
แอฟริกาเป็นหนึ่งในทวีปที่มีแหล่งพลังงานฟอสซิลสำรองในปริมาณมหาศาล พวกเขาต้องการนำไปใช้แก้ปัญหาไฟฟ้าติดๆ ดับๆ ไว้วางใจไม่ค่อยได้ในหลายพื้นที่ แต่สถานการณ์โลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้แอฟริกาถูกกดดันให้ตัดหรือลดปริมาณการเผาไหม้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติลงไปจากเดิม
“ตอนที่พวกเขาบอกว่า ‘ตัด’ กับแอฟริกา พวกเขาต้องการ ‘ตัด’ อะไร ไม่มีอะไรให้ตัดที่นี่ ชาวแอฟริกันคือผู้รับผลกระทบจากปัญหาที่ก่อโดยผู้อื่น ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากควรต้องรับผิดชอบในการตัดหรือลด คำนึงถึงการกระทำในอดีตกันบ้างสิ” คือคำพูดของ “ติตัส เกวเมนเด” ผู้อำนวยการด้านสภาพภูมิอากาศของ Open Society Foundation ประจำซิบบับเว
นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในอังกฤษเมื่อประมาณ 270 ปีก่อน การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลกก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ยุโรปรับช่วงปล่อยก๊าซต่ออย่างแข็งขัน จากนั้นตามด้วยสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลจาก Our World in Data แสดงให้เห็นว่าจนถึงปัจจุบันสหรัฐปล่อยคาร์บอนสะสม 1 ใน 4 หรือประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก โดยสหรัฐมีประชากรราว 330 ล้านคน คิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก จีนปล่อยคาร์บอนสะสมน้อยกว่าสหรัฐครึ่งหนึ่ง แต่มีประชากรมากกว่าสหรัฐเกิน 4 เท่า ขณะที่แอฟริกาทั้งทวีปปล่อยคาร์บอนน้อยมากเมื่อเทียบต่อหัวประชากร ทั้งการปล่อยก๊าซในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและการปล่อยก๊าซสะสม โดยแอฟริกาเริ่มปล่อยคาร์บอนเปอร์เซ็นต์แรกออกมาเมื่อประมาณ 100 ปีก่อนนี้เอง
ตารางจาก Our World in Data เปรียบเทียบการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละภูมิภาคของโลกตามช่วงปีต่างๆ
แอฟริกาใต้ปล่อยคาร์บอนสะสม 3 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก โดยมีประชากร 1,383 ล้านคน หรือประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ของโลก เป็นสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับสหรัฐ ยุโรป หรือแม้แต่จีน ทั้งในเกณฑ์การนับต่อหัวประชากรและเมื่อเทียบกันภูมิภาคต่อภูมิภาค
ข้อเสนอและมติต่างๆ ในการประชุมว่าด้วยเรื่องโลกร้อนแต่ละเวทีที่ออกมาในแนวทางการ “ตัด” รวมถึง “เลิก” การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเสมอภาคทุกประเทศทั่วโลก ทำให้แอฟริกาไม่ค่อยสบอารมณ์มากนัก ประมาณว่าฉันเพิ่งขุดขึ้นมาใช้เมื่อไม่กี่วันก่อน พวกนายเผามาเป็นร้อยปี แล้วบอกให้เลิกพร้อมๆ กัน มันก็ยุติธรรมเฉพาะแต่กับพวกนายน่ะสิ
การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดอย่างทันทีถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการเอาชนะปัญหาโลกร้อน แต่สำหรับชาติรายได้ต่ำ โดยเฉพาะหลายประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปริมาณมากและยังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะออกอาการเสียดายและน้อยอกน้อยใจในเวลาเดียวกัน
น้ำมันดิบสำรองในทวีปแอฟริกา จำนวน 11 ประเทศ โดยเฉพาะลิเบียและไนจีเรีย สำรวจพบแล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาร์เรล นอกจากนี้หลายประเทศยังมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ แค่ไนจีเรีย แอลจีเรีย และโมซัมบิกรวมกันก็มีถึง 6 เปอร์เซ็นต์ของโลก
ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ข่าวใหญ่หรือเซอร์ไพรส์ของการประชุมคือ การจับมือกันของจีนและสหรัฐในการแก้ปัญหาโลกร้อน จนไม่แน่ใจว่าเสียงเล็กๆ จากแอฟริกาที่เปล่งออกมาในการประชุมจะมีผู้คนได้ยินมากน้อยเพียงใด
เป็นครั้งแรกที่ผู้นำชาติแอฟริกาและนักเคลื่อนไหวจากภูมิภาคนี้ร่วมกันคัดค้านการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วกะทันหันในประเทศของพวกเขา โดยเรียกร้องว่าการเปลี่ยนผ่านควรค่อยเป็นค่อยไป เพราะพวกเขาจะยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่แม้จะมีส่วนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ไม่น้อย แต่ก็ยังสะอาดกว่าถ่านหินและน้ำมัน
แน่นอนว่าการเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไม่ค่อยถูกที่ถูกเวลา เพราะปีนี้เป็นปีที่มีรายงานผลการศึกษาวิจัยออกมาหลายชิ้นพร้อมๆ กัน ชี้ชัดว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลคือตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างผิดปกติในรอบไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
งานศึกษาวิจัยทั้งหลายแสดงให้เห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด หากยังต้องการปกป้องโลกไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมตามที่ได้วางเป้าหมายไว้ในความตกลงปารีส ค.ศ.2015 ซึ่งหากอุณหภูมิสูงข้ามเส้นแบ่ง 1.5 องศานี้ไป โลกจะต้องประสบกับนานาภัยพิบัติ ทั้งคลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง การขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ สภาวะอากาศสุดโต่ง ระบบนิเวศพังพินาศ
การไปให้ถึงเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะ บรรดานักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่าชาติแอฟริกาควรจะได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากประเทศร่ำรวย พร้อมๆ ไปกับการหาหนทางลดการปล่อยก๊าซ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วควรถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้กับแอฟริกา
การกดดันให้แอฟริกาเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเร็วเกินไปเปรียบได้กับการที่ประเทศร่ำรวยใช้บันไดปีนกำแพง และพอชาติกำลังพัฒนาจะขอปีนกำแพงบ้าง ประเทศร่ำรวยก็ยกบันไดหนี
ไม่กี่ปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งการพัฒนาทั้งหลาย และบรรดาชาติร่ำรวยต่างทยอยถอนการสนับสนุนโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน ออกจากทวีปแอฟริกา เมื่อปี ค.ศ.2017 ธนาคารโลกตัดงบสนับสนุนในหลายโครงการ และหันมาลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
ในการประชุมที่กลาสโกว์ ชาติร่ำรวยอย่างสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเดนมาร์ก ได้ประกาศยุติการใช้จ่ายเงินในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลในต่างแดน ตั้งแต่ปี ค.ศ.2022 และล่าสุด “บีพี” ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากสหราชอาณาจักรก็กำลังลดการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแอฟริกาลงเรื่อยๆ
เยมิ โอซินบาโจ รองประธานาธิบดีไนจีเรีย เขียนบทความลงในนิตยสาร Foreign Affair ก่อนการประชุม COP26 ว่า “...ความพยายามในการจำกัดการลงทุนในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลในแอฟริกายิ่งจะส่งผลต่อปากท้องของเรา…”
และ “...ไนจีเรียพึ่งพาก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตไฟฟ้า และพึ่งพาน้ำมันดิบสำหรับรายได้เข้าสู่ประเทศ การต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนไม่ควรดำเนินการแค่หยุดโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลเสียทั้งหมด แต่ควรสนับสนุนเงินทุนให้พวกเราด้วย...”
แม้แอฟริกาจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นสัดส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับทั้งโลก แต่กลับได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างหนักหน่วงกว่าที่อื่น ทวีปนี้กำลังประสบกับอุณหภูมิของอากาศที่ร้อนขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลก รวมถึงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของระดับน้ำทะเล
บางพื้นที่ในแอฟริกาตะวันออกไม่มีฝนตกมาเป็นเวลาหลายปี ภูมิภาคซาเฮลทางแอฟริกาตะวันตกเกิดปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรกับกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ เพราะผลผลิตพืชผักลดลงอย่างมาก หลายครอบครัวในมาดากัสการ์ต้องนำต้นกระบองเพชรมาต้มกิน กลายเป็นที่แรกของโลกที่องค์การสหประชาชาติเรียกว่าเป็นความอดอยากที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
ปัจจุบันแอฟริกามีประชากรประมาณ 1.3 พันล้านคน ครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งเป็นจำนวนประชากรเทียบเท่ากับทุกประเทศในสหภาพยุโรปรวมกันเลยทีเดียว ปัญหาเกิดจากการขาดความสามารถในการผลิตพลังงาน ขาดความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค และการคอร์รัปชันที่ยังแพร่หลาย
อย่างไรก็ตาม “สหภาพแอฟริกัน” มีแผนที่จะพึ่งพาการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักภายในปี ค.ศ.2050 ทว่าไม่กี่ประเทศในกลุ่มที่มีศักยภาพเพียงพอ อาทิ แอฟริกาใต้ อียิปต์ เอธิโอเปีย และโมร็อกโก
เงินและเวลา คือสิ่งที่ผู้นำประเทศในทวีปแอฟริกาบอกอย่างพร้อมเพรียงว่าพวกเขาต้องการมากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดจะสูงแล้ว แอฟริกายังมีค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่สูงอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ อาหาร และการศึกษา
ในการประชุม COP26 สหราชอาณาจักรและชาติร่ำรวยอีกจำนวนหนึ่งได้ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเงินทุนแก่แอฟริกาหลายพันล้านเหรียญ เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด
แต่คำมั่นดังกล่าวดูจะไม่ทำให้แอฟริกาตื่นเต้นเท่าใดนัก เพราะประเทศเหล่านี้เคยให้สัญญามาแล้วหลายครั้ง แต่ก็มักไม่ปฏิบัติตาม ยกตัวอย่างในปี ค.ศ.2009 พวกเขาบอกจะให้เงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาปีละ 1 แสนล้านเหรียญฯ แต่เงินเหล่านั้นเดินทางมาอย่างกะปริดกะปรอย ห่างไกลจากที่คุยกันไว้
หน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติประเมินว่า แค่ค่าใช้จ่ายในการปรับตัวและรับมือกับภัยที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ อาทิ น้ำท่วมและภัยแล้งของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็ตกปีละ 70,000 ล้านเหรียญฯ เข้าไปแล้ว และจะเพิ่มขึ้นไปอีกราว 140,000-300,000 ล้านเหรียญฯ ในปี ค.ศ.2030 และประมาณ 205,000-500,000 ล้านเหรียญฯ ในปี ค.ศ.2050
อีกปัญหาที่จะเกิดกับแอฟริกา โดยเฉพาะภูมิภาค “ซับ-ซาฮารา” ก็คือการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว โดยประชากรในเขตเมืองเพิ่มจำนวนในอัตราส่วนที่มากที่สุดในโลก และคาดว่าภายในปี ค.ศ.2050 ไนจีเรียจะมีประชากรแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นไปอยู่อันดับ 3 ของโลก แน่นอนว่าประชากรใหม่เหล่านี้จำเป็นต้องใช้พลังงานอีกมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาดหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ตาม
สรุปใจความสำคัญของสารจากผู้นำชาติแอฟริกาที่ส่งไปยังการประชุมในกลาสโกว์ก็คือ ทวีปนี้ควรมีสิทธิ์ในการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล อันเป็นส่วนหนึ่งของระยะการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต โดยขอให้บรรดาผู้นำโลกนึกถึงสภาพความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ และสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ชาติร่ำรวยช่วยยื่นบันไดให้แอฟริกาปีนขึ้นไปก่อนจะได้ไหม.
ที่มา
- ourworldindata.org/contributed-most-global-co2
- nytimes.com/2021/11/09/climate/africa-fossil-fuel-gas-cop26.html
- foreignaffairs.com/articles/africa/2021-08-31/divestment-delusion
- unep.org/news-and-stories/press-release/step-climate-change-adaptation-or-face-serious-human-and-economic
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จะกี่กลุ่มค้าน...รัฐบาลไม่สนใจ
เวลานี้ ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาล กระเหี้ยนกระหือรือที่จะผ่านพระราชบัญญัติ Entertainment Complex ที่จะต้องมี Casino ที่ถูกกฎหมายให้ได้
คุณประโยชน์ของ ‘ศีลธรรม’
แม้แต่บรรดาผู้ที่ยึดมั่นใน อุเบกขาธรรม ทั้งหลาย...ไม่ว่าจะหนักไปทาง เฉยมอง หรือ เฉยเมิน ก็ดูจะอดรนทนไม่ได้ไปด้วยกันทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้...ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางศาสนา
คาดผลตรีเทพย้ายราศีต่อคนลัคนาสถิตพิจิก
เดือนพฤษภาคมปี 2568 นี้ ดาวสำคัญทางโหรที่เรียกกันว่า ตรีเทพ อันได้แก่ พระราหูจร (8) เจ้าของความลุ่มหลงมัวเมา-ความมืด-อวิชชา หรือตัวแสบ-พระพฤหัสบดี
ตั้งบ่อนเสรีรอไม่ได้ คนไทยเดือดร้อนรอต่อไป
ในขณะที่ประชาชนกำลังโศกเศร้าสลดหดหู่กับแผ่นดินไหว ที่มีทั้งคนเจ็บ คนตาย คนหาย ตึกถล่ม ตึกร้าว ผู้คนต้องอพยพออกจากบ้าน ตึกที่ทำงานยังต้องรอการตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยในการให้ผู้คนเข้าไปทำงานหรือไม่
‘แผ่นดินไหว’กับการเปลี่ยนแปลงทางอารยธรรม!!!
เผอิญว่าตอน แผ่นดินไหว ดันหลับอยู่พอดิบพอดี...เลยไม่ได้รับรู้ รับทราบ ถึงอาการโคลงๆ เคลงๆ หรืออาการใดๆ เอาเลยแม้แต่นิด แต่พอเห็นภาพ เห็นข่าว เห็นคลิปวิดีโอ
ประชาชนได้ประโยชน์อันใด
การอภิปรายไม่ไว้วางใจจบลงไปแล้ว การลงคะแนนไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจก็จบไปแล้ว หลายท่านบอกว่าผิดหวังกับการอภิปรายครั้งนี้