ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 28: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม

“….ความเคลื่อนไหวอีกประการหนึ่ง ซึ่งบ่งบอกสภาพบรรยากาศในขณะนั้นเช่นเดียวกัน คือ การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 50 นาย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อันเป็นการแถลงการณ์ที่รายงานสถานอัครราชทูตอังกฤษเห็นว่าเขียนด้วย ‘ภาษาที่รุนแรงและไร้เหตุผลที่สุด’ (most violent and unjustified language)  ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1932 ก่อนวันที่จะมีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ 3 วัน เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ผู้ที่ทำหน้าที่อ่านคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งรายงานกล่าวว่า อาจเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างแถลงการณ์ฉบับนั้นมากที่สุด คำกราบบังคมทูลได้ท้าวความถึงการที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ได้ทรงมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าและได้ทรงนำพาสยามจนถึงกาลปัจจุบัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบว่า ประกาศคณะราษฎรทำให้พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์รู้สึกโทมนัสอย่างยิ่ง แต่พระองค์ก็ได้ทรงพระราชทานอภัยโทษและทรงขอบใจที่ได้มาทำพิธีขอขมาต่อพระองค์และพระราชวงศ์จักรี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีธรรมในใจ มีความสุจริตใจ และมีน้ำใจนักกีฬา (sporting spirit ในพระราชดำรัสทรงใช้คำว่า ‘ใจเป็นนักเลง’)

อัครราชทูตอังกฤษมีความเห็นว่า การกระทำเช่นนี้ในส่วนของผู้นำการปฏิวัติที่ประสบความสำเร็จ นับว่าหาได้ยากยิ่งในประวัติศาสตร์ จึงสร้างความประทับใจอย่างมากต่อสาธารณชนและก็ควรจะมีผลไกลไปถึงการสร้างความกลมเกลียวและสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ในวันที่มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ อัครราชทูตอังกฤษได้รายงานเหตุการณ์โดยละเอียดโดยกล่าวว่า ‘เหตุการณ์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในตำนานแห่งสยามเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 [ธันวาคม 1932]  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญและพระราชทานแก่ประชาชน โหรหลวงประจำราชสำนักเป็นผู้เลือกวันดังกล่าว โดยระบุว่า ช่วงเวลาอันเป็นมงคลอยู่ระหว่างบ่าย 2 โมง 53 นาที และบ่าย 3 โมง 5 นาที

คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 เริ่มทำงานเกือบจะในทันที รัฐบาลได้พิมพ์เผยแพร่คำแถลงนโยบาย ซึ่งรายงานสถานทูตอังกฤษเห็นว่า ไม่มีอะไร ‘น่าแปลกใจหรือน่าตื่นเต้น’ (รายงานฉบับนี้สรุปสาระสำคัญของคำแถลงนโยบายไว้อย่างค่อนข้างละเอียด) เพียงแต่ประกอบด้วยความมุ่งหมายและหลักการที่จะใช้นำทางการทำงานของรัฐบาลต่อไป  นอกจากนั้น รายงานยังระบุด้วยว่า คำแถลงนโยบายนี้มีร่องรอยของอิทธิพลของคนหนุ่มที่เป็นนักอุดมคติ (young idealists) เช่น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และนายประยูร ภมรมนตรี ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญในการยกร่าง อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัครราชทูตอังกฤษจะเห็นว่า รัฐบาลมีทั้ง ‘ความกระตือรือร้นและความตั้งใจที่ดีที่สุด’ (zeal and the best of intentions)  แต่โครงการนโยบายที่ดูจะครบถ้วนสมบูรณ์จะนำไปปฏิบัติจริงได้แค่ไหน คงจะต้องดูกันต่อไป

ที่สำคัญก็คือ เมื่อถึงต้น ค.ศ. 1933 เค้าลางแห่งความยุ่งยากไม่ลงรอยก็เริ่มปรากฏ เหตุการณ์หนึ่งคือ ในช่วงต้นเดือนมกราคมปีนั้น มีผู้ยื่นขอจัดตั้ง ‘คณะชาติ’ (Nationalist Association) [1] ตามการรับรู้และความเข้าใจของสถานอัครราชทูตอังกฤษ ผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งองค์กรนี้ส่วนใหญ่คือ ข้าราชการระบอบเดิมที่สูญเสียตำแหน่งของตนภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนเหล่านี้ แม้ว่าจะมิได้มีความโดดเด่นในสังคมสยามสมัยนั้นเท่าใดนัก แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่า เป็นผู้มีความคิดไม่รุนแรงและจงรักภักดีต่อรัฐ นโยบายของคณะชาติแทบมิได้แตกต่างไปจากของรัฐบาล  แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ความมุ่งหมายหลักก็คือ การสร้างฐานสนับสนุนจากผู้มีความคิดแนวอนุรักษ์นิยมเพื่อให้เป็น ‘กลุ่มฝ่ายค้าน’ (the Opposition)  ที่อยู่ตรงข้ามกับสมาคมคณะราษฎร และเพื่อจะได้สามารถล้มรัฐบาลได้ตามแนวทางรัฐธรรมนูญ   อย่างไรก็ดี อัครราชทูตอังกฤษเห็นว่า เป็นการยากที่จะเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้จะสามารถก่อให้เกิดความมั่นใจใดๆ ได้มากนัก

ปัญหาสำหรับเรื่องนี้ก็คือ กลุ่มหัวไม่รุนแรงในรัฐบาลคณะราษฎร โดยเฉพาะพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา และพลเรือโท พระยาราชวังสัน ซึ่งจริงๆ แล้วก็มิได้เห็นด้วยกับการจัดตั้งสมาคมคณะราษฎรขึ้น ให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า หากจะไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งสมาคมคณะชาติ เพื่อความยุติธรรม สมาคมคณะราษฎรก็ควรจะถูกยุบเลิกไปด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นด้วยกับบุคคลทั้งสามนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะให้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นในสยามขณะนั้น แม้ความเห็นดังกล่าวนี้จะได้รับการยอมรับในที่สุด แต่ก็ได้สร้างความไม่พอใจและถูกต่อต้านจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างรุนแรง

ในช่วงที่รัฐบาลยังมิได้มีมติจะให้มีการจัดตั้งคณะชาติขึ้นหรือไม่นั้น และกระแสสื่อมวลชนก็ค่อนข้างจะต่อต้านนั้น ก็มีความพยายามที่จะลอบสังหารพลตรี พระยาเสนาสงคราม ที่เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ร่วมก่อตั้งคณะชาติ  บุคคลผู้นี้คือ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจาการขัดขืนการจับกุมในวันที่มีการยึดอำนาจในเดือนมิถุนายน 1932  เหตุการณ์นี้ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และทำให้สถานการณ์เริ่มยากลำบากสับสนและตึงเครียดขึ้นทันที  จากนั้นในวันที่ 14 มกราคมก็มีการจับกุมชาย 2 คนที่แจกใบปลิวต่อต้านคณะชาติที่สะพานพุทธยอดฟ้า  โดยความในใบปลิวระบุว่า จะเป็นอันตรายต่อสยามหากให้มีการจัดตั้งคณะชาติขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากถูกจับกุมแล้ว จึงปรากฏว่า ชายทั้งสองคนเป็นชาวจีนไหหลำ นอกจากนั้น ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ ก็มีการจับกุมผู้แจกใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อของคอมมิวนิสต์ด้วย

แม้จะมีการออกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 1933 [พ.ศ. 2475 ตามปฏิทินเดิมของไทย] แต่บรรยากาศทางการเมืองตามการรับรู้และความเข้าใจของตะวันตก ก็ดูจะค่อยๆ ตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ ในเดือนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินมาในพระราชพิธีฉัตรมงคล [วันที่ 25 กุมภาพันธ์]  เนื่องจากพระพลานามัยของพระองค์ทำให้ไม่ทรงสามารถเสด็จพระราชดำเนินมาได้ ประกอบกับการที่เป็นที่ทราบกันทั่วไปในขณะนั้นว่า มีความไม่ลงรอยกันในคณะรัฐบาล ก่อให้เกิดข่าวลือต่าง ๆ นานา ที่สร้างบรรยากาศตื่นเต้นตึงเครียดเหมือนช่วงก่อนที่จะมีการยึดอำนาจเดือนมิถุนายน 1932

ในเดือนต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งห้ามทหารประจำการทั้งในกองทัพบกและกองทัพเรือเข้าร่วมประชุมหรือให้การสนับสนุนสมาคมทางการเมืองใด ๆ  คำสั่งนี้ครอบคลุมข้าราชการทุกคนด้วย ยกเว้นผู้ที่เป็นสมาชิกสมาคมคณะราษฎร  บุคคลเหล่านี้ต้องตัดความเกี่ยวข้องกับสมาคมแห่งนี้ในทันทีที่หาผู้ที่เป็นสมาชิกแทนได้ รัฐบาลจำเป็นต้องปฏิเสธสมาคมคณะราษฎรมิใช่เพราะไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมการดำเนินงานของสมาคมนี้ แต่เป็นเพียงเพราะจะได้มีเหตุผลที่ชอบธรรมในการปฏิเสธการรับรองคณะชาติ ซึ่งอาจกลายมาเป็นพรรคฝ่ายค้านได้ในอนาคต

รายงานอัครราชทูตอังกฤษชี้ให้เห็นว่า ขณะนั้น ประชาชนในกรุงเทพฯ พลอยวิตกกังวลจนประสาทเสียเป็นระยะ ๆ (periodic attacks of nerves)  เพราะข่าวลือเหลวไหลไร้สาระต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยไม่เสด็จพระราชดำเนินจากหัวหินมาในการพระราชพิธีฉัตรมงคลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ดังได้กล่าวแล้ว   การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนครนั้น รายงานอัครราชทูตอังกฤษยืนยันว่า เพราะพระพลานามัยไม่ดี และอาจจะไม่ทรงสามารถทนกับอากาศร้อนชื้นของกรุงเทพฯ ได้จริงๆ  แต่รายงานก็ตั้งข้อสังเกตในขณะเดียวกันว่า

ดูเหมือนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงอยู่ในภาวะเครียดอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ทรงถูกกดดันมาตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา พระองค์ทรงวิตกจากการที่ต้องทรงอยู่โดดเดี่ยวที่หัวหิน และทรงเข้าใจไปเองว่า สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่จริง ๆ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


[1] ผู้ยื่นขอจัดตั้ง “คณะชาติ” คือ หลวงวิจิตรวาทการ เพื่อให้เป็นองค์กรทางการเมืองที่มีลักษณะเทียบได้กับ “คณะราษฎร”  แต่เนื่องจากในขณะนั้น ยังไม่มีทั้งคำว่า “พรรคการเมือง” และพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรประเภทนี้ [นอกจากนั้น ในเดือนสิงหาคม 1932 ก็ได้มีการจัดตั้ง “สมาคมคณะราษฎร”  โดยพระยานิติศาสตร์ไพศาล (วัน จามรมาน)] องค์กรที่หลวงวิจิตรวาทการขออนุญาตจัดตั้งจึงมีฐานะเพียง “สมาคม” ตามชื่อ “Nationalist Association” ที่ต่างชาติเรียก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯอิ๊งค์ ยืนยันจุดยืนรัฐบาล ไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า เรื่องนี้มีความคิดเห็นต่างกันอยู่แล้วก็ต้องรับฟังทุก

'แพทองธาร' บอกชัด 12 ธ.ค. เวลาไม่เหมาะสมตอบกระทู้สภาฯ ติดแถลงผลงานรัฐบาล

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีฝ่ายค้านเรียกร้องให้ไปตอบกระทู้ในสภาฯ มีแผนจะไปตอบบ้างหรือไม่ ว่าตนมีแพลนที่จะไปตอบอยู่แล้ว จริงๆอยากไป

อ้าว! 'อมรัตน์' สมเพช 'นักโต้วาที' เมาตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก Amarat Chokepamitkul อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” ถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

'อิ๊งค์' นำทีมเพื่อไทยขึ้นรถไฟไปสัมมนาที่หัวหิน 'ทักษิณ-เศรษฐา' ร่วมแจมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนาพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้ ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์นั้น มีการแจ้งกำหนดการว่าในวันที่