เหตุการณ์ใน Sudan เหมือนฉายหนังซ้ำ

เวลาใครจะพูดถึงปัญหาในบ้านเรา ผมไม่ว่าอะไรหรอก ถ้าสิ่งที่เขากังวลและสิ่งที่พูดออกมา เป็นปัญหาจริงที่เขาตระหนัก ผมไม่ว่าอะไรถ้าเขาเป็นห่วงใยจริง แต่ถ้าคนคนนั้นเล่นละคร มีธง ไม่ว่าจะเป็นธงของตัวเองหรือธงที่คนอื่น “ฝาก” อันนี้น่ารำคาญ และน่ารังเกียจ เพราะเสียเวลาทุกคนครับ

    ตอนที่ผมอยู่อินโดฯ เป็นเวลา 3 ปีเต็มนั้น คำถามที่ทุกคนมักถามคือ “อยู่อินโดฯ เป็นไงบ้าง?” ผมตอบทุกครั้งว่า การอยู่ประเทศอินโดฯ นานๆ แบบไม่ได้ไปเที่ยว แต่อยู่จริงๆ “ทำให้รักประเทศไทยมากขึ้น” อย่าเข้าใจผมผิด ในประเทศอินโดฯ 

เขามีดีของเขาเยอะ ผมบอกเลยว่า คนอินโดฯ จริงๆ เป็นคนจิตใจดี เป็นคนนิสัยดี และเป็นคนยิ้มแย้มจากใจมากกว่าคนไทยครับ เพียงแต่ระบบและหน่วยงานรัฐที่เขาควรพึ่งพาได้ ทั้งระบบและเจ้าหน้าที่นั้น พึ่งพาไม่ได้เลย

ผมพูดอยู่เสมอกับคนที่ชอบบ่นเกี่ยวกับประเทศไทย ไม่ว่าจะรักประชาธิปไตย รักสถาบัน หรือจะรักอะไรก็แล้วแต่ ทุกๆ คนที่ชอบบ่น ว่าไทยมีปัญหานี้ปัญหานั้น ว่าลองอยู่ประเทศอื่น แบบอยู่จริงๆ เป็นเวลาติดต่อกัน 2 อาทิตย์ขึ้น แล้วคุณจะเห็นว่าประเทศไทยของเราไม่ด้อยกว่าที่อื่น และไม่แย่อย่างที่คุณชอบบ่นกัน ซึ่งผมเชื่อว่าทุกๆ คนคงมีความเห็นแบบนี้กับประเทศตัวเองอยู่แล้ว และการบ่นต่อว่าบ้านตัวเองน่าจะเป็นกิจวัตรประจำวันที่ทุกประเทศทำกัน แต่ผมไม่รู้ว่าที่อื่นให้ความสำคัญกับคนขี้บ่นเท่ากับบ้านเราหรือไม่

บ้านเราไม่สมบูรณ์ทุกอย่างก็จริง แต่ผมไม่คิดว่าแย่เหมือนที่คนชอบบ่นกันทุกๆ วัน

เอาล่ะครับ ผมขอหยุดบ่นด้วยละกัน ตอนนี้เราเข้าเรื่องที่ผมตั้งใจอยากเขียนถึง เป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายที่เคยอยู่ฝ่ายเดียวกัน ในประเทศ Sudan ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ เรื่องมีอยู่ว่า กองกำลังสองฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ในประเทศ กำลังขัดแย้งกันเองและต่อสู้กันเอง เพื่อยึดอำนาจของประเทศ (อีกครั้งหนึ่ง) สองท่านที่ว่านี้เป็นนายพลทั้งคู่ ท่านหนึ่งคือ พลเอก Abdel Fattah al Burhan ซึ่งคือผู้บัญชาการทหารบก อีกท่านหนึ่งคือ พลเอก Mohamed Hamdan Dagalo เป็นผู้นำกลุ่ม (กึ่ง) ทหาร Rapid Support Forces (RSF)

ที่ผมใช้คำว่า “กึ่งทหาร” นั้น เป็นเพราะ RSF ไม่ใช่กองทัพ ไม่ใช่ทหารอย่างเป็นทางการ แต่ไม่ใช่กลุ่มมือปืนรับจ้าง เขาเป็นกึ่งทหารที่รับฝึกอย่างดี มีอาวุธ มียศ มีโครงสร้าง และมีวินัยไม่ต่างกับทหารในระบบ เพียงแต่กลุ่มประเภท RSF ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Paramilitary ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกองทัพ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐ เหมือนเป็นหน่วยงานของเขาเอง และมี “ทหาร” เป็นจำนวนเกือบ 100,000 นาย ส่วนกองทัพ Sudan อย่างเป็นทางการ มีกองกำลังประมาณ 300,000 นาย

Burhan กับ Dagalo เคยเป็นพันธมิตรกัน และร่วมกันยึดอำนาจเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จากรัฐบาลกลางที่ตั้งขึ้นมา หลังจากมีรัฐประหารโค่นล้มอดีตประธานาธิบดี Omar al-Bashir เมื่อปี 2019 อดีตประธานาธิบดี Bashir อยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 30 ปี ถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการ และบริหารบ้านเมืองล้มเหลว จนทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูงเกินที่คนธรรมดาทั่วไปสามารถรับได้ จนเกิดการประท้วงใจกลางเมืองหลวง Khartoum เป็นจำนวนหลายพันคนต่อวัน

หลังเกิดการโค่นล้ม al-Bashir สำเร็จ ทางกองทัพ (ด้วยแกนนำ Burhan) พยายามตั้งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติชื่อว่า Transitional Military Council และสัญญาว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนใน 2 ปีข้างหน้า แต่คณะกรรมการนี้ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากผู้ประท้วงและประชาชนทั่วไป ที่มีความเห็นว่าการโค่นล้มเผด็จการ al-Bashir ไม่ได้มีประโยชน์อะไรถ้าเผื่อมีว่าที่เผด็จการทหารเข้ามาแทน เลยมีการเจรจาอีกรอบหนึ่ง และเกิดการปรองดองระหว่างกองทัพกับพลเรือน ก่อตั้ง Sovereign Council บริหารประเทศ (ในปี 2019) ร่วมกันแทน จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง คืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 2 ปีข้างหน้า (คือปี 2021)

แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ปี 2021 ทางกองทัพ Sudan ด้วยแกนนำ Burhan บวกกับความช่วยเหลือจาก Dagalo (และกองกำลัง RSF) ได้ประกาศยึดอำนาจประเทศอีกครั้งหนึ่ง และยุบ Sovereign Council (ที่ก่อตั้งมาหลังโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีเมื่อสองปีก่อน) เหตุผลเพราะข้อตกลงเดิมว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนนั้นกำลังใกล้เข้ามา (แต่อ้างว่าฝ่ายพลเรือนที่ร่วมกันบริหารประเทศทำให้เศรษฐกิจพัง) หลังยึดอำนาจในครั้งนี้ Burhan แต่งตั้งตัวเองเป็นผู้นำประเทศ และสัญญากับประชาชนว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชน (อีกครั้งหนึ่ง) ภายในเดือนกรกฎาคม ปี 2023

(ตอนนี้เราอยู่ในยุคปัจจุบัน) ในครั้งนี้ Burhan กำลังวางกลยุทธ์เพื่อทำตามคำพูดที่สัญญาไว้ ว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้ (ส่วนเขาจะทำจริงหรือจัดฉาก อันนั้นว่ากันไปครับ) แต่ที่เกิดสงครามกลางเมืองครังนี้ ระหว่างอดีตพันธมิตรที่เคยโค่นล้มอดีตเผด็จการ และโค่นล้มรัฐบาลแห่งชาติที่ตัวเองแต่งตั้ง คือปัญหาเรื่องใครจะเป็นผู้นำของใครในอนาคต

ซึ่งหมายความว่า Burhan มีความพยายามและตั้งใจที่จะยุบกอง RSF ของ Dagalo ให้เข้ากองทัพ Sudan อย่างเป็นทางการ ทาง Dagalo มีความเห็นว่าถ้ายุบ RSF ให้เข้ากองทัพ Sudan ตัวเขาเองจะหมดอำนาจ แล้วจะเป็นรอง Burhan ทันที ซึ่งแน่นอนครับ Dagalo ไม่ยอมก้มหัวให้กับ Burhan เพราะเขาถือว่ากอง RSF มีกำลังไม่น้อยไปกว่า กองทัพ Sudan อยู่แล้ว

นี่คือหัวใจของสงครามกลางเมืองที่กำลังเกิดขึ้นใน Sudan ณ ตอนนี้ครับ เป็นการปะทะกันระหว่าง Burhan กับ Dagalo เป็นการปะทะกันระหว่างกองทัพ Sudan กับกอง RSF เพื่อชิงอำนาจ ไม่มีเรื่องอื่น และไม่มีเหตุผลอื่นใดๆ ทั้งสิ้นครับ

วันนี้ถือว่าเป็นการสรุปเหตุการณ์และที่มาที่ไปใน Sudan ที่กำลังเป็นข่าวทั่วโลกให้แฟนคอลัมน์ทุกท่านได้ตามทันและเข้าใจง่ายขึ้นครับ เมื่ออ่านข่าวเรื่องนี้แล้ว…รักเมืองไทยมากขึ้นหรือยังครับ?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Sending a Message หรือ The Calm Before the Storm?

เมื่อสัปดาห์ก่อน ช่วงเวลาที่พวกเราสนุกและพักผ่อนกันเต็มที่ช่วงสงกรานต์นั้น มีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดได้ทุกเมื่อ และในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงๆ ครับ

หลานชายคุณปู่

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ ช่วงเขียนคอลัมน์นี้ ผมยังอยู่ที่บ้านเฮา เจออากาศทั้งร้อนมากและร้อนธรรมดา เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องการขับรถขึ้นมาบ้านเฮากับลูกสาว

หลานคุณปู่

คอลัมน์สัปดาห์นี้กับสัปดาห์หน้า น่าจะเป็นคอลัมน์เบาๆ ครับ ผมเชื่อว่าแฟนๆ ครึ่งหนึ่งน่าจะหนีร้อนในไทยไปสูดอากาศเย็น (กว่า) ที่อื่น ส่วนใครที่ไม่ไปไหน คงไม่อยากอ่านเรื่องหนักๆ

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 2)

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องราวแก๊งที่ผมสัมผัสและรู้จักสมัยอยู่สหรัฐ สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงแนว Gangster Rap ก็คงจะคุ้นเคยกับสิ่งที่ผมเขียนไป แต่สำหรับหลายท่านที่เติบโตคนละยุคคนละสมัยอาจไม่คุ้นเลย

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 1)

ผมมีความรู้สึกว่า ช่วงนี้มีข่าวประเภทแก๊งมีอิทธิพลในประเภทประเทศเอลซัลวาดอร์ โคลอมเบีย และเม็กซิโก มีผลต่อเสถียรภาพการเมืองระดับชาติประเทศเขา

To Shortchange กับ To Feel Shortchanged

จากการเรียกร้องของสาวๆ (สวยๆ) ไทยโพสต์ ผมขออนุญาตสวมหมวกฟุดฟิดฟอไฟวันหนึ่ง เพื่อพูดคุยและอธิบายสไตล์ของผม ถึงคำที่ปรากฏในช่วงต้นสัปดาห์จากนิตยสาร Time ครับ