สารพัดปัจจัยลบดาหน้าถาโถม

หลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย กิจกรรมต่างๆ เริ่มขยับตัว โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. รายงานว่า ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนครบ 10 ล้านคนตามเป้าหมายปี 2565 ที่ตั้งไว้ และคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทย 20 ล้านคน

จากเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นถือเป็นตัวเลขท้าทายของ ททท.อย่างมาก เพราะในปีหน้านั้นปัจจัยลบเตรียมที่จะถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งผู้ว่าฯ ททท. ยุทธศักดิ์ สุภสร ยอมรับว่าภาคท่องเที่ยวไทยปี 2566 ต้องเจอกับสถานการณ์จริงและความท้าทายหลายเรื่อง โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตค่าครองชีพ ค่าเดินทางแพงจากปัจจัยราคาน้ำมัน ประกอบกับเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ตั้งแต่เดือน มี.ค.ปีหน้า และไม่มีการอัดอั้นการเดินทางอย่างเช่นปีนี้

ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายต่อการทำตลาด ซึ่งต้องแข่งกับทุกประเทศที่ต่างเปิดรับนักท่องเที่ยวกันแล้วอย่างมาก ขณะที่เป้าหมายของ ททท.ต้องการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 20 ล้านคน คาดว่าจะมีรายได้ถึง 2.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 80% ของปี 2562 ที่มีรายได้รวมจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทย 3 ล้านล้านบาท

เช่นเดียวกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หลังจากที่ทางการกลับมาเปิดประเทศรับชาวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ ประเทศไทยได้รับการตอบรับจากชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ในปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยคาดว่าจะมีจำนวน 11.0 ล้านคน ซึ่งดีกว่าที่ทางการได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10 ล้านคน

ส่วนในปี 2566 นั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะมีจำนวนประมาณ 20-24 ล้านคน หรือกลับมาคิดเป็นสัดส่วน 50-60% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2562 โดยนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางคาดว่ากลับมาฟื้นตัวก่อนและเติบโตกว่าปี 2562 ส่วนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นในภาพรวมน่าจะฟื้นตัวได้ดี แต่ยังต้องใช้เวลากว่าที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังต้องติดตามการระบาดระลอกใหม่ และการดำเนินนโยบายช่วงปีหน้า ซึ่งอาจทำให้การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนแบบปกติไม่เกิดขึ้นเร็ว

ขณะที่ การใช้จ่ายของชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องในปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 0.84-1.01 ล้านล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริปยังต่ำกว่าปี 2562 จากหลายปัจจัย ทั้งความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะใกล้ กลุ่ม Younger Travelers กลุ่มที่เดินทางแบบแบ็กแพ็กเกอร์ และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งมีผลต่องบประมาณในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว

ดังนั้นในปี 2566 ถือว่ายังเป็นปีที่เหนื่อยสำหรับภาคอุตสาหกรรม สารพัดปัจจัยลบยังคงดาหน้าถาโถมอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลต้องเร่งทำตลาดเพื่อสร้างแรงจูงใจ โดยเฉพาะ ททท.ในฐานะที่ดูแลงานด้านท่องเที่ยวต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในเรื่องนี้ ส่วนภาคเอกชนต้องมีแผนการบริหารความเสี่ยงรองรับเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และไม่กระทบสภาพคล่องของธุรกิจ อาทิ แผนรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเดินทางของนักท่องเที่ยว การลงทุนโครงการใหม่ที่ยังคงต้องระมัดระวัง การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติหลากหลายมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงการศึกษาทิศทางเทรนด์ของตลาดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว ท้ายสุดมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการยังเป็นสิ่งจำเป็น.

บุญช่วย ค้ายาดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

เร่งกระตุ้นอสังหาฯ

อสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ยาว ตั้งแต่ภาคการผลิตต่างๆ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ การท่องเที่ยว ตลอดจนการเงิน หากภาพรวมอสังหาฯ ดีย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมใกล้เคียง แต่หากลบก็กระทบธุรกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่ผลักดันให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ส่งผลกับภาคอสังหาฯ อย่างเห็นได้ชัด