เรื่องลุงตู่ลงการเมือง ในปี พ.ศ. 2562 กับ พ.ศ. 2566 (ตอนที่ ๓)

 

จากตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า จอมยุทธศาสตร์แห่งพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จชนะเลือกตั้งทั่วไป ทุกครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึง พ.ศ. 2554 ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎร 2 ครั้ง ที่เหลือก็ได้ ส.ส. มากที่สุด และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้มาตลอด แม้กติกาจะเปลี่ยนไปก็ตาม  นั่นคือ จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2562  จอมยุทธ์ต้องเผชิญกับกติกาการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เปลี่ยนจากบัตรเลือกตั้งสองใบมาเป็นบัตรใบเดียวและให้ ส.ว. มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.

ภายใต้กติกาการเลือกตั้งและเลือกนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จอมยุทธ์เล็งเห็นว่า หนทางที่จะได้ ส.ส. มากที่สุดคือ แตกแบงค์หรือแตกพรรคออกไป เพื่อจะให้พรรคอื่นที่ไม่ใช่เพื่อไทยได้ ส.ส. มาทดแทน  ส.ส. บัญชีรายชื่อของเพื่อไทย ที่จอมยุทธ์เล็งเห็นแล้วว่า เพื่อไทยจะได้ ส.ส. เขตมากที่สุด แต่จะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย     

ขณะเดียวกัน วิธีการรับมือกับพวก ส.ว. ที่เป็นพวก คสช. ภายใต้ลุงป้อม ลุงตู่ ก็คือ การเชิญทูลกระหม่อมมาลงเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ เพราะจะทำให้ ส.ว. สับสนงุนงงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับคณะลุง  ความสับสนงุนงงที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับ ส.ว. แต่เลยเถิดไปถึงกองทัพด้วย และสังคมทั่วไปด้วย

ความสับสนจะนำมาซึ่งความเห็นต่างจนไปถึงความขัดแย้งในหมู่ ส.ว. และกองทัพ ที่จะต้องคิดว่า จะเลือกระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ (Monarchy M1) หรือคณะลุง ซึ่งก็เป็นทหารเก่า (Old Soldier) ของกองทัพ (Military M2) นั่นเอง

จากการที่ลุงตู่ไม่ได้ตัดสินใจจะเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีให้พรรคการเมืองใดโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐที่มีลุงป้อมอยู่ข้างหลัง จนเมื่อทูลกระหม่อมลงสมัครในเช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ลุงตู่จึงตัดสินใจลงสมัครเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีให้พรรคพลังประชารัฐทันทีต่อจากทูลกระหม่อม แสดงให้เห็นว่า ลุงตู่กลัวว่า แผนชิงเลือกตั้งและตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมยุทธ์จะสัมฤทธิ์ผล ส่งให้พรรคเพื่อไทยและพรรคแตกแบงค์และพรรคพันธมิตรอื่นๆสามารถจัดตั้งรัฐบาล โดยมีทูลกระหม่อมเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งการหาคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีในลักษณะนี้ จอมยุทธ์ใช้มาตลอดตั้งแต่สมัยคุณสมัคร สุนทรเวช คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์และคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพียงแต่คราวนี้ ถือว่าเล่นของสูงที่ไม่มีใครคาดคิด      

และหากเป็นเช่นนั้น การรัฐประหารและการพยายามปฏิรูปของคณะลุงตลอดห้าปีก็จะหมดสภาพไปโดยปริยาย

ลุงตู่จึงตัดสินใจลงแข่งกับทูลกระหม่อม โดยมี M1 กับ M2 เป็นเดิมพัน

เรียกได้ว่า บรรยากาศเริ่มตึงเครียดขึ้นทันทีภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 หลังจากทูลกระหม่อมลงและลุงตู่ก็ลง

ถ้ากองทัพทั้งหมดหรือ M2 ถือหางลุงตู่ (และลุงป้อม) ในขณะที่เข้าใจว่า M1 รับรู้และไฟเขียวกับการลงสมัครของทูลกระหม่อม ก็เท่ากับว่า ศึกเลือกตั้งครั้งนี้เป็นศึกระหว่าง M2 กับ M1  ก็แปลว่า แผนการให้ทูลกระหม่อมลงนั้น นำมาซึ่งความขัดแย้งเห็นต่างระหว่าง M2 กับ M1             

ถ้ากองทัพแตกออกเป็นสองฝ่าย นั่นคือ ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนลุงตู่ลุงป้อม กับอีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุน M1   ก็แปลว่า แผนการให้ทูลกระหม่อมเป็นแคนดิเดท นำมาซึ่งความแตกแยกภายในกองทัพ และก็ยังเป็นความขัดแย้งระหว่าง M2 กับ M1 ด้วยอยู่ดี เพียงแต่มีกองทัพต้องแตกแยก

หากสมการเป็นเช่นนี้ สภาพการณ์ของ ส.ว. ก็คงไม่แตกต่างไป คือ ต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง 

ถามว่า ผลลัพธ์ที่เกิดจากการที่ให้ทูลกระหม่อมลง แล้วลุงตู่ต้องลงตามนี้ จอมยุทธ์คาดเดาไว้ไหม ?             

คำตอบ คือ แน่นอน                 

และถ้าหากลุงตู่ไม่ลง จะเกิดอะไรขึ้น ?     

