'สถาบันฯ กับประชาชน'

เห็น ๓ หัวโจก "ออกตัวแรง" เรื่อง "แบม-ตะวัน" อดข้าวในคุก

ก็สมเพช....

เมื่อไหร่มันจะเลิกหลอกเด็กอดข้าว แล้วตัวมัน ขนลูกเมียออกมานั่งอดกันเองก็ไม่รู้!

อยากจะ "ล้มสถาบัน" "ปิยบุตร-ธนาธร-พิธา" ออกมาเดินนำหน้าซะเองก็สิ้่นเรื่อง

เห็นแก่ตัวฉิบหะ...ที่หลอกใช้เด็ก

เด็กทุกวันนี้ เกิดมาตอนบ้านเมืองสงบและสุขสบายแล้ว ก็นึกว่า "พ่อ-แม่กู" ทำให้สบาย

น้อยนัก ที่พ่อแม่และระบบศึกษาจะ "เพาะหน่ออ่อน" ให้รู้ว่า ที่สุขสบายนั้่น มาจากไหน

และพ่อ-แม่ นั้น ก็ไม่ต่างลูก คือสุขสบายที่พ่อ-แม่ได้ และส่งต่อถึงลูกนั้น บางคนก็ไม่ทันระลึกรู้ ว่ามาจากไหน?

ฉะนั้น วันนี้ ขออนุญาต......

นำเนื้อหาที่ "ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่" กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองและอาจารย์นิด้า บรรยายไว้ เมื่อปี ๖๓

และ "ผู้จัดการ ออนไลน์" เผยแพร่ มาให้อ่านทบทวนกันอีกครั้ง ดังนี้

......................

"ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่"

สิ่งที่คนไทยต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้ถ่องแท้ เพราะมีประชาชนส่วนหนึ่ง มักจะนำไปเปรียบเทียบ ระหว่างรัชกาลที่ ๙ กับรัชกาลที่ ๑๐

ซึ่งดูจะไม่เป็นธรรมแก่พระองค์ท่านที่นำ "พ่อและลูก" มาเปรียบเทียบกัน

โดยสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ เมื่อพระราชบิดาทรงมีพระปรีชาสามารถ ก็ต้องถือเป็นโชคของราชวงศ์และของแผ่นดินไทยอยู่แล้ว

แทนที่คนเหล่านี้จะมาเปรียบเทียบ ก็ควรไปมองให้ลึกว่ารัชกาลที่ ๑๐ ได้ทรงสานต่องานอะไร อย่างไร ที่พระราชบิดาดำริไว้ แต่ยังทำไม่ได้ หรือทำไม่สำเร็จ เพราะสิ้นรัชกาลไปเสียก่อน

 “พระองค์ท่านไปต่อยอดอะไรบ้าง และอะไรที่พระองค์ท่านดำริขึ้นมา ก็มาช่วยกันทำ

ถ้าไม่เข้าใจตรงไหน จะช่วยแก้ไขกันอย่างไร มาหาทางออกในเชิงวิชาการก็ได้ ก็น่าจะดีที่สุด”

อย่างไรก็ดี หากทุกคนมองด้วยความเป็นธรรมว่าตั้งแต่พระองค์ท่านทรงขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์ทรงจัดระเบียบอะไรให้สังคมได้รับรู้

เริ่มตั้งแต่การจัดระบบภายในราชสำนักให้เป็นระเบียบและโปร่งใส

เพราะก่อนหน้านั้น มีบรรดากลุ่มคนที่ฝังรากลึกเข้าไปหาประโยชน์ มีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น ทั้งในส่วนของสำนักพระราชวัง และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พระองค์ท่านก็ทรงมาจัดระเบียบกันใหม่

บางคนถึงกับมองว่า เป็นการล้างบางกันเลย เรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณชนชัดเจน

แม้กระทั่งที่ดินบริเวณสนามม้านางเลิ้ง ใครๆ ก็รู้ว่าที่นั่นเป็นแหล่งผลประโยชน์ มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้าไปเกี่ยวข้อง ใครก็ไม่สามารถจัดการได้

แต่พระองค์ทรงนำที่ดินบริเวณนี้ มาจัดทำเป็นสวนสาธารณะให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์

และจะมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๙  ไว้ด้วย

 “มีการย้ายหน่วยทหารที่ไม่จำเป็นออกไปอยู่นอกเมือง และนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งสิ้น”

ในระหว่างที่พระองค์ทรงจัดระเบียบภายในราชสำนัก  พระองค์ท่านก็มีพระราชดำริให้มีการปฏิรูปการศึกษา

โดยมอบหมายให้องคมนตรีไปดูแล โดยเฉพาะการปฏิรูป "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" ทั่วประเทศ

เพราะพระองค์ท่านทรงมองว่า การศึกษาจะดีได้ ต้องเริ่มที่ครู และเน้นให้ ม.ราชภัฏ เป็นมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

 “ราชภัฏ คือ วิทยาลัยครูเก่า และชื่อราชภัฏ แปลว่าคนของพระราชา ฉะนั้น ราชภัฏ มี ๒ บทบาท คือ 'สร้างครู' เอาคนที่สมควรเป็นครู 'มาเป็นครูที่ดี' ในท้องถิ่นนั้นๆ

สอง คือ ต้อง 'สร้างความรู้' เพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่นได้ 'ราชภัฏ' ไม่ต้องไปทำแล็บอะไร บอกแค่ว่าทุกบ้านที่มีปัญหา ราชภัฏมีคำตอบให้ เรื่องทำมาหากิน และเป็นคำตอบที่ใช้ได้”

พระองค์ทรงให้ความสำคัญต่อ ม.ราชภัฏมาก แต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา เพราะ ม.ราชภัฏ เตลิดเปิดเปิงไปมากมาย

ไปเปิดหลักสูตรแข่งขันกับจุฬาฯ, ธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยหลักตามภูมิภาคต่างๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องปิดหลักสูตรไปมากมาย

พระองค์ก็ทรงค่อยๆ "ดึงกลับมา" มีการจัดสรรงบประมาณให้ด้วย เพื่อให้ ม.ราชภัฏ เป็นหลักในการพัฒนาคนและท้องถิ่นต่อไป

 “พระองค์ท่านทรงทำเพื่อประชาชนของท่านให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา ยังให้ความสำคัญเรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำ ป่าไม้ ไม่ให้มีการบุกรุก”

ขณะเดียวกัน ผู้ที่ออกมาประท้วงให้ "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" นั้น ควรเข้าใจด้วยว่า พระมหากษัตริย์ทรงต้องอยู่ในฐานะที่ลำบาก

ไม่ใช่ว่าพระองค์ทรงอยากทำอะไรก็ทำได้ แต่พระองค์ท่านจะทรงทำ "ในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ" หรือมีการทำแล้ว แต่ทางราชการมีข้อจำกัด

พระองค์ท่านก็จะไปทรงเสริม ไปทำให้สมบูรณ์ หรือคนบางกลุ่มถูกละเลย พระองค์ท่านก็ทรงเข้าไปช่วยเหลือให้ทั่วถึง

 “ท่านทรงระวังพระองค์อยู่แล้ว ต้องไม่ทำอะไรที่ไปซ้ำกับราชการ หรือที่เอกชนทำอยู่แล้ว"

หากมองจริงๆ เหมือนพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจ แต่เอาเข้าจริง จะต้องระมัดระวังพระองค์ท่าน และสถาบันฯ เป็นอย่างยิ่ง

เพราะ "สถาบันกษัตริย์" เป็นสถาบันทางวัฒนธรรม อยู่เหนือการเมือง และอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ

ที่ผ่านมา สิ่งที่พระองค์และสถาบันฯ จัดทำ จะเน้นในทางพัฒนา สนับสนุน

และการปรับเปลี่ยนความคิดของประชาชนในกลุ่มที่ยากลำบาก อ่อนแอ ส่วนคนที่แข็งแรงแล้วพระองค์ท่านไม่ทรงเข้าไปยุ่งเกี่ยว

 “เราจะเห็นพระองค์ท่านทรงชวนคนเก่ง คนมีสตางค์ ไปแบ่งปันให้คนอ่อนแอ

ท่านอยู่ตรงกลาง

ท่านเชื่อมโยง คนแข็งแรงไปช่วยคนอ่อนแอ

อย่างรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงริเริ่ม และทดลองโครงการต่างๆ เจ็ดแปดพันโครงการ ให้คนแข็งแรงและมีวิชาให้ไปทำต่อ และไปแบ่งปันให้คนที่มีความรู้ไม่ดีพอ คือท่าน  Link and Learn”

นี่คือบทบาท หรือ Positioning ของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คนไทยควรเข้าใจ!!

ไม่เพียงแค่นั้น สิ่งที่สังคมได้เห็นและควรเปิดใจมองสิ่งที่ในหลวง พระราชินี และราชวงศ์ ในการเสด็จฯ ออกมาเยี่ยมประชาชนที่รอเฝ้าฯ รับเสด็จ

จะเห็นว่า "ทุกพระองค์" ก็ทรงออกมาพูดคุย มาทักทาย ให้สัมผัสพระหัตถ์ สามารถขอเซลฟีกับพระองค์ได้

 “รุ่นผมไม่กล้ามองพระพักตร์เลย พระเจ้าอยู่หัวทรงมองมาทางเรา ต้องก้มหน้าหลบ อย่างรับปริญญา ก็ไม่กล้าจ้องหน้า ระวังแต่ว่า อย่าให้ใบประกาศหลุดมือเป็นใช้ได้ นี่คือความรู้สึกของคนรุ่นเรา”

แต่ถึงยุคสมัยนี้ การเฝ้าฯ รับเสด็จก็ได้ใกล้ชิด  พระองค์ท่านก็ "ทรงปรับตัว" ซึ่งคงจะมีอะไรใหม่ๆ ออกมาให้สังคมได้เห็น

โดยเฉพาะสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานสัมภาษณ์สำนักข่าว CNN ว่า “เรารักพวกเขาทุกคนเหมือนกัน” (We Love Them All the Same.) ถึง 3  ครั้ง

และทรงบอกให้รู้ว่า ประเทศไทย “เป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม” (Thailand is the Land of  Compromise.)

นี่คือสิ่งที่พระองค์ได้สื่อให้ "สังคมโลก" รับรู้ว่า....

"พระมหากษัตริย์" ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะบุคคลหรือสถาบัน ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน หรืออยู่ห่างประชาชน

ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินออกมาทักทายประชาชน  ไม่ใช่เพราะแรงกดดันจาก "ม็อบราษฎร" แน่นอน

 “นี่คือการปรับตัว Adaptive และทำให้คนเห็นชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ ในรูปแบบ Modern  Form ในสมัยใหม่

มีความใกล้ชิด มีความเป็นกันเอง อยากจะพูดคุยด้วย"             

อย่าง "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ท่านทรงน่ารัก ทรงพูดภาษาใต้ เดินเข้าไปบอก "นิติพงษ์  ห่อนาค" ให้แต่งเพลงให้สมเด็จพ่อด้วย

นี่คือ Modern Form ที่สังคมไทยควรรับรู้และมองทุกพระองค์ในมุมมองใหม่ ที่สามารถ "เข้าถึงและจับต้องได้"

ซึ่งพระองค์ก็ทรงอยากเข้าใจประชาชน และก็อยากให้ประชาชนเข้าใจพระองค์ท่านเช่นกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอาจติดเรื่อง Security "ความปลอดภัย" ที่ต้องคอยระวัง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นข้อจำกัด ทำให้ต้องอยู่ห่างมาก จะมีก็แต่ความจงรักภักดีที่เป็นนามธรรม

แต่เวลานี้ พระองค์ทรงต้องการแปลสิ่งที่เป็นนามธรรม ความรัก ความศรัทธา ความจงรักภักดีที่ทุกคนมีต่อสถาบันฯ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ให้เป็นอะไรที่คนเข้าใจ และจับต้องได้

ดังนั้น การที่พระองค์ทรงใช้คำ Land of  Compromise เป็นการส่งสัญญาณจากพระองค์ท่านว่า "เราจะอยู่ด้วยกัน" ทั้ง "สถาบันพระมหากษัตริย์" กับ "ประชาชน"

เราก็ต้องปรับเข้าหากัน คนที่มีความต่างด้วยวัย ก็ต้องปรับความคิดเข้าหากัน นี่คือความแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก สังคมที่มีอารยะ ผู้เจริญ ต้องสงวนจุดต่าง แต่แสวงหาจุดร่วม ประนีประนอมกันได้

สถาบันกษัตริย์ก็เหมือนทุกสถาบันในโลก ต้องปรับตัวตลอดเวลา ซึ่ง "สถาบันกษัตริย์ไทย" มีคุณค่าหมายถึงเอกราช ประเพณี เป็นศูนย์รวมน้ำใจ

และสถาบันก็กำลังปรับตำแหน่งแห่งที่ที่เหมาะสมที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมไทย

ก็ต้องเข้าใจถึงภาระหน้าที่ของ "สถาบันกษัตริย์" ทั้งที่เป็นจารีตประเพณี ความต้องการของสังคมโลก และภาระในความตระหนักในการเป็นขัตติยะ

"นี่คือสิ่งที่คนไทยควรทำความเข้าใจให้ดี ช่วยกันส่งกำลังใจและความร่วมมือ

เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ และประชาชนชาวไทย มีความสุข มีความมั่นคงในชีวิต สืบเนื่องยาวนานต่อไป"

..............................

ครับ...สำหรับคน "คิดสั้น"

ฉะนั้น วันนี้ จึงยาวเป็นพิเศษ!

คนปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง