วิกฤตพม่าจากมุมมองของจีน

ถ้าถามว่าทำไมจีนจึงมีความกังวลกับสงครามในเมียนมาอย่างมาก ดูจากภาพนี้ก็จะเข้าใจ

จีนวางท่อส่งน้ำมันและก๊าซจากอ่าวเบงกอลในมหาสมุทรอินเดียพาดผ่านพม่าตลอดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงคุนหมิงทางใต้ของจีนเลยทีเดียว

หากมีการสู้รบเกิดขึ้นที่ไปกระทบถึงท่อส่งก๊าซหรือน้ำมันก็จะมีผลกระทบโดยตรงทันที

แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้ปักกิ่งต้องคอยเตือนทุกฝ่ายในพม่าว่าอย่าให้การสู้รบบานปลายกลายเป็นวิกฤตยาวนาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้กองบัญชาการละครภาคใต้ของกองทัพจีน ประกาศว่าได้จะจัดกำลังทหารบกและกองทัพอากาศซ้อมป้องกันภัยทางอากาศด้วยกระสุนจริงตามแนวชายแดนจีน-พม่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 17เมษายนที่ผ่านมา

ซึ่งถือเป็นการฝึกซ้อมครั้งที่ 3 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา

การฝึกซ้อมทางทหาถี่เช่นนี้ของจีนไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเป็นเพียงการฝึกซ้อมธรรมดา

แต่เป็นเพราะสถานกรณ์ที่ผัวผวนปรวนแปรอย่างหนักในพม่า

นักรบชาติพันธุ์อาระกันหรือ AA ยึดพื้นที่ในรัฐยะไข่ซึ่งเป็นเส้นทางพาดผ่านของท่อส่งน้ำมันและก๊าซที่สำคัญของจีน 

อีกทั้งฝ่ายกะเหรียงหรือ KNU สามารถยึดเมืองเมียวดีตรงข้ามกับแม่สอดจังหวัดตากของไทย

เมียวดีเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญใกล้ชายแดนไทย และยังมีการสู้รบต่อเนื่องเพราะกองทัพพม่าต้องการจะตีคืนเมืองขณะที่ฝ่ายต่อต้านดูจะสร้างความได้เปรียบเพราะสามารถสร้างกองกำลังผสมระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงกับ “กองกำลังพิทักษ์ประชาชน” หรือ PDF ของรัฐบาลคู่ขนาน NUG ที่มีประสิทธิภาพในการสู้รบพอสมควร

อีกด้านหนึ่งนักรบ KIA ก็สามารถยึดเมืองลเวเจอันเป็นเมืองค้าขายที่สำคัญในรัฐกะฉิ่นที่ติดชายแดนจีนได้อีกด้านหนึ่ง

ไม่มีข้อสงสัยว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับพม่านั้นมีความลึกซึ้งและซับซ้อน

ยอดเงินรายได้ของทุกฝ่ายมีจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนอย่างเปิดเผยหรือกิจกรรมผิดกฎหมายที่แฝงมาในรูปแบบต่าง ๆ

มองในแง่ยุทธศาสตร์ ปักกิ่งไม่น่าจะยอมให้ระบอบการปกครองล่มสลายโดยสิ้นเชิง 

เพราะจะเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ทางการเงินที่สำคัญของจีน 

  นักวิเคราะห์ที่เกาะติดสถานการณ์มองว่าจีนกำลังเล่นเกมอันชาญฉลาดในการรักษาสมดุล 

โดยไม่ปล่อยให้ระบอบการปกครองที่ทุจริตของพม่าลืมครืนลงไปแต่ก็ไม่ให้เจริญรุ่งเรืองจนมีอำนาจต่อรองสูงเกินควร

จากพฤติกรรมอันเป็นประจักษ์ก็พอจะมองเห็นว่าจีนใช้นโยบายผสมผสานหลายด้านต่อสถานการณ์ในพม่าขณะนี้

ปักกิ่งแสดงจุดยืน “แบบผู้ใหญ่” ที่ไม่กระโดดเข้าข้างใดข้างหนึ่งอย่างชัดเจนมากนัก

โดยทางการปักกิ่งสนับสนุนรัฐบาลทหาร แต่ก็ยังสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ทรงอิทธิพลบางกลุ่มของเมียนมาด้วย 

เป็นท่าที “เข้าใจทุกฝ่าย” เพื่อปกปักรักษาอิทธิพลของจีนในพม่า 

ไม่ว่าฝ่ายใดชนะ หรือเพลี่ยงพล้ำ จีนก็จะยังอยู่ในฐานะกำหนดทิศทางของเหตุการณ์ในพม่าได้ อย่างน้อยก็ระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