นักการเมือง ส.ว. กองทัพและประชาชนก็จะเข้าใจว่า ลุงตู่ในฐานะทหารที่มีภาพลักษณ์จงรักภักดีต่อ M1 ยอมถอยให้ทูลกระหม่อมและ M1

และภายใต้สมการนี้ หลังเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทยก็รู้ว่า ส.ว. จะลงคะแนนให้ทูลกระหม่อม ภูมิใจไทยก็จะไปร่วมกับเพื่อไทยจนมีเสียง ส.ส. เกินครึ่งสภา เข้าสูตรที่ ส.ว. เคยประกาศเป็นหลักการไว้ว่าจะเทคะแนนให้ชื่อที่เสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคที่รวบรวมเสียงได้เกิน 250               

เชื่อว่าจะมีแต่พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่จะไม่ไปร่วมด้วย

พูดง่ายๆว่า เกมนี้ ทั้งขึ้นทั้งล่อง จอมยุทธ์มีแต่ได้กับได้ ไม่มีเสียเลย

ลุงตู่ลงแข่งกับทูลกระหม่อม ก็เกิดเสียงแตกในกองทัพ นักการเมือง ส.ว. หรือถ้าเสียงกองทัพไม่แตก ก็จะกลายเป็นศึก M1 กับ M2 ไป ซึ่งไม่รู้จะลงเอยอย่างไรด้วย          

แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้ฝ่ายอื่นจัดตั้งรัฐบาลได้ง่ายๆ เพราะอย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า หลักการของจอมยุทธ์คือ เขา “ไม่ fighting a losing war คือ ไม่ทนต่อสู้ในสงครามที่รู้ว่าจะมีจุดจบอยู่ที่ความพ่ายแพ้ หรือที่เห็นอยู่ทนโท่ว่าอย่างไรก็ต้องสูญเสีย” และจอมยุทธ์ “ยังนิยมวิธีเอาของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่าด้วย……แนวคิดนี้ถามว่าเสี่ยงไหม ต้องตอบตามตรงว่าเสี่ยง แต่ยิ่งเสี่ยงสูง ผลตอบแทนย่อมยิ่งสูงตาม high risk high return ความเสี่ยงนี้ใช่ว่าเป็นการสุ่มเสี่ยง มันต้องเป็นความเสี่ยงที่ได้ระมัดระวังตรวจสอบรอบคอบมาแล้ว เป็นความเสี่ยงที่สามารถคำนวณได้ ซึ่งมาสัมพันธ์กับการแสวงหาความรู้และข้อมูลข่าวสารอีกทอดหนึ่ง แล้วไม่ใช่ความเสี่ยงสำเร็จรูป เพียงครั้งเดียวจะแจ๊กพ็อตร่ำรวย แต่เป็นความเสี่ยงที่ต้องผ่านการขัดเกลาอย่างดีจากประสบการณ์”

จะเห็นได้ว่า แผนของจอมยุทธ์นี้แตกออกไปได้สองทาง ทางที่หนึ่งคือ ทูลกระหม่อมลง ลุงตู่ไม่ลง และทางที่สองคือ ทูลกระหม่อมลง ลุงตู่ลง  และเมื่อลุงตู่ลง จอมยุทธ์ก็คาดว่าจะเกิดความขัดแย้งวุ่นวายตามมา ซึ่งเป็นผลดีมากกว่าเสียต่อตัวเขา

แต่เมื่อถึงราวสี่ทุ่มของคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 มีพระราชโองการลงมามีสาระสำคัญว่า “บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบัน มีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รองรับสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าว ย่อมครอบคลุมถึงพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับพระองค์หรือผู้แทนพระองค์อยู่เป็นนิตย์ ดังนั้นพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใด ๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” 

อันหมายความว่า ทูลกระหม่อมไม่สามารถลงสมัครเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีได้             

ก็เท่ากับแสดงให้เห็นว่า M1 ไม่ได้รับรู้และสนับสนุนการลงสมัครของทูลกระหม่อมในเช้าวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์แต่อย่างใด

และต่อมาพรรคไทยรักษาชาติก็ถูกตัดสินยุบพรรค เพราะการที่พรรคไทยรักษาชาตินำเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค เมื่อ 8 ก.พ. นั้นเป็นการกระทำความผิด ตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคสอง แต่กำหนดระยะเวลาไว้ 10 ปีนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค เนื่องจากเห็นว่า "เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังไม่ถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง" เพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งในการได้มาซึ่งนายกฯ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบอบการปกครอง อีกทั้งพิจารณาความสำนึกรับผิดชอบของ กก.บห. ที่น้อมรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ทันทีที่ทราบ เห็นว่าพรรคไทยรักษาชาติยังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ถามว่าจอมยุทธ์เล็งเห็นหรือไม่ว่าจะมีพระราชโองการดังกล่าวลงมา

คำตอบอยู่ที่ข้อความของเขาที่ว่า “ไม่ fighting a losing war” และ “เอาของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่า” 

ของเสียที่เล็กกว่าในสายตาของจอมยุทธ์ คือ พรรคไทยรักษาชาติที่ถูกยุบ และสมาชิกที่ถูกตัดสิทธิ์ 10 ปี                     

ส่วนของเสียที่เล็กกว่าอีกอันหนึ่งที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่จะเสียความรู้สึกอย่างแรงหรือเปล่าไม่ทราบ นั่นคือ สามแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์         

และในการเลือกตั้งในปี 2566 นี้ เชื่อว่า จอมยุทธ์ก็ยังจะใช้หลักกการ “ไม่ fighting a losing war” และ “เอาของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่า”         

ส่วนจะเป็นอะไรบ้างนั้น คงต้องจับตาดูกันต่อไป แต่การมีชื่อ ศาสตราจารย์ ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย ออกมา ก็น่าจะเป็นหนึ่งในแผน “เอาของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่า” 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'แม้ว' หักหลังเสื้อแดง ฟันธงเลือกตั้ง 'เพื่อไทย' แพ้ 'ก้าวไกล'

ความพยายามของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาปฏิเสธภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่ใช่พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ แต่เป็นพรรครีฟอร์มมาจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลัง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า