ต้องเอาอย่าง 'ปิยบุตร'

เรามาถึงจุดนี้ได้ไง

จุดที่ต้องลุ้นว่าพรรคฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ของตัวเองได้ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่

สองสามวันมานี้ฟัง "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" พูดถึงบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ ในนามฝ่ายค้านแล้วรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจ

เพราะมันไม่สุด!

เวลาถูกถามเรื่องจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ คำตอบมันไม่ค่อยชัด

เช่นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา คำตอบจากปากของ "เฉลิมชัย" คือ "วันข้างหน้ารัฐบาลจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้จริง"  ก็เพราะแบบนี้แหละครับ ชาวบ้านถึงได้สงสัยท่าทีพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะไปทางไหนกันแน่

ถ้าเป็นคำตอบจาก ประชาธิปัตย์ยุคนายหัวชวน จะชัดเจน ไม่ก็คือไม่ 

ไม่มีกั๊ก!

โดยเฉพาะการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ไม่มีทางเกิดขึ้นได้

แต่ประชาธิปัตย์ยุคนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้

ครับ...การอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๒ ระหว่างวันที่ ๓-๔  เมษายน 

ตลอด ๒ วัน ฝ่ายค้านได้เวลาอภิปราย ๒๒ ชั่วโมง

เป็น ๒๒ ชั่วโมง ที่จะพิสูจน์ว่า ฝ่ายค้านชุดนี้มีดีพอหรือไม่

พรรคก้าวไกล เป็นฝ่ายค้านมาแล้ว และแสดงให้เห็นแล้วในยุครัฐบาลลุงตู่ ที่พวกเขาตราหน้าว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการคอร์รัปชัน

ผลงานไม่เป็นชิ้นเป็นอันนัก

หลักๆ ได้วาทกรรมตั๋วช้างตั๋วม้า แล้วก็เงียบไป

หากเทียบกับประชาธิปัตย์ในยุคตรวจสอบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สามารถลากขึ้นศาล จำคุกกันระนาวตั้งแต่รัฐมนตรี  ข้าราชการ ยันพ่อค้า

มาตรฐานยุคนั้นนำมาสู่การเปรียบเทียบว่าประชาธิปัตย์ยุคนี้ จะยังมีดีพอหรือไม่ ที่จะทำหน้าที่ตวรจสอบรัฐบาล

โดยเฉพาะรัฐบาลระบอบทักษิณ ที่เริ่มต้นด้วยเรื่องอื้อฉาวมากมาย ทั้งในแง่นโยบาย และการถูกครอบงำจากบุคคลภายนอก

แม้การอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๒ ไม่มีการลงมติ แต่ไม่ควรลดราวาศอกให้รัฐบาลหากพบว่า รัฐบาลกำลังจะสร้างความเสียหายให้ประเทศ

ไม่ควรคิดว่าเป็นเวทีทดลองฝีปาก หรือแค่ตักเตือนรัฐบาล

ขึ้นชื่อว่าการตรวจสอบ ต้องใส่เต็ม ไม่มีกั๊ก

หลังจากสัมภาษณ์วันเสาร์ดูยังกั๊กๆ วันอาทิตย์ "เฉลิมชัย" เลยต้องซ้ำอีกครั้ง

"...การอภิปรายเราทำเต็มที่ ๑๐๐% ไม่ต้องเป็นห่วง  และขอให้มั่นใจว่า ยี่ห้อพรรคประชาธิปัตย์ ยี่ห้อท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไม่มีมวยล้มอยู่แล้ว..."

"...เราก็ท้วงติง ไม่ใช่จะไปฆ่ากัน แต่เป็นการท้วงติงในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และทำในสิ่งที่ทำให้ประชาชนและประเทศชาติเสียหาย เราก็ต้องพูดในฐานะที่เป็นฝ่ายค้าน ต้องช่วยฝ่ายบริหารดูว่าท่านทำอะไรไม่ถูกต้องบ้าง หรือมีอะไรที่ควรจะทำบ้าง ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่ ถ้าปล่อยไปอาจถึงขั้นทำให้ประเทศชาติเสียหายได้ ไม่เช่นนั้นพวกผมคงไม่พูดถามว่าหากนายกฯ รับฟังแล้วต้องกลับมาคิดใช่หรือไม่ เราก็พูดให้นายกฯ ฟังอยู่แล้ว..."

ก็อย่างที่บอก เรามาถึงยุคที่ต้องถามพรรคประชาธิปัตย์ว่า ค้านเต็มที่จริงหรือไม่ นั่นก็เพราะไม่มีความเชื่อมั่น

ขึ้นชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ว่าจะ "ไม่ลงมติ"  หรือ "ลงมติ" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๒ คือมาตรการตรวจสอบรัฐบาลขั้นสูงสุด ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจฝ่ายค้าน ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

หากคิดแค่จะท้วงติง ฝ่ายค้านสามารถยื่นกระทู้ถามได้

เวทีซักฟอกรัฐบาลไม่ใช่เวทีสำหรับการเตือน

แต่เป็นเวทีที่ต้องจับรัฐบาลขึ้นเขียง

และคงจะเป็นครั้งแรกในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม่ทัพในการอภิปราย ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค

แต่เข้าใจได้ "เฉลิมชัย" ไม่ใช่มืออภิปราย

และเข้าใจได้เช่นกันว่า พรรคประชาธิปัตย์ยุคนี้ ไม่เหมือนยุคก่อน

สำหรับพรรคก้าวไกล น่าจับตามองไม่แพ้กัน เพราะไฮไลต์การอภิปรายในครั้งนี้ น่าจะเป็นปัญหากระบวนการยุติธรรม ที่เกี่ยวข้องกับ "นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร"

หากพรรคก้าวไกลไม่แตะเรื่องนี้ จะกลายเป็นพรรคฝ่านค้านที่รอฉวยโอกาสทางการเมืองไปในทันทีเท่านั้นเอง

และมีแนวโน้มว่าพรรคก้าวไกล อภิปรายแบบฉาบฉวยไม่ลงลึกกรณี "นักโทษชายทักษิณ" มากนัก เพราะมีการส่งสัญญาณจากบรรดาผู้นำจิตวิญญาณของพรรคก้าวไกลมาเป็นระยะๆ ว่า "นักโทษชายทักษิณ" เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร

นับแต่พรรคอนาคตใหม่ มาถึง พรรคก้าวไกล จึง แทบไม่มีการพูดถึงการคอร์รัปชันของระบอบทักษิณเลย นั่นเพราะเชื่อว่าทุกอย่างเกิดจากข้ออ้างในการทำรัฐประหาร

การมองปัญหามิติเดียวของพรรคก้าวไกล จึงเป็นการทำลายบทบาทตัวเองในฐานะพรรคฝ่ายค้าน เพราะระบอบทักษิณคือการเชื่อมโยงอำนาจร่วม ๒๐ ปี

รัฐบาลเศรษฐา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณเท่านั้น

และระบอบทักษิณได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทันทีที่อำนาจตกอยู่ในมือ พร้อมจะทำทุกอย่างแม้กระทั่งความย่อยยับของกระบวนการยุติธรรม         

วันนี้ขอชม "ปิยบุตร แสงกนกกุล" สักครั้งเถอะครับ

เขียนถึงการอภิปรายในสภาได้โดนใจจริงๆ

 "...ผมมีโอกาสค้นหาคลิปการอภิปรายในสภาในสมัยก่อนมาดูเพลิน ทำให้นึกถึงสมัยเรียนมัธยม สมัยเรียนมหาวิทยาลัย มีการอภิปรายญัตติสำคัญเมื่อไร ต้องเกาะขอบจอ บางวันก็โดดเรียนไปนั่งดูทั้งวัน สส.สมัยก่อน ตั้งแต่ คุณสมัคร สุนทรเวช คุณชวน หลีกภัย คุณอุทัย  พิมพ์ใจชน คุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี คุณจาตุรนต์ ฉายแสง  คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิปรายกันยาว แต่ไม่น่าเบื่อ และที่สำคัญ ไม่มีโพย ไม่ถือกระดาษอ่านแบบคำต่อคำ (สมัยนี้ คือ แท็บเล็ต คอม) ไม่ต้องขึ้นจอสไลด์แล้วอ่านตาม แตกต่างกับ สส.รุ่นใหม่ๆ ในยุคปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ถือกระดาษ  เปิดคอม เปิดไอแพดอ่าน และขาดเสียมิได้ ต้องฉายสไลด์

อันนี้คงเป็นรสนิยมส่วนบุคคลของผมเอง ผมชอบดู/ฟังการอภิปรายแบบไม่มีโพย ไม่มีสไลด์ ไม่เปิดคอมอ่าน มากกว่า เท่าที่ผมติดตามการประชุมสภาที่อื่นๆ ก็ไม่ค่อยพบเห็นการใช้สไลด์กัน

ผมเห็นว่า การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การนำเสนอรายงานหน้าชั้นเรียน ไม่ใช่การทำสไลด์เสนอโครงการต่อผู้บริหาร

การอภิปรายในสภาต้องประกอบทั้งอวจนภาษาและวจนภาษา มีแอ็กติ้งท่าทางที่แสดงถึงการสื่อสารกับประชาชน และเพื่อนสมาชิก พร้อมด้วยข้อมูลที่เรียงลำดับวางโครงอย่างเป็นระบบ

ต้องออกเสียงชัดถ้อยชัดคำ ร.เรือ ล.ลิง ควบกล้ำ มีไหวพริบ ปฏิภาณ ลูกเบียด ลูกล่อลูกชนกับฝ่ายตรงข้าม  ต้องพูดจบให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องเร่งสปีดการอภิปรายจนฟังไม่ทัน

รวมทั้งต้องมีการตกแต่งเติมสำนวนให้พอเหมาะพอดี แบบคำเดียว ประโยคเดียว ผู้ฟังเห็นภาพ

สัปดาห์หน้า มีการอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา  ๑๕๒ ผมอยากเห็น สส.ก้าวไกลพัฒนาตนเองขึ้นไปอีก เลิกใช้โพย เลิกอ่านจากคอม และลองลดเลิกการใช้สไลด์ดูบ้างครับ

ถ้าเราอินหมกมุ่นเข้าใจกับเรื่องที่เราจะพูด อย่างไรก็จะจำได้เอง ถ้าเตรียมข้อมูลเอง เตรียมบทอภิปรายเอง อย่างไรเสียก็ไม่มีทางพูดติดขัด

ผมอยากเห็นบรรยากาศการอภิปราย แบบอภิปรายในสภาจริงๆ แบบในสภายุคก่อนๆ บ้าง มิใช่ อภิปรายที่เหมือนกับการนำเสนอรายงานในห้องบรรยายหรือในห้องประชุมในบริษัท ดังที่ปรากฏให้เห็นมากมายในยุคปัจจุบัน

ขอเป็นกำลังใจให้ สส.พรรคก้าวไกลทุกคนในการปฏิบัติหน้าที่ในสภาครับ..."

ครับ...ถ้าได้ตามนี้การอภิปรายในสภาฯ คุณภาพคับแก้วแน่นอน

แต่...จะทันหรือครับ

เพราะที่เตรียมมาอยู่ในไอแพดกับสไลด์หมดแล้ว

ท่องไปด้นสดไม่ทันแน่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทันเหลี่ยม 'ธนาธร'!

คงจะห้ามไม่อยู่ กกต.เตือนว่าห้าม จัดแคมเปญ จูงใจ ชี้ชวน รวบรวมบุคคลจากหลากหลายอาชีพ รวม ๒๐ กลุ่ม ให้เป็นผู้เสนอตัวสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ

ยิ่งปรับยิ่งชินวัตร

ยังเป็นที่คาใจกันอยู่ การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ของ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" เพียงไม่กี่ชั่วโมงนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่

'ครม.ทักษิณาฐา'

ส่องกันอยู่ร่วมเดือน รัฐมนตรี ว่าที่รัฐมนตรี ลุ้นกันชนิดกินข้าวไม่ได้นอนไม่หลับกันหลายวัน เพราะคนที่อยู่ไม่รู้ว่าจะหลุดหรือไม่ ส่วนคนมาใหม่ไม่รู้จะได้เสียบหรือเปล่า

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี