เศรษฐกิจมีปัญหา ปุจฉาพรรคการเมือง

ช่วงนี้เป็นฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ เราจึงควรรู้ว่ามีประเด็นนโยบายอะไรบ้างที่นักการเมืองเมื่อได้รับการเลือกตั้งจะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติ นโยบายที่สำคัญประการหนึ่งก็คือนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อปากท้องของประชาชน และก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งคงใช้ในการตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคนใด

ผมจะเลือกแจงเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ และเป็นโจทย์ที่พรรคการเมืองควรจะตอบในการหาเสียงคราวนี้ โดยแยกประเด็นได้เป็น 6 กลุ่มดังนี้

ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

สถิติชี้ให้เห็นว่าไทยมีอัตราความยากจนลดลงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังจมปลักอยู่ในกับดักของ ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle income country trap) สถานการณ์ โควิด-19 ชี้ให้เห็นชัดถึงความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเมื่อมีผู้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้นประเด็นปัญหาเหล่านี้จึงต้องการคำตอบมากที่สุดในการเลือกตั้งคราวนี้ 

เท่าที่เห็นการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมือง ส่วนใหญ่มักมีนโยบายแก้จนโดยการ “ลดแลกแจกแถม”  เช่น การเพิ่มเงินอุดหนุนให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การพักชำระหนี้ การลดราคาพลังงาน การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และการประกันรายได้ของเกษตรกร 

มาตรการเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องใช้เงินของภาครัฐ คำถามก็คือรัฐบาลจะใช้เงินมากน้อยแค่ไหนและเอาเงินมาจากไหน จะต้องหารายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มหรือไม่ จะสร้างภาระการเงินการคลังของรัฐเพิ่มขึ้นหรือไม่ จะทำให้หนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นมากจนกลายเป็นปัญหาให้กับคนรุ่นหลังหรือไม่ เพราะในปัจจุบันภาระหนี้ของภาครัฐก็เกินเกณฑ์ที่เคยกำหนดไว้แล้ว (คือ 60% ของจีดีพี) 

นักวิชาการหลายคนเชื่อว่านโยบายแก้จนที่ดีน่าจะเป็นการช่วยให้คนจนสามารถช่วยตัวเองในระยะยาวได้ ไม่ใช่เป็นการโปรยเงินโดยส่งเสริมให้คนจนต้องแบมือขอเงินจากภาครัฐไปเรื่อย ๆ ไม่พยายามจะทำมาหากินเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวให้ได้ในที่สุด ในขณะเดียวกันนโยบายที่ดีก็ควรปรับปรุงการเข้าถึงที่ดิน ที่อยู่อาศัยทรัพยากรธรรมชาติ และบริการสาธารณสุข รวมทั้งระบบประกันสังคม/ประกันสุขภาพ ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้น อยากทราบว่ามีพรรคการเมืองไหนที่มีนโยบายแก้จนในแนวนี้บ้าง

ราคาพลังงาน

เราต้องยอมรับว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และไฟฟ้าแพงขึ้นมาก สร้างความเดือดร้อนในหมู่ผู้คนทุกหย่อมย่าน เรารู้ดีว่าประเทศต้องนำเข้าพลังงานเหล่านี้จากตลาดโลกที่มีราคาสูงขึ้นเนื่องมาจากสงครามในยูเครน แต่ก็อดไม่ได้ที่จะถามว่ารัฐบาลไทยจะช่วยทำให้ราคาพลังงานที่จำเป็นสำหรับการครองชีพมีราคาถูกลงได้อย่างไร 

เท่าที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์ได้พยายามอุดหนุนราคาน้ำมันโดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการลดภาษีสรรพสามิต จนทำให้กองทุนฯ เป็นหนี้สูงถึงกว่าแสนล้านบาท และสูญเสียรายได้ภาษีไปอีกเป็นจำนวนมาก ราคาไฟฟ้าก็ได้รับการอุดหนุนโดยการผลักภาระต้นทุนไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ 

แต่พรรคการเมืองไหนจะมีมาตรการอื่นๆ อีกหรือไม่ที่จะทำให้ราคาพลังงานลดลงไปได้อีก ที่น่าคิดก็คือในขณะที่ผู้ใช้น้ำมันและไฟฟ้าต้องแบกรับราคาที่สูงมาก ปรากฏว่าบริษัทน้ำมันทั้งหลายกลับได้กำไรสูงเป็นประวัติการณ์ เจ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนบางรายรวยขึ้นจนติดอันดับต้นๆ ของประเทศ อาจจะฟังดูแปลกว่าในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้ามีเกินความต้องการ แต่ค่าไฟฟ้ากลับแพงเอาแพงเอา จะมีพรรคการเมืองใดหรือไม่ที่กล้าแสดงจุดยืนที่จะนำเอากำไรของบริษัทเหล่านี้มาลดราคาพลังงานให้กับประชาชน และช่วยบอกด้วยว่าจะใช้วิธีการใด

สังคมผู้สูงอายุ

คนแก่อายุเกิน 60 ปีกำลังมีจำนวนสูงขึ้นคิดเป็นอัตราส่วนมากกว่า 20% ของประชากรในเร็ววันนี้ ในขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่มีลดลงทุกปี ไทยจึงกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีจำนวนคนแก่มากขึ้นทุกปี แต่ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและเด็กจะมีจำนวนคงที่หรือลดลง ในอีกสิบปีข้างหน้าประชากรโดยรวมของประเทศอาจเริ่มลดลงด้วยซ้ำไป

ปัญหาก็คือคนแก่จำนวนไม่น้อยมีฐานะยากจน ไม่สามารถดูแลตนเองได้ คือไม่มีเงินออมไว้มากพอใช้ในวัยเกษียณ คนในวัยทำงานแต่ละคนก็จะมีภาระเลี้ยงดูคนแก่มากขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ  จนอาจมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมได้

คำถามสำหรับพรรคการเมืองคือ มีนโยบายอะไรที่จะช่วยดูแลคนแก่ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ในปัจจุบัน และมีเครื่องมืออะไรที่จะส่งเสริมให้คนแก่ในอนาคตรู้จักออมทรัพย์ในช่วงวัยทำงานให้เพียงพอเพื่อเลี้ยงตนเองให้ได้ในวัยชรา สมควรหรือยังที่ประเทศจะต้องมีนโยบายที่สร้างแรงจูงใจให้หนุ่มสาวมีลูกในปริมาณและคุณภาพที่สูงขึ้น เช่น รัฐอุดหนุนผู้มีบุตรในเรื่องการเลี้ยงเด็กและการเล่าเรียนของลูกเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการมีลูก เป็นต้น

การศึกษา แรงงาน และเทคโนโลยี

ทุกวันนี้ไทยขาดแคลนแรงงานมากขึ้น เราต้องนำคนงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานประเภท 3 ส (สกปรก เสี่ยง และ แสนลำบาก) เป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วที่มีผลต่อการจ้างงาน ที่สำคัญคือเทคโนโลยีดิจิตอลและหุ่นยนต์

ดังนั้น คนงานไทยจึงต้องปรับตัวขนานใหญ่ โดยการปรับและเพิ่มทักษะ เพราะนายจ้างและตลาดต้องการแรงงานที่มีฝีมือและทักษะใหม่ๆ มากขึ้น การศึกษาและการฝึกอบรมคงเป็นแนวทางในการปรับตัวนี้ แต่เราก็รู้กันอยู่ว่าการศึกษาไทยยังมีอะไรต้องปรับปรุงและยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเมืองกับชนบท

พรรคการเมืองจึงควรตอบให้ได้ว่าจะแก้ไขปัญหาแรงงานเหล่านี้อย่างไร จะมีนโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวเพื่อเป็นการจัดระเบียบและเสริมสภาพขาดแคลนแรงงานของประเทศได้อย่างไร จะมีนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อให้ได้บุคลากรที่เหมาะสมกับตลาดแรงงานและทำให้สังคมมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นได้อย่างไร จะมีนโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้คนไทยต้องตกงานเป็นจำนวนมากเพราะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ได้อย่างไร

สิ่งแวดล้อม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการทำมาหากินของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในระยะสั้น ที่เห็นได้ชัดคือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ประจำปีซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดทั่วไปแทบทุกจังหวัดในประเทศ ทั้งในเมืองและนอกเมือง และดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นทุกปี

เราต้องถามพรรคการเมืองว่าจะป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 นี้ได้อย่างไรให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับการใช้รถ การก่อสร้างในเมือง หรือการเผาป่าเผาไร่นาในเขตนอกเมืองก็ขอให้ชี้แจงมา เท่าที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประชาชนผิดหวังในผลงานของรัฐบาลที่ไม่สามารถบรรเทาปัญหานี้ได้

ในระยะยาว คงหนีไม่พ้นปัญหาโลกร้อนอันเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อสองปีที่แล้ว นายกฯประยุทธ์ไปรับปากกับชาวโลกว่าไทยจะร่วมมือลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 และจะลดก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดให้เหลือศูนย์ภายในปี 2065 เราถามพรรคการเมืองว่าจะยืนยันตามคำมั่นสัญญาของลุงตู่หรือไม่ และจะมีนโยบายและแผนงานที่จะทำตามสัญญาดังกล่าวให้ได้อย่างไร ควรจะมีภาษีคาร์บอน ตลาดคาร์บอน หรือกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือไม่อย่างไร 

ปัญหาก๊าซเรือนกระจกนี้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเพราะหากไทยไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด สินค้าส่งออกของไทยที่ผลิตโดยกระบวนการที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปก็จะโดนกีดกันจากประเทศที่เป็นตลาดสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

คอรัปชั่น

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว มีกลุ่มบุคคลอาสาเข้ามาบริหารประเทศ และให้สัญญาว่าจะทำโน่นทำนี่ให้คนไทย หนึ่งในสัญญาเหล่านั้นก็คือ “การกวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวง” แต่ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่ายังกวาดไม่หมดสักที ยังรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเหมือนเดิม

ดูจากข่าวในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีทั้งตำรวจ อธิบดี และรัฐมนตรี ที่ตั้งด่านไถเงินนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้ใต้บังคับบัญชา และนักธุรกิจ ไทยยังติดอันดับโลกในฐานะประเทศที่มีการทุจริตชุกชุม

เราต้องถามพรรคการเมืองว่า มีนโยบายอะไรที่จะปราบโกงในวงการเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ได้ ทั้งที่เป็นข้าราชการประจำและนักการเมือง อย่าบอกนะว่าจะอาศัยกลไกการทำงานของ ปปช. และ ปปท. แต่เพียงอย่างเดียว เพราะพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร 

แต่ก่อนอื่น ผมขอให้พรรคการเมืองให้สัญญาได้ไหมว่าจะไม่ใช้วิธีซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้ง เพราะการซื้อเสียงมักเป็นบ่อเกิดแห่งพฤติกรรมการทุจริตของนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งไปเป็นผู้แทนราษฎร …………….. หรือผมขออะไรที่มากเกินไปครับ

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

พรายพล คุ้มทรัพย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' เล่นน้ำสงกรานต์หน้าห้างเมญ่า ลั่นจะให้ 'อิ๊งค์' ทำเชียงใหม่บูมอีกครั้ง

'ทักษิณ' ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์กับ ปชช. หน้าห้างเมญ่า บ่นเสียดายเศรษฐกิจแย่ลงเยอะ ต้องเร่งฟื้นฟู-อัดนโยบาย ลั่นจะให้ 'อิ๊งค์' ทำ 'เชียงใหม่' กลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้งให้ได้

'ทักษิณ' โผล่เชียงใหม่ เคาะกะลา 'ดิจิทัลวอลเล็ต' เติมเงินหล่อเลี้ยงระบบ!

นายทักษิณ ชินวัตร อดีกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักโทษชาย ที่อยู่ระหว่างการพักโทษ เดินทางมารับประทานข้าวเที่ยง พร้อมกับนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นางเยาวเรศ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณ โดยมีนายพิชั

ฟุ้ง 3 เดือน นักท่องเที่ยวทะลักเข้าไทยกว่า 10 ล้านคน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยที่ยังคงได้รับความนิยมจากต่างชาติ หลังจำนวนนักท่องเที่ยว