รฟท.โชว์ขบวนรถไฟท่องเที่ยวสุดหรู “SRT ROYAL BLOSSOM”ปักหมุดเปิดบริการกลางปีนี้

ได้รับความสนใจไม่น้อย หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดวาร์ปรถไฟท่องเที่ยวขบวนใหม่ SRT ROYAL BLOSSOM ที่ดัดแปลงมาจากขบวนรถญี่ปุ่น Hamanasu ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการ รฟท. ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมทั้งภายในและภายนอกขบวนรถ พร้อมทั้งร่วมทดสอบขบวนรถดังกล่าวในเส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ลำปาง แม้แต่สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง NHK ก็ลงข่าว ไทยนำรถไฟเก่าถูกปลดระวางจากฮอกไกโดไปรีโนเวทจนกลับมาวิ่งได้อีกครั้งอย่างสุดหรู

ไม่รอช้า “อาทิตย์เอกเขนก” จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับขบวนรถไฟ “SRT Royal Blossom” ซึ่งตามที่การรถไฟฯ ได้รับมอบรถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศ Hamanasu (ฮามานะสุ) จากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 10 คัน ประกอบด้วย รถรุ่น SUHAFU (มีเครื่องยนต์ปั่นไฟ) 5 คัน และรถรุ่น OHA (ไม่มีเครื่องยนต์ปั่นไฟ) 5 คัน

โดย นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายการช่างกลดำเนินการปรับปรุงตู้โดยสารให้มีความพร้อมสำหรับใช้เป็นขบวนรถไฟท่องเที่ยว เพื่อช่วยเสริมศักยภาพในการเดินทางและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างงาน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นตามนโยบายของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ล่าสุด เมื่อฝ่ายการช่างกล การรถไฟฯ ได้แจ้งถึงการปรับปรุงรถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศ Hamanasu ชุดแรกใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว จำนวน 5 คัน ภายใต้ชื่อ “SRT Royal Blossom” โดยจะใช้สำหรับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องหลังจากประสบความสำเร็จในการปรับปรุงขบวนรถไฟท่องเที่ยว KIHA 183 ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ และสร้างความประทับใจแก่ประชาชน นักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

“ปัจจุบัน ตู้ SRT Royal Blossom อยู่ระหว่างทดสอบความพร้อมของระบบ และเมื่อทดสอบแล้วเสร็จ มีกำหนดเริ่มให้บริการท่องเที่ยวช่วงกลางปีนี้ ในเส้นทางระยะสั้นแบบวันเดย์ทริป/พักค้างคืน และให้บริการในช่วงเทศกาลสำคัญ หรือให้บริการเช่าเหมาขบวนตามความเหมาะสมต่อไป”

สำหรับรายละเอียดการปรับปรุง ภายนอกตู้ SRT Royal Blossom ถูกแต่งแต้มสีสันภายนอกด้วยสีแดงเชอร์รี คาดทอง ส่วนภายนอกตัวรถได้มีการทำสีใหม่ให้เป็นเฉดสีแดงคาดลายสีทอง ซึ่งเป็นสีของกลีบดอกไม้ที่มีความสวยงาม และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของขบวนรถไฟท่องเที่ยวชุดนี้ ส่วนด้านหน้าและด้านข้างตัวรถจะมีสัญลักษณ์เป็นโลโก้ “STATE RAILWAY OF THAILAND ROYAL BLOSSOM SINCE–2022 คู่กับดอกราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 10 ถูกวางบนหน้าปัดนาฬิกาตัวเลขโรมัน และเข็มนาฬิกาชี้ไปที่ตัวเลข 13 เป็นการเปรียบเทียบถึงการเดินทางครั้งใหม่ของ Hamanasu จนเป็น SRT Royal Blossom ซึ่งจะสร้างช่วงเวลาแห่งความสุขและความพิเศษที่จะเกิดขึ้นกับการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟในประเทศไทย

ส่วนการตกแต่งภายในตัวรถ ได้ทำการตกแต่งด้วยความพิถีพิถัน โดยทำเบาะหุ้มที่นั่งใหม่เป็นเบาะกำมะหยี่ เปลี่ยนผ้าม่านที่สามารถปรับระดับได้ เปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นหลอด LED รวมถึงส่วนประกอบหลักของงานตกแต่งที่ทำจากไม้สนซีดาร์ เป็นเนื้อไม้ที่มีความสวยงามและทนทานต่อการใช้งาน การติดตั้งบันไดทางขึ้น-ลงที่ใช้สำหรับรองรับชานชาลาสูงและต่ำ โดยใช้วัสดุจากไม้สักและขลิบด้วยทองเหลืองแท้ที่พับเก็บได้ ตลอดจนการออกแบบหน้าต่างพร้อมกรอบโลหะสีทอง ที่มีขนาดความกว้างพิเศษ สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้กว้างกว่ารถโดยสารทั่วไป และยังติดตั้งเครื่องฟอกอากาศทุกตู้

สำหรับตู้โดยสารทั้ง 5 คัน แบ่งออกเป็นตู้ 1. Group Car จำนวน 1 คัน โดยดัดแปลงให้เป็นห้องโดยสารแบบกลุ่มส่วนตัว จำนวน 4 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องสามารถรองรับได้ 4-6 คน สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้กว่า 180 องศา ประตูเซ็นเซอร์ มีทางเดินที่กว้างขวาง สะดวกสบายรองรับรถวีลแชร์ นอกจากนี้ยังมีมีลิฟต์ขนาดใหญ่จำนวน 2 ตัว และห้องน้ำสำหรับรองรับผู้พิการด้วย

2.รถโดยสาร Passenger Car จำนวน 3 คัน ได้ดัดแปลงเป็นห้องโดยสารแบบรวม มีทั้งหมด 48 ที่นั่ง/คัน โดยที่นั่งมีทั้งแบบหันหน้าเข้าหาหน้าต่างเพื่อชมวิว หรือปรับเบาะหันหน้าเข้าหากันเพื่อทำกิจกรรมในกลุ่มเพื่อนได้ พร้อมทั้งช่องเสียบสาย USB ทุกที่นั่ง ซึ่งแต่ละตู้จะมีเบาะที่นั่งที่มีสีสันต่างกัน สื่อถึงการเดินทางในแต่ละครั้ง ผู้โดยสารจะได้รับความประทับใจที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เปรียบเหมือนการเบ่งบานของดอกไม้ในแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ยังมีอีก 8 ที่นั่งที่แยกออกมาสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว

3.รถโดยสาร Leisure Car จำนวน 1 คัน โดยดัดแปลงให้เป็นรถเสบียง สำหรับให้บริการอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้โดยสารสามารถมาใช้บริการหรือซื้อกลับไปรับประทานที่ตู้โดยสารได้ ภายในออกแบบเคาน์เตอร์บาร์ให้อยู่ตรงกลาง ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินด้านข้างได้ทั้ง 2 ด้าน มีพื้นที่กว้างขวาง สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ และกระจกมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษสามารถนั่งชมวิวทิวทัศน์ได้อย่างสบาย

ขณะที่ “เอกรัช ศรีอาระยันพงษ์” หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ รฟท. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ส่วนขบวนรถที่เหลืออีก 5 คัน การรถไฟฯ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการปรับปรุง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในช่วงกลางปี 2567 โดยตู้รถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศ Hamanasu ของประเทศญี่ปุ่น ผลิตเมื่อปี ค.ศ.1988 เคยให้บริการเป็นขบวนรถด่วนที่มีชื่อว่า Hamanasu เส้นทางเชื่อมระหว่างเกาะฮอกไกโดข้ามไปเกาะฮอนชู จากสถานีซัปโปโรไปถึงสถานีอะโอโมริ และให้บริการเที่ยวสุดท้ายที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 โดยชื่อ Hamanasu หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ดอกกุหลาบญี่ปุ่น ถือเป็นดอกไม้ประจำเกาะฮอกไกโดนั่นเอง

“โดยการรถไฟฯ มุ่งหวังว่า การเปิดให้บริการขบวนรถไฟท่องเที่ยวใหม่ SRT Royal Blossom จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ ตลอดจนเป็นการเปิดประสบการณ์เดินทางใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้เกิดความประทับใจ รวมถึงช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงทางรถไฟให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืนสืบไป”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘อ้วยอันโอสถ’ภารกิจปั้นแบรนด์สู่นิวลุกส์ พัฒนาสินค้ารับเทรนด์สมุนไพรมาแรง

สำหรับ บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด นั้น นับเป็นแบรนด์ยาสมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยมายาวนาน 77 ปี ที่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรในหลายหมวดและมีมากกว่า 100 รายการ

เปิดประสบการณ์เยือน“แดนมังกร”แบบใจฟู! มนตร์เสน่ห์ครบเครื่องทั้งความอลังการทันสมัยและสถาปัตยกรรมสุดงดงาม

ถ้าพูดถึง “จีน” โดยเฉพาะเวลาไปท่องเที่ยว คนส่วนใหญ่จะยังติดภาพจีนในเวอร์ชันเดิมๆ คนเสียงดังๆ ห้องน้ำที่อาจจะไม่ค่อยสะอาด และเวลาเข้าจะต้องคอยลุ้นเสมอว่าจะเจอแจ็กพอร์ตหรือไม่

พงศภัค นครศรี GEN 3 ที่สานต่อธุรกิจครอบครัว รับเทรนด์ ESG โต

นับตั้งแต่ปี 2563 พงศภัค นครศรี ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหาร บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ BCC ซึ่งนับว่าเป็นผู้นำเทคโนโลยีการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลระดับภูมิภาค

“ซูเลียน”จัดทัพรับตลาดปรับเปลี่ยน พัฒนาระบบ-ออกสินค้าใหม่เติบโตยั่งยืน

นับเป็นเวลา 27 ปีแล้ว ตั้งแต่บริษัท ซูเลียน (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ซูเลียน (Zhulian) ที่ได้ดำเนินธุรกิจมา โดยในปี 2567 ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในการจัดทัพ

“ทีทีบี”ตอกย้ำการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ปักธงภารกิจองค์กรสู่การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย

การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน เรื่อง “เทคโนโลยีดิจิทัล” กลายมาเป็นไม้เด็ดของหลากหลายธุรกิจ ด้วยความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัย