Isra Sunthornvut…UN Goodwill Ambassador…“ไปรษณีย์ไทย”…จ้า

    ในยุคที่สังคมเราแตกแยก เป็นยุคที่คนเราพร้อมถกเถียงทุกเรื่องเพื่อหวังชนะ เป็นยุคที่ “เรา” ถูก และ “มัน” ผิด มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทุกคนคงเห็นพ้องกัน ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไร ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ไม่ว่าจะถือสัญชาติอะไร หรือนับถือศาสนาอะไร เรื่องที่ทำให้ทุกคนสามัคคีกันคือเรื่องการระแวงเมื่อเห็นเบอร์แปลกๆ โทร.เข้ามือถือของเรา

    ไม่รู้ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ จะเป็นคนขายประกัน ขายสมาชิกตามโรงแรมต่างๆ หรือในยุคนี้… “ไปรษณีย์ไทย”

    ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนน่าจะโดน “ไปรษณีย์ไทย” “DSI” “ธนาคาร….” โทร.มาบ้าง อ้างสถานการณ์ต่างๆ นานา ซึ่งช่วงแรกๆ จะเป็นคนโทร.เข้ามาจริง และอธิบายสถานการณ์ ที่ในที่สุดเราต้องจ่ายตังค์

    อย่างที่ผมโดนคือ “ตำรวจ สน.ปากเกร็ด” โทร.มาบอกว่ามีการค้นบ้านผู้ต้องหาคดียาเสพติด แล้วค้นพบหลักฐานสมุดบัญชี โอนเงินเข้าบัญชีของผมเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท ทาง “ตำรวจ สน.ปากเกร็ด” บอกว่าถ้าผมไม่รีบเคลียร์จะมีหมายเรียกและหมายจับทันที เนื่องจากเป็นยุคแรกๆ ของการมีโทรศัพท์แบบนี้ ผมก็สงวนความเชื่อไว้ประมาณ 1-2% เพราะมันยังไม่พัฒนาถึง เสียงเพลงและตามด้วยเสียงอัตโนมัติบอกว่า “ไปรษณีย์ไทย”

    ยังเป็นคนโทร.เข้ามาอยู่ ผมเลยตอบกลับไปว่า ถ้าให้ผมคุยกับตำรวจ ผมไปชี้แจงที่ สน.ก็ได้ครับ นัดวัน นัดเวลา หรือให้ผมเข้าไปตอนนี้เลยก็ยังได้ เขาพูดทำนองว่า เขาไม่เชื่อว่าผมจะไป สน.ตามวันเวลานัด เพราะผมจะหนี ผมเลยบอกว่า ถ้าอย่างงั้นมาจับผมที่บ้านเลย แล้วก็วางสาย ซึ่งผมก็นึกว่าผมเท่ ฉลาด เจ๋ง ที่ทำแบบนั้น แต่ผมบอกเลยว่า ตลอดวันที่เหลือ ถึงแม้ไม่เชื่อเรื่องถึง 99% แต่ทุกครั้งเวลารถผ่านหน้าบ้าน ผมก็ชะงักเหมือนกันครับ

    จนตามมาเป็นยุคเสียงดนตรีและ “ไปรษณีย์ไทย” ซึ่งเป็นสัญญาณให้เราได้วางสายทันที แต่ในขณะเดียวกัน ทางโลกโซเชียลชอบมีคนโพสต์คลิปตัวเอง ตอบโต้ หรือ “สั่งสอน” บรรดาคอลเซ็นเตอร์ทั้งหลาย ด้วยความสะใจว่า ได้สวนกลับคอลเซ็นเตอร์จนมึน แต่ผมกลับคิดว่า คุณก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นคอลเซ็นเตอร์ ทำไมต้องเสียเวลาพูดกับเขา ที่คุณคิดว่าคุณเก๋ในการโพสต์โต้ตอบกับเขา มันไม่เท่อย่างที่คิด คุณทำให้บรรดาคอลเซ็นเตอร์พัฒนาตัวเองด้วยซ้ำ จนสู่ยุคที่ไปไกลกว่าเดิม

    ในยุคก่อนๆ เวลาจะรับจดหมายต้มตุ๋น นานๆ มันจะหลุดเข้าไปใน inbox ของเรา เพราะส่วนใหญ่มันจะเข้าไปที่ spam แต่จดหมายต้มตุ๋นเหล่านี้มักจะเขียนเรื่องราวทำนองเดียวกันว่า ผู้เขียนเป็นญาติกับอดีตเจ้าชาย/หญิงของประเทศ… ที่เพิ่งถูกขับไล่ออกจากประเทศ แต่ยังมีเงินจำนวนมหาศาลที่ยังติดค้างอยู่ เมื่อเราเป็นคนดีและอยากช่วยคนดีด้วยกัน เราต้องเอาเลขบัญชีให้เขาจะได้เอาเงินออกมา พวกเราคงคิดว่าเป็นเรื่องตลก แต่ยังมีคนจำนวนเยอะที่เชื่อเรื่องนี้ และถูกหลอกสำเร็จจนเป็นอุตสาหกรรม และเป็นอาชีพมิจฉาชีพ

    ตราบใดที่มีมนุษย์บนโลกใบนี้ และตั้งแต่มีมนุษย์ขึ้นมา โลกของเราจะแบ่งเป็นสองซีกชัดๆ ซีกหนึ่งคือคนธรรมดาทั่วไป และอีกซีกคือเกิดมาเพื่อคิดหลอกลวงคนธรรมดาทั่วไป อย่าว่าแต่กับสังคมกว้างๆ ทั่วไปครับ พวกเราทุกๆ คนในกลุ่มเพื่อนฝูง หรือแม้แต่ในครอบครัวตัวเอง ทุกๆ กลุ่มจะต้องมีคนหนึ่งที่มีนิสัยชอบเอาเปรียบคน

    ครั้งแรกๆ ที่มีการบันทึกการฉ้อโกง คือปี 300 BC นาย Hegestratos เป็นผู้ค้าทางทะเล ได้ทำการค้าขาย ขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งสินค้าจะต้องมีประกันเพื่อป้องกันอุบัติเหตุเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Hegestratos ได้จมเรือของตัวเองที่ไร้สินค้า (แต่แจ้งว่ามีสินค้าเต็มลำ และเอาสินค้าไปซ่อน) เพื่อให้ได้เงินประกันเก็บไว้กับตน และหวังจะขายสินค้าที่อื่น แต่ในที่สุดแผนนี้ล้มเพราะลูกเรือจับตัวเขาระหว่างกำลังทำเรือตัวเองจม และระหว่างหลบหนี ลูกเรือกลางทะเลนั้นกระโดดลงน้ำและจมน้ำเอง

    ใน ค.ศ.500 ในยุคของโรมัน มีกองทหารพิเศษรักษาจักรพรรดิเรียกว่า Praetorian Guard ได้ทำการสังหารจักรพรรดิเอง เพื่อหวัง “ขาย” ราชอาณาจักรให้กับผู้มีกำลังซื้อ คนซื้อต่อชื่อ Julianus ซื้อราชอาณาจักรนั้นเป็นจำนวน 250 เหรียญทองคำ (ซึ่งถ้าเป็นเงินสมัยนี้คือ กว่าสามหมื่นล้านบาทครับ) แต่ทางสังคมไม่ยอมรับการกระทำของ Praetorian Guard และ Julianus ทางกระบวนการยุติธรรมยุคนั้นมีความเห็นว่า Praetorian Guard ได้ซื้อขายสินค้าที่ไม่ใช่ของตน และไม่มีสิทธิ์ค้าขายได้ ถือว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อหวังหลอก เลยเกิดสงครามกลางเมืองครั้งยิ่งใหญ่เป็นเวลา 5 ปีเต็ม

    ถ้าจะพูดถึงเรื่องการต้มตุ๋น เรื่องการหลอกลวง เรื่องการฉ้อโกงในประวัติศาสตร์ มีเหตุการณ์ที่ทั้งบันทึกและไม่บันทึกไว้ แต่สำหรับพวกเราที่เห็นข่าวเหล่านี้ เรามักคิดว่าเราไม่มีทางหลงเชื่อเรื่องราวงี่เง่าแบบนี้หรอก เราไม่มีทางถูกหลอกได้ง่ายขนาดนั้น ผมบอกเลยว่า…มันเป็นไปได้ทั้งนั้นครับ

    ปกติเวลามีข้อมูลหรือข้อความแนวฉ้อโกง หรือหลอกลวง มันมักจะออกช่องทางเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มันแพร่เข้าสู่ช่องทางใหม่ๆ ที่ไม่น่าเข้าได้ อย่างเช่น LinkedIn สำหรับใครที่ไม่คุ้นเคยกับ LinkedIn มันคือ Social Network สำหรับคนทำงาน ดังนั้นจะไม่เห็นโพสต์เรื่องวันเกิดลูก การไปเที่ยวต่างประเทศ หรือโพสต์อื่นๆ ที่เรามักจะเห็นใน Facebook Instagram หรือ TikTok

    วันก่อนใน Inbox ของผมมี Ambassador Chen Hing Chai แห่งสหประชาชาติ ติดต่อถามผมว่า ผมคุ้นเคยกับ UN กับเรื่อง Sustainable Development Goals (SDGs) หรือเปล่า ผมก็ตอบกลับไปว่าคุ้นเคย จากนั้นเขาถามว่า ผมคุ้นเคยกับ UN Goodwill Ambassador (ทูตสันถวไมตรี) หรือเปล่า ผมตอบว่าคุ้นเคย

    ปรากฏว่า Ambassador คนนี้อยากเสนอชื่อผมเป็น UN Goodwill Ambassador ช่วยผลักดันเรื่อง SDGs ผมยอมรับว่าผมทั้งตื่นเต้นและระแวงในตัว พอพยายามถาม Ambassador ว่าเรารู้จักกันที่ไหน อย่างไร เขาไม่ตอบ แต่เขาพูดทำนองว่ามีคนแนะนำชื่อผมให้เขา พอพยายามค้นประวัติ Ambassador ได้เจอรูปและประวัติต่างๆ เลยดูน่าเชื่อถือ (หรือผมอยากให้เขาดูน่าเชื่อถือมากกว่า?)

    แต่ผมให้เพื่อนผมที่อยู่ UN ลองดูข้อมูลที่เขาส่งมาให้ ผ่านสายตาคน UN จริงๆ ไม่ใช่สายตาคนธรรมดาอย่างพวกเรา เขาบอกว่า…มันเป็นการหลอกลวง ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปไม่มีทางเห็นสิ่งที่คน UN เห็น ผมเลยรู้สึกโชคดีที่มีเพื่อนกลั่นกรองให้ได้ ไม่งั้นผมต้องเสร็จเขาแน่ เพราะเพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า ขั้นตอนต่อไปคือหลังจากเสนอชื่อผมเป็น UN Goodwill Ambassador และผ่านการอนุมัติทุกอย่าง ก่อนผมดำรงตำแหน่ง ผมจะต้องทั้งถ่ายบัตรประชาชน (หน้าหลัง) หนังสือเดินทาง และสมุดบัญชีของผมให้เขา เพื่อดำเนินเรื่อง ที่ต้องเอาบัญชีให้เขา เพราะเขาจะมีเงินเดือนและเงินพิเศษสำหรับตำแหน่งตรงนี้

    ผมบอกเลยว่าถ้าเพื่อนผมไม่เบรกไว้ ผมคงคล้อยตาม Ambassador เพราะเอกสารที่เขาส่งมามันดูน่าเชื่อถือมากๆ ผมเลยฝันหวานจะเป็น UN Goodwill Ambassador ให้โก้ๆ อยู่หลายวันครับ

    ถือว่าเป็นอุทาหรณ์ เป็นคำเตือน ให้ทุกคนว่า กลุ่มมิจฉาชีพมาทุกรูปแบบครับ ถือหลักง่ายๆ ไว้ก่อน….If it’s too good to be true, it’s most likely a lie.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Sending a Message หรือ The Calm Before the Storm?

เมื่อสัปดาห์ก่อน ช่วงเวลาที่พวกเราสนุกและพักผ่อนกันเต็มที่ช่วงสงกรานต์นั้น มีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดได้ทุกเมื่อ และในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงๆ ครับ

หลานชายคุณปู่

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ ช่วงเขียนคอลัมน์นี้ ผมยังอยู่ที่บ้านเฮา เจออากาศทั้งร้อนมากและร้อนธรรมดา เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องการขับรถขึ้นมาบ้านเฮากับลูกสาว

หลานคุณปู่

คอลัมน์สัปดาห์นี้กับสัปดาห์หน้า น่าจะเป็นคอลัมน์เบาๆ ครับ ผมเชื่อว่าแฟนๆ ครึ่งหนึ่งน่าจะหนีร้อนในไทยไปสูดอากาศเย็น (กว่า) ที่อื่น ส่วนใครที่ไม่ไปไหน คงไม่อยากอ่านเรื่องหนักๆ

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 2)

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องราวแก๊งที่ผมสัมผัสและรู้จักสมัยอยู่สหรัฐ สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงแนว Gangster Rap ก็คงจะคุ้นเคยกับสิ่งที่ผมเขียนไป แต่สำหรับหลายท่านที่เติบโตคนละยุคคนละสมัยอาจไม่คุ้นเลย

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 1)

ผมมีความรู้สึกว่า ช่วงนี้มีข่าวประเภทแก๊งมีอิทธิพลในประเภทประเทศเอลซัลวาดอร์ โคลอมเบีย และเม็กซิโก มีผลต่อเสถียรภาพการเมืองระดับชาติประเทศเขา

To Shortchange กับ To Feel Shortchanged

จากการเรียกร้องของสาวๆ (สวยๆ) ไทยโพสต์ ผมขออนุญาตสวมหมวกฟุดฟิดฟอไฟวันหนึ่ง เพื่อพูดคุยและอธิบายสไตล์ของผม ถึงคำที่ปรากฏในช่วงต้นสัปดาห์จากนิตยสาร Time ครับ