่การแสวงหาทางออกจากข้อขัดแย้งร่วมกัน ภายใต้กลไก กระบวนการแบบสันติวิธี

หากท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสร้างมิติใหม่หลังกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ด้วยการรับเป็นธุระจัดการการชุมนุมความหลากหลายของทุกขั้วความคิด เพื่อความเป็นเอกภาพในบ้านเมืองก็จะเป็นอะไรที่วิเศษอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ช่วยกันขับเคลื่อนบ้านเมืองอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคน ให้หลุดพ้นจากกับดักความขัดแย้ง และก้าวสู่ความเจริญพัฒนา บนความผาสุกสวัสดีที่ยั่งยืนต่อไป

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การพัฒนาเด็กปฐมวัย: สำคัญอย่างไร และควรทำอย่างไร?

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยังเล็กเกินไปสอนอะไรก็ยังไม่ได้ ทำอะไรยังไม่เป็น และต้องรอนานมากกว่าจะเห็นผล? เป็นคำถามที่ผมได้รับมาตลอดช่วงเวลาเกือบสิบปี ที่พยายามพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย สังคมไทยมักให้ความสำคัญกับการเรียนในระดับประถมและมัธยมมากกว่า ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้บุตรหลานได้ติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศไปจนถึงระดับโรงเรียนจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษาระดับปฐมวัย

ปฎิรูปการศึกษา: กุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างจังหวัด : อีกเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ

รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 18 ก.ย. 2566  ส่วนที่เกี่ยวกับ “การลดความเหลื่อมล้ำ” ระบุไว้ว่า   “ รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย” (หน้า 9)  และ “ในการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินนโยบายนั้นรัฐบาลจะดำเนินการอย่างมีเป้าหมายทั้งในด้านการเจริญเติบโตการลดความเหลื่อมล้ำ”

นิสัยที่ไม่ดีในสังคมไทย ควรทำอย่างไรกันดี

ขณะที่คนไทยในสายตาของคนต่างชาติ ถูกมองว่าเป็นชนชาติที่มีนิสัยดีงามมากชาติหนึ่ง แต่ถ้าเรามองกันอย่างลึกซึ้งในสายตาคนไทยด้วยกัน จะพบว่ายังมีนิสัยที่ไม่ดีงามหลายประการที่สร้างปัญหาให้แก่สังคมไทยและประเทศชาติอย่างมาก

Logistics Connectivity: ดาบ 2 คม

Logistics Connectivity การเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์และด้านการขนส่ง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ผ่านมาทุกรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค