ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ 2022

     ประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Beiden) เกริ่นนำว่า ณ ขณะนี้โลกกำลังแข่งขันจัดระเบียบโลก จะต้องรักษาให้สหรัฐเป็นผู้นำต่อไป ให้ชาติพันธมิตรและหุ้นส่วนเดินตามจังหวะก้าวไปพร้อมๆ กับสหรัฐ จีนเป็นความท้าทายที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุดและมีผลต่อระบบโลก พวกเผด็จการ (Autocrats) กำลังบ่อนทำลายประชาธิปไตย นำเสนอรูปแบบการปกครองที่กดขี่คนในชาติและนอกประเทศ สหรัฐเป็นประเทศที่แข็งแกร่งเพราะภายในเข้มแข็ง มีกองทัพไร้เทียมทาน รัฐบาลรักษาสิ่งเหล่านี้ได้เพราะเรายึดระบอบประชาธิปไตย

https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2022/10/Biden-Harris-Administrations-National-Security-Strategy-10.2022.pdf

และจะทำหน้าที่รักษาประชาธิปไตยทั่วทุกมุมโลก บทความนำเสนอสาระสำคัญยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฉบับล่าสุด “National Security Strategy October 2022” ดังนี้

การแข่งขันระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ:

     ห้วงทศวรรษนี้ชาติมหาอำนาจกำลังแข่งขันกัน มีผลต่อระเบียบการเมืองโลกในอนาคต มีทั้งโอกาสและภัยคุกคาม อีกทั้งมีภัยคุกคามโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลักพื้นฐานที่รัฐบาลสหรัฐยึดมั่นคือ การตัดสินใจด้วยตัวเอง บูรณภาพแห่งดินแดนและการเมืองที่เป็นอิสระต่อกัน เศรษฐกิจโลกที่เปิดโอกาสแก่ทุกคน

     ในขณะเดียวกันทุกคนในโลกต่างเผชิญความท้าทายของตนเองและความท้าทายข้ามพรมแดน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด ภัยก่อการร้าย ความมั่นคงทางอาหาร เงินเฟ้อ ทุกเรื่องล้วนสำคัญระดับประเทศกับระดับโลก เป็นเรื่องที่นานาชาติต้องร่วมมือกันพร้อมกับตระหนักว่าทุกประเทศแข่งขันกันด้วย

     วัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติคือปกป้องคุ้มครองคนอเมริกันให้มั่งคั่งร่ำรวยกว่าเดิม ปกป้องประชาธิปไตยอันเป็นรากฐานวิถีชีวิตคนอเมริกัน ประเทศอื่นๆ ปกป้องผลประโยชน์ของเขาเช่นกัน และบางครั้งต้องแข่งกับเรา

     อเมริกาต้องมีบทบาทในโลกมากกว่านี้ ตอนนี้โลกถูกแบ่งแยกไร้เสถียรภาพ ชาติมหาอำนาจเสี่ยงขัดแย้งมากขึ้น ประชาธิปไตยกับเผด็จการกำลังแข่งขันกันว่าระบอบใดดีกว่า การแข่งขันทางเทคโนโลยีที่จะมีผลต่อระบบความมั่นคงและเศรษฐกิจ

     ทุกวันนี้อเมริกายังเป็นผู้นำโลก (world’s leading power) อยู่เหนือชาติอื่นๆ ในด้านต่างๆ เพราะสหรัฐมีรากฐานค่านิยมที่เหนือกว่านั่นเอง กองทัพอเมริกันยังไร้ผู้เทียมทาน การร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนยิ่งเพิ่มขยายพลังอำนาจ

     อเมริกาเป็นชาติประชาธิปไตยอันหลากหลาย (diverse democracy) เป็นเหตุว่าการเมืองไม่ราบรื่น มีฝ่ายค้านตลอดเวลา สหรัฐจะยังคงเดินหน้าบนความแตกต่างหลากหลายนี้ ด้วยการเมืองที่โปร่งใสเป็นประชาธิปไตย มั่นใจว่าคือหนทางที่ดีที่สุด ทุกชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าและเป็นไท คุณภาพประชาธิปไตยของประเทศจะสะท้อนออกมาสู่ความเข้มแข็งในด้านต่างๆ ตลอดจนการเป็นผู้นำโลก

     สหรัฐสนับสนุนสิทธิมนุษยชนสากล ชาติที่แสวงหาเสรีภาพและศักดิ์ศรี (dignity) ทำให้ประชาธิปไตยทุกหนแห่งทั่วโลกเข้มแข็ง มีแต่รัฐบาลประชาธิปไตยเท่านั้นที่ปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ดีที่สุด ช่วยให้ประเทศหุ้นส่วนมั่งคั่ง สังคมยืดหยุ่นปรับตัวได้ดี สร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สนับสนุนโลกแห่งสันติ

     พวกรัฐบาลเผด็จการคือความท้าทายที่สำคัญที่สุด พวกเขาพร้อมทำสงคราม บ่อนทำลายการเมืองประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ อย่างแข็งขัน ส่งเสริมการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่เสรี รัสเซียเป็นภัยคุกคามในตอนนี้ ส่วนจีนเป็นคู่แข่งสร้างระเบียบโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ การทูต การทหารและเทคโนโลยี ทั้งคู่ได้ประโยชน์จากระเบียบโลกเสรีแต่ตอนนี้กลับพยายามสร้างระบบเผด็จการ สหรัฐตระหนักว่าหลายประเทศไม่สบายใจต่อการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ จึงพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ไม่คิดทำสงครามเย็นใหม่

     นับจากนี้จะไม่แบ่งนโยบายต่างประเทศกับในประเทศอีกต่อไป หากจะให้สหรัฐมั่งคั่งต้องกำกับระเบียบระหว่างประเทศให้สหรัฐได้ประโยชน์สูงสุด ให้การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศสอดรับกับการลงทุนของรัฐบาล สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำยุคต่างๆ

     พันธมิตรกับหุ้นส่วนทั่วโลกเป็นสินทรัพย์ทางยุทธศาสตร์ ต้องทำให้นาโต พันธมิตรในอินโด-แปซิฟิกและหุ้นส่วนความมั่นคงทั้งหลายเข้มแข็งเป็นเอกภาพ เหตุที่ประเทศเข้มแข็งเพราะเข้าไปพัวพันกับภูมิภาคอื่นๆ หากศัตรูครอบงำภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเมื่อนั้นความเข้มแข็งของสหรัฐย่อมลดลง

     สหรัฐได้ประโยชน์มหาศาลจากโลกาภิวัตน์แต่จะต้องปรับให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไป เช่น การก้าวขึ้นมาของจีน ข้อตกลงการค้าเสรีดั้งเดิมใช้ไม่ได้อีกแล้ว นับจากนี้จะเป็นการค้าที่พัวพันลึกซึ้งกับหุ้นส่วน กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) เป็นตัวอย่าง กำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ให้บรรดาบริษัทเอกชนทั่วโลกเสียภาษีอย่างยุติธรรม
โครงการ Partnership for Global Investment and Infrastructure (PGII) ที่มุ่งลงทุนในเหล่าประเทศกำลังพัฒนา รวมความแล้วสหรัฐจะร่วมมือกับชาติประชาธิปไตยลึกซึ้งขึ้น

เสริมสร้างความเข้มแข็งทุกมิติ:

     ความเข้มแข็งและสามารถยืดหยุ่นปรับตัว (resilience) เป็นกุญแจความสำเร็จของอเมริกาในอนาคต และความสำเร็จของอเมริกาขึ้นกับการเข้าพัวพันโลก เป็นเหตุผลที่ใช้ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่และนวัตกรรม ลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ ปกป้องคุ้มครองสาธารณูปโภคสำคัญโดยร่วมกับภาคเอกชน ลงทุนโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ เช่น ระบบคมนาคม อินเทอร์เน็ต น้ำสะอาดและพลังงาน ตั้งงบประมาณสนับสนุนภาคเอกชนถึง 280,000 ล้านดอลลาร์สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ advanced computing การสื่อสารในอนาคต พลังงานสะอาดและไบโอเทคโนโลยี

     รัฐบาลจะส่งเสริมการผลิตพลังงานในประเทศ เป็นระบบพลังงานสะอาด ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ราว 40% ภายในปี 2030 เป็นนโยบายที่เชื่อมต่อระหว่างภาคอุตสาหกรรม การเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงไปพร้อมๆ กัน

     การลงทุนในคนสำคัญที่สุด ประกอบด้วยการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะ การดูแลสุขภาพในราคาเหมาะสม ให้ได้แรงงานที่มีการศึกษา มีสุขภาพแข็งแรงและประสิทธิผลดีกว่าเดิม นอกจากนี้สหรัฐจะเป็นแหล่งดึงดูดคนเก่งทั่วโลก

     ประชาธิปไตยเป็นศูนย์กลางของพวกเรา แม้ไม่สมบูรณ์ตามอุดมคติแต่จะไม่เดินออกจากเส้นทางนี้ ยิ่งเผชิญวิกฤตการณ์ยิ่งต้องเข้าหาประชาธิปไตย พหุนิยม การยอมรับความแตกต่าง (inclusion) ความหลากหลายเป็นแหล่งแห่งความเข้มแข็งในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยึดมั่นเสรีภาพการพูด เสรีภาพสื่อ การชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพอื่นๆ

     สหรัฐจะร่วมมือกับทุกประเทศที่เป็นชาติประชาธิปไตย มีผลประโยชน์และยึดถือคุณค่าเดียวกัน และจะร่วมมือกับประเทศที่สนับสนุนระเบียบโลกที่ตั้งบนกฎเกณฑ์ จะกดดันให้ทุกชาติเคารพและพัฒนาประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ให้ประชาธิปไตยของพวกเขาเข้มแข็งขึ้น เสริมสร้างกองทัพ นาโตเป็นตัวอย่างในขณะนี้ที่ต้านการรุกรานของรัสเซีย AUKUS ที่ส่งเสริมความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก สหรัฐต้องการให้พันธมิตรอินโด-แปซิฟิกร่วมมือกับพันธมิตรยุโรป

     ทั้งนี้สหรัฐไม่เพียงทำงานกับรัฐบาลประเทศต่างๆ เท่านั้น แต่จะติดต่อโดยตรงกับภาคประชาสังคม สื่อ ภาคเอกชนของทุกประเทศ ร่วมกันต่อต้านการบิดเบือนข้อมูล การละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อต้านคอร์รัปชัน สนับสนุนทุกคนทั่วโลกที่ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี ความเท่าเทียมและยุติธรรม

     กองทัพสหรัฐจะปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติโดยไม่รีรอ อย่างไรก็ตามการใช้กำลังรบเป็นวิธีสุดท้าย กองทัพจะปกป้องคนอเมริกัน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา จีนเป็นความท้าทายสำคัญ ภายในปี 2030 สหรัฐจะต้องป้องปรามมหาอำนาจนิวเคลียร์พร้อมกัน 2 ประเทศ จำต้องปรับปรุง nuclear Triad ให้พร้อมรับมือและจะทำงานร่วมกับพันธมิตร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปลดปล่อยปาเลสไตน์เชิดชูอิหร่าน

การปลดปล่อยปาเลสไตน์เป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับศาสนา เชิดชูอิหร่าน เป็นเหตุผลว่าทำไมอิหร่านจึงแสดงบทบาทเข้มแข็งโดดเด่นไม่หยุด

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา