เมื่อทุกฝ่ายเสนอข้อมูล ประชาชน ก็ตัดสินได้ว่าใครกำลังทำอะไรอยู่

ต้องขอบคุณคุณกรณ์ จาติกวณิช ที่เปิดประเด็นเรื่อง “กำไรเกินควร” ของโรงกลั่นน้ำมัน

ต้องขอบคุณผู้บริหารบริษัทเอกชนที่ออกมาตอบโต้ว่ามองจากมุมของธุรกิจสิ่งที่คุณกรณ์พูดนั้นไม่จริงทั้งหมด

ขอบคุณทุกๆ ฝ่ายที่ออกมาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นในประเด็นนี้

เพราะสังคมไทยต้องตัดสินกันด้วยข้อมูลที่ตรวจสอบได้ และรัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนในยามลำบาก และยุติธรรมกับผู้ประกอบการ

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องสื่อสารกับประชาชนในประเด็นเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาและพร้อมจะปรับปรุงแก้ไขให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง

ประเด็นนี้เริ่มจากที่คุณกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค ร่วมกันแถลงถึงวิกฤตพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ยังราคาต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียนด้วยกัน เพราะมีการใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาหน้าปั๊ม

วันนั้น คุณกรณ์บอกว่าสถานะกองทุนน้ำมันติดลบ 86,000 ล้านบาท (ตอนนี้ขยับเข้าใกล้ 1 แสนล้านบาทแล้ว)

ดังนั้น กองทุนน้ำมันจึงอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถกู้สถาบันการเงินได้อีก

แม้ในอนาคตราคาน้ำมันโลกจะลดลง แต่ก็ยังเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจำนวนมาก เพื่อชำระหนี้กองทุนที่ติดลบอยู่ จึงกลายเป็นภาระในอนาคตของประชาชน

ว่าแล้วคุณกรณ์ก็ประกาศว่าคนไทยกำลัง “โดนปล้นจากค่ากลั่นน้ำมัน”

โดยนำเสนอข้อมูลราคาค่ากลั่นน้ำมันในช่วงเวลาเดียวกันปี 2563 อยู่ที่ 0.88 บาทต่อลิตร, ปี 2564 อยู่ที่ 0.87 บาทต่อลิตร, แต่ปี 2565 กระโดดมาอยู่ที่ 8.56 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากเดิม 10 เท่า เท่ากับค่ากลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ไปเพิ่มตามราคาตลาดน้ำมันสิงคโปร์ ทั้งที่ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้น กลายเป็นภาระประชาชน ภาระกองทุนน้ำมัน แต่ทำไมรัฐปล่อยให้ฟันกำไรได้ขนาดนี้

หัวหน้าพรรคกล้าเสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้ 3 ข้อ คือ

1) ควรกำหนดเพดานค่าการกลั่น เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันการค้ากำไรเกินควร พร้อมกำหนดขั้นต่ำไม่ให้ถึงกับขาดทุน

2) เสนอเก็บ “ภาษีลาภลอย” (Windfall Tax) เพราะส่วนต่างจากราคาการกลั่นน้ำมัน เป็นราคาลาภลอยให้กับบริษัท ทำให้ได้กำไรจากส่วนต่าง จึงควรเก็บภาษีลาภลอย เพื่อนำกำไรที่เกินมาช่วยเหลือประชาชน นำมาช่วยในกองทุนน้ำมันต่อไป และ

3) ต้องจริงจังกับมาตรการประหยัดการใช้พลังงาน

 “คำถามคือ โรงกลั่นนี้ของใคร ปตท.เป็นเจ้าของโรงกลั่นกว่า 70% ในประเทศ โดยที่รัฐไม่มีคำอธิบายให้ประชาชน กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ควบคุมราคาสินค้า ทำไมไม่ไปดู ส่วนกระทรวงพลังงานก็มีอำนาจโดยตรง อยากฝากบอกรัฐมนตรีว่า รู้ดีเพราะเป็นลูกหม้อ ปตท.มาก่อน ช่วงเวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาเกรงใจเพื่อนๆ มันมีวิธีที่จะช่วยเหลือบ้านเมืองและประชาชนได้ทันที ท่านต้องรีบตัดสินใจ ขณะที่กระทรวงการคลัง ก็มีส่วนเหมือนกัน ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายภาษีลาภลอย แต่ก็มีหุ้นในโรงกลั่น ทุกคนควรใช้พลังให้ถูกที่ ในการหาความเป็นธรรมให้กับสังคมไทย ข้อมูลนี้ถ้าพรรคกล้าหาได้ ก็เชื่อว่าคนที่อยู่ในอำนาจก็ต้องคิดได้เหมือนกัน แต่คำถามคือ ทำไมไม่ทำอะไร ปล่อยให้กองทุนน้ำมันติดหนี้จนจะเดี้ยง ไม่มีประสิทธิภาพ” คุณกรณ์กล่าว

ผ่านมาไม่กี่วัน ผู้บริหารกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันก็ออกมาโต้คุณกรณ์ ยืนยันว่าค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นลิตรละ 47 สตางค์ เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด

คำตอบโต้นี้มาในรูปของแถลงการณ์จาก “กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)”

โดยชี้แจงข้อเท็จจริงใน 3 ประเด็นคือ

ประเด็นที่ 1 ข้อมูลที่คุณกรณ์นำเสนอเป็นการเลือกข้อมูลบางส่วนขึ้นมา เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด

โดยค่าการกลั่นที่คุณกรณ์ยกมานั้น ไม่ใช่ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับ (Market GRM) และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ

นอกจากนี้ ข้อมูลที่เลือกมาเป็นฐานในการเปรียบเทียบ เป็นข้อมูลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิ- 19 (2563-2564) ซึ่งค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากๆ

เมื่อนำมาเปรียบเทียบ จะทำให้เข้าใจผิดว่าค่าการกลั่นในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติ

แถลงการณ์นี้ย้ำว่าหากนำข้อมูลค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับจริงในช่วงสถานการณ์ก่อนโควิด-19 ในปี 2561-2562 มาเปรียบเทียบ พบว่าค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 สูงขึ้นเพียงประมาณ 0.47 บาทต่อลิตร จากช่วงสถานการณ์ปกติเท่านั้น

ไม่ได้สูงถึง 10 เท่าและสูงถึง 8 บาทต่อลิตรอย่างที่คุณกรณ์กล่าวอ้าง

ประเด็นที่ 2 ต้นทุนการกลั่นไม่ได้คงที่ แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น

เช่น ค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ (ราคาส่วนเพิ่มของน้ำมันดิบที่กลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง) ค่าขนส่งน้ำมัน ค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เป็นต้น

รวมถึงค่าแรงที่มีการปรับขึ้นอย่างเป็นประจำ และการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่มีความเข้มข้นมากขึ้น

เช่น การเปลี่ยนแปลงชนิดและมาตรฐานคุณภาพของน้ำมัน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการปฏิบัติการในโรงกลั่น ความปลอดภัย เป็นต้น

ประเด็นที่ 3 โรงกลั่นไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจากค่าการกลั่นเป็นผลลัพธ์จากราคาเฉลี่ยของน้ำมันที่ขายจริงทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิต หักด้วยราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง

ซึ่งรวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เช่น ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย รวมถึงต้องหักค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เช่น ค่าความร้อน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสูญเสีย เป็นต้น

โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวมถึงสต๊อกน้ำมัน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ

เรื่องนี้มีหลายมิติ หลายมุมมอง และมีความสำคัญที่คนไทยจะต้องทำความเข้าใจ

พรุ่งนี้อ่านต่อครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว