‘ลุงโจ’ กับ ‘น้าสี’ เจรจาไม่ให้ ฝ่ายใด ‘ล้ำเส้นแดงอันตราย’

ผมเอาภาพจากที่พบกันระหว่างสี จิ้นผิง กับโจ ไบเดน ที่บาหลี และจากประชุมสุดยอดอาเซียนและเอเชียตะวันออกที่พนมเปญช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นหลายๆ มุมเพื่อสะท้อนถึงความหลากหลายของประเด็นการเมืองระหว่างประเทศที่นำมาถกกันในเวทีของอาเซียน

จากพนมเปญ การพบปะหารือระดับโลกก็ย้ายไปที่บาหลีของอินโดนีเซีย

ที่พนมเปญ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ อยู่เคียงคู่กับนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน

แต่วันต่อมาเป็นการพบปะระหว่าง “ลุงโจ” กับ “น้าสี” ที่บาหลี ซึ่งต้องถือว่าเป็นไฮไลต์ของงานทีเดียว

เพราะทุกสายตาจ้องไปที่การพบปะระหว่างผู้นำจีนกับสหรัฐฯ ที่เจอกันตัวเป็นๆ เป็นครั้งแรกหลังไบเดนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและสี จิ้นผิง ได้รับการต่ออายุเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 3 หยกๆ

สี จิ้นผิง พูดในตอนเปิดฉากการพูดคุยว่า “โลกอยากเห็นเราสองประเทศมีความสัมพันธ์ตามปกติ”

ไบเดนตอบด้วยการบอกว่า “ผมเชื่อว่าเรา 2 ประเทศสามารถจัดการบริหารไม่ให้การแข่งขันกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกัน”

ทั้ง 2 เจอกันก็จับมือและส่งรอยยิ้มให้แก่กัน

ที่พนมเปญการปะทะคารมเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียในประเด็นภาษาที่จะใช้ในแถลงการร่วมว่าด้วยความขัดแย้งในยูเครน

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียไม่มา ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเซอร์เก ลาฟรอฟ มาแทน

ฝั่งยูเครนก็มีรัฐมนตรีต่างประเทศดมิโทร กูเลบา มาร่วมประชุมด้วย

แม้จะอยู่ในห้องประชุมเดียวกัน แต่ทั้ง 2 คนก็ไม่คุยกัน จึงไม่มีวิวาทะระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกับยูเครนที่นั่น

แต่ที่เป็นความขัดแย้งคือ ระหว่างทีมสหรัฐฯ กับรัสเซียว่าด้วยความเห็นต่างเรื่องศัพท์แสงที่ใช้เกี่ยวกับยูเครน

ฝ่ายสหรัฐฯ ต้องการจะเรียกมันว่า “สงคราม” หรือ War

รัสเซียยืนยันว่าต้องใช้คำว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” หรือ Special Military Operation

ลาฟรอฟโทษสหรัฐฯ และพันธมิตรที่การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่นั่น (ทั้งหมด 18 ประเทศ) ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้

รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียบอกว่า ที่ไม่สามารถตกลงกันได้นั้น เพราะฝั่งสหรัฐฯ ยืนยันจะใช้คำว่า “สงคราม” ในกรณียูเครน

ซึ่งเขาบอกว่า “เป็นภาษาที่รับไม่ได้เป็นอันขาด”

ลาฟรอฟถือโอกาสนี้กล่าวหาว่าสหรัฐฯ พยายามจะสร้างความแตกแยกในมวลหมู่สมาชิกอาเซียน

และวิจารณ์ว่า NATO มาพึ่งกิจกรรมทางทหารในภูมิภาคนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียบอกว่า มีหลักฐานชัดเจนว่าสหรัฐฯ ได้พยายามยกระดับกิจกรรมทางทหารในเอเชียด้วยการดึงเอาพันธมิตรของสหรัฐฯ มาร่วม

เขาระบุถึงออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์และญี่ปุ่น

ในสายตาของรัสเซีย (และจีน) นี่คือการขยายอิทธิพลของ NATO มาในย่านนี้

อินโดนีเซียในฐานะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด G-20 ที่เริ่มเมื่อวานได้พยายามอย่างยิ่งที่จะลดช่องว่างระหว่างกลุ่ม G-20 กับรัสเซีย

แต่ยิ่งใกล้วันประชุมที่บาหลี ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะหาทางประนีประนอมระหว่าง 2 ฝ่ายจะยอมร่วมกันออกแถลงการณ์ร่วมด้วยภาษาและเนื้อหาที่จะยอมรับกันได้

ท้ายสุดก็อาจจะต้องหาทางออกด้วยการให้ประธานที่ประชุมออกแถลงการณ์ของตนเองเป็นการสรุปประเด็นหลักของที่ประชุมโดยไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันหนักขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ก่อนที่ไบเดนจะบินจากพนมเปญสู่บาหลีก็ยืนยันว่าการพบปะของเขากับสี จิ้นผิง จะพยายามหลีกเลี่ยง “ความขัดแย้ง” (conflict) โดยจะเน้นการ “แข่งขัน” (competition) กับจีนเป็นหลัก

ภาษาและลีลาของไบเดนดูเหมือนจะต้องการลดบรรยากาศของความตึงเครียดในการพบปะกับสี จิ้นผิง

แต่ก็ยืนยันว่าจะพูดจาแบบ “ตรงไปตรงมา” (straightforward) เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในการตีความ

ไบเดนบอกว่าเขารู้จักสี จิ้นผิง ดีเพราะเคยมีปฏิสัมพันธ์กันมายาวนานตั้งแต่สมัยที่ทั้ง 2 เป็นรองประธานาธิบดีด้วยซ้ำ

“ผมรู้จักสี จิ้นผิง และเขาก็รู้จักผม เรามีเรื่องเข้าใจผิดกันน้อย เราเพียงต้องตกลงกันว่าเส้นแดงในความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศเราอยู่ตรงไหน...” ไบเดนบอก

คำว่า “เส้นแดง” หรือ Red Lines หมายถึงการที่ปักกิ่งกับวอชิงตันต้องเห็นพ้องกันว่าต่างฝ่ายต่างจะไม่ “ข้ามเส้นอันตราย” กันได้อย่างไร

ทำเนียบขาวบอกด้วยว่า ไบเดนกับสีจะพูดถึงการตั้ง Guard Rails หรือ “ราวกันตก” ระหว่าง 2 ประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง “ข้ามเขต” ของกันและกันโดยไม่มี “ราวกั้น” เอาไว้

“ราวกันตก” นี้คือภาษาการทูตที่ช่วงหลังมีการนำมาใช้เพื่ออธิบายถึงความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประเมินสถานการณ์ผิดจนทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง “หลุดออกจากแนวทางที่เหมาะสม”

ข้อนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะไบเดน และสี จิ้นผิง ย่อมรู้ดีว่าความสัมพันธ์ของ 2 ยักษ์ใหญ่นั้นมีความละเอียดอ่อน และหากมีความเข้าใจผิดหรือประเมินอีกฝ่ายหนึ่งต่ำหรือสูงเกินไป อาจจะนำไปสู่การเผชิญหน้าอันไม่พึงประสงค์

ดังนั้นเราต้องคอยดูผลของการพูดจาอย่างเป็นทางการที่บาหลีเมื่อวันจันทร์

ประเด็นที่เห็นพ้องกันที่จะร่วมมือระหว่างมหาอำนาจก็ย่อมมีไม่น้อย เช่น เรื่องโลกร้อน, โรคระบาด เช่น โควิด และการป้องกันโรคใหม่ที่จะมีผลกระทบต่อชาวโลก

ส่วนเรื่องที่ทั้ง 2 คงต้องยืนยันว่าเห็นต่างกันก็มีตั้งแต่ประเด็นไต้หวัน, เกาหลีเหนือ, ทะเลจีนใต้และกติกาการค้าระหว่างกัน รวมถึงการกีดกันซึ่งกันและกันในเรื่องเทคโนโลยี

ดังนั้นผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 2 จึงต้องแสดงความรับผิดชอบที่จะไม่ให้ความขัดแย้งระหว่างกันทำให้โลกต้องร่วงหล่นลงไปสู่หุบเหวแห่งหายนะ

เพราะทุกวันนี้ วิกฤตระดับโลกทั้งหลายก็สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายเพียงพอแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นสงครามยูเครน, ความตึงเครียดที่คาบสมุทรเกาหลี, ทะเลจีนใต้ และการชิงดีชิงเด่นด้านการทูตและการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีอย่างดุเดือดและรุนแรง

ลุงโจกับน้าสีจึงต้องแสดงความเป็นผู้ใหญ่ที่จะช่วยลดความตึงเครียดระดับโลก...มิใช่เพิ่มความร้อนแรงที่จะผลักดันให้โลกต้องตกอยู่ในภาวะที่ผู้คนหวั่นกลัวกันไปทั่ว

นั่นคือ “ภาวะใกล้ Armageddon หรือวันสิ้นโลก”!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex