EPRช่วยธุรกิจสู่ความยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate change ที่รุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนกลายเป็นโจทย์สำคัญให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้ทัน ตามกระแสของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเพราะทรัพยากรที่ใครๆ คิดว่ายังมีเหลือไม่จำกัดกำลังจะหมดลง และที่สำคัญคือ การดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโต โดยเน้นกำไรเป็นหลักนั้นจะไม่ใช่คำตอบของธุรกิจในอนาคต ดังนั้นภาคธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์และทิศทางให้มองความยั่งยืน (Sustainability) ของสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มากขึ้น

ปัจจุบันหลายๆ ประเทศได้พัฒนาเทคโนโลยีและปรับนโยบายให้มุ่ง Net Zero หรือการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และยังประกาศกฎระเบียบใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจหรือผู้ส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อย หรือ SME ที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว เช่นเดียวกับประเทศไทยเองก็เริ่มพัฒนาแผนและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวทางการมีส่วนร่วมของทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน

ดังเช่นกรณีการแก้ไขปัญหาขยะ ได้มีการนำหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) หรือการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตมาเป็นเครื่องมือในการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์และสินค้า เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว นำมาหมุนเวียนใช้ใหม่หรือผลิตใหม่ได้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ดังนั้น เพื่อให้ภาคธุรกิจของไทยเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ภาคเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ TIPMSE เป็นเครือข่ายสำคัญของไทยที่เป็นตัวกลางในการทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจไทยปรับตัวรองรับกติกาสากล โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำหนดเป้าหมายภายในปี ค.ศ.2030 หรือปี พ.ศ.2573 บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในตลาดอียูต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล

พร้อมกันนี้ยังกำหนดให้ปี พ.ศ.2567 ประเทศสมาชิกจะต้องเข้าร่วม โครงการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ EPR เพื่อให้ผู้ผลิตรับผิดชอบตลอดช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์ โดยทยอยเพิ่มสัดส่วนการนำกลับมารีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ปี ซึ่งแม้ว่าอียูจะไม่บังคับใช้กฎหมายนี้กับประเทศที่ 3 ที่เป็นคู่ค้าส่งออกไปยังยุโรป แต่เชื่อว่าในอนาคตจะต้องนำมาใช้แน่นอน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา TIPMSE ได้สร้างความเข้าใจต่อผู้ผลิต และเชิญชวนเข้าร่วมขับเคลื่อนและกำหนดรูปแบบ EPR ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ผลักดันให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ในขั้นของภาคสมัครใจ ผ่านโครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน เพื่อเรียนรู้และเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ภาคบังคับต่อไป

โดยโครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน มีการดำเนินงานใน 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย การพัฒนากลไกด้านนโยบายของประเทศ ตลอดจนการจัดทำระบบฐานข้อมูล, การทดลองดำเนินการเก็บกลับโดยภาคเอกชนในพื้นที่นำร่อง 3 เทศบาล จ.ชลบุรี, การสื่อสารและสร้างความเข้าใจเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ และการขยายความร่วมมือกับผู้ผลิต

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ในงาน SX2023 ได้จัดกิจกรรม PackBack in action รวมพลังขับเคลื่อน Voluntary EPR โดยมีองค์กรเข้าร่วมแสดงเจตจำนงเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 98 องค์กร และมีการประกาศความร่วมมือของ 4 องค์กรภาคี ได้แก่ PPP Plastics, PRO Thailand Network, Aluminium Closed Loop Packaging System (Al Loop) และ TIPMSE PackBack ซึ่งต่างมีโครงการที่ช่วยหนุนเสริมกลไก EPR ให้ได้มาจับมือร่วมกันดำเนินโครงการ EPR ภาคสมัครใจอีกด้วย 

ซึ่ง โฆษิต สุขสิงห์ รองประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธาน TIPMSE ระบุว่า การนำหลัก EPR สู่การขยายเครือข่ายร่วมรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วหลังการบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ จะตอบสนองเป้าหมายในการป้องกันผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

ดังนั้น เครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวนับเป็นเป็นแกนหลักที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่แค่การเพิ่มขีดความสามารถให้กับระดับองค์กร หากแต่จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศเพื่อก้าวผ่านกติกาของโลก อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบเศรษฐกิจที่จะเติบโตแบบยั่งยืนอย่างแท้จริง.

 

บุญช่วย ค้ายาดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

เร่งกระตุ้นอสังหาฯ

อสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ยาว ตั้งแต่ภาคการผลิตต่างๆ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ การท่องเที่ยว ตลอดจนการเงิน หากภาพรวมอสังหาฯ ดีย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมใกล้เคียง แต่หากลบก็กระทบธุรกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่ผลักดันให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ส่งผลกับภาคอสังหาฯ อย่างเห็นได้ชัด