กองทุนสื่อฯ กับภารกิจ ปลุกสังคม 'ต้องรู้เท่าทันสื่อ'

ปัจจุบันทุกคนเห็นตรงกันว่า สื่อมวลชน มีความสำคัญอย่างมากในทุกบริบทของสังคม โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดีย สื่อก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีการพูดกันว่าทุกคนเป็นสื่อได้ แค่มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว แต่กระนั้น “สื่อ” ที่เป็นสื่อจริงๆ ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก-สื่อกระแสรอง ก็ยังเป็นแพลตฟอร์มที่คนในสังคมให้น้ำหนัก-ความเชื่อถือในการตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสาร

และเมื่อข้อมูลข่าวสารมีมากมายมหาศาล และข่าวสารหลายอย่างก็อาจมีเบื้องหน้า-เบื้องหลังในการนำเสนอ เช่น เพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง-หวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ ดังนั้น การรู้เท่าทันสื่อ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนในสังคมต้อง ได้รับการฉีดวัคซีน ด้วยการ สร้างองค์ความรู้-เท่าทันสื่อ เพื่อจะได้บริโภคข่าวสารอย่างรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้สังคมเรียนรู้และตระหนักถึงการรู้เท่าทันสื่อ ก็คือ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่แม้จะเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาได้ไม่นาน แต่ช่วงที่ผ่านมาก็มีบทบาทสำคัญในการที่จะพยายามเข้ามาพัฒนาคุณภาพสื่อ ตลอดจนทำให้สังคมเห็นความสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อ

ดร.ธนกร ศรีสุขใส-ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ถือว่าเป็นผู้จัดการ ซึ่งเป็นที่รู้จักของสังคมวงกว้างค่อนข้างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของการเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการกองทุนฯ แต่ขณะนี้ก็เหลือเวลาการทำงานไม่ถึง 1 ปี เพราะจะหมดวาระการทำงาน 4 ปีในวันที่ 30 มิ.ย.2567 โดย “ดร.ธนกร” ได้พูดถึงเรื่อง การรู้เท่าทันสื่อ และ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กรกองทุนพัฒนาสื่อฯ ไว้ว่า จนถึงขณะนี้ทำงานเป็นผู้จัดการกองทุนสื่อฯ มาได้ประมาณ 3 ปีกว่า ซึ่งถึงปัจจุบันก็เหลืออีกประมาณ 11 เดือน จะครบ 4 ปีของการทำงาน

...ผมได้เหลียวหลังกลับไปดูในช่วงการทำงานในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อประเมินตัวเองก็ถือว่าพอใจระดับหนึ่ง แต่หากถามว่าทำดีที่สุดแล้วหรือยัง คือเราตั้งใจทำเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่เป็นที่พอใจที่สุด ยังรู้สึกว่ามีอีกหลายอย่างที่เรายังจะต้องทำให้ประสบความสำเร็จ

..ลำดับแรก ต้องบอกก่อนว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นองค์กรใหม่ เพิ่งมีอายุ 8 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 9 มีผู้จัดการกองทุนสื่อฯ อย่างเป็นทางการ 2 คน ไม่รวมรักษาการผู้จัดการคนแรก โดยผมเป็นผู้จัดการกองทุนฯ คนที่ 2 ซึ่งการเป็นองค์กรใหม่ก็ไม่ง่ายที่จะสร้างระบบการทำงานขึ้นมาทันที เพราะต้องใช้เวลาในการสร้างระบบ-สร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยหลังเข้ามารับตำแหน่ง ได้เข้ามาจัดระบบ ตั้งแต่ระบบการทำงาน-ระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก-การวางระบบการพัฒนาบุคลากร วัฒนธรรมองค์กร รวมถึงทำให้ตัวภารกิจขององค์กรที่ต้องทำให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่รับรู้ เพราะเราเป็นองค์กรให้ทุน ให้คนเข้ามาขอทุน เอาทุนไปทำงานและเกิดประโยชน์ เกิดผลงานขึ้นมา ให้คนได้รับรู้รับทราบแล้วก็เข้าถึง แล้วก็นำไปใช้ประโยชน์ ไปประยุกต์ใช้ อันนี้เป็นเรื่องยาก

ซึ่งตลอดการทำงานในตำแหน่งผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าทำได้ครบตามวัตถุประสงค์ขององค์กร ส่วนการจะต่อสัญญาหรือไม่ต่อสัญญาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หลังจากนี้ค่อยมาว่ากัน

ดร.ธนกร กล่าวต่อไปว่า ตำแหน่งผู้จัดการกองทุนสื่อฯ ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระ โดยมีวาระรอบละไม่เกิน 4 ปี แต่เมื่อใกล้ๆ ก็ค่อยมาว่ากันว่าจะต่อสัญญาหรือไม่ โดยการจะต่อสัญญา ตัวผู้จัดการกองทุนฯ ต้องมีผลการปฏิบัติงานในเกณฑ์ดี ซึ่งจุดนี้ไม่มีปัญหา เพราะผมก็มีผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ดีในช่วงการทำหน้าที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการต่อสัญญา ทางบอร์ดของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะต้องเห็นชอบด้วย แต่บอร์ดจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วย ผมในฐานะผู้จัดการกองทุนฯ จะต้องเป็นผู้ริเริ่มก่อน เช่น แจ้งไปยังบอร์ดว่าผมอยากต่อสัญญา โดยเมื่อแจ้งไปแล้ว ทางบอร์ดกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ก็จะไปพิจารณาว่าจะให้ต่อหรือไม่ให้ต่อสัญญา 

ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ย้ำว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะเรื่องสำคัญก็คือว่ากองทุนพัฒนาสื่อฯ ริเริ่มด้วยการมุ่งในการสร้างผลกระทบเชิงสังคมเป็นหลัก อยากให้ทำความเข้าใจกับสิ่งนี้ก่อน ซึ่งคำว่า สร้างผลกระทบทางสังคมเป็นหลัก ก็คือว่าต้องการทำให้มีสื่อสำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว ซึ่งตอนที่มีการยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.​2558 เพื่อให้มีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เกิดขึ้น ผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าสื่อสำหรับเด็กมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย คือแทบไม่มีคนลงทุนทำสื่อเกี่ยวกับเด็ก คนไม่อยากลงทุนทำกัน เพราะทำแล้วไม่มีกำไร ทำแล้วขาดทุน ทำแล้วไม่มีคนดู ไม่มีเรตติ้ง ทำให้สื่อเด็กก่อนหน้านี้เป็นอะไรที่รู้สึกว่าเกิดยากมาก แต่ในทางกลับกัน สื่อเด็กมีความสำคัญต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กและเยาวชนมากมายมหาศาลเช่นเดียวกัน

สภาพที่เกิดขึ้นจึงเป็นความย้อนแย้งว่า ในขณะที่สื่อเด็กมีความสำคัญมาก แต่สื่อเด็กแทบจะไม่มีหรือมีน้อย เรื่องนี้คือเหตุผลที่ทำให้เกิดกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยกองทุนฯ ต้องทำหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนทำให้มีสื่อ ทำให้มีคนผลิตสื่อ ทำให้มีการเรียนรู้ที่จะสร้างกระบวนการในการทำให้เกิดสื่อเด็กขึ้นมา

ดร.ธนกร กล่าวต่อไปว่า ผมก็คิดว่าเมื่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เกิดขึ้น สื่อเด็กหรือการเรียนรู้สำหรับเด็ก ถือว่าประสบความสำเร็จ อย่างน้อยชิ้นงานสำหรับเด็กในรอบหลายปีที่ผ่านมา เมื่อดูจากการที่กองทุนฯ ให้ทุนมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันคือปี 2566 มีการให้ทุนมาแล้ว 7 ปี ถือว่ามีสื่อเด็กมากพอสมควรที่จะเป็นทางเลือกในการสร้างการเรียนรู้ นั่นคือประเด็นที่ 1

...ประเด็นที่ 2 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไม่ใช่ทำเรื่องสื่ออย่างเดียว แต่ยังทำในเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ ให้มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเรื่อง ทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เป็นเรื่องที่ทุกวันนี้ทั่วโลกตื่นตัวมาก และก็ไม่ใช่สำคัญเฉพาะเด็กและเยาวชน แต่ยังสำคัญสำหรับผู้ใหญ่ด้วย เพราะจะพบว่ามีผู้ใหญ่ที่ถูกหลอก ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกแสวงหาประโยชน์จากโลกไซเบอร์หรือภัยออนไลน์ วันนี้มีมากมายมหาศาล กลายเป็นว่าจากที่เราเริ่มต้นการให้ความสำคัญกับทักษะการรู้เท่าทันสื่อสำหรับกลุ่มเด็ก แต่วันนี้ได้ขยายรวมไปถึงประชาชนทั่วไปด้วย

ภารกิจกองทุนฯ

กับการฉีดวัคซีน รู้เท่าทันสื่อ

ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ย้ำว่า ทักษะการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กหรือประชาชนทั่วไป มันคือศักยภาพหรือความสามารถในการที่จะรับมือกับข้อมูลข่าวสาร รับมือกับสื่อในรูปแบบต่างๆ ซึ่งวันหนึ่งๆ มันวิ่งเข้ามาหาเราจำนวนมากมายมหาศาล ดังนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะไม่เป็นคนที่เชื่ออะไรง่ายๆ รวมถึงทำอย่างไรให้เรารู้ว่าข่าวต่างๆ บางทีอาจไม่ใช่เรื่องจริง ทำอย่างไรที่จะให้เราได้ฉุกคิดว่าทุกข้อมูลข่าวสารซึ่งวิ่งมาหาเรา มันมีผลกระทบทั้งทางบวกและผลกระทบทางลบ เราจึงต้องการให้คนเมื่อรับสื่อแล้ว เขาต้องวิเคราะห์ได้ว่าเบื้องหลังของการนำเสนอข้อมูลนี้ออกมาคืออะไร มีใครได้ประโยชน์-มีใครเสียประโยชน์จากข่าวนั้นๆ 

และที่สำคัญก็คือว่าสื่อทั้งหลายที่มันส่งผลกระทบเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นเฟกนิวส์ หรือข้อมูลที่บิดเบือนเป็นพวก misinformation หรือเป็นพวก hate speech ซึ่งทุกวันนี้มีเยอะมาก รวมถึงการบูลลี่กัน ตลอดจนการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อขายสินค้าโฆษณาเกินจริง หรือการโน้มน้าวชักจูงให้เกิดการหลงเชื่อเพื่อหลอกให้ลงทุนจนเสียเงินเสียทอง หรือแม้แต่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่เราเรียกว่า IO ที่มีเป้าหมายทางการเมือง ถ้าประชาชนคนไทย-พลเมืองไทยมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ รับมือได้ และประเมินคุณค่าได้ ว่าสิ่งที่ได้รับมามีลักษณะอย่างไร จะทำให้สังคมไม่วุ่นวาย จะไม่ปั่นป่วนและไม่เกิดความขัดแย้งกัน เพราะว่าเวลาคนเปิดรับสื่อ เขาจะตั้งสติและไม่เชื่ออะไรง่ายๆ และจะมีท่าที เช่น อะไรที่ไม่เห็นด้วยก็จะปล่อยวางมันเสีย แต่ถ้าเราไม่มีสติหรือเราใช้ความเคยชิน อะไรที่เราเห็นด้วย จะผิดหรือถูก เราไม่สนแล้ว เราเอาสะใจไว้ก่อน ถูกใจไว้ก่อน ทั้งที่ก็รู้ว่าเป็นข้อมูลเท็จ แต่เป็นเรื่องที่ไปด่าฝ่ายตรงข้าม โดยที่ตัวเราก็อยากด่าคนนั้นอยู่แล้ว เลยไปยินยอมให้ใช้ข้อมูลเท็จ ไปด่าอีกฝ่ายหนึ่ง แบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อสังคม

เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่เป็นภารกิจโดยตรงของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ผมและน้องๆ ในสำนักงานกองทุนสื่อฯ เรารู้ดีว่าเราไม่สามารถที่จะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จได้ด้วยกองทุนสื่อฯ เพียงหน่วยงานเดียว เพราะเรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นเรื่องระดับชาติ

...จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไปจับมือกับภาคีเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ เพราะจะเห็นได้ว่าบางหน่วยงาน เช่น กสทช. ก็พูดเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ กระทรวงศึกษาฯ ก็พูดเรื่องนี้เช่นกัน อีกทั้งในรัฐธรรมนูญยังมีเรื่องทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า "การรู้เท่าทันสื่อ" มันเป็นหน้าที่ของหลายหน่วยงาน

สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แม้จะมีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายบอกว่าให้เราทำเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมา เราก็วิ่งไปหาภาคีเครือข่าย ไปทำ MOU ไปแสวงหาความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ซึ่งวันนี้ก็เป็นที่น่าดีใจในทิศทางที่ดีมาก กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็มีความร่วมมือกับกองทุนฯ ที่จะช่วยทำหลักสูตร การรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย เช่นเดียวกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็จะร่วมมือกันกับกองทุนฯ ในการที่จะทำหลักสูตรเรื่องรู้เท่าทันสื่อสำหรับสอนในระดับมหาวิทยาลัย

..กองทุนฯ ได้ไปลงนาม MOU กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จะมาร่วมพัฒนาหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีของธรรมศาสตร์ โดยจะให้มีวิชาเรื่องของการรู้เท่าทันดิจิทัลฯ กับรู้เท่าทันสื่อ เป็นหนึ่งในวิชาพื้นฐานของนักศึกษาปี 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราก็คุยกันว่า เพื่อความสบายใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาบังคับก็ได้ ให้เป็นวิชาเลือกให้นักศึกษาได้เรียนรู้ก่อน

ดร.ธนกร มองว่า ความร่วมมือต่างๆ ข้างต้น ทำให้ได้เห็นถึงความตื่นตัวในเรื่องของการสร้างหรือการพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งวันนี้ พลเมืองดิจิทัลหลายกรณีที่เกิดขึ้นมันสะท้อนให้เห็นว่าเขาทำการบ้านมากกว่าคนทำสื่อด้วยซ้ำ มีความรู้ความสามารถในการขุดข้อมูลต่างๆ มาแบบรอบด้านมากกว่าคนที่เป็นสื่อหลักด้วยซ้ำไป ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เราเดินมาถูกทาง

...สิ่งที่ผมอยากจะหวังต่อจากนี้ หลังจากเมื่อปีที่แล้ว ผมได้บอกต่อคนในองค์กรว่า เราต้องชัดเจนในเรื่องของ การขับเคลื่อนองค์กรตามยุทธศาสตร์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับที่ 2 หรือระยะที่ 2 โดยระยะที่ 1 คือช่วงปี 2561-2565 เป็นยุทธศาสตร์ 5 ปี ที่เดิมมี 4 ด้าน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ใช้ยุทธศาสตร์ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2566-2570 รวมเวลา 5 ปี โดยปีนี้เป็นปีแรกที่เริ่มใช้ โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ 5 ด้าน

ยุทธศาสตร์แรกก็คือ ส่งเสริมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเราทำเป็น 2 กลยุทธ์

อันแรกคือ สร้างคน สร้างผู้ผลิต ทำให้มีผู้ผลิตสื่อแบบครบวงจรในทุกสาขาอาชีพเลย ตั้งแต่นักเขียน-นักเขียนบท-นักแสดง-ผู้กำกับ-นักเต้น คนที่จะทำ Content-คนที่ทำงาน Production ระดับต่างๆ เราก็แบ่งเป็นแบบระดับต่างๆ เลยว่าตั้งแต่หน้าใหม่ระดับกลาง-ระดับสูง สิ่งนี้คือการพัฒนาคน

อันที่สอง การพัฒนาสื่อ โดยทำผ่านการให้ทุนในแต่ละปี ที่กำหนดเป็นประเด็นขึ้นมาว่าเราอยากได้สื่อประเภทนี้ ซึ่งทุกปีก็มีผลงานออกสู่สาธารณะ เช่น ภาพยนตร์ ก็จะมีอย่างน้อยปีละหนึ่งเรื่อง เป็นต้น

...ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ สร้างองค์ความรู้ เราก็มีงานวิจัย มีหลักสูตร-มีวารสารวิชาการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เรียกว่า Thai Media Fund Journal หรือ TMF รวมถึงรายงานการศึกษาสภาพการณ์ของสื่อที่เรียกว่าเป็น Media Alert ที่เป็นรายงานสภาพการณ์ของสื่อทุกๆ 3 เดือน เราก็หวังที่จะสร้างให้เราเป็น Academy Centre ในการสร้างองค์ความรู้ด้านสื่อ ซึ่งที่ผ่านมาก็ถือว่าเราทำได้ดี

ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ก็คือทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ ที่กองทุนฯ ได้ทำผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ หลายอย่าง เพื่อขับเคลื่อน-รณรงค์ในเรื่องนี้ เช่น การทำค่ายเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ ที่ให้นักเรียนจากทั่วประเทศ อายุไม่เกิน 18 ปี มาร่วมโครงการเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการรู้เท่าทันสื่อในรูปแบบต่างๆ และเปิดโอกาสให้เขาได้สร้างสื่อด้วยตัวเองด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ การสร้างเครือข่าย-การมีส่วนร่วม โดยนอกจากสมาคมวิชาชีพสื่อต่างๆ ที่กองทุนฯ เข้าไปร่วมมือในโอกาสต่างๆ ก็ยังมีสมาคมอื่นๆ เช่น สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ หรือสมาคมผู้กำกับฯ เราก็ร่วมมือกัน ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงกองทุนฯ ยังได้จับมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มาจับมือร่วมกันในการให้สังคมตระหนักถึงภัยออนไลน์ผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การผลิตคลิปเผยแพร่ฯ เป็นต้น

...ปัจจุบันกองทุนฯ มีภาคีเครือข่ายที่ได้ร่วมกันลงนามทำ MOU อยู่ประมาณ 40 หน่วยงาน โดยมากที่สุดก็คือ มหาวิทยาลัยต่างๆ เกือบ 30 แห่ง ที่เหลือก็เป็นหน่วยงานอื่นๆ ตรงนี้คือการสร้างการมีส่วนร่วม

และยุทธศาสตร์ที่ 5 คือ สร้างองค์กร เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ในการที่จะปรับตัวเองเข้าสู่สังคมดิจิทัล เพื่อจะไปสู่ Thailand 4.0 สำนักงานกองทุนสื่อฯ ได้พัฒนาทักษะของบุคลากร และเดินตามแผนของรัฐบาลที่ต้องการลดการใช้กระดาษลง ทำงานในระบบออนไลน์มากขึ้น ประชุมออนไลน์ เอกสารออนไลน์ สำนักงานฯ ได้พัฒนาไปพร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ เราอาจไม่ได้อยู่แถวหน้าเสียทีเดียว แต่ที่สำคัญเราไม่ได้อยู่ในแถวหลังๆ เพราะเราต้องการทำให้กลไกการทำงานของกองทุนฯ มีความคล่องตัว

"ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 6 สร้าง กองทุนฯ ใช้เป็นธงนำในการทำงาน โดยผมพยายามทำให้บุคลากร น้องๆ ในสำนักงานได้มีส่วนร่วม มีส่วนรับรู้ร่วมกัน คิดร่วมกันและปฏิบัติร่วมกัน และหวังว่าเราจะได้รับความสำเร็จร่วมกัน ปีนี้จะเป็นปีที่ทำให้การทำงานต่างๆ ลงหลักปักฐาน เกิดความยั่งยืน เกิดความต่อเนื่อง ผมมั่นใจว่าวันหนึ่ง ที่หากผมไม่ได้อยู่กองทุนฯ แล้ว อย่างน้อยกองทุนฯ จะต้องเป็นองค์กรที่มีระบบที่ดี และสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

สิ่งที่อยากให้เป็นภาพจำ

หากอนาคตไม่อยู่กองทุนฯ           

หลังได้ฟังสิ่งที่กองทุนฯ ทำไปหลายอย่าง ในช่วงที่ผ่านมา เราจึงตั้งคำถามถึงว่า หากว่าวันหนึ่งข้างหน้าถ้าไม่ได้ทำงานที่กองทุนพัฒนาสื่อฯ แล้ว ต้องการสร้างภาพจำของตัว ดร.ธนกร กับกองทุนพัฒนาสื่อฯ ให้คนพูดถึงอย่างไรบ้าง ดร.ธนกร-ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ กล่าวถึงความตั้งใจของตัวเองว่า อยากให้คนมีภาพจำต่อองค์กร เวลาที่คนพูดถึงองค์กรกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ คือ ให้คนนึกถึงว่าองค์กรแห่งนี้ คนจะคาดหวังได้ว่ากองทุนสื่อฯ จะทำให้เกิดสื่อที่มีคุณภาพ มีสื่อที่เป็นทางเลือก ที่เข้าถึงได้

...อยากให้เรื่องแรกที่เวลาคนพูดถึงองค์กรกองทุนสื่อฯ คือต้องนึกถึงสิ่งดีๆ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่กองทุนสื่อฯ มุ่งมั่นตั้งใจมาก ตลอดจนการทำให้คนนึกถึงว่า กองทุนสื่อฯ คือโอกาสของคนที่ต้องการทำสื่อ คนเล็กคนน้อยที่อยากจะเริ่มต้นเรียนรู้ ที่เวลาเขานึกถึงกองทุนสื่อฯ เขาเห็นว่ากองทุนฯ คือโอกาสและความหวัง

สองเรื่องนี้คือภาพที่พวกเราทุกคนในองค์กรต้องการให้เกิด ซึ่งหากเกิดทั้งสองข้อนี้ได้ เรื่องอื่นๆ จะตามมาเอง ใครจะมาเป็นผู้จัดการกองทุนสื่อฯ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจดจำ นายธนกร ศรีสุขใส แต่เขาต้องจดจำกองทุนฯ ซึ่งหากคนจดจำภาพนี้ได้ เขาจะรักและหวงแหน เพราะนี่คือการสร้างคุณค่าของกองทุนฯ ต่อสังคม และคุณค่าอื่นที่จะตามมา มันจะไปไกลมากกว่ากองทุนฯ สร้างสื่อดีอย่างเดียว แต่กองทุนฯ จะสร้างสื่อที่ดี มีคุณค่า และมีมูลค่า

..อย่างวันหนึ่งข้างหน้า เราอาจจะได้เห็นคอนเสิร์ตดีๆ ที่จัดโดยกองทุนสื่อฯ คอนเสิร์ตที่มันสุดยอดในการสร้างแรงบันดาลใจ เช่นเดียวกับกองทุนฯ ที่สร้างภาพยนตร์ระดับนานาชาติขึ้นมา โดยเป็นภาพยนตร์ที่พิถีพิถันตั้งแต่เรื่องการเขียนบท ทำให้คนภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยแบบไม่ต้องยัดเยียด ทำให้คนตะวันตกหรือคนต่างชาติ เมื่อได้ดูภาพยนตร์ดังกล่าวแล้ว เขาเกิดความรู้สึกว่าเมืองไทยไม่ธรรมดา สิ่งที่มันซ่อนอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้น มันมีทุกเรื่อง มีวิถีชีวิต มีกลิ่นอายของลมหายใจ มีเรื่องของวัฒนธรรม มีเรื่องของความเป็นคนไทยที่เขาเห็น ชีวิตผู้คน อะไรพวกนี้ แล้วมันจะสร้างคุณค่าให้กับกองทุนสื่อฯ แล้วกองทุนฯ ก็จะกลับไปสร้างคุณค่าให้กับสังคม

"ซึ่งผมคิดว่าถึงวันนั้น กองทุนสื่อฯ ก็จะไปอยู่ในใจคน แล้วคนก็จะรัก หวงแหน และเข้ามาปกป้องกองทุนฯ ภาพจำสำหรับผู้จัดการกองทุนสื่อฯ ไม่จำเป็นเลย ผู้จัดการเป็นแค่คนขับเคลื่อนแล้วก็ถอยไปอยู่หลังฉาก คนที่จะมาขับเคลื่อนองค์กรก็รองผู้จัดการฯ-ผู้อำนวยการต่างๆ และเจ้าหน้าที่ทุกคนในองค์กร ที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ แล้ววันหนึ่ง คนจะจำกองทุนฯ เป็นภาพใหญ่เลย" ดร.ธนกร ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ กล่าวทิ้งท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทธรรมดับโลกร้อน .. ที่นักปกครองต้องอ่าน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. โลกกำลังเข้าสู่ห้วงธรรมวิกฤต.. ที่มนุษยชาติประพฤติตนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ มีความโลภที่รุนแรงและราคะความกำหนัดที่ผิดธรรม .. เป็นส่วนใหญ่

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