เพราะ “ผู้เล่น” ในเกมอำนาจพม่ามีมากมายหลายด้านด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย, อินเดีย, สหรัฐฯ, ยุโรปตะวันตก, ไทย, อาเซียนและบังคลาเทศ

ปัญหาใหญ่ที่สร้างความซับซ้อนในการแก้ปัญหาสำหรับจีนและตัวละครต่าง ๆ ในพม่าคือความล้มเหลวในการกำกับดูแลของรัฐบาลทหารพม่าในการระงับยับยั้งการค้ามนุษย์ข้ามพรมแดนและการหลอกลวงทางไซเบอร์ 

ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทั่วโลก

กิจกรรมใต้ดินและบนเดินที่เป็นอาชญกรรมข้ามชาติเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคนจีนและประชาชนในย่านนี้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มอาชญากรจีนหรือ “ทุนสีเทา” ที่แพร่หลายกระจายตัวไปยังหลาย ๆ ประเทศในแถบนี้

ปัญหาที่ว่านี้คือความท้าทายด้านเสถียรภาพ, ความปลอดภัยและและการแพร่กระจายขององค์กรอาชญากรรม

สภาพไร้ขื่อไร้แปใกล้ชายแดนเมียนมาที่ติดกับไทยและจีนส่งผลให้มีกิจกรรมที่ผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น 

เจ้าหน้าที่จีนยอมรับว่าองค์กรอาชญากรรมของจีนฝังลึกอยู่ในเมียนมามายาวนาน

ไม่เพียงแต่มีผลท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงในระดับภูมิภาคอีกด้วย

ในอีกแง่หนึ่งผู้นำทางทหารของเมียนมาก็ตระหนักถึงความจำเป็นในการที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากจีน 

ผู้นำรัฐประหาร มิน ออง หล่าย เกาะติดทางการจีนมาตลอดเพื่อให้แน่ใจว่าจะยังได้รับการเกื้อหนุนจากจีนโดยเฉพาะในระดับสูง

ยอมแม้กระทั่งพร้อมจะฟื้นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่เคยเป็นข้อขัดแย้งเพื่อแลกกับการที่ได้มีโอกาสไปเยือนปักกิ่งเพื่อแสดงตนให้ผู้นำจีนได้เห็นความพร้อมจะเอื้อต่อประโยชน์จีนในพม่า

ในแง่ผลกระทบระยะยาว การที่จีนใช้การทูตเพื่อเชื่อมต่อกับทั้งฝ่ายกองทัพและนักรบกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้มแข็งในเมียนมาก็เป็นการรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจในประเทศนั้น

ทางการจีนเผยแพร่รูปชุดที่เอกอัคราชทูตจีนประจำเมียน Chen Hai ไปคารวะอดีตผู้นำทหารพม่าอย่างตาน ส่วย, หม่องเอ, และเต็งเส่งในโอกาสปีใหม่พม่า (ตรงกับสงกรานต์ไทย) ก็ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าปักกิ่งอาจจะกำลังปรึกษากับเหล่าผู้มีบารมีของเมียนมาว่าจะวางหมากต่อไปของพม่าอย่างไร

อีกทั้งจีนก็ต้องเหลือบไปดูอินเดียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของพม่าอีกด้านหนึ่งอย่างเพ่งพินิจเหมือนกัน

เพราะสองยักษ์แห่งเอเชียต่างคนต่างก็จับตาดูอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ให้มีอิทธิพลสูงเกินกว่าตนในการกำหนดทิศทางของสถานการณ์ในเมียนมาเช่นกัน

จึงเป็นเรื่องที่ไทยเราจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ต่อพม่าด้วยการจับเอาประเด็นทั้งหมดนี้มาพิจารณาประกอบอย่างมืออาชีพและไม่ผูกติดเพียงกับความสัมพันธ์กองทัพกับกองทัพอย่างที่เคยเป็นมาอย่างยาวนานตลอด

เพราะปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจกำลังจะมีความสำคัญเทียบเคียบกับข้อพิจารณาด้านความมั่นคงอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เวียดนามกวาดล้างโกงกิน ระดับนำร่วงคนที่ 3 ในปีเดียว

เวียดนามเขย่าระดับสูงอย่างต่อเนื่อง...เป็นการยืนยันว่าจะต้อง “ชำระสะสาง” ให้สามารถจะบอกประชาชนและชาวโลกว่ายึดมั่นเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอย่างจริงจัง

สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด

สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น