มาตรการรัฐบรรเทาพิษโควิด

การระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ไม่เพียงส่งผลกระทบในด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับสังคมและเศรษฐกิจด้วย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต้องเปลี่ยนแปลงไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการควบคุมการแพร่ระบาด หลายมาตรการกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ ความมั่นคงทางอาหาร กลไกการรับมือ การศึกษา ไปจนถึงสุขภาพ

ทั้งนี้ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ร่วมกับ UNICEF Thailand และ Gallup Poll ทำการสำรวจครัวเรือนและความยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

โดยเป็นการสำรวจทางโทรศัพท์อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.-15 มิ.ย.2564 จากประชาชนที่มีอายุเกิน 18 ปี จำนวน 2,000 คน พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 50% ได้รับผลกระทบด้านการงาน บางคนต้องออกจากงาน หยุดงานชั่วคราว ถูกลดชั่วโมงทำงาน หรือได้รับค่าตอบแทนที่น้อยลง และครัวเรือนที่ให้สัมภาษณ์กว่า 70% มีรายได้ลดลงตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 ขณะเดียวกันการทำเกษตรกรรมและประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่เกษตรกรรมได้รับผลกระทบอย่างมากจากรายได้ที่ลดลง ประมาณ 50% มีรายได้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ส่วนประเด็นด้านการศึกษา พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 57% บ่งชี้ว่าเด็กในครัวเรือนประสบปัญหาด้านการเรียน เด็กในพื้นที่ชนบทและครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ มีแนวโน้มว่าจะมีอุปสรรคด้านการเข้าถึงอุปกรณ์ในการเรียนสูงกว่า ขณะที่ด้านสุขภาพ พบอีกว่า ครัวเรือนประมาณ 1 ใน 3 ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ไม่สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ เนื่องจากกังวลเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 และ ณ เวลาที่ได้ทำการสำรวจนี้ ระบุว่า ความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนลังเลไม่กล้าฉีดวัคซีน โดยกลุ่มที่มีการศึกษาไม่สูง มีรายได้ต่ำ และกลุ่มเยาวชนกว่า 36% ไม่มีแผนจะเข้ารับการฉีดวัคซีน

ส่วนในด้านความคุ้มครองทางสังคมนั้น พบว่า ครัวเรือนกว่า 80% ได้รับประโยชน์จากโครงการช่วยเหลือในสภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลที่เริ่มในปี 2563 โดยคิดเป็นสัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ และผู้ที่มีรายได้ปรับลดลงอย่างรุนแรงประมาณ 90% ขณะที่สัดส่วนผู้ขอรับประโยชน์จากสวัสดิการสังคมในปี 2563 เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปี 2562

โดยพบว่า การดำเนินมาตรการภาครัฐที่ผ่านมาช่วยลดผลกระทบได้มาก เพราะสามารถครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มเปราะบางได้ถึง 80% ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของคนยากจนเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ จาก 6.2% ในปี 2562 เป็น 6.4% ในปีที่ผ่านมา แต่!! หากไม่มีการดำเนินมาตรการภาครัฐก็มีโอกาสที่คนยากจนในประเทศไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 7.4%

ขณะที่ กระทรวงการคลังระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้งบประมาณในการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ไปเกือบ 1 ล้านล้านบาทแล้ว โดยมีประชาชนที่อยู่ในระบบสวัสดิการราว 44 ล้านคน ส่วนทิศทางการดำเนินการในระยะต่อไปจะมีการจัดสวัสดิการให้กลุ่มคนเปราะบาง การนำ Big Data มาใช้ในการออกแบบนโยบายให้เหมาะสมกับกลุ่มคนและพื้นที่ การเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ การลดบทบาทการเยียวยา แต่เพิ่มบทบาทการฟื้นฟูและกระตุ้นการบริโภค ภายใต้การดำเนินการตามกรอบวินัยทางการคลัง

ขณะที่ ภาคเอกชนอย่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า ระบบสวัสดิการไม่ใช่เรื่องการสงเคราะห์ แต่เป็นระบบที่จะช่วยการพัฒนาประเทศโดยใช้คนเป็นศูนย์กลาง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งภาครัฐจะต้องปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณให้เหมาะสมกับภารกิจ โดยลดการใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจ แล้วเพิ่มด้านสังคม นำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่นำไปลงทุนผลิตสินค้าเพื่อแข่งขันกับภาคเอกชน

ต้องยอมรับว่า “สถานการณ์การระบาดของโควิด-19” ส่งผลกระทบกับรายได้ของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมาเวิลด์แบงก์ได้เคยทำการประเมินว่า นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้ในปี 2563 คนไทยยากจนเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านคน ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะมีคนไทยที่มีความยากจนเพิ่มขึ้นอีก 1.7 แสนคน การเร่งแก้ปัญหาในทุกมิติจากทุกภาคส่วนจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะด้านสวัสดิการทางสังคมอย่างเพียงพอกับความต้องการ ตรงจุด ตรงเป้าหมาย รวมถึงการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการศึกษา ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางในการมีงานทำ การเข้าถึงสินเชื่อในระบบและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นอกจากจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนานแล้ว ยังอาจจะเป็นการช่วยพัฒนาประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย.

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีมานด์ทองคำยังแกร่งแม้ราคาพุ่ง

จากรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำ หรือ Gold Demand Trends จากสภาทองคำโลก (World Gold Council) สำหรับไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ระบุว่า ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสำหรับการลงทุนของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 10%

ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติมีแต่เสียกับเสีย

ปมความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ โดยจุดเริ่มต้นต้องเรียกว่าชนวนเหตุนั้น มาจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

นโยบายขายฝัน

ไม่นานเกินรอ ได้ใช้แน่รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสายทุกสีก็ 20 บาท ซึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมานั้น รมว.คมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศลั่นว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เก้าอี้ร้อนฉ่า

ถือเป็นประเด็นร้อนหลังจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกมากดดัน ล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