ปลดแอกได้แล้ว เลิกเกรงใจได้แล้ว เลิกเกรงใจบ้านบุรีรัมย์ เลิกเถอะ ขอให้ทุกคน(สว)เป็นตัวของตัวเอง ทุกคนเป็นคนดี มีประวัติความดีงามเยอะ..ทำไม ต้องไปทำตามคำสั่งด้วย ไม่ต้องทำ ทำตามความถูกต้อง จะดีกว่า
ความเคลื่อนไหวของ"สภาสูง-วุฒิสภา"กับเรื่องการไต่สวน-สอบสวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ทั้งในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะหลังอนุกรรมการไต่สวนของกกต.มีหนังสือเรียกสว.55 คนไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในสัปดาห์นี้ 19-21 พ.ค. ขณะเดียวกัน คำร้องคดียื่นถอดถอนภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ที่สว.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลรธน.วินิจฉัยให้ พ.ต.อ.ทวี ที่คุมกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ฯ ซึ่งศาลรธน.ก็มีมติเอกฉันท์เมื่อ14 พ.ค.ทำให้เรื่องราวความเคลื่อนไหวในส่วนของวุฒิสภา จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง
ก่อนหน้านี้ "ไทยโพสต์"ได้สัมภาษณ์"นาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ-สมาชิกวุฒิสภา"ที่เรียกตัวเองว่าเป็น"สว.อิสระ"ถึงภาพรวมการทำงานของสว.ชุดปัจจุบัน ทั้งเรื่องความเป็นอิสระ-ความเป็นเอกภาพและกรณีการโหวตลงมติเห็นชอบบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระและองค์กรสำคัญต่างๆ
"นาวาตรี วุฒิพงศ์"ให้มุมมองว่า ภาพรวมการทำงานของสว.ที่ผ่านมา ก็มีคุณภาพ หลายคนคัดมาจากที่ต่างๆโดยการเลือกกันเอง แม้อาจจะมีปัญหาที่บอกว่ามีการฮั้วมา ที่ก็ต้องมีการตรวจสอบต่อไปแต่สำหรับส่วนตัวผมเอง เป็นสว.อิสระ ไม่ได้ขึ้นกับใคร ไม่ได้ไปฟังมติจากใคร นอกจากการคิด-การอ่าน เช่นการโหวตบุคคลไปทำหน้าที่องค์กรอิสระ ก็อ่านตามเอกสารที่คณะกรรมการสรรหา ส่งเอกสารมาให้สว.ซึ่งกรรมการสรรหาฯ มีการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ มาก่อนแล้ว และมีกรรมการกลั่นกรอง(คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาตรวจสอบประวัติฯ ของวุฒิสภา) มากลั่นกรองอีกรอบหนึ่งก่อนจะให้สว.โหวต เราก็ดูตามนั้นเพื่อจะโหวตเห็นชอบ
"แต่ปัญหาก็คือว่า มันดูเหมือนกับบางอย่างมันถูกสั่งการมาจากที่ไหนสักแห่งหนึ่งที่ทำให้มติออกมาไม่ตรงตามความรู้สึกของคนส่วนใหญ่"
... แต่อย่างว่าทุกคน(สว.)มีเอกสิทธิ์ แต่ปัญหาคือว่าจริงหรือไม่ ที่ทุกคนมีเอกสิทธิ์ ทำไมไม่คิดตามที่ควรจะเป็น อย่างการโหวตเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระ ก็มีการกลั่นกรองมาแล้วจากคณะกรรมการสรรหาฯ ที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งเช่น ประธานศาลปกครอง ผู้นำฝ่ายค้านฯ ประธานรัฐสภา อย่างหากกรรมการสรรหาโหวตบางคนด้วยคะแนนเสียงเอกฉันฑ์เช่นโหวตเห็นชอบ 8 เสียงเลย แล้วส่งมา มันก็ยากที่่จะให้อย่างอื่น แต่ปรากฏว่าผลโหวตออกมาอีกแบบหนึ่ง(วุฒิสภา) ก็เลยกลายเป็นว่าชักเริ่มไม่ถูกต้อง ชักเริ่มอึดอัด
รวมถึงกรรมการตรวจสอบประวัติฯ ของสว.ก็มักเป็นคนเดิมๆอีก ผมอยากบอกให้ทุกคนพยายามทำให้มันถูกต้อง อย่าให้ประชาชนร้องเอ๊ะ หรือสงสัย
-การทำงานที่ผ่านมาของสว.ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คิดว่าสว.มีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระมากน้อยแค่ไหน?
คุยกันเป็นรายคน ทุกคน แต่ถึงเวลาลงคะแนน ทำไมถึงเป็นแบบนั้นไปหมด เราไม่ทราบได้เหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าสายสนกลในไปรับฟังคำสั่งจากใครหรือว่ามีการบงการจริงหรือไม่ อันนี้ตอบยาก เราไม่รู้รายละเอียด เพราะเราไม่ได้อยู่ในวงของเขา แต่เราพูดอะไร ลงคะแนนอะไร ส่วนตัวของเราเป็นอิสระ ที่ก็มีประมาณ 40-50 คน ที่เป็นแบบนั้น ก็จะมีประมาณ 130-140 ที่เป็นกลุ่มที่คิดแบบเดียวกัน ส่วนอีก 40 กว่าคนก็คิดอีกแบบหนึ่ง คือตรงกันข้าม
-ที่คนมองว่าที่ผ่านมา สว.มีสีเสื้อการเมือง มีสีน้ำเงิน สีส้ม สีแดง มองอย่างไร?
จริงๆการที่จะไปเชื่อในสีต่างๆ เพราะประชาชนชาวไทย ก็เชื่อกันคนละแบบสองแบบ ไม่อย่างนั้น พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมาจะเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร แต่สว.ต้องเป็นกลางทางการเมือง ต้องไม่เชื่อ ต้องไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดๆ อันนี้คือหลักการ ถึงแม้แต่ละคน อาจจะเคยเชื่อหรือมีเพื่อนอยู่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าก็อาจมีเพื่อนอยู่พรรคการเมืองต่างๆ
อย่างตัวผมเองก็รู้จักคนตั้งเยอะ ก็มีอยู่เกือบทุกพรรค ทั้งสีน้ำเงิน สีส้ม สีแดง รู้จักหมด อย่างไรก็ตาม เราต้องเป็นกลางทางการเมือง ไม่รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง ไม่ฟังคำสั่งจากพรรคการเมืองต่างๆ แต่คนอื่นผมไม่แน่ใจ ซึ่งต้องให้ประชาชนเขาแน่ใจด้วยเหมือนกัน
-การที่คนภายนอกมองว่าสว.มีสีเสื้อทางการเมือง ทำให้การทำงาน การลงมติโดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ มีความลำบากใจหรือไม่ เช่นการลงมติตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ที่ก็มีสว.ไม่เข้าประชุม เป็นต้น จะทำให้มีปัญหาการยอมรับสว.ในระยะยาวหรือไม่?
ตอนนี้ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งสองฝ่ายต้องลดทิฐิของตัวเองลง เพราะอย่างสว.หลายคนก็ไม่สบายใจเรื่องเกรงจะไปมีการการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดหนึ่ง-หมวดสอง ก็ต้องไม่แก้หมวดหนึ่ง-หมวดสอง หรือจะให้มีสมาชิกสภาร่างรธน.ขึ้นมา แต่ก็ต้องไม่ใช่ลักษณะตีเช็คเปล่าที่จะแก้อะไรก็ได้ ที่ตรงนี้ในฝ่ายสภาฯ ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่บอกว่า ไม่ได้ ไม่ควรแก้ไขหมด ส่วนสว.เฉลี่ยแล้วก็จะอายุโดยเฉลี่ยประมาณหกสิบปี ก็ค่อนข้างที่จะเป็นอนุรักษ์ฯ(อนุรักษ์นิยม) คือไม่อยากให้กระทบกระเทือนหมวดหนึ่ง-หมวดสอง ไม่อยากให้กระเทือนทั้งระบบเพราะอย่างเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่ควรไปแตะต้องในขณะนี้ ควรไปแก้ไขประเด็นที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย
ในส่วนของสว.นั้น ประชาชนก็ยอมรับระดับหนึ่งว่าสว.มีสิทธิและอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องสีเสื้อ ก็ทำให้บางครั้งประชาชนก็ไม่ไว้วางใจว่าทำไมต้องฝักใฝ่สีน้ำเงิน สีแดง หรือสีส้ม ซึ่งมันก็มีทุกสีที่พยายามเข้ามาแทรกแซงในการทำงาน มีอิทธิพลของการเมืองสนามใหญ่ ที่บางครั้งก็กระทบกระเทือนกับประชาชน เพราะสว.บางคนก็อยู่พื้นที่ เมื่อประชาชนส่วนใหญ่คิดอย่างไร ก็สะท้อนมาที่สว.เหล่านั้น เช่น ถามว่าทำไมคุณไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำแบบนี้ คุณเป็นอั้งยี่จริงหรือเปล่า เป็นสีไหน ก็สะท้อนกลับมา
ทั้งที่บางทีจริงๆเขาไม่ได้เป็น แต่คนไปเชื่อกันแล้ว เนื่องจากสื่อออกข่าวบ่อยๆจนทำให้ประชาชนเขาเชื่อ พอประชาชนเชื่อ ก็ทำให้สว.ทำงานได้ยากขึ้น ตรงนี้ก็มีผล เช่นผลต่อทางจิตใจ เวลาสื่อมวลชนเสนอข่าว ผมก็เคยอภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภา เสนอว่า อยากให้สว.ทุกคนช่วยกัน เช่น อย่าด่ากันเอง ให้ช่วยกันทำงานเพราะมีงานหลายอย่างที่เป็นงานสร้างสรรค์ สว.มีภารกิจมากมายไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย หรือเรื่องการรับรองเห็นชอบบุคคลฯในองค์กรต่างๆ แต่สว.ก็ยังมีหน้าที่ช่วยประชาชนแก้ปัญหา เช่นการเสนอแนวทางเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษา การหาแนวทางช่วยแก้ปัญหายาเสพติด เป็นต้น
โวยกมธ.ฯสอบประวัติ ล็อกโผ-มีแต่ชื่อเดิมๆ
-การเห็นชอบบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระรวมถึงองค์กรอื่นๆเช่น ศาลปกครองสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนของวุฒิสภาเอง ตั้งแต่กระบวนการเลือกสว.ไปเป็นกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ มีการล็อกชื่อสว.ไว้หรือไม่?
ก็ล็อกอยู่ที่กรรมการสอบประวัติ ชื่อเดิมๆ ซ้ำตลอด ถามว่าสว.กลุ่มไหน ก็กลุ่มแจ็ค เขาก็ออแกนไนซ์หมดเลย ตอนนี้ก็เป็นปัญหาของวิปวุฒิสภาที่วิปวุฒิสภา ก็จะสรรหาบุคลากรที่ชื่อซ้ำๆมาเป็นกรรมการตรวจสอบประวัติฯ มันซ้ำเกินไป จนสภาใหญ่(วุฒิสภา)ก็ไม่สบายใจ เคยมีการคุยกันเรื่องนี้ว่าควรปรับปรุงแก้ไของค์ประกอบพวกนี้ใหม่ ซึ่งทำตามกฎหมายก็ทำได้ ก็มีสว.จำนวนหนึ่งก็พอใจ บอกว่าทำได้ตามกฎหมาย แต่อีกจำนวนหนึ่งที่ก็ไม่น้อย ก็ 40-50 คน ก็เห็นว่าควรแก้ไข
อย่างกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติองค์กรอิสระต่างๆ เช่น ป.ป.ช. อย่างบางคน ก็เคยลงชื่อยื่นป.ป.ช.ให้ตรวจสอบพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม-พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ที่ก็อาจไม่เหมาะสมก็ได้ เพราะคุณมีเรื่องกับทางการแล้วคุณก็ไปเป็นกรรมาธิการกลั่นกรองฯสอบประวัติคนที่จะไปเป็นป.ป.ช. ก็ไม่ได้ คนที่เข้าไปเป็นกรรมาธิการสอบประวัติไม่ควรเป็นคนที่เคยมีปัญหากับป.ป.ช. หรือไม่เคยมีปัญหากับใครแล้วส่งเรื่องไปป.ป.ช. ไม่อย่างนั้นป.ป.ช.ก็จะเกรงใจ แล้วก็จะไม่เป็นกลาง เคยมีการเสนอประธานวุฒิสภาว่าต้องไม่ทำ สว.ที่เคยร่วมลงชื่อยื่นเรื่องป.ป.ช.ให้สอบสวน รมว.ยุติธรรมกับอธิบดีดีเอสไอ ไม่ควรเป็นกรรมาธิการสอบประวัติฯ เพราะหากเข้าไปเป็นดูแล้วมันไม่ถูก การตั้งสว.ไปเป็นกรรมาธิการสอบประวัติฯ หลังจากนี้ เห็นว่าควรหลากหลาย ไม่ใช่มีแต่สว.ที่ชื่อเดิมซ้ำๆ
เตือนโหวตองค์กรอิสระ ทำตามใบสั่งทุกครั้ง กระทบภาพลักษณ์
-ที่ผ่านมาซึ่งสว.เคยลงมติไม่เห็นชอบ กรรมการองค์กรอิสระเช่น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน อาทิ นิวัติไชย เกษมมงคล อดีตเลขาธิการป.ป.ช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่น นายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตทูตฯ หากสว.ยังลงมติลักษณะแบบนี้ไปเรื่อยๆ ที่อาจค้านสายตาสังคม สว.ไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมไม่เลือกคนเหล่านี้ที่สังคมอาจมองว่าเขาเหมาะสม ระยะยาว หากยังเป็นแบบนี้ จะเกิดวิกฤตศรัทธากับสว.ชุดนี้หรือไม่?
อันนี้สำคัญมาก เรื่องของวิกฤตศรัทธาคงยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่เรื่องภาพลักษณ์ ก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ
เมื่อภาพลักษณ์แย่ลงเรื่อยๆ จะมีผลต่อศรัทธาด้วย เพราะหากภาพลักษณ์แย่ไปสักพัก คราวนี้ศรัทธาก็ไม่มีเหลือ เดิมก็ยังเชื่อว่าเป็นสถาบันที่กลั่นกรองจริง ซึ่งที่ผ่านมา สว.ชุดปัจจุบันก็ทำได้ดีเช่นการกลั่นกรองกฎหมาย เช่นอย่างร่างพรบ.การออกเสียงประชามติ ที่เห็นต่างกันว่าควรเป็นประชามติชั้นเดียวหรือสองชั้น ซึ่งชั้นเดียวก็เร็วดี แต่สองชั้นก็ดูถูกต้อง ก็ถูกต้องเหมือนกัน แต่ทำไมเอาสองชั้นไม่เอาชั้นเดียว ก็มีการอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล สุดท้าย ประชามติสองชั้นก็ชนะแต่ก็เหตุผล หรือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่เถียงกันระหว่างอวนตาถี่กับอวนตาห่าง จนสุดท้าย ต้องมาประชุมร่วมกันระหว่างส.ส.กับสว.ว่าจะเอาอย่างไร คุยกันด้วยเหตุผล
จะเห็นได้ว่าหลายเรื่องก็มีส่วนดีที่มีสว.อยู่ เพื่อที่เวลาตัดสินใจจะได้ไม่ผลีผลาม ประเทศชาติเรื่องใหญ่ๆ ต้องมีเวลาไตร่ตรอง
เรื่องการโหวตองค์กรอิสระฯ สว.กลุ่มที่เป็นอิสระ ก็พยายามพูดประเด็นนี้ว่า มันไม่ได้ ก็คุยกับคนที่พอคุยกันได้ว่า ขออนุญาต ใครที่อยู่เบื้องหลังพวกคุณ ขอให้หยุดการทำงานอันไม่เหมาะสม ภาพลักษณ์เสียหายมันเสียหายหมด เหมือนปลา ถ้าปลาเน่าตัวเดียวทั้งข้องมันเหม็นหมด คุณก็ต้องหยุดการทำอะไรที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้สว.ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองอย่างแท้จริง ใครที่บงการก็ต้องหยุดการบงการเสีย อันนี้ผมไม่รู้ว่าใครบงการแน่ สันนิษฐานผู้คนก็พอสันนิษฐานได้ แต่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นทุกคนที่ทำอยู่ ต้องหยุดการทำงานที่ว่านี้เพราะทำให้พวกเราเสียหายมาก แล้วเราก็จะเสียหายกันหมดทุกคน
-คิดว่าการโหวตของสว.ในการโหวตองค์กรอิสระและตุลาการศาลรธน.ที่ผ่านมามีใบสั่งทางการเมืองมาที่สว.หรือไม่?
ผมไม่เห็นไง เพราะไม่ได้สั่งมาที่ผม แต่ถ้ามี ก็เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง มีคนสันนิษฐานว่ามี แต่เราไม่รู้ เราจะไปปรักปรำเขาไม่ได้ คนที่จะไปดูตรงนี้จริงๆ ก็คือพวกอย่าง ดีเอสไอหรือกกต. ต้องไปดูว่าการลงคะแนนบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ ถึงแม้จะมีอำนาจตามรธน.ให้เราไว้ก็ตาม แต่แน่นอนว่าแต่ละคน ต้องใช้วิจารณญาณส่วนตัว อย่าไปฟังคำบงการจากใคร เพราะนี้คือประเทศไทย เขาให้มีสว.แบบนี้มาเพื่อให้ทำงานสำคัญๆ เราก็ต้องทำให้มันดีที่สุด
-มองอย่างไรเรื่องที่มีความพยายามส่งคนเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระหรือองค์กรต่างๆ เช่น ศาลรธน. แล้วจะเกิดผลเสียอย่างไร?
อันนี้ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เพราะเราต้องการคนที่มีความเป็นกลางเช่นตุลาการศาลรธน. ต้องเป็นคนที่เป็นกลาง มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ ประเทศไทยต้องการคนแบบนี้ แต่ต้องไม่ใช่คนที่จะเป็นสาวก ไปซูฮกเขา หรือไปเป็นกีกี้ เป็นสมุน แบบนี้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นไม่มีความเป็นกลาง ทั้งป.ป.ช. -กกต.-สตง.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องเป็นคนที่เป็นกลาง เป็นคนที่ไม่สามารถมาล็อบบี้ได้ ซึ่งหากเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ไม่มีข้อกังขาใดๆ ไม่ใช่คนที่เคยไปที่เมืองรองมาแล้วแบบนี้ก็ไม่ถูก
-ภายในปีนี้สว.ต้องโหวตเห็นชอบหลายองค์กรเช่น ป.ป.ช.ใหม่สามคน ตุลาการศาลรธน.สองคน ผู้ตรวจการแผ่นดิน กกต.อีกหลายคน ในฐานะเป็นสว.จะทำหน้าที่ในส่วนนี้ให้ประชาชนไว้วางใจได้หรือไม่?
เราก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เลือกคนที่ดีที่สุด แต่หน้าที่ของสว.ไม่ใช่หน้าที่สรรหาคน สว.มีหน้าที่เห็นชอบรายชื่อที่ผ่านการสรรหามาแล้ว อย่างก่อนหน้านี้เรื่องตุลาการศาลรธน.สองคน ที่คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งชื่อศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน กับนายชาตรี อดีตทูตฯ มา ทางสว.ก็มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ
ก็ปรากฏว่ามีคนโหวตเห็นชอบสี่สิบกว่าคน ไม่เห็นชอบหนึ่งร้อยสามสิบเจ็ดคน แบบนี้ผมก็เหนือบ่ากว่าแรงเหมือนกัน แต่ผมโหวตเห็นชอบ ผมก็รู้สึกไม่สบายใจ เพราะเขาก็สรรหามาดีแล้ว ก็ทำให้กรรมการสรรหาก็ต้องไปสรรหาใหม่มา
-หลายเดือนที่ผ่านมา การทำงานของสว.มีความเป็นเอกภาพกันหรือไม่ หรือแค่แตกต่างด้านความคิด?
หลายอย่างสามัคคีกันดี คือหากไม่มีใครมาแทรกแซง ก็ดีกันทุกคน แต่พอถึงเวลา จะมีคนที่มาบงการ ที่ไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหนอยู่ดีๆ มันเป็นแบบนั้นเฉยเลย ก็มีการไปถามคนที่เขาลงคะแนนว่าทำไมคุณลงแบบนี้ ก็บอกมีคนสั่งมา อย่างนี้เป็นต้น ถ้ามีคนสั่งมา ก็ไม่น่าจะถูกต้อง ควรต้องไม่มีใครสั่ง ควรตัดสินใจตามวิจารณญาณเพราะว่ามีเอกสิทธิ์อยู่แล้ว ไม่ควรไปลงคะแนนตามที่ใครสั่งมา บางครั้งการสั่งมา แต่บางทีก็ เป็นการลงคะแนนลับก็ไม่มีใครตรวจสอบเราได้ว่าลงคะแนนอย่างไร
-อาจเพราะสว.บางคนเขามองว่าที่เขามาได้ ก็ต้องตอบแทน มีการเกรงใจ เป็นเรื่องของบุญคุณ?
คนไทยก็อาจจะเป็นแบบนั้น มีความเกรงใจ เป็นบุญคุณกันมา ซึ่งมันไม่ถูก มันเป็นเรื่องประเทศชาติ เพราะจริงๆ คุณต้องเกรงใจประชาชน
-คิดว่าแบบนี้สว.ควรต้องปลดแอกเลิกเกรงใจได้หรือยัง ถึงเวลาหรือยัง?
ก็เอาไปพาดหัวเลยว่า"ปลดแอกได้แล้ว เลิกเกรงใจได้แล้ว" เลิกเกรงใจบ้านบุรีรัมย์ เลิกเถอะ ขอให้ทุกคน(สว)เป็นตัวของตัวเอง ทุกคนเป็นคนดี มีประวัติความดีงามเยอะ บางคนเป็นอดีตผู้ว่าฯ หลายคนเป็นนายพล พลเอกก็มี พลโทก็มี ตำรวจก็มีทั้งพล.ต.ต. พล.ต.ท. เป็นนักธุรกิจใหญ่โต ทำไม ต้องไปทำตามคำสั่งด้วย ไม่ต้องทำ วันนี้ท่านทำตามความถูกต้อง ทำตามที่หัวใจเรียกร้องจะดีกว่า อยากสะท้อนว่าอยากให้พวกเขา แทนที่จะปล่อยให้กฎหมายมาถอดถอนคุณ แต่คุณควรถอดถอนตัวเองจากสิ่งเหล่านี้ก่อน ให้สว.มาอิงกับประชาชน อิงกับความถูกต้อง
-คิดว่าระบบการได้มาซึ่งสว.ในปัจจุบันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร หากในอนาคตจะมีการแก้ไขรธน. เรื่องที่มาของสว. ควรเป็นอย่างไร ควรกลับไปใช้ระบบแบบในอดีตเช่น เลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดดีหรือไม่?
สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เคยมีมาแล้วตอนปี 2543 ก็มีปัญหาเช่น สภาผัว-สภาเมีย ก็หนักกว่าตอนนี้อีก หรือเคยใช้ระบบ สรรหามาครึ่งหนึ่ง -เลือกตั้งอีกครึ่งหนึ่ง (รัฐธรรมนูญปี2550) ก็ยังมีปัญหาอีกเหมือนเดิม ยิ่งหนักกว่าเดิม ทำอะไรไม่ได้
ผมว่าระบบแบบปัจจุบันดีแล้ว เพราะมีความหลากหลาย สว.หลายคนเข้ามาด้วยวิธีสุจริตก็มีความรู้ความสามารถ การให้มีสว.มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ ทำให้มีความหลากหลายทางอาชีพ วิธีปัจจุบันดี แต่ต้องป้องกันไม่ให้มีการฮั้วกันเกิดขึ้น หากไม่มีการฮั้วระบบที่ใช้อยู่ก็จะไปได้ จะทำให้ได้คนดีๆ เข้ามา คนคิดระบบนี้มาก็เก่ง แต่คนที่คิดจะแฮคระบบมันก็ดันเก่ง แล้วก็ดันทำสำเร็จได้ในระดับ 130-140 ก็เยอะ เกินครึ่ง เห็นบอกว่าเขาพยายามทำให้ได้สักครึ่งหนึ่งแต่ปรากฏว่ามาได้ทะลุเป้า ก็เป็นปัญหาการตรวจสอบหรือคอนโทรลของกกต. ทางกกต.ควรต้องมีการดำเนินการตั้งแต่แรกๆ ที่มีการร้องเรียน
ระบบที่มาสว.ปัจจุบันที่ใช้อยู่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่แก้ไขจุดอ่อน เพราะหากกลับไปใช้ระบบให้เลือกตั้งสว.ทั้งหมด ก็จะกลายเป็นแบบเดิมสภาผัวสภาเมีย บ้านใหญ่เข้ามาหมด ผมยืนยันว่าระบบการได้มาซึ่งสว.แบบปัจจุบันจะดีมาก หากไม่มีการฮั้ว
โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประพันธ์-ดิเรกฤทธิ์ สองอดีต สว. 'อิ๊งค์' อยู่ต่อ-เป็นอันตรายต่อชาติ อัปยศ สยบยอมอริราชศัตรู
สถานการณ์การเมืองที่กระเพื่อมอย่างหนักขณะนี้ แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของประชาชนจากหลายภาคส่วนที่ไม่พอใจ กับสิ่งที่แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประเทศไทย
'วิสุทธิ์' ลั่นไม่กังวลใครจะอยู่หรือไป เสียงรัฐบาลตอนนี้ 270-280 แล้ว
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขอให้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ไม่เช่นนั้นจะถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ว่า ตนไม่ทราบว่าเขาพูดจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม
‘วิทยา’ ย้ำมติ รทสช.ให้เปลี่ยนนายกฯ ชี้อยู่ต่อไม่เกิน 3 เดือน-จริยธรรมจ่อถล่ม
รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุเปลี่ยนนายกฯ คือทางรอดของพรรค ชี้ “แพทองธาร” หมดคุณสมบัติ รอดยากทั้งทางการเมืองและกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องรอผ่านงบฯ 69 เชื่อปัญหาจริยธรรมตามมาเป็นขบวน
'พีระพันธุ์' ชี้ชะตารัฐบาลอิ๊งค์ สมชัยชี้วินาทีเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
สมชัย ศรีสุทธิยากร ชี้ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ คือผู้กุมชะตารัฐบาลแพทองธาร ย้ำ หากพีรพันธุ์เลือกถอนตัว จะเป็นจุดเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ก
คลิปหลานฮุนเซนสะเทือน ปชป. 'ชนินทร์' ยื่นทบทวนร่วมรัฐบาล สก.กรุงเทพทยอยไขก๊อก
ชนินทร์ รุ่งแสง รองเลขาฯ ปชป. ร่อนหนังสือถึงหัวหน้าพรรค ขอประชุมทบทวนมติร่วมรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง ชี้ประชาชนไม่พอใจ-ฐานเสียงไหล ล่าสุด ส.ก.บางกอกน้อยลาออกกลางกระแสต้านนายกฯ ปมคลิปสนทนาฮุนเซน
'ดิเรกฤทธิ์' ชี้ 4 คดีรุม นายกฯ ไม่ลาออก รัฐบาลก็ไปไม่รอด
ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย โพสต์เตือนจับตา 4 คดีใหญ่ที่รายล้อมนายกรัฐมนตรี ทั้งคดีอาญา-รัฐธรรมนูญ-ความมั่นคง ย้ำหากยังฝืนอยู่ในตำแหน่ง รัฐบาลชุดนี้ก็ไปต่อไม่ได้