ยังต้องจับตาดูเศรษฐกิจรอบโลก

ดูเหมือนว่าจะยังมีหลายสถานการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าจับตาดูในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะทางฝั่งของสหรัฐ ที่เฟดเผยว่าอาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงมาก ขณะที่การเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงเรื่องเพดานหนี้อาจใช้เวลานานกว่าคาดอีกด้วย โดยวิจัยกรุงศรีระบุไว้ว่า การเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ระหว่างทำเนียบขาวและพรรครีพับลิกันในวันศุกร์ยังไม่มีความคืบหน้า และอาจต้องนัดเจรจากันใหม่ในสัปดาห์นี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ดัชนีชี้วัดภาพรวมการบริโภคของสหรัฐยังคงอ่อนแอ สะท้อนจากยอดค้าปลีกที่โตช้าสุดในรอบเกือบ 3 ปี และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมที่ปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน บ่งชี้ทิศทางเชิงลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงครึ่งปีหลัง 

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานท่ามกลางอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดในรอบกว่าครึ่งศตวรรษ ช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอยที่รุนแรง วิจัยกรุงศรีประเมินว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนมิถุนายนเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเริ่มเป็นบวก ลดความเสี่ยงในภาคธนาคาร รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐที่มีความอ่อนแอมากขึ้น

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่าตัวเลขจีดีพีกลับมาโตได้เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ไตรมาส จากแรงหนุนของการบริโภคภายในประเทศ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และ 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากหดตัวในช่วง 2 ไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ในเดือนเมษายน ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นสู่ 1.95 ล้านคน จากเดือนก่อนหน้าที่ 1.82 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2561-62 (ก่อนวิกฤตโควิด-19) ด้านดัชนีราคาผู้ผลิตปรับเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.4% และเป็นการชะลอตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 4

ต้องบอกว่าภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นบวกมากขึ้นในไตรมาส 1/66 หลัง GDP กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ไตรมาส จากการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศ ผ่านปัจจัยหนุนการยกเลิกมาตรการป้องกันโควิด รวมถึงการเปิดประเทศซึ่งช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม โดยคาดว่าภาพการฟื้นตัวดังกล่าวจะดำเนินต่อในช่วงครึ่งปีหลังจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต่อเนื่อง รวมถึงแรงกดดันต้นทุนเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง 

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ความเสี่ยงเชิงลบของภาคการส่งออกยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรียังคงให้น้ำหนักน้อยต่อโอกาสในการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่น จากแรงหนุนฝั่งภาคบริการที่คาดว่าจะเข้ามาชดเชยปัจจัยลบดังกล่าว ในส่วนของทิศทางนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะพิจารณายุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในช่วงครึ่งปี หลังจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นสูงกว่าระดับเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% และเพื่อลดแรงกดดันในตลาดพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจจีนขยายตัวต่อเนื่องช่วงต้นไตรมาสสอง แต่เติบโตต่ำกว่าตลาด ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ในเดือนเมษายน ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเติบโต 18.4% และ 5.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เร่งขึ้นจาก 10.6% และ 3.9% ในเดือนมีนาคม ตามลำดับ อัตราการว่างงานลดลงสู่ 5.2% จาก 5.3% ด้าน IMF คาดเศรษฐกิจจีนปีนี้จะเติบโต 5.2% ดีขึ้นจาก 3.0% ในปีที่ผ่านมา โดยจีนจะมีส่วนหนุนอัตราการเติบของเศรษฐกิจโลกถึง 34.9%

ขณะที่เศรษฐกิจไทย ต้องบอกว่าปัจจัยภายนอกและการเมืองในประเทศยังคงกดดันความเชื่อมั่น ขณะที่ภาคท่องเที่ยวชะลอลงเล็กน้อย แต่ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินจากจีน โดยภาคส่งออกที่หดตัวฉุดความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ด้านการเมืองยังมีความเสี่ยงที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะล่าช้า โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายนปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ที่ 95.0 จาก 97.8 ในเดือนก่อน ปัจจัยลบจากการชะลอตัวของภาคการผลิตซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับอุปสงค์ต่างประเทศยังคงอ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต

ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแผ่วลงในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เร่งตัวขึ้นจะเป็นปัจจัยหลักหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย นักท่องเที่ยวจีนยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น วิจัยกรุงศรีคาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นสู่ 14.5 ล้านคนในช่วงครึ่งปีหลัง จาก 12.5 ล้านคนในช่วงครึ่งปีแรก.

 

รุ่งนภา สารพิน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

Gen AI ความท้าทายยุคใหม่

การก้าวตามเทคโนโลยีใหม่อย่าง Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัว โดยไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทที่ใช้แนวทาง "รอดูไปก่อน" จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ระบบดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของโควิด-19

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี

ไทยจะเป็นฮับเอทานอล

ประเทศไทยหลังจากที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งเป้าการทำงานที่หลากหลายและแปลกตามากขึ้น แน่นอนว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว