ทรัมป์อาจถูกลอบสังหารอีก

น่าติดตามว่าหากชนะเลือกตั้ง ทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐที่ถูกลอบสังหารอีกคนหรือไม่ เพราะเหตุใด ควรอธิบายอย่างไร

Paul Craig Roberts อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังชี้ว่า ถ้าฟังจากเสียงปืน คนยิงมีมากกว่า 1 คน ทรัมป์รอดมาได้เพราะจังหวะเอียงศีรษะ เหตุผลที่ Crooks ผู้ลอบสังหารสามารถอยู่ที่จุดยิงยังสับสน เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน ยังไม่สามารถให้เหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไมอยู่ที่จุดยิงซึ่งใกล้ตัวทรัมป์

Roberts อ้างคำพูดของ John Brennan อดีตผู้อำนวยการ CIA ที่เคยพูดว่าทรัมป์ “คนทรยศอเมริกา” (‘traitor to America’) เป็นความคิดของกลุ่มผู้กุมอำนาจประเทศที่เห็นว่าจำต้องกำจัดคนทรยศ


ภาพ: หน้าตาปืน AR-15 ที่ใช้ยิงทรัมป์

เครดิตภาพ: https://www.northjersey.com/story/news/2024/07/13/trump-rally-shooting-ar-15/74397437007/?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTEAAR0DjZC_XDSA39xWQQs5KSzjncVPfL0UeFfFGQCHZyM3A53UkSyQE4VxOzw_aem_IQz8fTGpIRPcti5sQKmnWg

Ray McGovern จาก Veteran Intelligence Professionals for Sanity คิดว่าถ้าตั้งใจลงมือแล้วน่าจะหาทางลงมืออีกจนสำเร็จ นอกจากวิธีนี้ไม่มีวิธีอื่นที่จะขัดขวางทรัมป์ หลังพยายามเล่นงานด้วยกฎหมายแต่ไม่สำเร็จ

ถ้าใช้แนวทฤษฎีสมคบคิดที่เชื่อว่ารัฐพันลึกอยู่เบื้องหลังการลอบสังหาร มีผู้คิดว่าทรัมป์อาจโดนลอบสังหารอีก จำต้องหยุดทรัมป์ให้ได้ บทความนี้นำเสนอการอธิบายตามแนวทางทฤษฎีสมคบคิด

สหรัฐที่อยู่ใต้รัฐพันลึก:

Deep State บางท่านแปลเป็นไทยว่า “รัฐพันลึก” คือ อำนาจแฝงที่ควบคุมรัฐอีกทอดหนึ่ง มีกลุ่มชนชั้นการเมือง (a permanent political class) ในวอชิงตันที่ยึดว่าพวกเขามีสิทธิ์ปกครองคนอเมริกัน

เป็นการปกครองลับที่ไม่ปรากฏตามหลักรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดๆ ดังนั้นจึงไม่เป็นประชาธิปไตย หรือกล่าวว่าเป็นประชาธิปไตยแบบหลอกๆ ผู้ปกครองตัวจริงไม่ใช่ประชาชน

ผู้บริหารจัดการรัฐซ้อนรัฐจะเป็นใครก็ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นองค์กร รวมเป็นกลุ่มก้อน อาจประกอบด้วยนักการเมือง ผู้มีอำนาจในกองทัพ เจ้าหน้าที่พลเรือน นายทุนใหญ่ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบรรษัทข้ามชาติ อุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร ตลาดหุ้น

กันยายน 2018 เควิน แมคคาร์ธีย์ (Kevin McCarthy) สส.แกนนำพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า บทบรรณาธิการที่ลงใน The New York Times เป็นหลักฐานชี้ว่าประเทศมีรัฐพันลึก เป็นที่ชัดเจนมาหลายปีแล้วว่ามีกลุ่มชนชั้นการเมืองในวอชิงตันที่เชื่อว่าพวกเขามีสิทธิ์ปกครองคนอเมริกัน

สส.แมคคาร์ธีย์ไม่ใช่คนเดียวที่คิดเช่นนั้น ในเหตุลอบสังหารทรัมป์พวกรีพับลิกันหลายคนชี้ว่าเรื่องนี้เป็นฝีมือองค์กรลับผู้กุมอำนาจประเทศ ลดทอนความน่าเชื่อถือของสถาบันการเมือง สถาบันศาล อำนาจชนชั้นปกครองลงไปอีก ทั้งๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ตามกฎหมาย

ทำไมต้องกำจัดทรัมป์:

ความพยายามกำจัดทรัมป์ปรากฏตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก

กันยายน 2018 สื่อ The New York Times เผยคำพูดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งว่า ตนและพวกอีกหลายคนพยายามขัดขวางประธานาธิบดีที่มักทำอะไรผิดๆ เป็นอันตรายต่อประเทศ

เขาไม่ได้ทำงานคนเดียวแต่ร่วมกันหลายคนเป็นเครือข่าย เพื่อปกป้องประเทศอันเป็นหน้าที่สำคัญที่สุด พวกเราหวังให้รัฐบาลประสบความสำเร็จ คนอเมริกันปลอดภัยและมั่งคั่งกว่าเดิม ช่วยปกป้องรักษาสถาบันประชาธิปไตย พวกเขาทำเช่นนี้เพื่อปกป้องประเทศ ปฏิบัติตามมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ ตรงข้ามกับทรัมป์ที่กำลังทำให้ประเทศชาติเสียหาย มีการหารือใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 25 เพื่อขับทรัมป์ออกจากตำแหน่ง

ต้นเหตุมาจากการที่ประธานาธิบดีขาดศีลธรรม (amorality) ไม่แยกแยะผิดชอบชั่วดี เป็นคน “มองผู้อื่นเป็นศัตรู” (adversarial) “คับแคบ เห็นแก่ตัว” (petty) “ไร้ความสามารถ” (ineffective) “ไร้ศีลธรรม ไม่รู้จักผิดชั่ว” (amoral) มักตัดสินใจอย่างมุทะลุ (impetuous) ไม่ใช้เหตุผล

บทบรรณาธิการของ The New York Times ออกตามหลังหนังสือ  “Fear” ของ Bob Woodward เพียง 1 วัน ทั้งสองบรรยายภาพหนึ่งตรงกันว่า ทีมงานทำเนียบขาวหลายคนพยายามป้องกันไม่ให้ประธานาธิบดีทำสิ่งที่ทำร้ายประเทศ บางคนถึงกับขโมยเอกสารออกจากโต๊ะประธานาธิบดีเพื่อป้องกันไม่ให้ท่านลงนามซึ่งทรัมป์ปฏิเสธ “ไม่มีใครหยิบอะไรออกจากโต๊ะของผม”

คิดว่าทรัมป์จะขจัดหรือปฏิรูปรัฐพันลึก:

ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าทรัมป์จะขจัดหรือปฏิรูปรัฐพันลึก หลายปีที่ผ่านมาทรัมป์พูดเสมอว่าระบบการเลือกตั้งฉ้อฉล ไม่เชื่อมั่นสถาบันต่างๆ ศาล สื่อกระแสหลัก คิดว่าทั้งหมดอยู่ใต้อำนาจองค์กรลับ ตนถูกอำนาจลับนี้เล่นงานมาตลอด

ดังนั้น หากจะสร้างชาติต้องจัดการรัฐพันลึกให้ได้ ให้ประเทศเป็นของพลเมืองอเมริกันอย่างแท้จริง

ก่อนเหตุลอบสังหาร 13 กรกฎาคม 2024 กระแสทรัมป์มาแรง ความกังวลว่าทรัมป์จะกลับมาอีกสมัยเป็นเหตุกำจัดทรัมป์

ทำไมการป้องกันจึงหละหลวม:

Katherine M FitzGerald เก็บรวบรวมข้อมูลออนไลน์ พบเรื่องราวการลอบสังหารทรัมป์ในแนวทฤษฎีสมคบคิดหลายแบบ ชี้ว่าผู้ก่อเหตุไม่ได้ตัวคนเดียว เป็นแผนร้ายของกลุ่มที่วางแผนมาอย่างดี

แนวทางแรกอธิบายว่าเป็นฝีมือของพรรครีพับลิกัน ระบุว่าทรัมป์เริ่มเลือดออกตอนยกมือไปจับคาง สรุปง่ายๆ ว่าทรัมป์ป้ายเลือดปลอมใส่ตัวเอง

แนวทางที่สองพูดเป็นนัยว่าเป็นฝีมือรัฐบาลไบเดน อธิบายว่าหน่วยรักษาความปลอดภัยตั้งใจเปิดทางให้ยิง เป็นไปไม่ได้ที่มือปืนสามารถเดินทางไปจุดซุ่มยิงบนหลังคาโดยเจ้าหน้าที่ไม่รู้ไม่เห็น

Kimberly Cheatle ผู้อำนวยการหน่วยสืบราชการลับ (Secret Service Director) ยอมรับว่า 1 ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่รับรู้ว่ามือปืนมีพฤติกรรมต้องสงสัยหลายอย่าง

Jamie Raskin สส.เดโมแครตตั้งคำถาม เป็นไปได้อย่างไรที่หนุ่มอายุ 20 ปี หยิบปืน AR-15 ของบิดาปีนขึ้นหลังคาที่ห่างจากผู้ปราศรัย (ทรัมป์) เพียง 150 หลา ทำไมการป้องกันจึงหละหลวมขนาดนั้น

จากเหตุลอบสังหารทรัมป์ Cheatle ผู้อำนวยการหน่วยสืบราชการลับยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดร้ายแรงในรอบหลายทศวรรษ หน่วยงานตนยอมรับผิดโดยไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ และลาออกในเวลาต่อมา

คำถามคือ ทั้งที่รู้ว่ามือปืนมีพฤติกรรมน่าสงสัยแต่ยังปล่อยผ่าน ทำไมไม่เข้าไปตรวจสอบ

อีกประเด็นคือ บางคนพยายามหาหลักฐานว่ากระสุนยิงออกจากปืนมากกว่าหนึ่งกระบอก Andy Biggs สส.รีพับลิกันตั้งข้อสงสัยเรื่องนี้ว่าอาจมีมือปืนอีกคน

การจะยอมรับหรือเชื่อแนวทางใดอาจเกี่ยวข้องกับความชอบพอพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ กองเชียร์ทรัมป์บางคนอาจชี้นิ้วกล่าวหาไบเดน ส่วนกองเชียร์ไบเดนบางคนอาจชี้นิ้วว่าทรัมป์ทำเอง แต่หลายคนอาจเชื่อโดยตีความบนหลักอื่นๆ เช่น มีองค์กรลับที่กุมอำนาจรัฐ องค์กรนี้กุมอำนาจประเทศเบ็ดเสร็จหรือเกือบเบ็ดเสร็จ คนอเมริกันจะสุขหรือทุกข์อยู่ที่องค์กรลับนี้ บางคนคิดว่าการเลือกตั้งเป็นของจอมปลอม เพราะองค์กรลับจะกำหนดว่าใครจะชนะ

ที่น่าตกใจคือคนอเมริกันหลายสิบล้านคนสนใจและเชื่อทฤษฎีสมคบคิด แม้ตัวทฤษฎีมีหลายแนวทาง อธิบายหลายแบบที่ขัดแย้งกันเอง (กรณีลอบยิงทรัมป์คือใครบงการ ฝ่ายรีพับลิกัน เดโมแครต หรือองค์กรลับ)

ไม่ว่าจะย้อนแย้งขัดแย้งอย่างไร คนอเมริกันหลายสิบล้านฟังทฤษฎีสมคบคิดมากกว่าคำชี้แจงจากหน่วยงานรัฐ เป็นสังคมที่คนนิยมเรื่องแบบนี้

คนเหล่านี้มักหวาดระแวงอำนาจรัฐบาลสหรัฐ ไม่เชื่อมั่นพรรคการเมือง ไม่เชื่อมั่นสถาบันต่างๆ แม้กระทั่งศาล เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของเสรีประชาธิปไตยสหรัฐในปัจจุบัน ถ้ามองในมุมการเมืองการปกครอง Katherine M FitzGerald เตือน “การเมืองประชาธิปไตยสหรัฐ” ในอนาคตจะเป็นเช่นไร น่าเป็นห่วงแค่ไหน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถอนตัวจากการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว พวกเดโมแครตมอบให้รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) แทนไบเดน อยู่ระหว่างการปรับแผนหาเสียง แม้ทั้งสองพรรคล้วนมีสิทธิ์ชนะแต่ต้องยอมรับว่ากระแสทรัมป์มาแรง น่าติดตามว่าหากชนะเลือกตั้งทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐที่ถูกลอบสังหารอีกคนหรือไม่ เพราะเหตุใด ควรอธิบายอย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง

สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด

ฮิซบุลเลาะห์-อิสราเอลจากเริ่มรบสู่หยุดยิง

ถ้าคิดแบบฝ่ายขวา อิสราเอลที่หวังกวาดล้างฮิซบุลเลาะห์ การสงบศึกตอนนี้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และฮิซบุลเลาะห์กำลังเปลี่ยนจุดยืนหรือ

เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21

BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ

ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)

เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง

เลือกตั้งสหรัฐ2024เลือกสังคมนิยมหรือฟาสซิสต์

ทรัมป์ชี้ว่าแฮร์ริสเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนแฮร์ริสชี้ว่าทรัมป์เป็นเผด็จการ สหรัฐกำลังเข้าสู่การเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”