หวั่นระบบอุปถัมภ์ -บ้านใหญ่ พรรคการเมือง ส่งเครือข่าย ยึดกุมวุฒิสภา-ทุ่มซื้อสว.!

กระบวนการที่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของนักการเมืองที่เรียกกันว่าบ้านใหญ่ ทั้งหมดเหล่านี้คือปัญหาอุปสรรค ทำให้การเลือกสว.ที่จะเกิดขึ้น...กลายเป็นการทำให้มีโอกาสที่วุฒิสภาจะมีการถูกครอบงำ-แทรกแซงโดยฝ่ายการเมือง..ถ้าหวังว่าใครจะได้ เขาก็สามารถทุ่มมา ซึ่งมันถูกกว่า ค่าตัวของส.ส.ที่ทุ่มกันประมาณ 40-60 ล้าน แต่สว.คาดว่าจะเสียน้อยกว่านั้น เมื่อเสียน้อยกว่า เขาก็กล้าลงทุน

สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าสว.ชุดใหม่ ที่กำลังจะมีการคัดเลือกกันเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการได้มาซึ่ง”สภาสูงชุดใหม่”หลังจากนี้ จะเริ่มอยู่ในความสนใจมากขึ้นเมื่อกระบวนการคัดเลือกสว.ชุดใหม่เริ่มต้นนับหนึ่งในอนาคตอันใกล้

ด้านความเห็นต่อการเลือกสว.ที่จะมีขึ้น ตลอดจนการประเมินโฉมหน้าของวุฒิสภาชุดใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร จากคนที่เคยมีประสบการณ์การเป็นสว.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนมาแล้วในอดีต ซึ่งตอนเป็นสว.ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นสว.คุณภาพคนหนึ่ง

นั่นก็คือ “นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ -อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุบลราชธานี -อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ –อดีตคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี”ซึ่งปัจจุบันทำงานในด้านภาคประชาสังคมในฐานะ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพภาคประชาชน (กขป.)

“นพ.นิรันดร์-อดีตสว.ปี 2543”กล่าวถึงการเลือกสว.ที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้ แต่ลำดับแรก ได้ปูพื้นให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของวุฒิสภาในระบบการเมืองไทยว่า ตัวผมเป็นสว.ที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่หลายคนคงทราบกันดีว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับของภาคประชาชน โดยเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวจนถึงตอนนี้ที่ให้สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ 77 จังหวัด และมีการให้อำนาจกับสว.ไว้มาก จากเดิมที่วุฒิสภา เป็นเหมือนสภาที่ปรึกษา สภาพี่เลี้ยง  โดยสว.ที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ถือว่าเป็นวุฒิสภาที่มีอำนาจมาก ซึ่งอำนาจอย่างหนึ่งก็คือการให้สว.มีอำนาจในการคัดเลือกสรรหา กรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจมาก จนถูกเรียกว่าเป็น"อำนาจหน้าที่ 4 "ไม่ว่าจะเป็น กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ   กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม สำหรับสว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำลังจะมีการคัดเลือกกันหลังจากนี้ จริงๆ ไม่ใช่สว.จากการเลือกตั้ง แต่เป็นการคัดเลือกกันเองของผู้สมัครจะเป็นสว. และเป็นการเลือกจากผู้สมัครในสาขาอาชีพ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน  และคนที่จะลงคะแนนเลือกสว.ก็ต้องเสียเงิน 2,500 บาทในการลงสมัครเข้าไป แล้วลองคิดดูว่าจะมีประชาชนสักกี่คนที่จะยอมเสียเงินเข้าไปในสภาวะที่ประชาชนมีความแร้นแค้นยากลำบาก ซึ่งตรงนี้คือปัญหาอุปสรรคในการเลือกสว.รอบนี้ เพราะโหวตเตอร์จะน้อยลง

"นพ.นิรันดร์"กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระบวนการคัดเลือกสว.ที่จะเกิดขึ้น ก็มีกระบวนการที่ซับซ้อน ที่ก็จะมีการเลือกในระดับอำเภอและจังหวัดที่นอกจากเลือกตรงในสาขาอาชีพที่สมัครแล้ว ก็ยังมีการเลือกไขว้อีก ซึ่งการเลือกไขว้ก็จะมีปัญหา โดยการเลือกไขว้ ทำให้คนที่อยู่ต่างสาขาอาชีพจะรู้จักคนที่อยู่คนละสาขาอาชีพน้อยมาก(ภูมิหลัง)  เช่น อย่างผมที่เคยมีประสบการณ์การทำงานในเรื่องการเมืองการปกครอง ที่ก็อยู่ในหนึ่งสาขาอาชีพจากที่กำหนดไว้ 20 กลุ่มก็ยังพอเป็นที่รู้จัก แต่คนที่ไม่อยู่ในกระแสของการทำงานการเมืองมาก่อน แถมกติกาก็ห้ามหาเสียง มันก็ผิดธรรมชาติ แล้วพอเสร็จจากระดับจังหวัดก็มาคัดเลือกในระดับประเทศ

ทั้งสามขั้นตอนดังกล่าว คือ  อำเภอ-จังหวัด-ระดับประเทศ จะมีกระบวนการอย่างที่เราเคยรู้กัน จำได้หรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ให้มีสภาที่ ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโดยให้มีการเลือกสมาชิกสภาที่ ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   ที่เลือกกันเองในแต่ละสาขาอาชีพ ที่ก็พบว่าในกระบวนการคัดเลือก ก็มีการบล็อกโหวตกัน มีการจัดตั้งกันโดยฝ่ายการเมืองที่ต้องการมีคนของตัวเองเข้าไปเป็น สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่นสายแรงงาน สายรัฐวิสาหกิจ สายสื่อมวลชน สายอดีตข้าราชการประจำ จนต่อมา ก็มีการยกเลิกสภาที่ ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ตรงนี้คือจุดอ่อนของกระบวนการเลือกสว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้เกิดกระบวนการ"บล็อกโหวต" และยังเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการเสียเงินค่าสมัคร ถึงจะได้เข้าไปเป็นโหวตเตอร์ ทั้งที่สภาพเศรษฐกิจของสังคมไทยเป็นแบบนี้

...เป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดการแทรกแซง ที่ฝ่ายการเมือง จะเข้าไปมีเครือข่าย โดยต้องยอมรับว่านักการเมือง ฝ่ายการเมือง เขามีเครือข่าย เช่น กลุ่มข้าราชการ ที่ก็เป็นหนึ่งใน 20 กลุ่มอาชีพด้วย เช่น อดีตข้าราชการสายนักปกครองและอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศมากกว่าบุคคลกลุ่มอื่นโดยทั่วไป และหากไปดูใน 20 สาขาอาชีพ กลุ่มไหนที่มีโอกาสจะเข้าไปสมัครได้มากสุด ก็คือฝ่ายข้าราชการ ฝ่ายวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ ครู  หรือฝ่ายกระบวนการยุติธรรม คนเหล่านี้จะมีกระบวนการที่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของนักการเมืองที่เรียกกันว่าบ้านใหญ่ ทั้งหมดเหล่านี้คือปัญหาอุปสรรค

...ทำให้ภาพการเลือกสว.ที่จะเกิดขึ้น นอกจากไม่ตรงตามหลักการที่ควรให้มาจากประชาชนโดยตรงแล้ว กลายเป็นการทำให้มีโอกาสที่วุฒิสภาจะมีการถูกครอบงำ-แทรกแซงโดยฝ่ายการเมือง ซึ่งเราก็รู้ว่า สภาพการเมืองไทยในขณะนี้ สภาพของสว.ที่ออกมา กลายเป็นว่าตกเป็นเครื่องมือของ ฝ่ายที่กุมอำนาจและผลประโยชน์ต่างๆ ที่ครอบงำสังคมไทย ตรงนี้อาจทำให้เราได้สว.ที่ไม่มีคุณภาพ กลายเป็น สว.ที่มีปัญหาแบบสว.ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ผมคิดว่ามันเป็นจุดอ่อนและเป็นปัญหาที่สำคัญที่ขณะนี้ เริ่มมีกระแสจากภาคประชาชนว่า จะต้องพยายามหาทางเข้าไปเป็นโหวตเตอร์ โดยไม่ได้ต้องการเป็นสว.แต่ให้ไปเป็นโหวตเตอร์ โดยยอมเสียสละยอมเสียเงิน 2,500 บาทในการสมัครเข้าไปเป็นโหวตเตอร์เพื่อจะได้เลือกสว. ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่จะเข้าไปโหวตสว.ที่อยู่ในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อแก้จุดอ่อนข้างต้น

-คิดว่า กระบวนการเลือกสว.ที่จะมีขึ้น จะมีผู้สมัครที่อยู่ในเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ เครือข่ายบ้านใหญ่ เข้ามาสมัครมากหรือไม่?

ผมเองอยู่ในพื้นที่มาร่วมสามสิบปี (อุบลราชธานี) ผมก็รู้ว่าใครคือเครือข่ายคนบ้านใหญ่ แล้วคนในบ้านใหญ่ก็จะมีอำนาจมีอิทธิพล เช่นเป็นกรรมการของข้าราชการครู คนของบ้านใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆเช่น หาคนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หาคนมาเป็นนายอำเภอ หาคนมาเป็นผู้กำกับ แทรกแซงเข้าไปในวงการต่างๆ หรือคนของบ้านใหญ่เข้าไปเป็นคนที่อยู่ในแวดวงการจัดสรรงบประมาณต่างๆ ในหน่วยงานราชการต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีงบประมาณจำนวนมาก

ผมเคยเป็นกรรมาธิการงบประมาณฯของวุฒิสภา รู้ดีว่า เครือข่ายบ้านใหญ่พยายามเข้าไปแทรกแซงด้วยการเข้าไปแทรกตัวอยู่ในกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณ ที่โครงการ-นโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่เข้าไปอยู่ในงบของหน่วยงานต่างๆ มันมีความร่วมมือกันระหว่างนักการเมืองและข้าราชการ และเมื่องบผ่านแล้ว งบที่ลงไปในโครงการต่างๆ ซึ่งเราจะพบว่า เครือข่ายบ้านใหญ่ ส่วนใหญ่ก็จะมีอาชีพ รับเหมาก่อสร้าง สร้างถนนต่างๆ

ตรงนี้ผมคิดว่าเครือข่ายที่มาของสว. 20 กลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ครู ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ มันมีลักษณะของการเป็นเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ ซึ่งตรงนี้เป็นรากเหง้าของสังคมไทยที่เรายังไม่สามารถจะไปเซาะกร่อนบ่อนทำลายได้เพราะเป็นรากเหง้าที่ทำให้เกิดการอุปถัมภ์ค้ำชูกันในทางการเมือง ซึ่งอุปถัมภ์ในทางดี ผมไม่ว่าอะไร แต่ถ้าอุปถัมภ์ในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น มันเป็นภัยต่อบ้านเมือง

-เชื่อว่าการเลือกสว.ที่จะมีขึ้น จะมีเรื่องของเครือข่ายอุปถัมภ์ การบล็อกโหวตเกิดขึ้น?

ประเด็นสำคัญคือต้องรู้ว่า สว.ต้องเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายการเมือง ต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การสั่งการของฝ่ายการเมือง อย่างที่เราเคยเห็นเป็นปัญหามาตลอดก่อนหน้านี้

ความเป็นอิสระตรงนี้สำคัญเพราะสว.ที่จะเข้าไป แม้จะไม่มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯแล้ว แต่สว.ยังมีอำนาจในการโหวตเลือกกรรมการองค์กรอิสระหลายแห่งในช่วงการทำหน้าที่ของสว.ห้าปีหลังเข้าไปทำหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นเช่น กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการป.ป.ช. รวมถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  แล้วเราก็รู้กันว่าไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ -ป.ป.ช. -กกต. มันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย แล้วก็เป็นปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น อะไรต่างๆ ที่เป็นปัญหารากเหง้าของระบบการเมืองไทย

เชื่อมีแน่ เครือข่ายพรรคการเมือง ส่งคนแทรกซึม เข้าไปเป็นสว.  

-คิดว่าจะมีเครือข่ายพรรคการเมือง  พยายามส่งคนของตัวเองเข้าไปเป็นนอมินี เพื่อสร้างฐานเสียงในวุฒิสภาหรือไม่ ?

ผมไม่รู้ แต่ผมเชื่อแน่ว่าต้องมี ผมพูดตรงๆ ผมที่เคยเป็นสว.จากรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยตัวผมตอนนั้นไม่ใช่กลุ่มสว.เสียงข้างมาก แต่วุฒิสภาชุดนั้นก็ยังถูกตราหน้าว่าเป็นสภาผัวเมีย กลุ่มผมตอนนั้นก็มีประมาณ 30-40 คน ที่ถูกเรียกว่าเป็นสว.เสียงข้างน้อย ก็มีสว.ในกลุ่มเช่น พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ก็เลยกลายเป็นเสียงข้างน้อยที่มีเครดิตในสังคมแม้เราจะแพ้โหวตในวุฒิสภา แต่เราชนะในทางสังคม จากผลงานการทำหน้าที่สว.ในหลายเรื่องตอนนั้นเช่น การตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เข้าไปตรวจสอบเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย การตรวจสอบเรื่องการดำเนินนโยบายการประกาศสงครามยาเสพติด รวมถึงการกลั่นกรองกฎหมายต่างๆ ที่เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ทำให้ประชาชนทั่วไปก็ยอมรับ เพราะเป็นการทำงานที่เป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง

ที่ผมรู้ว่าองค์กรอิสระถูกแทรกแซงเพราะเห็นจากกระบวนการคัดเลือกกรรมการองค์กรอิสระรวมถึงกรรมการองค์กรอื่นๆ เช่น กสช. กับกทช. ในช่วงยุคนั้น ที่ยังไม่มีการรวมกันเป็นกสทช.แบบปัจจุบัน โดยตอนนั้น กสช.เลือกกรรมการกันไม่ได้ เลือกได้แค่กทช.เพราะมีการส่งนักธุรกิจเข้าไปเป็นกรรมการ เพราะเป็นองค์กรที่มีผลประโยชน์หลายหมื่นล้านบาท ก็ทำให้เห็นได้ว่ามีการแทรกแซง รวมถึงการทำงานขององค์กรอิสระที่บางชุด ก็มีนักการเมืองพยายามเข้าไปแทรกแซงด้วยการส่งคนของตัวเองเข้าไป ถึงได้ย้ำว่า สว.ที่จะเลือกกรรมการองค์กรอิสระต้องเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง

-เป็นห่วงหรือไม่ หากจะมีเครือข่ายนักการเมืองพยายามเข้าไปยึดวุฒิสภา ด้วยวิธีการส่งคนของตัวเองให้เข้าไปเป็นนอมินีในวุฒิสภา แล้วใช้วิธีการบล็อกโหวตการเลือกสว.?

ก็เป็นห่วง ผมจึงเห็นด้วยที่มีภาคประชาสังคมบางส่วน มีการประกาศตัวและมีการรณรงค์ให้คนเข้าไปเป็นโหวตเตอร์ ไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกสว. เพราะอย่างหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องได้เสียงเห็นชอบด้วยจากสว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ถึงจะผ่านได้  ตรงนี้ก็ยากแล้ว จึงทำให้มีการรณรงค์เกิดขึ้น ที่ก็เป็นสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง เพื่อป้องกันการบล็อกโหวต

 เพราะการซื้อเสียงแต่ละจังหวัด ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บางคนอาจจะมีการลงทุน แล้วมาซื้อเสียงอีกรอบหนึ่งในระดับประเทศ ถ้าหวังว่าใครจะได้ เขาก็สามารถทุ่มมา ซึ่งมันถูกกว่า ค่าตัวของส.ส.ที่ทุ่มกันประมาณ 40-60 ล้าน แต่สว.ผมคาดว่าจะเสียน้อยกว่านั้น อันนี้ผมคาดว่า เมื่อเสียน้อยกว่านั้น เขาก็กล้าลงทุน เพราะว่ามันได้ซึ่งอำนาจ มันได้ซึ่งผลประโยชน์ ตรงนี้คือความเป็นจริง

ผมหวังว่ากกต. เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาฯ ประกาศออกมาแล้ว กกต.ต้องหามาตราการ และต้องพยายามกระตุ้นให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะการเลือกที่จะมีขึ้น ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมไม่ได้ ถ้าไม่ไปสมัครแล้วต้องเสียเงิน  2,500 บาท ตรงนี้ก็เป็นปัญหาแล้ว ก็ต้องหาวิธีการ ให้คนที่สามารถเสียเงินได้เข้าไป ถ้ายอมเสียเงินเข้าไปแล้วไปเป็นโหวตเตอร์ แล้วยอมสังเกตุการณ์ แล้วไปสกัดกั้น เพราะการลงคะแนนเสียง คนนอกที่ไม่ได้สมัครจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้เลย แต่มันก็หนีไม่ได้ ที่กกต.และรัฐบาลเองต้องสนับสนุนให้ ประชาขนเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกตุการณ์

-ฟังดูเหมือนกังวลว่าอาจจะมีการใช้วิชามาร การใช้วิธีการทุ่มเงินเพื่อสร้างเครือข่ายสภาสูง?

ไม่อาจจะ แต่เกิดแน่ๆ อยู่เลย และผมเชื่อว่าหลังกระบวนการเลือกสว.จะมีการฟ้องร้องตามมาเยอะ ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหา ก็จะมีการออกใบเหลือง ใบแดงกัน ที่กว่าจะได้สว.ครบจนเปิดประชุมได้ ก็อาจทำให้สว.ชุดปัจจุบันต้องรักษาการไปก่อน

-ดูจากตอนนี้ ที่ก็เริ่มมีบางกลุ่มเช่นคณะก้าวหน้า ก็ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาชนไปสมัครคัดเลือกเป็นสว. หากให้ประเมินว่าวุฒิสภาชุดใหม่ดูแล้วหน้าตา ทิศทางจะเป็นอย่างไร จะมีความหลากหลายเรื่องไม่ จะมีเครือข่ายการเมืองเข้ามาเยอะไหม ประชาชนจะหวังพึ่งสว.ชุดใหม่ได้หรือไม่ จะเป็นอิสระจริงหรือไม่?

ผมเองก็คงเดาไม่ถูก เพราะการเลือกสว.ที่จะมีขึ้น ไม่เคยมีแบบนี้ที่ไหนในโลก แต่ผมประเมินจากประสบการณ์การเคยเป็นสว.ชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ตอนนั้น เราก็รวมตัวกันในกลุ่มสว.ด้วยกันเอง ก็ได้มาประมาณ 30-40 คน จาก 200 คน

ซึ่งสว.ที่จะเข้ามาชุดใหม่ ก็จะมีความแตกต่างจากสว.สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ดูแล้วก็คงไม่แตกต่างกันมาก เพราะจะมีคนที่อยู่ในเครือข่ายของบ้านใหญ่แต่ละจังหวัดเยอะ

ยิ่งกลุ่มบ้านใหญ่เสียหน้าเสียศักดิ์ศรีไปเยอะจากผลการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ที่คนของบ้านใหญ่สอบตกล้มระเนระนาด ที่แพ้ในระบบคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ รวมถึงระบบเขตด้วย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเขาต้องเอาแน่ เพราะการจัดการตรงนี้ มันไม่ยากไปกว่าการเลือกตั้งส.ส. คราวนี้ดูแล้วเขาไม่พลาดแน่

องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ผมเชื่อว่าสว.ชุดใหม่ที่จะออกมา ถ้าประชาชนเฉยเมย ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตาม รวมถึงหากสื่อไม่เข้าไปติดตามทำข่าวการเลือกสว.ไม่รณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของสว.ที่จะเข้าไป ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกลั่นกรองกฎหมาย หากสื่อไม่ย้ำเรื่องความเป็นอิสระของสว.และความสำคัญของสว. ก็จะทำให้บรรยากาศการเลือกสว.ก็จะเงียบ พอมันเงียบ ก็มีโอกาสที่สว.จะถูกครอบงำและถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้

ผมจึงคิดว่าเรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน อย่าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้มันผ่านไปโดยคิดว่าช่างมันเถอะ มันจะเป็นยังไง ก็ให้มันเป็นไป มันไม่ได้ เพราะมันจะเข้ามาเป็นขบวนการบ่อนทำลายการก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เราหวังกัน เรื่องนี้ทั้งประชาชนและสื่อสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะการทำให้ประชาชนตื่นตัว อย่าอยู่ในความเงียบ ก็จะเป็นการช่วยกันให้มีสว.จากประชาชนได้มากขึ้น

หวังเห็นสว.จากภาคประชาชน  เข้าไปอยู่ในวุฒิสภาให้มาก

-สมัยสว.เลือกตั้งชุดแรกปี 2543 ตอนแรก หลายคนก็เห็นกันว่าสว.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีความเป็นอิสระกันดี แต่พออยู่ๆ ไป เริ่มมีพรรคการเมืองเข้ามาสร้างสัมพันธ์ มีข่าวเรื่องการให้ผลประโยชน์กัน เกรงไหมว่า สว.ชุดใหม่ สุดท้าย พอเข้าไปแล้วจะเกิดเหตุแบบตอนสมัยสว.ชุดปี 2543 ซ้ำรอยอีกหรือไม่ คือพอเข้าไปแล้ว ก็จะมีพรรคการเมืองเข้ามาสานสัมพันธ์สร้างคอนเน็กชั่นกับฝ่ายวุฒิสภา?

มันต้องเกิดแน่นอน แต่ถ้าเราทำให้สว.มาจากภาคประชาชนให้ได้มากที่สุด มันจะทำให้สว.จากภาคประชาชน สามารถส่งเสียงแบบสมัยผมได้

ผมมองว่าช่วงนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ถึงแม้ว่า จะมีบางอย่างยังเปลี่ยนไม่ผ่าน แต่อะไรที่เราสามารถทำได้ เราก็ต้องทำเต็มที่เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องกลไกและสถาบันการเมือง เพราะสว.ถือว่าเป็นสถาบันการเมืองที่มีความหมาย

แต่ถ้าถามผมตรงๆ ผมก็อยากจะบอกว่า ประเทศไทยควรยกเลิกการมีสว.ได้แล้ว เพราะผมคิดว่าประชาชนตื่นตัวขึ้นเยอะมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ประชาชนรู้ว่าประเทศชาติต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย-เชิงระบบ นักการเมืองที่ยังจมอยู่กับรากเหง้าที่ไม่ถูกต้อง ก็เลยทำให้รัฐสภาของเรายังทำหน้าที่ไม่ได้อย่างเต็มที่ แต่ผมคิดว่าประชาชนตื่นแล้วจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ผมถึงมองว่าเราสามารถมีสภาเดี่ยวได้แล้ว

 ทั่วโลกตอนนี้มีประมาณ 112 ประเทศ ที่ใช้ระบบสภาเดียว มีประมาณ 78 ประเทศ ที่ยังใช้ระบบสองสภา และที่ผ่านมามีประมาณ 34 ประเทศ ที่ยกเลิก จากสองสภามาเป็นสภาเดียว นั่นหมายถึงขณะนี้ส่วนใหญ่ของประเทศทั่วโลก สองในสาม มีสภาเดียว ผมจึงเห็นว่าประเทศไทยมีระบบสภาเดียวได้แล้ว เพราะการมีสว.ใช้งบประมาณเยอะ เช่นเงินเดือนของสว. รวมถึงค่าใช้จ่ายๆมากมาย และยังเป็นองค์กรที่ไปค้ำยันระบบอำนาจที่ไม่ถูกต้องในสังคมไทยเมื่อประชาชนตื่นตัวมากขนาดนี้แล้วจะเอาสว.ไปไว้ทำอะไร

โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลขา กกต.โยนบาปรัฐธรรมนูญ! บอกการคัดเลือก สว.แก้ไขไม่ได้

'เลขา กกต.' มองคงแก้อะไรไม่ได้ แม้ถูกทักท้วง รูปแบบ’คัดเลือก สว. เหตุ รธน.กำหนดไว้ ชี้ไทม์ไลน์ ไม่เหมือน เลือกตั้ง สส. ยันมีมาตรการป้องกันการฮั้วทุกพื้นที่

หน้าที่และอำนาจของ สว. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่สาระน่ารู้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา 20 กลุ่มอาชีพร่วมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทย ไปพร้อมกัน

คณะก้าวหน้า เชื่อสัญญาณจากผู้มีบารมี  กกต.ประกาศเตือนรณรงค์สมัคร สว.   

กรณี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ออกประกาศเตือน กรณีมีกลุ่มบุคคลและตัวแทนองค์กรจัดแคมเปญ ให้มีการจูงใจ

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา