สถานี'กรุงเทพอภิวัฒน์' ศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาค

โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งถือว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนา เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาด้านการจราจร เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานครสู่ปริมณฑล และเชื่อมโยงต่อไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ดังนั้นจึงได้เดินหน้ายกระดับให้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางของประเทศ และเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่เทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการขยายธุรกิจและเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่งเสริมให้เกิดการกระจายโอกาสในด้านต่างๆ สู่ประชาชน ทั้งในด้านของการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลได้ดำเนินการในการมุ่งพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ

ล่าสุดในวันที่ 19 มกราคม 2566 ระหว่างเวลา 13.00-15.30 น. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นำทัพเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทางของขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ ใต้ อีสาน ทั้งขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวน มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

โดยจะมีจุดจำหน่ายตั๋วโดยสารเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ณ บริเวณทางเข้าประตูที่ 4 และบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชั้น G ซึ่งมีช่องจำหน่ายตั๋วให้บริการทั้งหมดกว่า 18 ช่อง รองรับการบริการให้กับผู้โดยสารอย่างทั่วถึง

สำหรับบริเวณจุดพักคอย เฉพาะผู้โดยสารที่มีตั๋วโดยสารรถไฟทางไกล สามารถรอขึ้นรถไฟทางไกลได้ภายในบริเวณโถงด้านล่างสถานี เพื่อรอขึ้นขบวนรถบนชานชาลา ก่อนเวลาขบวนรถออก 20 นาทีเมื่อขบวนรถจอดเทียบแล้ว อนุญาตให้ผู้โดยสารเข้าสู่บริเวณชานชาลาได้ ส่วนจุดให้บริการชานชาลาของรถไฟทางไกลของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จะอยู่ชั้นที่ 2 บริเวณประตู 4 มีจำนวน 12 ชานชาลา

โดยแบ่งออกเป็น 1.รองรับรถไฟทางไกล จำนวน 8 ชานชาลา คือ ชานชาลาที่ 1 และ 2 สำหรับรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ขาออก) ชานชาลาที่ 5 และ 6 สำหรับรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ขาเข้า) ชานชาลาที่ 7 และ 8 สำหรับรถไฟสายใต้ (ขาออก) ชานชาลาที่ 11 และ 12 สำหรับรถไฟสายใต้ (ขาเข้า) และ 2.รองรับระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 4 ชานชาลา คือ ชานชาลาที่ 3 และ 4 สำหรับเส้นทางบางซื่อ-รังสิต ชานชาลาที่ 9 และ 10 สำหรับเส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน

ขณะเดียวกัน รฟท.ได้มีมาตรการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารทุกคน จากการปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางและปลายทางของขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) จำนวน 52 ขบวน โดยผู้โดยสารที่เดินทางด้วยขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และตั๋วเดือน สามารถใช้ตั๋วโดยสารเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มภายในระยะเวลา 1 ปี

ส่วนผู้โดยสารที่ใช้บริการขบวนรถชานเมือง ก็สามารถใช้ตั๋วเดือนเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งนี้ รฟท.จะไม่มีการจำหน่ายตั๋วรถไฟทางไกลที่สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ และสถานีหลักหก

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาอาจจะมีเสียงคัดค้าน และไม่เห็นกับการย้ายรถไฟทางไกลจากเดิมที่สถานีหัวลำโพง มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความพร้อมในด้านการปฏิบัติการและให้บริการ​ แต่ฟากฝั่ง รฟท.ก็ยังยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ได้มีการพิจารณาอย่างถ้วนถี่และรอบคอบ พร้อมย้ำชัดเจนว่ายึดถือในประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการควบคู่กับการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศในระยะยาว ที่ในอนาคตจะพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคอีกด้วย 

การผลักดันให้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นฮับของภูมิภาคเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศไทย แต่สิ่งที่ยังขาดและ รฟท.ต้องเร่งดำเนินการคือการสร้างความเชื่อมั่นถึงการดำเนินงานที่โปร่งใส มีคุณธรรม ไร้ทุจริต. 

กัลยา ยืนยง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว

ดันสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลโลก

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย จับมือจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”

เน้นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) หรือก๊าซ LPG ด้วยคุณสมบัติพิเศษของมันก็คือ การที่มีสารโพรเพนและบิวเทนอยู่ในตัว ซึ่งสารสองนี้เป็นสารที่ติดไฟง่าย

เจาะลึกพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทย

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีผลการวิจัยของมินเทล (Mintel) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นในการหาแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว และแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวของตนเอง

วิกฤตเลวร้ายกว่าต้มยำกุ้ง?

ตกเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของไทย เพราะล่าสุด 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีได้มาพูดย้ำว่า ประเทศไทยตอนนี้มันยากกว่าสมัยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะมีความซับซ้อนและยากมากกว่า และมองว่าการแก้ไขมันต้องมีการเปลี่ยน เพราะโลกมันเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม

จับชีพจร“ท่องเที่ยวไทย”เริ่มฟื้นตัว

“ท่องเที่ยว” ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักๆ ที่สร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา