สร้างกำแพงประวัติศาสตร์ที่ ทบ.

     สัปดาห์สุดท้ายของข้าราชการวัยเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย.2565 แวดวง สีกากี ปีนี้ที่ต้อง อำลา เครื่องแบบ อำลาชีวิตผู้พิทักษ์สันติราษฎร์  นำทีมโดย บิ๊กปั๊ด-พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วย 4 รอง ผบ.ตร. บิ๊กใหม่-พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์, บิ๊กเบิ้ม-พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย, บิ๊กทิน-พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง และบิ๊กต้อย-พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รวมทั้ง 3 ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ปรีชา เจริญสหายานนท์, พล.ต.อ.มนตรี ยิ้มแย้ม และ พล.ต.อ.ชยพล ฉัตรชัยเดช ส่วนระดับ ผู้บัญชาการ ที่หลายคนคุ้นเคย ก็มี พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผบช.ภ.8

พล.ต.ท.พัฒนวุธ อังคะนาวิน ผบช.สงป., พล.ต.ท.เชษฐา โกมลวรรธนะ หัวหน้าจเรตำรวจ, พล.ต.ท.ธนา ธุระเจน นพ.สภ.8 รพ.ตำรวจ, พล.ต.ท.พรชัย สุธีรคุณ นพ.สบ.8 รนพ.ตำรวจ ระดับ ผู้บังคับการ ก็มี พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ, พล.ต.ต.เอกชัย บุญวิสุทธิ์ ผบก.น.7, พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผบก.สอท.1, พล.ต.ต.ทิวธวัช นครศรี ผบก.สส.ภ.9 เป็นต้น

     เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาก็ได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2565 ประกาศให้นายทหารสัญญาบัตรและนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร แต่งตั้งเป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษและนายตำรวจราชองครักษ์พิเศษ จำนวน 59 นาย ระบุ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายทหารสัญญาบัตร และนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร แต่งตั้งเป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษ และนายตำรวจราชองครักษ์พิเศษ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติราชองครักษ์ พุทธศักราช 2480 มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัตินายตำรวจราชสำนัก พ.ศ.2495 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายทหารสัญญาบัตรและนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร แต่งตั้งเป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษ และนายตำรวจราชองครักษ์พิเศษ จำนวน 59 ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.2565 โดยในส่วนของนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร มี 9 นาย ประกอบด้วย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข, พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย, พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง, พล.ต.อ.มนตรี ยิ้มแย้ม, พล.ต.อ.ชยพล ฉัตรชัยเดช,พล.ต.ท.จรัล จิตเจือจุน, พล.ต.ท.กฤษณะ แจ่มสว่าง, พล.ต.ต.จุมพลพุ่มพวง และ พล.ต.ต.วันชัย อยู่แสง

     หลังเกษียณอายุราชการ “อดีตตำรวจ” หลายคนก็เริ่มมองหากิจกรรม มองหางานที่จะทำกันแล้ว อย่าง ผบ.ปั๊ด  เคยไปพูดกับนักข่าวสายทหารเมื่อวันประชุมเหล่าทัพ ในทำนองเกษียณอายุราชการแล้วไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง แต่จะไปใช้เวลาเลี้ยงลูก ส่วน บิ๊กต้อย พล.ต.อ.วิระชัย เคยให้สัมภาษณ์สื่อเอาไว้ในทำนองจะทำงานในบทบาทของประชาชน เน้นทำนุบำรุงศาสนา อุปถัมภ์วัดและพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  สนับสนุนประชาชนที่ปฏิบัติธรรม รวมทั้งยืนยันเสียงหนักแน่น สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะถูกสำรวจราชการ หรือถูกเด้งไปอยู่ตำแหน่งต่างๆ ก็ไม่ได้โกรธ ไม่ได้อาฆาตใคร และเชื่อว่าในที่สุดความจริงก็จะปรากฏ...สมแล้วที่เราได้เห็นภาพเห็นชีวิตของ บิ๊กต้อย เข้าวัดทำบุญตักบาตร เกือบทุกวัน

     เป็นอีกหนึ่งความสูญเสียของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และครอบครัว บากา ต่อการเสียชีวิตของ ด.ต.บาห์รี บากา ผบ.หมู่ (ป.) สภ.ไม้แก่น จากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดหน้าโรงพยาบาลไม้แก่น อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี เมื่อค่ำวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ไม้แก่น ที่กำลังออกตรวจ สืบสวนหาข่าวในพื้นที่รับผิดชอบเสียชีวิต 1 นาย รวมทั้งมีตำรวจได้รับบาดเจ็บอีก 3 นาย โดย พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิจารณามอบเงินช่วยเหลือสวัสดิการและปูนบำเหน็จแก่ข้าราชการตำรวจทั้ง 4 นาย กรณีของ ด.ต.บาห์รี ที่เสียชีวิต ได้รับเงินสวัสดิการครอบคลุมค่าจัดการศพ รวมกว่า 3,491,580 บาท ปูนบำเหน็จเลื่อนเงินเดือน 7 ขั้น เลื่อนยศเป็น พล.ต.ต. ขณะที่ตำรวจอีก 3 นายที่ได้รับบาดเจ็บ ได้รับเงินสวัสดิการช่วยเหลือรายละ 30,000 บาท พร้อมดูแลรักษาพยาบาลจนหายดี

เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายในชีวิตรับราชการทหาร-ตำรวจ ที่จะครบอายุเกษียณราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ บรรยากาศในหน่วยงานมีงานเลี้ยงส่งอำลาอาลัยกันตามวาระ  โดยกองทัพบกปีนี้จะจัดงานเทิดเกียรติขึ้นภายในกองบัญชาการกองทัพบก เพื่อย้อนรำลึกบรรยากาศเก่าๆ ในวันที่เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ที่เคยตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ต้นกำเนิดของรั้วแดงกำแพงเหลือง ภายในพื้นที่ช่วงนี้เริ่มมีการเตรียมงานกันคึกคัก โดยเฉพาะการปรับภูมิทัศน์ด้านใน โดยจัดสร้าง กำแพงประวัติศาสตร์ (Memorial Wall)  บริเวณพื้นที่ลานกว้างระหว่างตึกกองบัญชาการฯ กับพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ตามนโยบายของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ต้องการจารึกรายนามกำลังพลกองทัพบก ที่สละชีพเพื่อชาติในสมรภูมิและการปฏิบัติภารกิจปกป้องรักษาอธิปไตยไว้

ทางด้านกองทัพอากาศ พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ได้ฤกษ์เชิญรูปหล่อ อดีต ผบ.ทอ.ที่เสียชีวิตแล้ว 2 ท่าน คือ พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ และ พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ ขึ้นประดิษฐาน ณ อนุสาวรีย์อดีต ผบ.ทอ. ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ โดยมีทายาทอดีต ผบ.ทอ. และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ร่วมในพิธี  สำหรับอนุสาวรีย์แห่งนี้ จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2533 เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของอดีต ผบ.ทอ.ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว แต่เดิมได้ประดิษฐานรูปหล่อจำลองครึ่งตัวของอดีต ผบ.ทอ. 10 ท่าน ได้แก่ พล.อ.ท.มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฏ์, พล.อ.ต.หลวงอธึกเทวเดช (บุญเจียม โกมลมิศร์), พล.อ.ท.หลวงเทวฤทธิ์พันลึก (กาพย์ ทัตตานนท์),  จอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี, จอมพลอากาศเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร, พล.อ.อ.บุญชู จันทรุเบกษา, พล.อ.อ.ทะแกล้ว ศุษิลวรณ์,  พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ, พล.อ.อ.พะเนียง กานตรัตน์ และ พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี ๐

เปิดทำการจันทร์นี้ ทอ.มีพิธีปิดโครงการปรับปรุงขีดความสามารถเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 (C-130 H) ที่โรงซ่อมอากาศยาน บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) ดอนเมือง “บิ๊กป้อง”พล.อ.อ.นภาเดช ส่ง บิ๊กตุ๊ด-พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ว่าที่ ผบ.ทอ. ชิมลางออกงานก่อนเข้ารับหน้าที่เป็นประธานปิดโครงการ ที่ดำเนินการแล้วเสร็จไป 4 เครื่อง ส่วนงบปี 2566 ดำเนินการอีก 4 เครื่อง วงเงินประมาณ 100 ล้านบาท/เครื่อง ซึ่งการปรับปรุงขีดความสามารถครั้งนี้ เป็นการปรับโครงสร้างสำคัญ การปรับปรุงระบบ avionics ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเดินอากาศ ทั้งนี้ เพื่อยืดอายุใช้งานเครื่องบินลำเลียงนามเรียกขาน เฮอร์คิวลิส ให้ใช้งานได้ต่อไป เพราะ ทอ.คงขยับตัวลำบากในการเจียดจ่ายงบมาซื้อเครื่องใหม่ทดแทนในระยะใกล้นี้ โดยเฉพาะรุ่น J ที่ราคาสูงลิ่ว ส่วนจะมองไปเครื่องรุ่นอื่นที่ขนาดกลางเพื่อมาช่วยแบ่งเบาภารกิจ c-130 หรือไม่ คงต้องรอไปอีก 3-4 ปี

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ พล.ร.อ.วิเชษฐ การุณยวนิช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ที่เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพไปเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ครูวิเชษฐ หนึ่งในกรรมการมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 2 เม.ย. พ.ศ.2476 จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิตจากโรงเรียนนายเรือ เคยรับราชการเป็นทหารประจำกองทัพเรือไทย เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดคือ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในระหว่างปี พ.ศ.2534 ถึงปี พ.ศ.2536 ต่อมาในการก่อการรัฐประหารในปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) พล.ร.อ.วิเชษฐได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และในปี พ.ศ.2535 เป็นสมาชิกวุฒิสภา  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจแจ้ง 5 จุดจอดรถ เล่นน้ำสงกรานต์พระประแดง 21 เม.ย.

จุดจอดรถ  สงกรานต์พระประแดง วันอาทิตย์ ที่ 21 เม.ย.67 ระบุว่า  มีจุดจอดรถยนต์ รองรับประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมกิจกรรมสงกรานต์พระประแดง

จะมาจากแหล่งไหน....ก็ไม่สบายใจทั้งนั้น

ก่อนการเลือกตั้ง เมื่อมีการหยั่งเสียงคะแนนนิยมว่าก้าวไกลมีคะแนนชนะเพื่อไทย ความร้อนรนกลัวแพ้ บนเวทีปราศรัยของพรรคเพื่อไทยก็มีการประกาศทันทีว่าจะแจกเงินดิจิทัล

ความแตกต่างระหว่าง'มนุษย์'กับ'สัตว์เดียรัจฉาน'

คำพูด บทสนทนา ในบทละครเรื่องพระเจ้า Richard ที่ 3 ของคุณปู่ William Shakespeare ที่กลายมาเป็นคำคม เป็นวาทะ อันถูกนำไปเอ่ยอ้างคราวแล้ว คราวเล่า คือคำพูดประโยคที่ว่า

ประวัติศาสตร์สีกากี

ต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าของ "กรมปทุมวัน" ที่มีการเซ็นคำสั่งให้ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับ "รอง ผบ.ตร." ออกจากราชการไว้ก่อน ผลพวงจากการต้องคดีฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์