'พ่อ…Barcode มาจากไหน?'

ผมพูดอยู่เสมอว่า การมีลูกเล็กทำให้ผมต้องดูโลกผ่านสายตาของเด็กเล็ก จากสิ่งที่ผมเคยเห็นตอนผมอายุเท่าเขา ตอนผมอายุมากกว่าเขา ผมต้องกลับมามองใหม่ เพราะจากสิ่งที่เคยคุ้นเคย สิ่งที่มองข้าม มันเป็นสิ่งใหม่ของเขา ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ผมเคยฟังตอนวัยรุ่น และเขาฟังครั้งแรก หนังที่ผมเคยดูตอนเด็กๆ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เขากำลังดูครั้งแรก หลายอย่างที่ผมเคยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเป็นความรู้ที่ทุกคนน่าจะรู้ เป็นความรู้ใหม่ของเขา เลยทำให้ผมสนุกไปด้วยครับ 

ถึงแม้จะเป็นเพลงที่เคยผ่านหู หนังที่เคยผ่านตา และความรู้ที่เคยผ่านเข้าสมองบ้าง บางครั้งพ่อลูกถามว่า “อันนี้คืออะไร?”

จากสิ่งที่เคยคุ้นตาคุ้นหู กลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบให้เขา

ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ ในเมืองทองธานีของผม ผมบอกได้เลยว่าพวกเราที่อยู่ในหมู่บ้านนี้ Spoil กันทุกคน ผมไม่ทราบว่าคนที่อยู่หมู่บ้านอื่นเป็นเช่นไร หรือหยิ่งยโสเหมือนพวกเราหรือไม่ แต่ผมบอกเลยว่าพวกเราชาวเมืองทองธานีหยิ่งกันมากครับ อยากดูคอนเสิร์ตก็เดินไปดูได้ อยากหาอะไรกิน เลือกประเภทอาหารตามใจชอบ มีทางด่วนขึ้น-ลงในหมู่บ้าน แล้วมีให้เลือกว่าจะจ่ายเงินหรือไม่จ่ายเงิน และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีรถไฟฟ้าเข้าถึงกลางหมู่บ้านเลย

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิด Macro Food ในหมู่บ้าน เลยยิ่งทำให้พวกเราหยิ่งยโสเข้าไปใหญ่ เพราะหลายครั้ง เราทำธุระทุกอย่างโดยที่ไม่ต้องออกจากหมู่บ้านก็ยังได้ พอเปิด Macro Food ทำให้พวกเราแทบจะอยู่ในอาณาจักรเมืองทองธานีก็ว่าได้

ปรากฏว่าลูกๆ ผมจะสนุกเมื่อชวนไป Macro Food ทุกครั้งครับ ไม่ใช่เพราะชอบเดินในห้องแอร์ หรือเลือกสิ่งของ แต่ที่เขาสนุกกันเพราะมีช่อง Self Check-Out ที่มีเหมือน “ปืน” ยิง (สแกน) ตัว Barcode ครับ บางทีมีการแย่งกันด้วยซ้ำ ทำให้ผมต้องซื้ออะไรเป็นคู่ ซื้อเดี่ยวไม่ได้ เพราะ ถ้าคนหนึ่งได้ยิง อีกคนหนึ่งต้องได้ยิงเหมือนกัน (ขอมองบนนิดหนึ่งครับ)

จนมีอยู่วันหนึ่ง ลูกสาวถามผมขึ้นมาว่า Barcode มาจากไหนและเริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่? ทำให้ผมต้องพูดกับตัวเองว่า “เออว่ะ” และต้องพึ่งพา Google เพื่อหาคำตอบให้

ผมเพิ่งรู้ว่า ที่เราเรียกกันว่า Barcode จริงๆ ชื่อเต็มของเขา คือ Universal Product Code (UPC) และปีนี้มีอายุครบ 50 ปี ในการเริ่มใช้จริงๆ จังๆ แต่ยังไม่มีใครทราบว่าใครที่คิดค้นระบบ Barcode หรือ UPC เป็นคนแรกหรือกลุ่มแรก

ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โลกของเราอยู่ในความสงบ กำลังฟื้นฟูจากสงคราม และกลับมาสู่สภาพปกติ เป็นยุคที่การค้าขายเริ่มเจริญเติบโต แล้วคนทั่วไปแห่กันซื้อสินค้าตามร้านค้า และซื้ออาหารตาม Supermarket สิ่งที่ปรากฏคือ ลูกค้าตามซูเปอร์ทั้งหลายเริ่มแสดงความไม่พอใจที่ต้องเข้าคิวนานๆ ตอนจะจ่ายเงิน เนื่องจากแคชเชียร์ต้องกดราคาของสินค้าแต่ละชนิด ทุกคนเริ่มบ่นว่าใช้เวลานานและคิวยาวเกิน

มีมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Drexel ชื่อ Bernard Silver กับ Norman Joseph Woodland ได้คิดค้นระบบ Barcode อันแรกในประวัติศาสตร์ ในปี 1952 ซึ่งทาง Woodland บอกว่าแรงบันดาลใจมาจากรหัสมอร์ส (Morse Code) ที่เขาเคยเรียนตอนสมัยเรียนลูกเสือ เพียงแต่ว่าระบบที่มหาบัณฑิตสองท่านนี้คิด เป็นลักษณะเหมือนเป้าที่เป็นวงกลมหลายวง มากกว่าเส้นๆ ที่เราคุ้นตากัน เมื่อเป็นวงกลมเลยทำให้ “อ่าน” ยาก คนเลยไม่ค่อยใช้เท่าไหร่นัก ผู้บริโภคตามร้านซูเปอร์เลยต้องทนกับคิวยาวต่อไป

เครือซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น Kroger กับ Food Fair ของสหรัฐและเครือ Sainsbury ของอังกฤษ พยายามคิดค้นระบบ Barcode ของเขาเองเช่นเดียวกัน และนอกจากเครือซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น RCA กับ IBM พยายามคิดค้นระบบเหมือนกัน

ช่วงกลางยุค 1960s นักวิศวกรชื่อ David J. Collins ได้คิดค้นวิธีการใช้แสงไฟให้สแกนกับ Barcode เหมือนที่เราเห็นทุกวันนี้ เลยทำให้หลายคนถือว่า Collins เป็นบิดาของ Barcode โดยปริยาย แต่ที่ผมบอกว่า Barcode ครบอายุ 50 ปี ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ค.ศ.1973 เป็นเพราะในวันนั้น เป็นวันที่ Barcode ที่นักวิศวกรชื่อ George Laurer แห่งบริษัทยักษ์ใหญ่ IBM ถูกอนุมัติให้ใช้ และเปิดโอกาสให้เป็นบรรทัดฐานและมาตรฐานให้กับทุกอุตสาหกรรม

แต่เดิม กลุ่มเจ้าของร้านซูเปอร์ทั้งหลาย (ที่ไม่ใช่เครือยักษ์ใหญ่ แต่เปรียบเสมือนเป็นร้านโชห่วย) กับอุตสาหกรรมกระป๋อง คัดค้านระบบ Barcode อย่างแรง เพราะเขาถือว่ามันจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมโดยใช่เหตุ แต่ในที่สุดความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการมี Barcode ทำให้ชนะใจสองกลุ่มนี้อย่างดี

และในช่วงกลางปี 1974 ที่ร้าน Marsh’s Supermarket ในเมือง Troy รัฐ Ohio สินค้าชิ้นแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกสแกนด้วย Barcode เป็นหมากฝรั่งยี่ห้อ Wrigley’s Juicy Fruit ด้วยราคา $1.39 ทำให้โลกของเราไม่เหมือนเดิม

เอาเป็นว่าวันนี้ เป็นวันเสริมความรู้รอบตัวกับสิ่งที่เรามองเห็นทุกๆ วัน แต่อาจไม่เคยทราบที่มาที่ไปของมันครับ ผมต้องขอบคุณลูกๆ ผม ที่ทำให้ผมต้องหาคำตอบ ตอบคำถามเขาตลอดเวลา และสำหรับใครที่มาเยือนอาณาจักรเมืองทองธานีของพวกเรา และมาที่ Macro Foods ตอนที่พวกผมอยู่ในนั้น ถ้าอยากเห็นรอยยิ้มกว้างๆ ของเด็กๆ ชักชวนให้ลูกๆ ผมยิง Barcode ของสินค้าของท่านก็ได้นะครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลานชายคุณปู่

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ ช่วงเขียนคอลัมน์นี้ ผมยังอยู่ที่บ้านเฮา เจออากาศทั้งร้อนมากและร้อนธรรมดา เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องการขับรถขึ้นมาบ้านเฮากับลูกสาว

หลานคุณปู่

คอลัมน์สัปดาห์นี้กับสัปดาห์หน้า น่าจะเป็นคอลัมน์เบาๆ ครับ ผมเชื่อว่าแฟนๆ ครึ่งหนึ่งน่าจะหนีร้อนในไทยไปสูดอากาศเย็น (กว่า) ที่อื่น ส่วนใครที่ไม่ไปไหน คงไม่อยากอ่านเรื่องหนักๆ

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 2)

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องราวแก๊งที่ผมสัมผัสและรู้จักสมัยอยู่สหรัฐ สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงแนว Gangster Rap ก็คงจะคุ้นเคยกับสิ่งที่ผมเขียนไป แต่สำหรับหลายท่านที่เติบโตคนละยุคคนละสมัยอาจไม่คุ้นเลย

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 1)

ผมมีความรู้สึกว่า ช่วงนี้มีข่าวประเภทแก๊งมีอิทธิพลในประเภทประเทศเอลซัลวาดอร์ โคลอมเบีย และเม็กซิโก มีผลต่อเสถียรภาพการเมืองระดับชาติประเทศเขา

To Shortchange กับ To Feel Shortchanged

จากการเรียกร้องของสาวๆ (สวยๆ) ไทยโพสต์ ผมขออนุญาตสวมหมวกฟุดฟิดฟอไฟวันหนึ่ง เพื่อพูดคุยและอธิบายสไตล์ของผม ถึงคำที่ปรากฏในช่วงต้นสัปดาห์จากนิตยสาร Time ครับ

ชอบของ World Class ในราคาตำบล

ท่ามกลางอากาศร้อนระอุ ช่วงบรรยากาศสงครามกลางซอยสุขุมวิทซอย 11 (ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องไร้สาระ และเป็นเรื่องไม่ควรให้ราคาก็ตาม) ผมขออนุญาตสวมหมวกคนขี้บ่น