เมื่อ ‘กับดักหนี้’ ปะทะ ‘กับดักประชาธิปไตย’

อเมริกาบอกว่าจีนสร้าง “กับดักหนี้” (debt trap) ให้กับประเทศต่างๆ ที่มาร่วมโครงการ One Belt One Road หรือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

วันนี้จีนฟาดกลับด้วยการกล่าวหาว่าสหรัฐฯ กำลังสร้าง “กับดักประชาธิปไตย” หรือ democracy trap ให้กับประเทศต่างๆ ที่วอชิงตันอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยเพียงเพราะเป็นพวกเดียวกับตน

อเมริกาบอกว่าจีนสร้าง “กับดักหนี้” เพราะเมื่อประเทศต่างๆ ที่จีนชักชวนให้ร่วมสร้างทางรถไฟ, ถนน, ท่าเรือหรือสนามบินเป็นส่วนหนึ่งของ BRI หากไม่มีเงินลงทุน ปักกิ่งก็จะเสนอให้กู้

บางประเทศกลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของจีนเพราะเข้าร่วมโครงการนี้

แต่จีนอ้างว่าที่ให้กู้นั้นเป็นการช่วยเหลือให้ประเทศนั้นๆ สามารถมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของตน

วันนี้เมื่อสหรัฐฯ พยายามจะโอบอุ้มประเทศต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในค่าย “ประชาธิปไตย” โดยที่จีนอ้างว่านั่นคือการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นภายใต้ข้ออ้างคำว่า “ประชาธิปไตย”

ไปๆ มาๆ สหรัฐฯ ก็จะสร้าง “กับดักประชาธิปไตย” ให้กับประเทศต่างๆ เหล่านี้เอง

ต่างคนต่างชี้นิ้วว่าอีกฝ่ายหนึ่งสร้าง “กับดัก” ให้กับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างน่าสนใจยิ่ง

จีนไม่เพียงแต่กล่าวหาสหรัฐฯ ว่าแทรกแซงกิจการภายใต้ประเทศอื่นด้วยการเชิญเพียง 110 ประเทศไปร่วมประชุมสุดยอดประชาธิปไตย 9-10 ธันวาคมนี้เท่านั้น แต่ยังพยายามจะต่อสายถึงประเทศที่อเมริกาไม่ได้เชิญเพื่อปลอบขวัญและชวนมาเป็นพวกเดียวกันเพื่อเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ด้วย

จีนใช้วิธีปรึกษาหารือกับบรรดาประเทศที่ไม่ได้รับเชิญร่วมประชุมสุดยอดประชาธิปไตยเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ว่าพยายามแบ่งแยกโลกใบนี้อย่างไร้ความรับผิดชอบ

ในการประชุมทางไกล 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน รัสเซีย และอินเดีย เมื่อสัปดาห์ก่อนหวัง อี้ บอกว่าสามประเทศมีหน้าที่ต้องคัดค้านการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นภายใต้ข้ออ้างของ “ประชาธิปไตย”

ไต้หวันเป็น 1 ใน 110 ชาติ ที่ไบเดน เชิญให้ร่วมประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยครั้งนี้

แต่จีนไม่ได้อยู่ในรายชื่อ ซึ่งแน่นอนว่าจีนต้องประท้วง

เพราะก่อนหน้านี้วอชิงตันทำท่าว่าจะช่วยนำทางให้ไต้หวันกลับมาสู่ประชาคมโลกด้วยการเสนอให้ไต้หวันสามารถเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่างของเวทีระหว่างประเทศได้

มีหรือที่ปักกิ่งจะอยู่เฉยๆ

นอกจากไต้หวันแล้ว อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศในสหภาพยุโรปต่างก็ได้รับเชิญให้ร่วมประชุม

แต่รัสเซียและประเทศส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางก็ไม่ได้รับเทียบเชิญแต่อย่างไร

จีนกังวลว่าการที่ไต้หวันเข้าร่วมอาจเพิ่มโอกาสให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในการประชุมหรือองค์การระหว่างประเทศมากขึ้น และจะเป็นผลเสียต่อ “นโยบายจีนเดียว” ที่นานาชาติยอมรับ

ภายใต้หลักการที่ว่าจีนเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในเวทีระหว่างประเทศ และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แถลงการณ์หลังการประชุมทางไกลของจีนระบุว่า

 “หวัง อี้กล่าวว่า การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยที่เสนอโดยสหรัฐฯ นั้น โดยสาระสำคัญแล้ว เป็นการยุแหย่ให้เกิดความแตกแยกในโลกภายใต้ร่มธงของประชาธิปไตย อีกทั้งปลุกปั่นให้เกิดการเผชิญหน้าในกลุ่มตามแนวอุดมการณ์ และพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศอธิปไตยอื่นๆ ด้วยสไตล์อเมริกันเพื่อสนองความต้องการทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เพียงฝ่ายเดียว”

รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนต่อสายไปถึงฮุสเซน อามิร์อาบโดลลาเฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน ซึ่งเป็นอีกประเทศที่สหรัฐฯ ไม่ได้เชิญ

จีนบอกว่าอิหร่านก็แสดงท่าทีต่อต้านการกระทำเพียงฝ่ายเดียวและ ‘กลั่นแกล้ง’ นี้

พร้อมประณามสหรัฐฯ ว่า ‘สองมาตรฐาน’ และแทรกแซงกิจการภายในและอธิปไตยของจีน

หวัง อี้ยังได้หารือทางโทรศัพท์กับรองนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ ซิอัด อาบู อามีร์ด้วย

โดยระบุว่า จีนจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนปาเลสไตน์ในการเดินหน้าจัดตั้งรัฐอิสระ

ไม่แต่เท่านั้น หวัง อี้ยังประชุมทางไกลร่วมกับปีเตอร์ ไซจาร์โต รัฐมนตรีต่างประเทศของฮังการี ซึ่งเป็นชาติยุโรปที่ไม่ได้รับเชิญ โดยฝ่ายจีนยกย่องฮังการีที่ยึดมั่นในนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น

เห็นไหมว่าจีนกำลังใช้นโยบายตอบโต้อเมริกาทุกเม็ด...ตรงไหนที่สหรัฐฯ ทิ้งช่องว่างไว้ จีนเข้าเสียบทันที

ตัวอย่างล่าสุดคือทันทีที่รัฐบาลแอฟริกาออกมาประกาศว่ามีความผิดหวังอย่างยิ่งที่ประเทศต่างๆ ทางตะวันตกสั่งห้ามคนจากทางใต้ของแอฟริกาเข้าประเทศเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ Omicron

สี จิ้นผิงก็ประกาศในการประชุม Forum on China-Africa Cooperation (FOCAC) ว่าจะบริจาควัคซีน 1,000 ล้านโดสให้ประเทศในทวีปแอฟริกาทันที

อย่างนี้ไม่ได้ใจประเทศที่กำลังบ่นดังๆ ว่าถูกตะวันตกกลั่นแกล้งก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พม่าจะเดินตามรอยเกาหลีเหนือ? ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์บางสายตั้งคำถามนี้?

เพราะมีข่าวหลายกระแสที่บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่า ผู้นำทหารพม่ากำลังมองคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็น “แม่แบบ” ของการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พยายามจะกดดันให้ต้องยอมเสียงเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย