
ไชยันต์ ไชยพร
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และฉบับที่ 3 คือฉบับ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่ใช้อยู่ระหว่าง พ.ศ. 2475-2489 เป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ระบอบคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร ได้แก่
1. การเปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีสิทธิ์รับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1
2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง
3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี และมีวาระอยู่ยาวตราบที่ยังบังคับใช้บทเฉพาะกาลอยู่
4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ชุดแรกที่แต่งตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร
5. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร แต่งตั้งตัวเองและพวกพ้องซึ่งส่วนเป็นสมาชิกคณะราษฎรให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2
6. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 รับรองตัวเองให้เป็นคณะรัฐมนตรี
จาก 1-5 บรรดาสมาชิกคณะราษฎรต่างแต่งตั้งตัวเองกลับไปกลับมาหมุนเวียนกันเป็นคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นระยะเวลาถึง 13 ปี จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ แม้จะยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และให้มีสมาชิกพฤฒสภาขึ้นแทน แต่ก็ยังกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามีสิทธิ์ในการรับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และแม้ว่าจะกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ได้กำหนดไว้ว่า ในช่วงแรกให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ทีนี้ เรามาดูกันว่า สมาชิกพฤฒสภาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกขึ้นมาเป็นจำนวน 80 คนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นใครและพวกใครบ้าง และทำไมคนในสมัยนั้นถึงเรียกพฤฒสภาว่าเป็น “สภาปรีดี” พฤฒสภาเต็มไปด้วยคนของปรีดีจริงหรือ ?
ในการตอบข้อสงสัยข้างต้น ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงภูมิหลังของสมาชิกพฤฒสภาทั้งหมด 80 ท่าน เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินข้อน้ำหนักความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการตั้งฉายา “พฤฒสภา” ว่าเป็น “สภาปรีดี” โดยไล่ไปตามลำดับตัวอักษร
1.พันตรี หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ */**
เป็นสมาชิกคณะราษฎร สายพลเรือน และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ตั้งแต่ในการแต่งตั้งครั้งแรกในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ในบันทึกของปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงพันตรี หม่อมหลวง กรี เดชาติวงศ์ในเหตุการณ์วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เมื่อกองทหารญี่ปุ่นจากพระตะบองก็ได้เคลื่อนเข้ามากรุงเทพฯ ไว้ว่า “เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านแล้วก็พบเพื่อนหลายคนที่มาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก), นายสงวน ตุลารักษ์, นายจำกัด พลางกูร, นายวิจิตร ลุลิตานนท์, นายเตียง ศิริขันธ์, นายถวิล อุดล, ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์) ฯลฯ” และ “ปิดประชุมเมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคมนั้น ข้าพเจ้าขอให้ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ซึ่งเป็นนายช่างใหญ่กรมทางและเป็นผู้กว้างขวางในภาคเหนือ (มารดาภรรยาเป็นเจ้าแห่งตระกูลเจ้าเชียงราย) นั้น ปรึกษาหารือกับข้าพเจ้าต่อไปถึงความเหมาะสมที่องค์การต่อต้านจะยึดภาคเหนือ เพราะมีหลังยันกับพม่าของอังกฤษสมัยนั้น ม.ล.กรีฯ เห็นชอบด้วยจึงแนะนำว่า เราต้องรีบยืดชุมทางรถไฟที่ปากน้ำโพ (นครสวรรค์) ไว้ให้ได้ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยึด ส่วนทางรถยนต์สายเหนือสมัยนั้นก็มีเพียงไปถึงสระบุรีและลพบุรีเท่านั้น ขณะที่ข้าพเจ้าปรึกษากับ ม.