จบแล้วครับ!
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยคะแนน ๕ ต่อ ๔ เสียง ให้ "เศรษฐา ทวีสิน" พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการเฉพาะตัว
หมายความว่า พ้นตำแหน่งในทันที
เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
หลังจากนี้ สส.จำนวน ๕๐๐ คนต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่
ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
เป็นคำถามที่แทบทุกคนอยากรู้
บางสำนักข่าวบอกว่ามี ๕ คนที่อยู่ในข่าย
บางสำนักบอกว่า ๖
หากนับตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แท้จริงจะมี ๗ คน พรรคเพื่อไทย ๒ คน คือ แพทองธาร ชินวัตร และ ชัยเกษม นิติสิริ
พรรคภูมิใจไทย มี ๑ คน อนุทิน ชาญวีรกูล
พรรคพลังประชารัฐ มี ๑ คน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พรรคประชาธิปัตย์ มี ๑ คน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
พรรครวมไทยสร้างชาติ มี ๒ คน คือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แม้ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ท่านเป็นองคมนตรี แต่ยังมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่ ก็มีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน
เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เมื่อปี ๒๕๔๙ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็เคยพ้นจากตำแหน่งองคมนตรี เพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาแล้ว
ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ณ วันนี้ยังไม่มีใครตอบได้
แต่สถานการณ์ในปัจจุบันการเลือกนายกฯ คนใหม่ ไม่อาจรีรอได้ เพราะมีสารพันปัญหารอแก้ไขอยู่ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน
โครงสร้างรัฐบาลใหม่น่าจะยังคงยึดโครงสร้างเดิม คือ ๑๑ พรรค ๓๑๔ เสียง
แต่คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
"นักโทษชายทักษิณ" ที่ว่ากันว่าเป็นผู้คุมอำนาจที่แท้จริงของพรรคเพื่อไทย จะตัดสินใจส่งลูกสาวเป็นนายกรัฐมนตรี ในสถานการณ์ทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงเช่นนี้หรือไม่
หรือ "นักโทษชายทักษิณ" ยังเป็นผู้ที่คุมเกมทั้งหมดอยู่หรือไม่
การที่ "เศรษฐา" ไม่รอด สะท้อนการเมืองหลายสถานการณ์ทางการเมือง หนึ่งในนั้นเป็นการอธิบายถึงสถานะที่แท้จริงของ "นักโทษชายทักษิณ"
ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จึงมีเหตุปัจจัยให้ต้องพูดถึงมากกว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยปกติทั่วไป
เป็นไปได้หรือไม่ที่นายกรัฐมนตรี จะไม่ได้มาจากพรรคอันดับ ๑
ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๘ พรรคประชาธิปัตย์ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่ง แต่ที่สุดก็รวมเสียงตั้งรัฐบาลไม่ได้
เปิดโอกาสให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่มี สส.เพียง ๑๘ ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งพรรคตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
แต่รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทำงานได้ไม่ถึง ๑ ปีก็ต้องยุบสภา เพราะปัญหารุมเร้าร้อยแปดพันเก้า
ชื่อ "อนุทิน ชาญวีรกูล" ดูจะแรงขึ้นมา
แต่ก็ไม่ง่าย เพราะการเมืองในบริบทปัจจุบัน แตกต่างจากการเมืองปี ๒๕๑๘ อย่างสิ้นเชิง
การที่พรรคเพื่อไทยจะสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้พรรคภูมิใจไทย คงต้องอธิบายเหตุผลกับ สส.และมวลชนพรรคเยอะพอควร
เพื่อไม่ให้มีคลื่นใต้น้ำ
ซึ่งไม่ง่ายเลย
แต่การส่ง "อุ๊งอิ๊ง" เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานี้ อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดซ้ำสองของ "นักโทษชายทักษิณ" ที่เคยส่ง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นนายกฯ แล้วจบไม่สวย
ครับ...แม้สุ้มเสียงจากพรรคเพื่อไทย ยืนยันส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคที่มีอยู่อีก ๒ คน ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ ฝุ่นยังตลบ ยังไม่อาจสรุปได้
แล้วทำไมชื่อของ "อนุทิน ชาญวีรกูล" ถึงโผล่มา
หลากหลายปัจจัยที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ไปต่อไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือนโยบายของรัฐบาล
โดยเฉพาะ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต
การเปลี่ยนพรรคหลักในการตั้งรัฐบาล จะหมายถึงการเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลด้วย
ทำไมพรรคภูมิใจไทยถึงแถลงไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายกาสิโนของพรรคเพื่อไทย ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีถอดถอนนายกฯ เพียงวันเดียว
มีการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่
มองลึกลงไป นโยบายกัญชา ที่พรรคเพื่อไทยพยายามจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด สุดท้ายต้องยอมพรรคภูมิใจไทย ให้ออกกฎหมายควบคุมกัญชาแทน
ดูเหมือนพรรคภูมิใจไทยมีอำนาจต่อรองสูงพอควร
ฉะนั้นการพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "เศรษฐา ทวีสิน" จึงอาจเป็นการปรับทัพของฝั่งรัฐบาลเสียใหม่
ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ตัวบุคคล
แต่เปลี่ยนนโยบายด้วย
หากมองโจทย์การเมืองบนพื้นฐานดีลลับเพื่อสกัดพรรคส้ม ก็ยิ่งมีความจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่หมด
๑ ปี รัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การควบคุม และครอบงำ ของ "นักโทษชายทักษิณ" นอกจากไม่มีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ยังสร้างแนวร่วมมุมกลับให้พรรคส้มมากมาย
การก้าวขึ้นมาของ "อุ๊งอิ๊ง" หรือ "ชัยเกษม" ยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้
และอาจต้องทำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าหายนะรออยู่ข้างหน้า
แต่การเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลจากต่างพรรค สามารถอธิบายถึงความจำเป็นในการเลิกนโยบายนี้ได้ง่ายกว่า
ฟังคำให้สัมภาษณ์ของ "จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังหมาดๆ เกี่ยวกับอนาคตโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็พอเดาออกครับว่า แนวโน้มจะเดินไปอย่างไรต่อ
"...คงต้องรอมติทางพรรคก่อน เพราะยังไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะมีการฟอร์มรัฐบาลในรูปแบบใด พรรคใดจะเป็นแกนนำ ยังตอบอะไรไม่ได้เลย
และขั้นตอนของทางพรรคที่จะยืนยันว่าจะมีการนำนโยบายใดไปหารือกับพรรคร่วมที่จะเกิดขึ้น หากรัฐบาลใหม่มีเพื่อไทยอยู่ด้วย แต่ถ้าไม่มีทุกอย่างก็จบไป ก็แค่นั้น
แต่ถ้ามีเพื่อไทยอยู่ด้วยก็ต้องไปหารือกัน มองว่าตรงนี้เป็นขั้นตอนตามปกติ..."
นายกรัฐมนตรีคนใหม่จึงไม่ได้มาจากเงื่อนไข ต้องเป็นพรรคที่้มี สส.มากเป็นลำดับที่ ๑ อย่างเดียว
แต่ต้องมาบนเงื่อนไขการจัดทัพใหม่
นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นใคร
หญิง หรือ ชาย
ไม่กี่วันรู้ครับ
เพราะรัฐบาลใหม่จะตั้งเร็วกว่าปกติ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'
วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ
ในวันที่ 'ส้ม' โหยหาเพื่อน
ไอ้เสือถอย! ไปไม่ถึงสุดซอยครับ "หัวเขียง" ยอมเลี้ยวกลับเสียก่อน
ง่ายๆ แค่เลิกโกง
อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ
'อุ๊งอิ๊ง' แถลงผลงาน
ล้างตารอไว้นะครับ นายกฯ แพทองธาร นัดไว้แล้ววันที่ ๑๒ ธันวาคม มีข่าวใหญ่
หรืออยากฟังเพลงมาร์ช
เขาว่าเป็นร่างกฎหมายป้องกันรัฐประหาร ข่าววานนี้ (๖ ธันวาคม) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่การรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...)
รัฐบาลถังแตก?
ตกใจกันทั้งประเทศ...! วันอังคาร (๓ ธันวาคม) ที่ผ่านมา "พิชัย ชุณหวชิร" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปพูดในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business กล่าวในหัวข้อ "Financial Policies for Sustainable Economy" แนวทางในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ๓ ข้อ