“สังคมสูงวัย”โจทย์ใหญ่มาไวกว่าเดิม!

ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และมีการประเมินกันว่าอีกเพียงไม่กี่ปีข้างหน้าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 28% ตรงนี้ถือเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเตรียมพร้อมและมีความพร้อมรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระยะยาว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอดในปี 2572 เร็วขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2574 หลังจากประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงมาแล้ว 3 ปีติดต่อกัน คือตั้งแต่ปี 2563-2565 จากอัตราการเกิดและภาวะเจริญพันธุ์มีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก!

โดยก่อนหน้านี้เราอาจจะได้ยินกระแสข่าวการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของหลายประเทศในโลก ไม่ว่าจะเป็น “จีน” ที่สูญเสียตำแหน่งจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกให้กับอินเดีย เนื่องจากการเผชิญการลดลงของจำนวนประชากรเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ, “ญี่ปุ่น” ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่ลดลง และความเป็นสังคมสูงอายุเรื้อรังอาจจะรุนแรงจนกระทั่งญี่ปุ่นหายไปจากแผนที่โลกได้, “เกาหลีใต้” เป็นอีกประเทศที่อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงมาต่ำที่สุดแซงหน้าทุกประเทศแม้กระทั่งญี่ปุ่น และ “ฝรั่งเศส” ที่อยู่ระหว่างการปฏิรูประบบบำนาญจนนำมาสู่เหตุประท้วงใหญ่

สำหรับประเทศไทยนั้น มีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเช่นกัน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคธุรกิจและรัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งจัดการ โดยเฉพาะการก้าวเป็นสังคมสูงอายุขั้นสุดยอดในปี 2572 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากประชากรไทยมีจำนวนลดลงแล้วตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเร็วขึ้นถึง 9 ปีเมื่อเทียบกับที่เคยคาดกันไว้ว่าจะเริ่มลดลงในปี 2572 ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเริ่มแซงหน้าจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2564-2565 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ อัตราการเกิดและภาวะการเจริญพันธุ์ของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอัตราการเกิดอยู่ที่เพียง 0.76% ส่วนภาวะการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.33 ขณะที่ประชากรรุ่น Baby Boomer (เกิดก่อนปี 2506-2526) ราว 1 ล้านคน กำลังเข้าสู่ช่วงอายุ 60 ปีเป็นจำนวนมากในปีนี้ อีกทั้งการปรับเพิ่มอัตราการเกิดและภาวะเจริญพันธุ์ก็ไม่ง่าย ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความไม่แน่นอนสูง ประชาชนมีความกังวลต่อความไม่มั่นคงด้านรายได้ในยุคค่าครองชีพสูง รวมถึงความกังวลต่อเหตุการณ์แวดล้อม ทั้งการเกิดวิกฤตโรคระบาดใหม่ ภัยธรรมชาติ วิกฤตความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ทำให้เกิดค่านิยมที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการมีบุตร

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับภาคธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาส เนื่องจากรายได้ธุรกิจอาจถูกกระทบหากลูกค้ายังคงใช้จ่ายไม่ต่างจากเดิม แต่ฐานลูกค้ามีจำนวนที่ลดลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการที่เสนอต่อลูกค้าต้องมีการปรับเปลี่ยนจากผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น สวนทางกับเด็กและวัยทำงานที่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนว่า หากผู้ประกอบธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่แตกต่างและตอบโจทย์ผู้สูงวัย ในราคาที่เอื้อมถึงได้ ก็จะมีโอกาสสร้างรายได้ให้เติบโต ขณะเดียวกันก็ต้องมีสินค้าและบริการที่เจาะประชากรเด็กและวัยทำงานด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ ต้นทุนธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะการขาดแคลนกำลังแรงงาน และการปรับมาใช้เทคโนโลยี/เครื่องจักร สะท้อนว่าต้นทุนธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ต้นทุนแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10% ของต้นทุนรวม

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจต่างๆ คงต้องเร่งปรับตัวและเตรียมการรองรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับโจทย์อีกหลายด้านพร้อมๆ กัน การปรับตัวได้เร็วและมองได้ครบถ้วนย่อมสร้างความได้เปรียบ และเป็นโอกาสที่แตกต่างกันออกไป ไม่เพียงเท่านี้ประเด็นดังกล่าวก็นับว่าเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องเร่งจัดการ เพราะเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงต่อทิศทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุบัติเหตุหรือละเลย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีข่าวเกี่ยวกับการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งตามสถานที่ต่างๆ หลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร, ลพบุรี, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, ชลบุรี ฯลฯ ซึ่งขยะเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน แม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปตรวจสอบและแก้ไขปัญหา แต่ก็ดูเหมือนว่ายังเป็นการแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น

ลุ้นแจ้งเกิดให้บริการซีเพลน

จากนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งทางอากาศ ผลักดันการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane Operations เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

แนะSME“ปรับเปลี่ยน”เพื่อ“ไปต่อ”

สถานการณ์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก โดย แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุว่า ภาพรวมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขณะนี้ยังน่ากังวล เพราะยังคงไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

ดีมานด์ทองคำยังแกร่งแม้ราคาพุ่ง

จากรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำ หรือ Gold Demand Trends จากสภาทองคำโลก (World Gold Council) สำหรับไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ระบุว่า ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสำหรับการลงทุนของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 10%

ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติมีแต่เสียกับเสีย

ปมความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ โดยจุดเริ่มต้นต้องเรียกว่าชนวนเหตุนั้น มาจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

นโยบายขายฝัน

ไม่นานเกินรอ ได้ใช้แน่รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสายทุกสีก็ 20 บาท ซึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมานั้น รมว.คมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศลั่นว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท