เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๑๒): การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการยุบสภาเมื่อใกล้ครบวาระของอังกฤษ

 

ในปี ค.ศ. 2011 อังกฤษได้มีการออกพระราชบัญญัติที่เรียกว่า the Fixed-Term Parliament ที่กำหนดให้การยุบสภาก่อนครบวาระจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนสองในสาม ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณีในการยุบสภาครั้งใหญ่ของอังกฤษและของโลกเลยก็ว่าได้ ผู้ที่มีบทบาทในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเงื่อนไขในการยุบสภาผู้แทนราษฎรคือ โทนี เบน (Tony Benn) นักการเมืองปีกซ้ายจัดของพรรคแรงงาน โดยโทนี เบนแสดงถึงความกังวลถึงแบบแผนการยุบสภาเดิมที่ให้ลำพังนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯขอให้พระมหากษัตริย์ยุบสภา เพราะถ้าพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ไปในทางใดก็ตามที่เป็นการปฏิเสธหรือยืนยันคำแนะนำของรัฐบาล ที่ไม่ได้มาจากการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร การใช้พระราชอำนาจดังกล่าวนี้อาจจะทำให้เกิดการต่อต้านจากพรรคที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น และนำพาให้อนาคตของตัวสถาบันพระมหากษัตริย์เองไปสู่ใจกลางของปัญหาข้อถกเถียงทางการเมือง  

ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงกติการในการยุบสภา โดยการเสนอให้มีกฎหมายกำหนด “วาระที่ตายตัวของสภาฯ” มีเหตุผลดังต่อไปนี้คือ   ๑. เพื่อความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง  (ดูรายละเอียดในตอนที่แล้ว) และ

๒. เพื่อลดทอนอำนาจในการยุบสภาของนายกรัฐมนตรี

ด้วยกติกาแบบเดิม ทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นเหนือเพื่อนร่วมงานของเขา ทำให้เขาสามารถควบคุมรัฐมนตรีและบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรุ่นใหม่ในพรรคของเขาโดยถ้าคนเหล่านี้ตั้งท่าจะแตกแถว นายกรัฐมนตรีจะตอบโต้โดยใช้การยุบสภาฯเป็นมาตรการในการบีบบังคับควบคุมคนเหล่านั้น อย่างกรณีของนาย John Major สามารถควบคุมกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนุรักษ์นิยมที่จะแตกแถวในกรณีนโยบายเกี่ยวกับ the Maastricht ด้วยการขู่ว่าจะยุบสภาฯก่อนครบวาระ แต่ถ้ามีกฎหมาย “วาระที่ตายตัว” นายกรัฐมนตรีจะไม่สามารถใช้มาตรการดังกล่าวนี้ได้อีกต่อไป

๓. เพื่อการจัดการการเลือกตั้งที่ดีขึ้น

คณะกรรมาธิการการเลือกตั้งได้ให้ความสนใจในการมีสภาผู้แทนราษฎรที่มีวาระที่แน่นอนตายตัว (fixed term parliaments) มาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว  ดังนั้น หากมีแบบแผนกำหนดวาระของสภาผู้แทนราษฎรที่ตายตัวจะช่วยให้ผู้จัดการการเลือกสามารถตั้งเตรียมตัวได้ดีขึ้น เพราะรู้กำหนดการเลือกตั้งที่แน่นอนล่วงหน้าแล้ว

๔. เพื่อให้รัฐบาลสามารถวางแผนการบริหารงานได้ดีขึ้น

การที่สภาผู้แทนราษฎรมีวาระที่แน่นอนจะช่วยสร้างความคาดหวังที่สภาฯจะสามารถอยู่ได้ครบวาระ (ที่บ้านเราเรียกภาษาปากว่า ครบเทอม)  ซึ่งการอยู่ครบวาระได้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือเป็นรัฐบาลผสม หรือเมื่อเสียงข้างมากของรัฐบาลมีจำนวนน้อยลง  สภาฯที่มีวาระแน่นอนตายตัวจะช่วยให้รัฐบาลมีเวลาที่เหมาะสมในการออกกฎหมายและพัฒนาโครงการนโยบายต่างๆ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาอื่นๆที่จำเป็นต้องอาศัยเวลาในการบรรลุผล

๕. เพื่อเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

จากการลดการใช้พระราชวินิจฉัยหรือกำหนดการใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ จะช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่มีการถวายคำแนะนำต่อองค์พระมหากษัตริย์เพื่อให้มีการยุบสภาฯก่อนครบวาระ

ขณะเดียวกัน ก็มีข้อโต้แย้งต่อการกำหนดให้สภาฯมีวาระที่ตายตัวด้วย นั่นคือ

๑. การขาดความยืดหยุ่นและลดทอนความรับผิดชอบ (accountability)

การที่สภาฯมีวาระที่กำหนดไว้ตายตัวทำให้การเลือกตั้งทั่วไปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในยามที่มันอาจจะมีความเหมาะสมที่จะยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ตัวอย่างได้แก่ ในกรณีที่นาย Antony Eden ตัดสินใจขอให้มีการเลือกตั้งก่อนสภาฯควรวาระในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๕ ถือเป็นกรณีที่การยุบสภาฯมีความชอบธรรมที่จะยุบเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น เขาได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก Churchill เร็วขึ้นเก้าวันหลังจากที่ Churchill ลาออก

การกำหนดวาระสภาฯที่ตายตัวจะทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจหรือถูกลดทอนอำนาจที่จะทดสอบความเห็นของประชาชนผ่านการเลือกตั้งในประเด็นสำคัญๆที่อาจจะเป็นผลประโยชน์ของชาติที่จะหยั่งเสียงประชาชน

การกำหนดวาระที่แน่นอนของสภาฯก่อให้เกิดความเคร่งครัดตายตัวสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่สภาวะที่รัฐบาลเป็น “เป็ดง่อย”  ขาดเสียงไว้วางใจจากสภาฯ แต่ก็ไม่สามารถยุบสภาฯได้ ความกังวลดังกล่าวนี้มักจะอ้างอิงกรณีของ New South Wales ที่รัฐบาลที่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้จนกว่าสภาฯจะครบวาระ เพราะเสียงข้างมากในสภาฯไม่ยอมลงมติให้มีการยุบสภา

๒. ไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ได้จริงๆ

ประสบการณ์ของสภาฯที่มีวาระที่แน่นอนในประเทศต่างๆชี้ให้เห็นว่า ข้อกำหนดให้สภาฯมีวาระที่แน่นอนนั้นอาจจะไม่ได้ผล  เพราะในที่สุดแล้ว หากรัฐบาลใดมีความจำเป็นที่ต้องการยุบสภาฯก่อนกำหนด รัฐบาลก็มักจะหาทางใดทางหนึ่งที่จะยุบสภาฯจนได้ อย่างเช่นในกรณีของ ผู้นำเยอรมนี Helmut Kohl ในปี ค.ศ. ๑๙๘๒ และ Gerhard Schroder ในปี ค.ศ. ๒๐๐๕ ที่ตัวผู้นำเองพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้รัฐบาลพ่ายแพ้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อให้มีการยุบสภาฯ  

เฮอร์มุท โคลฮ์
เกอร์ฮาร์ท ชโรเดอร์

ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องประหลาดมากที่ตัวรัฐบาลเยอรมันเองต้องการไม่ได้รับความไว้วางใจ  แต่ความต้องการให้เสียงข้างมากของรัฐบาลคว่ำรัฐบาลนี้เป็นกุศโลบายที่หาทางจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่ที่มีเสถียรภาพความมั่นคงมากขึ้นกว่าเดิม

เรื่องราวการพยายามยุบสภาในการเมืองเยอรมันในปี ค.ศ. ๑๙๘๒ และ ค.ศ. ๒๐๐๕ ค่อนข้างจะสลับซับซ้อน และส่งผลให้เราอดคิดไม่ได้ว่า นักการเมืองที่ไหนๆก็ซับซ้อน ไม่ว่าจะตรากฎหมายออกมาอย่างไร พวกเขาก็มีปัญญาจะหากุศโลบายต่างๆในการหาช่องได้อยู่ดี

โปรดติดตามในตอนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 9)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า