ล.กรีฯ อยู่เกือบ 24.00 น. ของวันที่ 8 ธ.ค. นั้น….” [1] และเมื่อปรีดี พนมยงค์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในคณะรัฐมนตรีคณะที่ 15 วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 ปรีดีได้ให้หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงครั้งแรกด้วย โดยให้ว่าการกระทรวงพาณิชย์ [2] โดยก่อนหน้านี้ หม่อมหลวงกรีได้เป็นรัฐมนตรีลอยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเท่านั้น
จากข้อมูลข้างต้น จึงกล่าวได้ว่า การที่หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ได้รับเลือกเป็นสมาชิกพฤฒสภาน่าจะมีส่วนทำให้พฤฒสภาเป็น “สภาปรีดี” ได้ หากในพฤฒสภามีสมาชิกที่มีความสัมพันธ์ที่กล่าวได้ว่าเป็นพวกของปรีดีเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด
ต่อมาคือ
2.เรือเอก กำลาภ กาญจนสกุล
เรือเอกกำลาภ (กุหลาบ) กาจนสกุล เป็นสมาชิกคณะราษฎร สายทหารเรือ [3] ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 นอกจากนี้ ข้อมูลเท่าที่ผู้เขียนค้นเจอคือ คำไว้อาลัยในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพของเรือเอกกำลาภ โดยผู้เขียนคำไว้อาลัยที่ไม่ใช่บุคคลในครอบครัวญาติพี่น้องมีเพียง 3 ท่านเท่านั้น คือ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, พันตรีช่วง บุญโยธา และพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ
เป็นที่ทราบกันดีว่า พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนักการเมืองที่สนับสนุนปรีดี พนมยงค์ ในคำไว้อาลัย ไม่ได้มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรือเอกกำลาภกับปรีดี พนมยงค์แต่อย่างใด พลเรือตรีถวัลย์กล่าวถึงเรือเอกกำลาภเพียงว่า “เป็นนักเรียนนายเรือรุ่นหลัง..เพียงเล็กน้อย..รู้จักมักคุ้นกันตั้งแต่ต่างเป็นนักเรียนนายเรือด้วยกันมาแต่ไม่สนิทนัก...จนกระทั่งเมื่อมาร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยกัน จึงต่างรักใคร่สนิทสนมกันในฐานสหายร่วมตาย” [4]
ส่วนคำไว้อาลัยของพันตรีช่วง บุญโยธาก็เป็นคำไว้อาลัยในฐานะนายกสมาคมชาวชัยภูมิ จังหวัดบ้านเกิดของเรือเอกกำลาภ [5]
ส่วนคำไว้อาลัยของพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญจะแสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมอย่างยิ่งระหว่างพลเรือตรีทหารและเรือเอกกำลาภ โดยพลเรือตรีทหารได้ตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า “กุหลาบ เพื่อนตาย ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕” และข้อความบางตอน เช่น “เรารู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ครั้งยังเป็นนายเรียนนายเรืออยู่ด้วยกันที่โรงเรียนนายเรือ พระราชวังเดิม….” [6] และทั้งสองยังเป็นทหารพรรคนาวิกโยธินด้วย ความในคำไว้อาลัยส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าเรื่องเหตุการณ์ทางการเมืองมากกว่าจะเป็นเรื่องของเรือเอกกำลาภ จะมีบางตอนเท่านั้นที่กล่าวถึงที่เรือเอกกำลาภย้ายจากข้าราชการทหารไปเป็นข้าราชการวิสามัญในกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ทั้งๆที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และไปประจำแผนที่ 1 กรมเสนาธิการทหารเรืออยู่ได้ไม่ถึงปี ด้วยสาเหตุที่พลเรือตรีทหารกล่าวว่า “…ไม่อาจทนความกดดันทางจิตใจได้” [7] แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรือกำลาภกับปรีดี พนมยงค์ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลเรือตรีทหารมีความสนิทสนมอย่างยิ่งกับเรือเอกกำลาภ อีกทั้งพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งที่ไม่ใช่บุคคลในครอบครัวญาติพี่น้องที่เขียนคำไว้อาลัยให้ก็มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับปรีดี พนมยงค์อย่างยิ่ง
ส่วนพลเรือตรีทหารนั้นมีความสนิทสนมกับปรีดี พนมยงค์อย่างยิ่งเช่นเดียวกัน เขาเป็นสมาชิกคณะราษฎรตั้งแต่เริ่มแรก และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 [8] แต่ก็มีความสนิทสนมกับหลวงสังวรณ์ยุทธกิจอย่างยิ่งด้วยในครั้งที่พลเรือตรีทหารยังครองยศเรือเอกและยังไม่มีนามสกุล ได้ขอใช้นามสกุล สุวรรณชีพ ของหลวงสังวรณ์ยุทธกิจที่มีศักดิ์เป็นน้า ต่อมาได้แต่งงานกับคุณแฉล้ม สุวรรณชีพ เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการชวนของหลวงสังวรสุวรรณชีพที่มีศักดิ์เป็นน้า [9] ซึ่งต่อมาหลวงสังวรณ์ยุทธกิจได้ร่วมมือกับปรีดี พนมยงค์ในขบวนการเสรีไทยด้วย [10] และในสมัยที่พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์และปรีดี พนมยงค์ถูกยึดอำนาจในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หลวงสังวรณ์ยุทธกิจซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไป และในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ท.ช., ป.ม. (สังวร สุวรรณชีพ) พระราชทานเพลิง ณ เมรุวัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ปรีดีได้เขียนรำลำถึงหลวงสังวรณ์ยุทธิกจไว้ในอนุสรณ์เล่มนี้ว่า “มิตรที่รักยิ่งคนหนึ่ง” [11] จากข้อมูลดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมระหว่างปรีดี พนมยงค์กับหลวงสังวรณ์ยุทธกิจผู้มีศักดิ์เป็นน้าและเป็นคนชวนพลเรือตรีทหารเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แม้ว่าพลเรือตรีทหารจะได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 11 (2 สิงหาคม 2487 – 31 สิงหาคม 2488) ที่มีนายพันตรี ควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี [12] แต่เมื่อเกิดการการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 พลเรือตรี ทหารเป็นผู้คุ้มครองปกป้องนายปรีดี ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ จนเมื่อปรีดี พนมยงค์ พยายามกลับมาช่วงชิงอำนาจคืนภายใต้ชื่อ “ขบวนการประชาธิปไตย” แต่ต้องพ่ายแพ้จนถูกตราชื่อว่า “กบฏวังหลวง”เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ครั้งนั้นพลเรือตรีทหารได้มีส่วนร่วมยืนหยัดต่อสู้กับปรีดีด้วย และในช่วงหลังปี พ.ศ. 2501 เขาได้ไปแวะเยี่ยมคารวะ ปรีดี พนมยงค์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย [13] แม้ว่าเขาจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็เป็นช่วงหลังที่ปรีดี พนมยงค์ได้เดินทางออกจากประเทศไปแล้ว
จากที่กล่าวมานี้ ไม่มีหลักฐานบ่งบอกถึงความสัมพันธ์สนิทสนมระหว่างเรือเอกกำลาภกับปรีดี พนมยงค์ อย่างไรก็ตาม จากความใกล้ชิดสนิทสนมในฐานะเพื่อนตายและการเป็นทหารเรือด้วยกันของเรือเอกกำลาภ กาญจนสกุลและพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ และการเขียนคำไว้อาลัยโดยพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็พอที่จะสันนิษฐานได้ว่า เรือเอกกำลาภจะเป็นพวกใครในพฤฒสภา
[1] ปรีดี พนมยงค์, การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย ตอนที่ 2 ส่วนที่ 4 ฐานข้อมูลสถาบันปรีดี พนมยงค์ https://pridi.or.th/th/content/2022/08/1195
[2] https://www.soc.go.th/?page_id=5821
[3] สมาชิกคณะราษฎร สายทหารเรือ, ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, “คณะราษฎร” ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475, https://pridi.or.th/th/content/2023/06/1563
[4] หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพของ ร.อ. กำลาภ กาญจนสกุล ร.น. ณ เมรุวันธาตุทอง วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕.
[5] หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพของ ร.อ. กำลาภ กาญจนสกุล ร.น. ณ เมรุวันธาตุทอง วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕.
[6] หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพของ ร.อ. กำลาภ กาญจนสกุล ร.น. ณ เมรุวันธาตุทอง วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕.
[7] หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพของ ร.อ. กำลาภ กาญจนสกุล ร.น. ณ เมรุวันธาตุทอง วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕.
[8] สมาชิกคณะราษฎร สายทหารเรือ, ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, “คณะราษฎร” ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475, https://pridi.or.th/th/content/2023/06/1563 ก่อนที่ ร.อ. ทองหล่อ ขำหิรัญ ร.น. จะตั้งนามสกุล ขำหิรัญ ในครั้งที่ยังไม่มีนามสกุล ได้ขอใช้นามสกุล สุวรรณชีพ ของหลวงสังวรณ์ยุทธกิจผู้ ต่อมาได้แต่งงานกับคุณแฉล้ม สุวรรณชีพ เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการชวนของหลวงสังวรสุวรรณชีพที่มีศักดิ์เป็นน้า และในการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2346 ร.อ. ทองหล่อก็ได้เข้าร่วมด้วย นรนิติ เศรษฐบุตร, คนการเมือง เล่ม 4, สถาบันพระปกเล้า, (กรุงเทพฯ: ศูนย์การพิมพ์แก่นจันทร์: 2561), หน้า 66-71.
[9] นรนิติ เศรษฐบุตร, คนการเมือง เล่ม 4, สถาบันพระปกเล้า, (กรุงเทพฯ: ศูนย์การพิมพ์แก่นจันทร์: 2561), หน้า 66-71.
[10] ศุขปรีดา พนมยงค์, ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : ไทยสมัยสงครามกู้ชาติเวียดนาม (ตอนที่ 12), สถาบันปรีดี พนมยงค์ https://pridi.or.th/th/content/2023/04/1505
[11] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492” สถาบันปรีดี พนมยงค์ https://pridi.or.th/th/content/2025/02/2352
[12] https://www.soc.go.th/?page_id=5812
[13] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ “คณะราษฎร” ทหารเรือหัวใจประชาธิปไตย, สถาบันปรีดี พนมยงค์ https://pridi.or.th/th/content/2024/10/2162
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.อีสาน เสนอเพื่อไทยทวงคืนมหาดไทย อ้างต้องสางปัญหายาเสพติด
ประชุม สส.เพื่อไทยคึกคัก “แพทองธาร” เข้าร่วมครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์ กลุ่มอีสานสะท้อนปัญหายาเสพติดระบาดหนัก เร่ง
ไร้เงาเสี่ยหนูยืนประกบ! 'อิ๊งค์' บอกเงื่อนไขตั้งรัฐบาลคุยแค่ตำแหน่ง แต่ไม่การันตีอยู่ยาว
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการพูดคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้มีการพูดคุยเรื่องปรับ ครม.กันหรือไม่ว่า ไม่ได้คุย คุ
🛑LIVE หนูไม่ยอม!! | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2568
'อนุทิน' ขอนายกฯช่วยคุ้มครอง โอดทำไมเล่นกันแรงขนาดนี้ โดนหมายเรียกคดีฮั้วสว.
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง กรณีการได้รับหมายเรียกจากกกต.คดีฮั้วเลือกสว. จะไปชี้แจงวันใดนั้นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องกฎหมาย เพราะฉะนั้นใครถูกกล่าวหา หรือชี้อะไรมา โดยเฉพาะการชี้ที่เป็นข้อกล่าวหา ต้องให้ทนายความ
ดร.ณัฏฐ์ ให้ความเห็นคดีฮั้ว สว. ล็อต 7 ชี้หากมีมูลอาจกระทบถึงยุบภูมิใจไทย!
“ดร.ณัฏฐ์” ชี้ ปมฮั้ว สว.สีน้ำเงิน ล็อต 7 โยง “เนวิน-อนุทิน-กก.บห.พรรคภูมิใจไทย”หากฟังได้ว่า ร่วมกันกระทำความผิด ถูกดำเนินคดีอาญา ยึดทรัพย์และยุบพรรคภูมิใจไทย
นายกฯ คุยอนุทิน ขอเพื่อไทยคุมมหาดไทย แต่เจอปฏิเสธ
16 มิถุนายน 2568 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)