'สวนป่าเบญจกิติ'

บ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี

ถ้าสังคมพุ่งเน้น ให้ความสนใจ พูดถึง แต่เรื่องเลว ของคนเลวๆ ขณะเดียวกัน กลับเมินเฉย ไม่สนใจ ละเลยที่จะให้ความสนใจและพูดถึงเรื่องดี ของคนดีๆ

โจรก็จะครองเมือง!

เพราะเลวแล้วดัง สื่อแย่งกันลงรูป-ลงข่าว ทั้งทวีต ทั้งเฟซ ทั้งออนไลน์ ทั้งหน้าจอ-หน้าหนึ่ง กล่าวถึงซ้ำๆ จนทำให้ "เลวกลายเป็นฮีโร่"

เมื่อเลวแล้ว ดี-เด่น-ดัง

"แถมได้ตังค์" พวกหนึ่งจึงอยากเลว ยึดเป็นอาชีพ นำม็อบ-นำจลาจล นำเดินขบวน สร้างสถานการณ์ป่วนบ้าน-เผาเมือง

โดยมีขบวนการล่มบ้าน-ล้มสถาบัน ในคราบนักการเมือง นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ สมคบขบวนการนอกชาติ "หนุนหลัง"

คอยปกป้องร้องตะโกน......

"สิทธิมนุษยชน...คนประชาธิปไตย...รุ่นใหม่ ไล่เผด็จการ"

ก็ว่ากันไป

บ้านเมืองเป็นของทุกคน ถ้า "คนไทย-คนกรุงเทพฯ" นิยมชมชอบว่าแบบนี้ คือประชาธิปไตย "ที่ต้องการ"

ก็ตามสบาย

เสื่อมลงหรือเจริญรุ่ง "เลือกได้" ด้วยประชาธิปไตยในมือแต่ละคนอยู่แล้ว!

ยุคสื่อสารไอทีครองโลก ทำให้คำว่า "สร้างภาพ" กับ "สร้างตัว" เป็นเรื่องเดียวกัน

คนรู้เท่าทัน ก็จะใช้มันเป็นเครื่องมือพลิกคำว่า "ลวงโลก" เป็น "วิสัยทัศน์" คนรุ่นใหม่ ประชาธิปไตยต้อง ๓ นิ้ว!

วันนี้ คุยเรื่องนี้ดีกว่า.........

เรื่อง "สวนป่าเบญจกิติ" ที่ดังปานพลุทะลุฟ้าขณะนี้

เป็น "แลนด์มาร์ก" แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

ที่ใครไม่ไปเดินสะพานลอยฟ้า ถ่ายรูปจูบตะวันรอน ก่อนแสงอำลาท่ามกลางป่าและเกาะแก่งแอ่งบึงน้ำระบบนิเวศน์พืชพรรณไม้ ละก็

ตกเทรนด์ไปเลย!

นิวยอร์กมีสวนสาธารณะ "เซ็นทรัล ปาร์ก" กลางเกาะแมนฮัตตันเป็นปอด กล่าวขานกันถึงความลงตัวที่โดดเด่นระหว่างธรรมชาติกับสถาปัตยกรรม ถือเป็นหน้า-เป็นตาชาว "นิวยอร์กเกอร์" แห่งหนึ่ง

"สวนป่าเบญจกิติ" ก็ประมาณนั้น

เป็นปอดกลางกรุงของชาว "บางกอกเกี้ยน" บนความลงตัวระหว่างสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติ "ป่าและน้ำ" ที่เลิศเลอเพอร์เฟกต์ไม่แพ้กัน

ผมขึ้นทางด่วนจากดินแดงไปลงท่าเรือทุกวัน เห็นความเปลี่ยนแปลงจากโรงงานยาสูบเป็น "สวนสาธารณะ" ที่ต้องใช้คำว่า "ปานเนรมิต"

คือทำได้เร็วมาก มิใช่เร็วแบบลวกๆ หากแต่ทั้งเร็ว ทั้งเนี้ยบ เรียบร้อยด้วยคุณภาพ
ก็เขาไปเดินสะพานลอยฟ้าถ่ายรูปลงเฟซอวดกันตื่นทั้งบ้าน-ทั้งเมือง แล้วผมจะตกเทรนด์ได้ไง ก็ไปเดินกระทบไหล่ลอยฟ้าเห็นมากับตา ถึงได้นำมาคุยถูก

แค่ ๒ ปีกว่าๆ คือราวปี ๒๕๖๓ จำได้ว่านายกฯ ประยุทธ์ลงไปสำรวจพื้นที่ ย้ายโรงงานยาสูบออกไปแล้ว ก็จะแปลงเป็นสวนสาธารณะให้เต็มพื้นที่

จากเดิมมีบึงและสวนอยู่แล้วเรียกระยะที่ ๑ ก็จะใช้พื้นที่เพิ่มเติมอีกร่วม ๓๐๐ ไร่ ให้เป็นสวนสาธารณะ "เต็มพื้นที่" ทั้งหมดประมาณ ๔๕๐ ไร่

เพื่อ "เฉลิมระเกียรติ"........

"สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง"

ในโครงการใหม่ ระยะที่ ๒-๓ นี้ นายกฯ กำหนดให้เสร็จทันวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕

ปรากฏว่า "เสร็จทัน" จริงๆ!

ฉะนั้น ๑๒ สิงหา ๖๕ นี้ จะมีพิธีเปิดสวนป่า "เบญจกิติ" ระยะที่ ๒-๓ อย่างเป็นทางการ

เพื่อเฉลิมพระเกียรติ "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง" ในวาระทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา

ทำไมสวนป่าเบญจกิติ ตามโจทย์นายกฯ ที่เน้น "ป่าและน้ำ" แห่งนี้ จึงสวยงาม ลงตัวทั้งธรรมชาติและสถาปัตยกรรม

ถูกตา-ต้องใจ ใครทุกคนที่เข้าไป..........

ต่างตื่นตะลึง ด้วยคิดไม่ถึงว่าจะมีป่าและน้ำกลมกลืนเกินจินตนาการเกิดขึ้นได้กลางกรุงเช่นนี้?

ที่สำคัญ เหนือคาดหมายว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้รวดเร็วและลงตัว ขนานไปกับ "ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์" อันสุดอลังการ พร้อมสรรพระดับเอเชีย ล้ำด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ที่จะใช้เป็นสถานที่ประชุม APEC ในเดือนพฤศจิกา

ซึ่งจะมีผู้นำระดับโลก จาก ๒๑ เขตเศรษฐกิจ มาร่วมประชุม

ทั้งมีสะพานลอยฟ้าให้เดินชมสวน ชมทัศนียภาพเมืองแบบพาโนรามา เดินลอยฟ้า จากสวนป่าเบญจกิติ ข้ามทางด่วนไปถึงสวนลุมพินี แบบลอยไป!

ก็ต้องขอบอกให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน ว่า.........

"สวนป่าเบญจกิติ" นี้ เป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์และกรมธนารักษ์ เป็นผู้จัดทำ-จัดสร้าง ทั้งสิ้น

"กทม." ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างแต่ประการใด ก็บอกให้รู้ไว้ เผื่อใครจะมาเคลม

เมื่อสร้างเสร็จ กรมธนารักษ์ก็มอบให้ "กรุงเทพมหานคร" หรือ กทม.เป็นผู้ดูแล บำรุงรักษาและบริหารจัดการต่อไปเท่านั้น

สถาปัตยกรรม "สวนป่าเบญจกิติ" แห่งนี้ ผู้รังสรรค์ คือใคร?

ก็ต้องกล่าวถึงเป็นเกียรติประวัติไว้ คือ "สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์"

โดยศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปี ๒๕๕๖ "ธีรพล นิยม"

ผู้ออกแบบ "สัปปายะสภาสถาน" นั่นแหละ!

แล้วใครล่ะ ........

เป็นผู้ลงมือเนรมิตโรงงานยาสูบในพื้นที่กว่า ๒๕๙ ไร่ ให้ออกมาเป็น "สวนป่าเบญจกิติ" สำเร็จและเนี้ยบได้ ภายในเวลา ไม่ถึง ๒ ปี?

"ทหาร" ครับ...ทหาร!

ถ้าเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เอาคนงานมาทำ ทั้งงานปรับพื้นที่ รื้อ-ย้าย ทั้งงานใต้ดินเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำด้วยวิธีทางธรรมชาติ

ไม่มีน้ำเสีย น้ำแล้ง แม้น้ำท่วมกรุงเทพฯ สวนป่าเบญจกิติก็จะไม่มีทางไหลเข้ามาท่วมได้ ด้วยการออกแบบให้สวนป่าเป็นฟองน้ำดูดซับ

ทั้งทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน ทางเดินลอยฟ้า ห้องน้้ำ พื้นที่รับน้ำ ต้นไม้ สวนป่า บึงชุ่มน้ำ

ทั้งการสรรพืชพรรณไม้หลายหลากมาปลูกตามผัง ที่ต้องประคบ-ประหงม ดูแลให้งอกงามอย่างมีชีวิตชีวา ใช่สักแต่ว่าหามาทิ่มดินให้เทวดาเลี้ยง

เหล่านี้ คือทหารล้วนๆ เอาใจและฝีมือมาทำ!

ที่เด่นในสวนป่าเบญจกิติอีกอย่าง คือ "ลานอัฒจันทร์กลางแจ้ง" อเนกประสงค์ ทั้งพักผ่อนและการทำกิจกรรม

คล้ายอัฒจันทร์โรงละคร "เอพิดอรัส" ของกรีกโบราณ ดูมีเสน่ห์ดึงดูดให้ "คนมีของ" ใช้เป็นเวที "ปล่อยของ" เก๋ๆ เท่ๆ ได้ดีทีเดียว

เนี่ย....

ภายใน ๒ ปี เหล่านี้ ถ้าเป็นบริษัทรับเหมา ไม่มีทางทำได้เสร็จ

แต่นี่ "กรมธนารักษ์" มอบให้ "กองพลพัฒนาที่ ๑" จากราชบุรี เป็นผู้รับภารกิจสำคัญนี้

"พลตรี ไพรัช โอฬารไพบูลย์" ตอนนั้น เป็น "ผู้บัญชาการกองพล" กล่าวขานกันในหมู่สถาปนิกด้วยการยอมรับว่า สมแล้วกับความเป็นผู้นำกองพลพัฒนาของท่าน

เพราะนอกจากนำปฏิบัติการแล้ว

ท่านยังใช้ประสบการณ์ให้ความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะแบบชำนาญชาญเชี่ยว ที่สถาปนิกยังต้องยอมรับ แถมตัวท่านยังเอาใจใส่ คุมปฏิบัติการทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามแผนงาน

ทุกนาที งานจึงงอกเงย สะดุดไปบ้างก็ช่วงโควิดฮิตจัดเท่านั้น

เมื่อท่านก้าวหน้าทางราชการขึ้นไป "พลตรีมานิต ศิริรัตนากูล" เข้ามาเป็นผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ ๑ แทน

"พลตรีมานิต" ก็ปานกัน

รับภารกิจสานงาน "สวนป่าเบญจกิติ" ต่อ ท่านก็เดินหน้ามิรอช้า จนเสร็จสมบูรณ์ จะเปิดเป็นทางการในวันที่ ๑๒  สิงหาที่จะถึงอย่างที่บอก

ทีมงานกองพลพัฒนาที่เนรมิต "สวนป่าเบญจกิติ" ให้ชื่นชมโสมนัส เป็นจุด "ปักหมุด" ของใครต่อใคร "ต้องไป" ในเวลานี้ บันทึกชื่อไว้ ว่าสวนป่าแห่งนี้ ด้วยฝีมือเหล่าท่าน......

-พันเอก ชุติภัทร วรรณทอง (นายทหารโครงการ)

-พันโท ชีระชัย พึ่งยอด (ผู้บังคับหน่วยงาน)

-พันโท ทิตย์อานันท์ ชาญบรรเจิดสุข (รองผู้บังคับหน่วยงาน) 

-ร้อยเอก นฤเบศร์ บุญคุ้ม (นายทหารควบคุมงาน)

-ร้อยเอก โชคชัย เหง้าพรหมมินทร์ (นายทหารควบคุมงาน)

-ร้อยเอก การุณย์ โตนอก (นายทหารควบคุมงาน)

-ร้อยโท กิตติภพ จันทร์เพ็ญ (นายทหารควบคุมงาน)

-ร้อยโท ชำนาญ มุยเจริญ (นายทหารควบคุมงาน)

-ร้อยโท ดิษพงศ์ อากาศเหลือง (นายทหารควบคุมงาน) 

ครับ....

ก็อย่างที่บอก เรื่องดีๆ คนดีๆ ในบ้านเมืองเรา มีเยอะแยะ จะว่าไป มีมากกว่าคนไม่ดีด้วยซ้ำ

แต่อย่างว่า "เรื่องดี" ขายไม่ได้

ต้อง "เรื่องร้าย-คนทำฉิบหาย" ถึงจะขายได้-ขายดี ทั้งประชาชนสนใจ จึงโหมประโคมกันยกใหญ่

จนทุกวันนี้.....

"ข่าวร้าย-คนร้าย-ข่าวสร้างภาพ" คือข่าวสะท้อนสังคมไทย

"ไทย" น่ะรอด

แต่คนนิยมสังคมแบบนี้ "ยากรอด" ในทางยาว!

คนปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง