หรือรัฐบาลทหารพม่าทำให้ อาเซียนเป็น ‘อัมพาต’? พม่าทำให้อาเซียนเป็นง่อย?

นั่นคือคำถามใหญ่จากหลายฝ่าย เมื่อนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ตัดสินใจทำอะไรหลายอย่างที่ละเมิดข้อตกลงและคำร้องขอจากเพื่อนสมาชิกอาเซียนด้วยกันอย่างไม่สนใจไยดีกับปฏิกิริยาทั้งจากในบ้านและนอกบ้าน

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนนี้ ศาลเมียนมาตัดสินจำคุกอดีตผู้นำพลเรือน อองซาน ซูจี 3 ปี พร้อมใช้แรงงานหนักข้อหาทุจริตในการเลือกตั้งทั่วไป ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของเธอได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย

อองซาน ซูจี ปีนี้อายุ 77 ปี ก่อนหน้านี้ก็ถูกศาลทหารพม่าตัดสินในข้อหาอื่นๆ จำคุกรวมกันแล้วกว่า 20 ปี

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ศาลมีคำสั่งให้ต้อง “ใช้แรงงานหนัก” หนักด้วย

แต่ไม่มีรายละเอียดว่า “แรงงานหนัก” ที่ว่านี้คืออะไร

คนที่เคยติดคุกในพม่าบอกสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ชีวิตนักโทษมีความยากลำบากในเรือนจำเมียนมา

และในช่วงหลังนี้มีรายงานข่าวเป็นระยะๆ เกี่ยวกับการบังคับให้ใส่กุญแจมือและใช้แรงงานหนักในเรือนจำ

นอกจากซูจีแล้ว อดีตประธานาธิบดีเมียนมา วิน มินต์ ผู้เป็นจำเลยร่วม ต้องรับโทษเช่นเดียวกับซูจีในคดีเดียวกันเหมือนกัน

หากรวมคำตัดสินของศาลพม่าในคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ โทษจำคุกรวมกันมากกว่า 17 ปี

แต่เธอปฏิเสธทุกข้อหา

ข่าวบอกว่าทุกวันนี้เธอถูกขังเดี่ยวในเรือนจำแห่งหนึ่งในกรุงเนปยีดอ

รัฐบาลทหารเมียนฟ้องเธอในคดีอาญาไม่ต่ำว่า 20 คดี นับตั้งแต่ มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ไม่นาน มิน อ่อง หล่าย ก็เดินหน้าประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐประหาร 4 คน

โดยไม่สนใจคำร้องขอจากนายกฯ ฮุน เซน ในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียนปีนี้

อีกทั้งยังไม่มีวี่แววว่าเขาจะยอมทำตาม “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียนเพื่อสร้างความสมานฉันท์และแก้ไขวิกฤตของเมียนมาแต่ประการใด

นักวิเคราะห์ในอาเซียนเองมองว่า พม่าภายใต้การนำของรัฐบาลทหารไม่ให้ราคาอาเซียนเลย

และอาเซียนเองก็ “ไร้น้ำยา” ที่จะทำอะไรให้เมียนมายอมรับมติของตน

บทความใน Council on Foreign Relations หรือ “สภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “คลังสมอง” ของตะวันตกเมื่อสัปดาห์ก่อนพาดหัวว่า

“ความล้มเหลวโดยสมบูรณ์ของอาเซียนในเมียนมา”

ผู้เขียนเป็นนักวิเคราะห์ที่ติดตามสถานการณ์ในพม่าอย่างใกล้ชิดมาตลอด

Joshua Kurlantzick วิพากษ์ว่าอาเซียนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อการเดินหน้าใช้ความรุนแรงและอำนาจเบ็ดเสร็จในการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงมาตลอด

เขาบอกว่า 1 ปีครึ่งหลังการรัฐประหารในปี 2564 ที่จัดตั้งกองทัพเมียนมาขึ้นใหม่อย่างเป็นทางการ รัฐบาลเผด็จการทหารยังคงรณรงค์ต่อต้านกลุ่มต่อต้านอย่างโหดร้าย

กองทัพได้กำหนดเป้าหมายทั้งองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์และกองกำลังป้องกันประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เริ่มการประท้วงอย่างสันติที่ไม่ประสบผลสำเร็จเพื่อประท้วงการทำรัฐประหาร กองทัพยังคงละเมิดสิทธิครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศ

ในขณะเดียวกันก็จับชาวโรฮีนจาไว้ในค่ายกักกันเสมือนจริง และเพิ่มแรงกดดันนักเคลื่อนไหว โดยล่าสุดได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียง 4 คน

กองทัพพม่ายังปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธและ “กองกำลังป้องกันตนเองของประชาชน” (People’s Defence Force) ในภาคต่างๆ ของประเทศ

เขาบอกว่าอันที่จริง อาเซียนเป็น “อัมพาต” ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร

เพราะแม้จะเชิญ มิน อ่อง หล่าย ไปร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาหลังรัฐประหารไม่นาน และแม้มีข้อตกลง 5 ข้อ โดยให้อาเซียนส่ง “ทูตพิเศษ” เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยกลุ่มที่มีข้อพิพาทต่างๆ แต่ก็ไร้ผล

เมื่อกัมพูชาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน พยายามเล่นบทเป็นคนกลางโดยการยอมต้อนรับ มิน อ่อง หล่าย แต่ก็หาได้ผลในทางบวกแต่ประการใดไม่

ความจริงเราไม่ต้องให้นักวิเคราะห์นอกอาเซียนนำเสนอความเห็นแนวทางที่ไร้ความหวังเลย

เพราะนักวิชาการ, นักการทูตและสื่อมวลชนที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอดก็สรุปเกือบจะตรงกันหมดว่า

กรณีพม่าทำให้อาเซียนเสียความน่าเชื่อถือไปมาก

อีกทั้งเมื่อสมาชิกอีก 9 ชาติเองก็มีความเห็นแตกต่างกันในรูปแบบของการจัดการกับ มิน อ่อง หล่าย ก็ยิ่งทำให้อาเซียนเดินต่อเรื่องนี้ยากขึ้นไปอีก

สมาชิกอาเซียนบางประเทศ เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ ยืนกรานว่าจะต้องแสดงความขึงขังเอาจริงกับ มิน อ่อง หล่าย

ส่วนสมาชิกอาเซียนอีกกลุ่มหนึ่งก็ต้องการใช้วิธีประนีประนอม โดยอ้างว่าหากยิ่งต้อนเมียนมาติดมุมก็ยิ่งจะทำให้ช่องทางของการติดต่อสื่อสารยากขึ้น

อาเซียนในฐานะเป็นองค์กรจึงทำอะไรมากไม่ได้

แม้ในวงเล็กๆ จะมีการเสนอให้ลงโทษเมียนมาด้วยการ “ระงับความเป็นสมาชิกอาเซียน” ของรัฐบาลทหารพม่าจนกว่าจะมีความคืบหน้าในทางสร้างสรรค์ แต่ในทางปฏิบัติก็เหมือนจะมีการ “คว่ำบาตร” รัฐบาลทหารพม่าอยู่ในที

แต่ก็ยังไม่ปรากฏมีผลกดดันให้ มิน อ่อง หล่าย ยอมแสดงท่าทีที่ยอมผ่อนปรนแต่อย่างใด

ล่าสุดการไปเยือนเมียนมาของ “ทูตพิเศษ” จากสหประชาชาติ Noeleen Heyzer ก็จบลงด้วยการออกแถลงการณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายที่ไปกันคนละทาง

มิหนำซ้ำฝั่งทหารเมียนมายังออกรายงานยาวเหยียดกว่า 5,000 คำ เพื่อวิพากษ์ว่าตัวแทนจากสหประชาชาติคนนี้มี “อคติ” และไม่มีความเข้าใจในสภาพที่แท้จริงของปัญหาในเมียนมา

ขณะที่ Heyzer เองก็ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าเธอได้เรียกร้องขอพบกับ อองซาน ซูจี, ขอให้มีการหยุดยิง และให้มีกระบวนการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม

แต่ก็ได้รับคำตอบที่เป็นไปทางลบอยู่เหมือนเดิม

เป็นที่มาของคำว่า “อาเซียนเป็นง่อยกรณีเมียนมา”

ที่ยากจะปฏิเสธได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน

ปูติน-คิม: ยิ่งโลกยุ่ง สองสหายยิ่งแน่นแฟ้น

ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน

เมื่อบริษัทมะกันถอนตัวจาก แหล่งก๊าซ‘ยาดานา’พม่า

ผลข้างเคียงจากสงครามกลางเมืองพม่าต่อไทยคือการบริหารแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) ที่ผู้ถือหุ้นสหรัฐฯ คือเชฟรอน เพิ่งประกาศถอนหุ้นออกไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา