เพิ่มขีดความสามารถให้วิสาหกิจชุมชนผ่านแนวทางปฏิบัติทางบัญชีที่ใส่ใจบริบททางวัฒนธรรม

ด้วยประเทศไทยมีชุมชนในระดับรากหญ้าอยู่จำนวนมากที่มีการรวมตัวกันใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นในการประกอบธุรกิจ ซึ่งขนาดธุรกิจยังมีขนาดที่เล็กมากไม่ถึงขนาดวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และด้วยจำนวนชุมชนที่มีอยู่อย่างมากทั่วประเทศ กิจการของชุมชนเหล่านี้สามารถช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของชุมชนให้สามารถใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างรายได้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง และสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นหน่วยธุรกิจที่สูงขึ้นได้  

จึงอาจกล่าวได้ว่า วิสาหกิจชุมชน คือ กิจการของชุมชนที่จัดตั้งขึ้นโดยการรวมตัวของสมาชิกในชุมชนโดยสมัครใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการทุนของชุมชนให้เกิดรายได้และให้สมาชิกสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างสร้างสรรค์ ผ่านการผลิตสินค้า จำหน่ายสินค้า หรือให้บริการต่างๆ 

หลังจากที่รัฐบาลออกพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2562 เพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 ให้เกิดความชัดเจนและอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ในปี 2562 กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานสถิติการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ว่า มีวิสาหกิจชุมชนได้รับอนุมัติจดทะเบียนทั่วประเทศรวมกว่า 80,000 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ต่อปีกว่า 2.55 หมื่นล้านบาท ดังนั้น วิสาหกิจชุมชนจึงถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง 

แต่จะทำอย่างไร ให้วิสาหกิจชุมชนบริหารจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน วิสาหกิจชุมชนก็เหมือนองค์กรประเภทอื่นๆ ที่ต้องการเครื่องมือที่จะช่วยในการจัดการการเงิน แสดงความโปร่งใส ปฏิบัติตามกฎระเบียบ มีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย และตัดสินใจอย่างชาญฉลาด ซึ่งการทำบัญชีและการควบคุมภายในเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่วิสาหกิจชุมชนต้องทำตามข้อบังคับของกฎหมายการจัดตั้ง และจะทำให้กิจการรู้สถานการณ์การเงินของตนเอง และป้องกันไม่ได้เกิดการทุจริต ทำให้การดำเนินการของกลุ่มมีความโปร่งใส แต่ทว่าวิสาหกิจหลายแห่งยังไม่ได้รับประโยชน์ตามที่ควรจะเป็น 

ซึ่งการศึกษาหลายงานศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำบัญชีของกลุ่มวิสาหกิจ และพบว่า ปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจด้านการทำบัญชีเป็นปัญหาที่พบมากที่สุด ถึงแม้จะได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดอบรม ถ่ายทอดความรู้และจัดทำคู่มือบัญชีต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถนำมาปรับใช้งานได้ เนื่องจากคู่มือปัญชีของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่าง และไม่ตรงกับการใช้งาน และในขณะที่บางกลุ่มวิสาหกิจที่มีความพร้อมด้านเงินทุนก็ได้แก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการจ้างบริษัทบัญชีในการจัดทำบัญชี แต่ก็เกิดปัญหาการแสดงรายรับ-จ่ายไม่ตรงความจริงบ้าง เนื่องด้วยยังต้องการอาศัยการหลักฐานทางการเงินต่างๆ ที่ในบางครั้งก็เกิดปัญหาสูญหาย อีกทั้งกลุ่มก็ประสบปัญหาด้านความล่าช้าของการได้รับรายงานกำไร-ขาดทุนทำให้วางแผนได้ไม่ทันถ่วงทีบ้าง จึงถือว่ายังคงไม่เป็นไปตามที่วิสาหกิจคาดหวัง ประกอบกับปัญหาด้านเอกสารและวิธีการทางบัญชีที่วิสาหกิจชุมชนที่ผู้ทำบัญชีมักจะประสบปัญหาการมีเอกสารทางบัญชีมากเกินความจำเป็นและมีปัญหาด้านการจัดเก็บหลักฐานทางการเงิน อีกทั้งปัญหาดังกล่าวยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การจัดทำงบ หรือการตรวจสอบซึ่งสะท้อนว่าขาดการควบคุมภายในที่ดี วิสาหกิจชุมชนมักจะจดบันทึกเพียงรายรับ-รายจ่าย ประกอบกับขาดกฏเกณฑ์ทำให้เกิดการละเลยการจัดทำบัญชีการเงิน ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการจัดทำบัญชี  อีกทั้งวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่มักเจอปัญหาไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ภายหลังจากได้รับการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐ 

จากปัญหาข้างต้น หากเรามองลึกเข้าไปท่ามกลางปัญหา แท้จริงแล้ววิสาหกิจชุมชนไม่ได้ไม่ให้ความสำคัญกับการจัดทำบัญชีตามที่ภาครัฐกำหนด แต่เลือกใช้วิธีการจัดทำบัญชีหรือการจัดการเงินด้วยวิธีอื่น ด้วยลักษณะที่ไม่เป็นทางการของกลุ่ม จึงทำให้ขาดทรัพยากรที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดทำบัญชีที่ซับซ้อน กลุ่มจึงเลือกวิธีการบันทึกบัญชีที่ง่ายกว่าซึ่งเหมาะสมกับขนาดและการใช้งาน เช่นการบบันทึกรายรับ-รายจ่ายในสมุดบันทึกเพียงเล่มเดียว ทั้งยังขาดเงินทุนในการลงทุนในซอฟแวร์บัญชีที่ซับซ้อนหรือจ้างนักบัญชีมืออาชีพ อีกทั้งบริบททางวัฒนธรรมที่ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติทางบัญชีแบบดั้งเดิม เช่น การติดตามทวงหนี้ กลุ่มอาจมีวิธีการทวงหนี้โดยใช้วิธีการทางสังคมในการติดตาม โดยไม่ต้องส่งหนังสือทวงหนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ ด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นภายในชุมชนที่มักจะสร้างจากความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การทำบัญชีอย่างเป็นทางการจึงดูเหมือนไม่จำเป็น เมื่อทุกคนในชุมชนรับรู้ถึงการมีส่วนร่วมและกิจกรรมของกันและกัน กลุ่มจึงเน้นทำกิจกรรมหลักที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับต้นและ และการทำบัญชีจึงถูกจัดเป็นกิจกรรมลำดับท้ายๆ 

จากที่กล่าวมาข้างต้น ถึงอย่างไรวิสาหกิจชุมชนก็จำเป็นต้องจัดทำบัญชีเพื่อความโปร่งใส ป้องกันการทุจริต และใช้เพื่อการตัดสินใจ การส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนนำแนวปฏิบัติทางบัญชีมาใช้ ต้องใช้วิธีการที่รอบคอบและละเอียดอ่อนต่อวัฒนธรรม ช่วยให้วิสาหกิจชุมชนเห็นคุณค่าในการใช้แนวทางปฏิบัติทางบัญชี 

1) อาจเริ่มจากการให้ความรู้แก่สมาชิกในชุมชนเกี่ยวกับประโยชน์ของการทำบัญชีช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าการทำบัญชีที่เหมาะสมสามารถนำไปสู่การตัดสินใจทางการเงินที่ดีขึ้น ความโปร่งใส และความยั่งยืนได้อย่างไร แบ่งปันตัวอย่างจริงที่มีจัดทำบัญชีภายในวิสาหกิจชุมชน เน้นเรื่องราวความสำเร็จที่การจัดการทางการเงินที่ดีขึ้นนำไปสู่ความมั่นคง และการเติบโตที่เพิ่มขึ้น ความโปร่งใสทางการเงินที่ดีขึ้นสำหรับสมาชิก และโอกาสในการระดมทุนที่ดีขึ้น

2) ปรับแนวปฏิบัติทางบัญชีให้สอดคล้องกับคุณค่าทางวัฒนธรรมและบริบทของชุมชนเพื่อให้แน่ใจว่าชุมชนเห็นความเกี่ยวข้องของการบัญชีภายในกรอบการทำงานที่มีอยู่ 

3) เน้นวิธีการบัญชีที่เรียบง่ายและใช้งานได้จริงซึ่งไม่ทำให้กระบวนการที่มีอยู่ของชุมชนมากเกินไปหรือซับซ้อน แสดงให้เห็นว่าการบัญชีสามารถช่วยให้วิสาหกิจชุมชนจัดการทรัพยากรได้ดีขึ้นและบรรลุเป้าหมายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร 

4) ให้ผู้นำชุมชนที่น่าเชื่อถือสร้างการมีส่วนร่วมกับสมาชิก และสนับสนุนการนำแนวปฏิบัติทางบัญชีมาใช้ ผู้คนมักจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่พวกเขาไว้วางใจ

5) แนะนำซอฟต์แวร์บัญชีที่เรียบง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้หรือเครื่องมือที่สามารถลดความซับซ้อนของการเก็บบันทึกและการรายงานทางการเงิน

6) กระบวนการในการปรับต้องทำแบบค่อนเป็นค่อยไป เริ่มต้นด้วยขั้นตอนเล็กๆ เช่น การใช้แนวทางปฏิบัติในการเก็บบันทึกขั้นพื้นฐาน และค่อยๆ แนะนำแนวคิดการบัญชีขั้นสูงมากขึ้นเมื่อชุมชนเริ่มคุ้นเคย ให้การสนับสนุน ให้คำปรึกษา และคำแนะนำอย่างต่อเนื่องในขณะที่วิสาหกิจชุมชนนำมาใช้และรวมแนวปฏิบัติทางบัญชีเข้ากับการดำเนินงานของพวกเขา

สุดท้ายที่ขาดไม่ได้เลย 7) องค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่น หน่วยงานพัฒนา หรือสถาบันต่างๆ จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนและทรัพยากรสำหรับการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติทางบัญชีอย่างต่อเนื่อง

โปรดระลึกเสมอว่า การใช้งานที่ประสบความสำเร็จนั้นมักจะต้องใช้ความอดทนและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสถานการณ์เฉพาะของชุมชน เป้าหมายคือการช่วยให้วิสาหกิจชุมชนเห็นว่าการบัญชีสามารถช่วยให้พวกเขาบรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร

อ้างอิง

กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร.(2562). คู่มือการดำเนินกิจการวิสาหกิจชุมชน.ค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562, จาก http://www.sceb.doae.go.th/Documents/SKC/wCE.pdf

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.). (2563). รายงานสถานการณ์ SME ปี 2562

https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20190909095851.pdf

SME Update. (2562). วิสาหกิจชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก. https://www.bangkokbanksme.com/en/community-otop

ขวัญชนก ห่านนิมิตกุลชัย .(2556). แนวปฏิบัติและปัญหาในการจัดทำบัญชีของผู้ทำบัญชีวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดสกลนคร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สรัชนุช บุญวุฒิ. (2558). ปัญหาและรูปแบบการพัฒนาประสิทธิผลของระบบบัญชี สำหรับวิสาหกิจชุมชน : กลุ่มผู้ผลิตข้าวแต๋น บ้านหนองหล่าย อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง. รายงานสืบเนื่องการประชุมทางวิชาการและเสนอผลงานทาวิจัยระดับชาติและนานาชาติมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรครั้งที่ 15, 161–172.

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ
ดร ปวีนา กองจันทร์

คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พีระพันธุ์ ลงพื้นที่ ชุมพร-ระนอง สั่งการทุกพื้นที่ต้องเข้าถึงพลังงาน

พีระพันธุ์ ลงพื้นที่ ชุมพร - ระนอง เยี่ยมชมโรงสกัดน้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชน พร้อมมอบนโยบายให้พลังงานจังหวัด ลั่น ประชาชนต้องเข้าถึงพลังงาน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

รมช.อนุชา ชื่นชม ‘ห้วยทรายโมเดล’ วิสาหกิจชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี ต้นแบบแปรรูปสินค้าเกษตรครบวงจร พัฒนาสู่เกษตรมูลค่าสูง

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย หมู่ที่ 3 ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วิสาหกิจชุมชนขอนแก่น ชี้สุราพื้นบ้าน ต้องใช้เวลาพัฒนา 3 ปี เทียบระดับโลกได้แน่

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเมล็ดพันธุ์และการแปรรูปผลผลิตทรงการเกษตรบ้านโนนเชือก ผลิตสุราชุมชน ซึ่งตั้งอยู่ เลขที่ 174 ม.7 บ้านโนนเชือก ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ภายหลังนโยบายสุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล กำลังได้รัยกระแสความนิยมและความคาดหวังจากกลุ่มผู้ผลิตสุราชุมชนอย่างมาก

ซีพี ออลล์ ยกระดับอาชีพเพาะกล้าไม้ สู่วิสาหกิจชุมชน จ.สุรินทร์ สร้างรายได้พร้อมสร้างเครือข่ายพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน

นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีพี ออลล์ได้สนับสนุนพี่น้องเกษตรกร ชุมชน โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเพาะและอนุบาลกล้าไม้เพื่อนำไปส่งมอบให้กับโครงการต่างๆ ในแหล่งปลูกต่างๆได้กว่า 157,050 ต้นในปี 2565