วาทะเด็ดของดอน : ‘ไม่เชิญก็ไม่ต้อง กระทืบเท้าเชิญมาก็ไม่ต้องลิงโลดใจ’!

นานๆ ที คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศจะตอบกระทู้ในสภาฯ

วันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา คุณดอนลุกขึ้นตอบประเด็นเรื่องที่ไทยไม่ได้รับเชิญจากสหรัฐฯ ไปร่วมกับ 110 ประเทศในการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ในรูปออนไลน์ ในช่วงวันที่ 9-10 ธันวาคมที่จะถึงนี้

เป็นคำตอบที่ฟังแล้วต้องร้องซี้ดซ้าดกันเลยทีเดียว

เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะได้ยินรัฐมนตรีต่างประเทศไทยบอกว่าแม้สหรัฐฯ จะเชิญมาเราก็อาจจะต้องพิจารณาว่าจะไปหรือไม่

ท่านบอกว่าการประชุมครั้งนี้เป็น “เรื่องการเมืองล้วนๆ...เป็นเรื่องการเมืองที่จะใช้เล่นงานกันและกัน...”

ท่านบอกว่าไม่ใช่ว่าเพื่อนอาเซียนของเราได้รับเชิญหมด บางประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้รับเชิญ “มันไม่ได้แปลก”

ตามรายชื่อที่ประกาศในเว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ สามประเทศอาเซียนที่ได้รับเชิญคือ อินโดนีเซีย, มาเลเซียและฟิลิปปินส์

คุณดอนบอกต่อว่า

 “ใน่แง่ของการไม่ได้รับเชิญ บางเรื่องเราดีใจด้วยซ้ำที่ไม่ได้ไป ที่ไม่ได้รับเชิญ บ่อยครั้งที่ไม่เชิญ เราก็บอกว่าดีแล้ว และถ้าเชิญเราต้องพิจารณาว่าจะไปหรือไม่ไป...”

รัฐมนตรีต่างประเทศบอกด้วยว่า เรื่องนี้เป็น “ดาบสองคม..ในหลายกรณีไม่ใช่ว่าไม่มีคำเชิญแล้วเราต้องตื่น ต้องกระทืบเท้าด้วยความเสียใจ หรือถ้าเชิญแล้วจะต้องลิงโลดที่จะไป...”

คุณดอนสอนเราว่าในด้านของการต่างประเทศ “มันไม่ได้ออกมาอย่างที่หลายคนเข้าใจ”

หากตีความตามถ้อยแถลงของคุณดอนเป็นภาษาชาวบ้านก็อาจจะเข้าใจได้ว่าที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เชิญ 110 ประเทศมาประชุมสุดยอดเรื่องประชาธิปไตยนั้นเป็น “การเมืองล้วนๆ” ซึ่งจะถูกใช้เพื่อโจมตีกันและกัน

 “กันและกัน” ตรงนี้ ตีความอย่างชาวบ้านก็ต้องเข้าใจว่าไบเดนต้องการจะสร้างพันธมิตรภายใต้คำว่า “ประชาธิปไตย” เพื่อโจมตีฝ่ายที่ “ไม่ใช่ประชาธิปไตย”

ซึ่งก็คงจะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากจะเป็นจีน

 (งานนี้ไบเดนเชิญไต้หวันไปร่วม แต่ไม่เชิญจีน...กลายเป็นประเด็นวิวาทะร้อนระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันอีกเรื่องหนึ่ง)

ที่คุณดอนบอกว่าบางครั้งไม่เชิญมาก็ดีแล้ว เพราะเป็นดาบสองคม หรือแม้จะได้รับเชิญก็อาจจะต้องพิจารณาว่าจะไปร่วมหรือไม่ไป

ตีความที่คุณดอนพูดได้ไหมว่าบางงานถ้าไม่ไปร่วมอาจจะไม่ถูกตีความว่าถือหางข้างใดข้างหนึ่ง

ทำให้ผมอยากรู้มากว่าหากครั้งนี้สหรัฐฯ เชิญไทยมา คุณดอนจะเสนอนายกฯ ไทยว่าเราจะไปร่วมหรือไม่

ผมเองเชื่อว่าอย่างไรเสีย ถ้าได้รับเชิญกระทรวงต่างประเทศไทยก็จะ Say No ไม่ได้

หากคำเชิญมาจริง รัฐบาลไทยอาจจะ “ลิงโลดแบบเงียบๆ” ก็ได้

เพราะสามารถจะอ้างได้ว่าเห็นไหมสหรัฐฯ เห็นเราเป็นประชาธิปไตย

แต่เมื่อไม่ได้รับเชิญ คำอธิบายก็ออกมาแบบ “ฉันไม่แคร์” อย่างที่ได้ยิน

น่าคิดว่าสมมติว่าจีนจัดการประชุมกลุ่มประเทศที่เขาอยากจะสร้างเป็นเครือข่ายในลักษณะยันกับสหรัฐฯ บ้าง ถ้าปักกิ่งเชิญหรือไม่เชิญเรา จุดยืนเราจะต่างกับที่คุณดอนแถลงเมื่อวันพฤหัสฯ หรือไม่

ความจริง ประเด็นหลักที่คุณดอนคงอยากจะสื่อสารก็คงมีเพียงว่าการที่สหรัฐฯ ไม่เชิญไปร่วมงานนี้ไม่ได้แปลว่าเขามองเราไม่เป็นประชาธิปไตย

เพราะหลายประเทศที่เราเห็นว่าเป็นประชาธิปไตยในเอเชียเองก็ไม่ได้รับเชิญ

และหลายประเทศที่ได้รับเชิญก็มิได้เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด

คุณดอนจึงบอกว่านี่ไง มันคือ “การเมืองล้วนๆ”

ซึ่งก็อาจจะจริง

แต่คำถามก็คือมีอะไรในการเมืองระหว่างประเทศบ้างที่ไม่ใช่ “การเมืองล้วนๆ”

ผมเข้าใจว่าทำไมคุณดอนจึงตอบกระทู้อย่างนั้น

แต่เมื่อออกมาเป็นคำตอบทางการอย่างนี้แล้วก็เท่ากับเป็นการวางหลักการบางประการว่าต่อแต่นี้ประเทศไทยจะมีจุดยืนต่อการเชิญหรือไม่เชิญไปร่วมกิจกรรมของมหาอำนาจอย่างไรด้วย

สำหรับผมนี่คือประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษ

ในขณะเดียวกันคุณดอนก็ได้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของฝ่ายค้านเรื่องการเดินทางไปเยือนพม่าเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้นที่ไปพบกับ มิน อ่องหล่าย ด้วย

คุณดอนบอกว่าเป็นการเยือนตามหลักกติกาสากล เป็นพื้นฐานสิทธิมนุษยชน และเดินทางไปในฐานะประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหารือทวิภาคี ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติทั้งสิ้น

คุณดอนบอกด้วยว่าพม่าเป็นประเทศยุทธศาสตร์ที่ไทยต้องให้ความสำคัญ เพราะมีชายแดนติดต่อกับประเทศรอบด้าน ทั้งไทย ลาว อินเดีย และจีน โดยไทยเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับพม่ามากที่สุด

ทางการพม่าจึงได้ร้องขอให้ไทยเป็นสะพานเชื่อมเรื่องมนุษยธรรมให้แก่พม่า

คุณดอนบอกว่าตอนที่เดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด รัฐบาลประเทศอื่นๆ และภาคประชาสังคม รวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอ ได้มาร้องขอให้ไทยช่วยเหลือพม่าเรื่องมนุษยธรรม

ซึ่งเป็นคนละส่วนกับเรื่องการเมือง

และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้นถือว่าเป็นหลักการสากล ซึ่งอินเดียและจีนก็ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พม่าด้วยเช่นกัน

คุณดอนยืนยันว่าสิ่งของที่นำไปบริจาคให้พม่าในวันที่ 14 พ.ย. นั้นไม่ใช่ของรัฐบาล แต่เป็นของที่มาจากภาคเอกชนทั้งหมดจากหลายประเทศ

และไม่มีการนำวัคซีนไปบริจาคแต่อย่างใด เพราะการบริจาควัคซีนต้องมีการลงนาม MOU ซึ่งมีหลายขั้นตอน

"ความรู้หรือข้อมูลที่ผิดพลาด จริงๆ แล้วผมว่าเป็นเฟกนิวส์ด้วยซ้ำไป แต่ว่ามันก็เกิดขึ้นแทบทุกวันในบ้านเรา สำหรับนักเล่าข่าวก็ดี สื่อก็ดี หรือใครก็ตามในแวดวงต่างๆ ที่พอได้ยินอะไรสักอย่างก็นำไปขยายความออกไปในเชิงบิดเบือนถึงขั้นเป็นเฟกนิวส์ก็ย่อมได้" คุณดอนกล่าว

ความจริงหากคุณดอนจะแลกเปลี่ยนกับผู้คนในสังคมบ่อยกว่านี้เปิดเผยกว่านี้ก็จะไม่เกิดข้อกล่าวหา “เฟกนิวส์” ง่ายๆ อย่างที่อ้างแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พม่าจะเดินตามรอยเกาหลีเหนือ? ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์บางสายตั้งคำถามนี้?

เพราะมีข่าวหลายกระแสที่บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่า ผู้นำทหารพม่ากำลังมองคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็น “แม่แบบ” ของการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พยายามจะกดดันให้ต้องยอมเสียงเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย