เริ่มพรุ่งนี้: มาตรการ CBAM ที่กระทบส่งออกไป EU

เส้นตายสำหรับการเริ่มต้นมาตรการของยุโรปอันเกี่ยวกับมาตรฐาน “โลกร้อน” ที่จะกระทบผู้ส่งออกไทยใกล้เข้ามาแล้ว

เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความพร้อม หาไม่แล้วความเสียหายจะตามมาอย่างใหญ่หลวง

สิ่งนั้นเรียกว่า EU-CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้คือ 1 ตุลาคม 2566

ในช่วง 3 ปีแรก จะเป็นการรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้าที่จะนำเข้าไปยัง EU

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานคาร์บอนฟุตพรินต์ (CFP) ที่อยู่ในข่ายเกณฑ์ EU-CBAM มีอยู่เพียง 71 ราย จากผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองฉลาก CFP 306 ราย

ถือว่าเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เข้าข่าย CBAM

เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐต้องเร่งเตรียมความพร้อมในการรับมือ

เพราะ CBAM เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของมาตรการอีกหลายอย่างในลักษณะเดียวกันที่กำลังจะทยอยกันออกมา

จากยุโรปก็จะไปถึงสหรัฐฯ ซึ่งของอเมริกาเขาเรียกว่า US Clean Competition Act หรือ US-CBAM ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 2567

มาตรการ CBAM คือสัญญาณเตือนให้ทั้งโลกที่จะค้าขายกับตะวันตกต้องปรับตัวไปสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว”

โดยเริ่มในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ก่อน

ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2568 สินค้านำเข้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EU ได้แก่ ซีเมนต์ บริการไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเข้มข้นของมาตรการสีเขียว

เพราะยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมของรัฐสภายุโรปซึ่งครอบคลุมไฮโดรเจน

รวมถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรม

เป้าหมายต้องอยู่ภายใต้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) 

นั่นหมายถึงว่า สินค้านำเข้าของผู้ประกอบการส่งออกจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก EU ที่มีราคาสูงกว่า 150 ยูโร ในอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น จะต้องมีการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

และจะพิจารณาบังคับใช้การคิดค่าธรรมเนียมคาร์บอน (CBAM Certificates) ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

ด้านสหรัฐฯ กฎหมาย US Clean Competition Act หรืออาจเรียกว่าเป็น US-CBAM อาจจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2567 กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล

ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ สินค้าใดปล่อยคาร์บอนเกินกว่าพื้นฐานที่กำหนดไว้จะต้องเสียภาษีคาร์บอน

โดยในปี 2567 กำหนดราคาภาษีคาร์บอนไว้ที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอน

ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร?

ผู้ส่งออกสินค้าไปยัง EU และสหรัฐอเมริกาควรเตรียมความพร้อมด้านระบบวัดผล และรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้าตามมาตรฐานที่กำหนด

สำหรับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้องรายงานในปัจจุบัน ทาง EU ยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานชัดเจนอย่างเป็นทางการว่ามีหลักการประเมินอย่างไร

ทางการไทยแจ้งว่า หากเทียบกับการดำเนินงานในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยแล้ว ในเบื้องต้นอาจเทียบเคียงกับหลักการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint: CFP) ของผลิตภัณฑ์

นั่นเป็นเพราะเป็นการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิต ที่เริ่มตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต จนไปสิ้นสุดที่การจัดการของเสียหลังหมดอายุ

เรียกว่าเขาควบคุมกันตลอดทางของกระบวนการผลิตเลยทีเดียว

สภาพความเป็นจริงวันนี้ของไทยเป็นอย่างไร?

ณ วันที่ 15 กันยายน 2566 มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง CFP จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก  (อบก.) จำนวน 7,821 ผลิตภัณฑ์ จาก 1,219 บริษัท (ปี  2556 มีเพียง 326 ผลิตภัณฑ์ 328 บริษัท)

ในจำนวนนี้ หากพิจารณาเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่สถานะอยู่ในสัญญาจะมีเพียง 3,348 ผลิตภัณฑ์ จาก 306 บริษัทเท่านั้น

ทางการพบว่า สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างและผลิตภัณฑ์โลหะได้รับการรับรองมากที่สุด (1,288 ผลิตภัณฑ์ จาก 47 บริษัท)

 รองลงมาคือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (783 ผลิตภัณฑ์ จาก 89 บริษัท) และกลุ่มพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ (200 ผลิตภัณฑ์ จาก 19 บริษัท)

เมื่อพิจารณาเฉพาะสินค้าที่เข้าข่าย CBAM ที่ครอบคลุมเกณฑ์ของ EU และ US พบว่าได้รับการรับรองฉลาก CFP 2,070 ผลิตภัณฑ์ จาก 131 บริษัท หรือคิดเป็น 43% ของจำนวนบริษัทที่ได้รับรอง CFP ณ ปัจจุบัน

แต่หากเปรียบเทียบจำนวนบริษัทที่ขึ้นทะเบียน CFP กับจำนวนบริษัททั้งหมดในแต่ละอุตสาหกรรม พบว่ายังมีสัดส่วนน้อยมาก

อาทิ เหล็กและเหล็กกล้า มีผู้ประกอบการที่ได้รับรอง CFP เพียง 1% จาก 1,716 บริษัท

ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 1.2%

วัสดุก่อสร้าง 1.4%

ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 0.6% 

อะลูมิเนียม 9%

แก้วและกระจกมีผู้ประกอบการเพียง 1 รายที่ได้รับรอง CFP

และสำหรับปิโตรเลียม 6%

นั่นแปลว่ายังมีผู้ประกอบการอีกมากที่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของมาตรการเหล่านี้

หากไม่รีบปรับตัวให้ทันการณ์ ผลเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างมากในวันข้างหน้า

บางคนอาจคิดว่าผลกระทบของมาตรการ EU-CBAM ต่อภาคส่งออกไทยในเบื้องต้นอยู่ในวงจำกัด

อาจจะเป็นเพราะไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักของไทยและ EU ไม่ใช่ตลาดหลักของสินค้าที่เข้าข่าย

และไทยไม่ได้มีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเป็นสัดส่วนที่มากนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

โดยมูลค่าการส่งออกไป EU คิดเป็นเพียงราว 9% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย

อีกทั้งกลุ่มสินค้าหลักที่มาตรการ CBAM ครอบคลุม ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียม มีจำนวนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้เกือบ 2,000 ราย

แต่พบว่าเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์เพียง 25 รายเท่านั้น

และส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่

นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการรายเล็กหรือกลุ่ม SMEs ส่วนใหญ่ยังคงไม่มีความพร้อมรับมือกับมาตรการ CBAM

แต่หากสหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการ US-CBAM ไทยจะได้รับผลกระทบหนักขึ้นแน่นอน

เพราะอเมริกาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนราว 16.5% และกลุ่มสินค้าเป้าหมายที่มาตรการ US-CBAM มีมูลค่าส่งออกรวม 2,839 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  คิดเป็นสัดส่วน 6% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ

และ 1% ของมูลค่าส่งออกโดยรวมของไทย สินค้าที่ส่งออกมากในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า  1,505 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วน 3% ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ)

ตามด้วยอะลูมิเนียม 667 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วน 1.4%) และเคมีภัณฑ์ 551 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วน 1.2%)

ซึ่งเป็นผู้ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์เพียง 67 รายเท่านั้น

และส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อีกเช่นกันที่เตรียมตัวพร้อมกว่า

ภาพรวมสินค้าภายใต้มาตรการ EU-CBAM  และ US-CBAM มีมูลค่าส่งออกรวมกัน 3,542 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.06 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น  1.2% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย

เฉพาะกลุ่มเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในกลุ่ม CBAM จะเห็นได้ว่าในปี 2565 มียอดส่งออกทั้งสิ้น 1,504 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ (22%) ญี่ปุ่น  (9.5%) อินเดีย (6.7%) มาเลเซีย (5.7%) และอินโดนีเซีย  (5.4%)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในภาพรวม อุตสาหกรรมเหล็กส่งออกของไทยไปยัง EU จะมีต้นทุนค่า CBAM Certificates ณ วันนี้ ในเบื้องต้นอย่างน้อยราว 1.5%-1.7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล็กรวมจากไทยไปยัง EU ตามรายการ CBAM หรือคิดเป็นมูลค่าในกรอบราว 167-193 ล้านบาท 

ส่งผลให้ผู้ส่งออกเหล็กไทยไป EU อาจต้องจ่ายค่า  CBAM Certificates ที่ราว 1,338-1,545 บาท/ตันเหล็ก

ทั้งหมดนี้กำลังจะตอกย้ำว่า เรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียว”  ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเป็นเพียงเรื่องของรัฐบาลอีกต่อไป

แต่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจปากท้องของคนไทยทุกคน

หากเราไม่เตรียมพร้อมโดยเฉพาะธุรกิจระดับกลางและเล็ก ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจสูงเกินกว่าที่จะคาดการณ์ได้จริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เวียดนามกวาดล้างโกงกิน ระดับนำร่วงคนที่ 3 ในปีเดียว

เวียดนามเขย่าระดับสูงอย่างต่อเนื่อง...เป็นการยืนยันว่าจะต้อง “ชำระสะสาง” ให้สามารถจะบอกประชาชนและชาวโลกว่ายึดมั่นเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอย่างจริงจัง

สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด

สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น