Climate School (โรงเรียนเพื่อการรักษาสภาพภูมิอากาศ)

เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนทุกประเทศในโลกต้องหันมาให้การสนับสนุนส่งเสริมนโยบายการรักษาสิ่งแวดล้อมกันอย่างเห็นได้ชัด ในเวทีการประชุมใหญ่ระดับโลก ก็มักจะมีหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ด้วยเสมอไม่มากก็น้อย องค์การสหประชาชาติเองก็ออกนโยบายผลักดันเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและตั้งเป้าหมายไว้ทั้งหมด 17 ข้อ โดยเฉพาะข้อที่ 13 ที่ว่าด้วยเรื่อง Climate Action การดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ และมีกิจกรรมจากหน่วยงานต่างๆอีกมากมายที่ต้องการให้มวลมนุษยชาติทั้งหลายหันมาใส่ใจในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่ทันสมัยมากที่สุดในปัจจุบัน

Climate School คืออะไร มีความสำคัญต่ออนาคตของโลกอย่างไร

โรงเรียนเพื่อการรักษาสภาพภูมิอากาศ (Climate School) เป็นโรงเรียนหรือแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์บุคลากรของโลกที่จะมาช่วยในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและป้องกันสภาพภูมิอากาศของโลกให้มีความใสสะอาดมากขึ้นในอนาคต ฟังดูแล้วก็จะมีคำถามตามมามากมายว่า บุคลกรเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศนั้นเขาจะต้องเป็นอย่างไร จะต้องทำอะไร เรื่องนี้มีคำตอบอยู่ที่ว่า “ในอนาคตหากองค์กรใดผลิตสินค้าออกมาเพื่อการอุปโภคบริโภคแล้วมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็อาจจะไม่สามารถอยู่ต่อในธุรกิจนั้นได้อีกต่อไป กระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมาแรง ขึ้นมาแทรกแซงธุรกิจเหล่านั้นให้มีการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการในการผลิตหรือบริการของตนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด และหากเจ้าของกิจการเพิกเฉยก็จะถูกต่อต้านจากผู้บริโภคจนอาจจะทำให้ธุรกิจนั้นเสียหายหรืออาจจะต้องล้มละลายปิดตัวลงก็เป็นได้ เขาเหล่านั้นจึงต้องการบุคลากรที่จะมาช่วยดูแลในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็จะถูกผลิตมาจากโรงเรียนที่จะตั้งขึ้นนั่นเอง ถือว่าเป็นอนาคตใหม่ เป็นการจัดระเบียบโลกใหม่ที่ทุกประเทศต้องเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญระดับชาติ เป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องออกนโยบายการสร้างจิตสำนึกของเยาวชนตั้งแต่เด็ก ตลอดจนออกนโยบายสาธารณะในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและการป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ บุคลากรเหล่านี้จะมีคุณค่ามากในอนาคต ไม่ต่างจากอาชีพหมอ วิศวกร หรือนักคอมพิวเตอร์ที่ถือว่าเป็นมนุษย์ทองคำกันอยู่ในปัจจุบัน

ใครบ้างที่ควรจะเรียนโรงเรียนนี้ วิทยาลัยนี้ หรือสถาบันวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องนี้….เป็นคำถามที่เราสามารถตอบได้ง่ายมาก ก็เยาวชนทุกคนซิที่จะต้องเรียน เรียนกันตั้งแต่อนุบาลเลย จะต้องสอนเยาวชนให้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ นั่นสิแล้วเราจะสอนตอนไหน เริ่มต้นอย่างไรดี ไม่ต้องคิดมากครับ ปัจจุบันนี้เราเรียนวิชาลูกเสือ เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เราก็เพิ่มวิชาสิ่งแวดล้อมเข้าไปก็จบ แต่ถ้าทางกระทรวงศึกษาธิการบอกว่าไม่มีช่องเวลาให้ลงแล้ว ก็เอาช่วงวิชาลูกเสือนั่นแหละมาสอน สอนเพื่อให้เยาวชนได้ตระหนักว่า พวกเราชาวมนุษย์โลกนั้น จะสามารถทำลายล้างโลกหรือรักษาโลกไว้ได้อย่างไร เท่านั้นเอง

เอาวิชาพื้นฐาน (Basic) ง่ายๆก่อน เริ่มจากง่ายไปหายาก แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนพิสมควรเลยทีเดียว แต่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ จะต้องเร่งออกนโยบายให้เร็วที่สุด จัดทำหลักสูตรและตำราเรียนในแต่ละชั้นเรียนให้เร็วที่สุด และสำหรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว จะต้องมีสาขาวิชานี้ มีคณะนี้ให้ครบทุกมหาวิทยาลัย หลายมหาวิทยาลัยมีคณะเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ จะได้ผลิตบุคลากรของชาติมาช่วยกันจรรโลงโลกใบนี้ไว้ให้อยู่อีกนานแสนนานและตอบสนองนโยบายสากลของสหประชาชาติด้วย

Climate School สำคัญอย่างไร ทำไมต้องมีวิชานี้หรือสถานศึกษาประเภทนี้ในประเทศไทยและทั่วโลก…ทุกวันนี้เราสังเกตกันไหมครับว่าสภาวะอากาศเริ่มแปรปรวนไปทุกปี ประเทศไทยนับวันแต่จะร้อนขึ้น หลายประเทศทั่วโลกหนาวเย็นเป็นเวลานาน บางที่ไม่เคยมีหิมะตกมาก่อนก็มีหิมะตก เป็นเรื่องที่เราสัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะมนุษย์เราไม่สนใจเรื่องภาวะโลกร้อนกันอย่างจริงจังนั่นเอง คนส่วนใหญ่ของโลกรักความสะดวกสบาย ของใช้ก็เอาแบบง่ายเข้าว่า จะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอะไรตามมานั้นไม่สนใจ ตัวอย่างเช่น ขวดน้ำพลาสติก กล่องอาหารพลาสติก ถุงพลาสติก ทุกอย่างเอาง่ายเข้าไว้ ไม่สนใจการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แม้แต่รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หรือเครื่องปรับอากาศที่มีกันใช้อย่างแพร่หลายเกือบทุกครัวเรือน ท่านลองจินนาการดูว่าคอนโดมีเนียม 1 โครงการมีกี่ห้อง เกือบทุกห้องใช้เครื่องปรับอากาศกันหมด แอร์แต่ละเครื่องระบายความร้อนออกมาขนาดไหนก็ลองเอามือไปบังที่เครื่องคอมเพรสเซอร์ดู 1 โครงการมี 300 ยูนิต ความร้อนที่พ่นออกมาจากเครื่องปรับอากาศนั้นเป็นเท่าไหร่ ร้อนขนาดไหน นี่แหละปัญหาที่เกิดขึ้นจากความมักง่ายของมนุษย์ ซึ่งในอนาคต นักเรียนนักศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยกันรักษา คิดค้นกรรมวิธีต่างๆที่ดีกว่าปัจจุบัน และต้องทำให้ได้โดยเร็ว ไม่เกิน 5 ปีข้างหน้านี้

เราต้องสอนอย่างไรและทำอะไร อีกไม่นานทั่วโลกจะต้องตื่นตัวกันอย่างมากในเรื่องนี้ การประชุมสัมนาระดับประเทศและระดับสากลจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าตัวในแต่ละปี ประเทศไทยเองก็คงจะหนีไม่พ้นที่จะต้องมีหน่วยงานที่พูดกันในเรื่องนี้มากขึ้น เพราะความสำคัญของอนาคต เรื่องสิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศจะนำเรื่องเศรษฐกิจ องค์กรใดไม่ยึดหลักปฏิบัติในความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะถูกต่อต้านจากผู้บริโภคและประชาชนไปเอง ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โรงเรียนทุกโรงเรียนต้องมีวิชาการรักษาสิ่งแวดล้อม เด็กๆต้องเข้าใจเรื่อง ESG (Environmental, Social, Governance) และ SDG (Sustainability Development Goals) ตั้งแต่ชั้นประถม และจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติที่ต้องมีหลักเกณฑ์ในการประเมินผลในระดับมัธยม ส่วนในระดับอุดมศึกษานั้น สาขาวิชานี้ก็น่าจะเป็นสาขาวิชาที่มีคนเรียนมาก หน่วยงานอิสระและองค์กรเอกชนหรือองค์กรทางการศึกษาต่างๆก็จะต้องเปิดอบรมในเรื่องนี้อย่างเป็นที่แพร่หลายอย่างแน่นอน

โดยสรุปคือ รัฐควรออกนโยบายสาธารณะในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการรักษาสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว เป็นวาระแห่งชาติให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2570 ให้ได้ ปรับโครงสร้างของกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้เร่งปฏิบัติให้ถูกต้อง การรู้จักคุณค่าของทรัพยากรและการทำลายสภาพภูมิอากาศจะต้องเป็นเรื่องที่เยาวชนต้องได้รับรู้ก่อนโดยด่วย และหวังว่าบทความนี้คงจะมีผลดีต่อการกำหนดนโยบายของชาติบ้างไม่มากก็น้อย แต่ต้องเร่งทำ ทำทันที จะดีต่อลูกหลานไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

ไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว

ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการความรู้เอเชีย
และประธานมูลนิธิเด็กวัด

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ กล่าวเนื่องในวันน้ำโลก ชวนทุกคนร่วมร่วมอนุรักษ์ แบ่งปัน ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า

นายกฯ กล่าวเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2567 เชิญชวนทุกคนร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมอนุรักษ์ แบ่งปัน ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ให้น้ำเป็นทรัพยากรที่สร้างความมั่นคงทางสังคม การเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและประชาคมโลก

การศึกษาชั้นพื้นฐานกับการพัฒนาเยาวชนด้วยกฎ 10 ข้อของลูกเสือ

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ย่อมต้องมีการพัฒนาตนเองตั้งแต่แรกเกิด ส่วนหนึ่งคือพัฒนาจากธรรมชาติ ได้แก่การเรียนรู้ในการหายใจ การเรียกร้องเมื่อท้องหิวหรือเจ็บป่วย