พี่ยุ่นกับออสซี่จับมือ สร้างกลไกขวางมังกรยักษ์

เปิดปีใหม่ 2022 ได้ไม่ถึงเดือน เราก็เห็นความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ, ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ในการประสานมือกันทางด้านความมั่นคงเพื่อสกัดอิทธิพลจีนอย่างเป็นระบบ

คำย่อใหม่ที่เราต้องเขียนแปะไว้ข้างฝาอีกชุดหนึ่งคือ RAA หรือ Reciprocal Access Agreement ระหว่างญี่ปุ่นกับออสเตรเลีย

เป็นการลงนามในข้อตกลงเพื่อให้ญี่ปุ่นกับออสเตรเลียเข้าถึงทรัพยากรของกันและกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการซ้อมรบในวันข้างหน้า

ซ้อมรบเพื่ออะไร?     

ก็เพื่อที่จะระดมสรรพกำลังในภูมิภาคนี้ เพื่อสร้างสมศักยภาพทางทหาร ตั้งรับสถานการณ์ที่อ่อนไหวทางด้านความมั่นคง

ไม่ต้องแปลกใจถ้าหาก “พี่เบิ้ม” สหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวใหม่ล่าสุดนี้

วันก่อนมีการประชุมออนไลน์ของรัฐมนตรีกลาโหมและต่างประเทศของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นในจังหวะใกล้ๆ กัน

รัฐมนตรีคู่ขาทั้งสองฝ่ายออกข่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับความพยายามของจีน “ที่จะบ่อนทำลายระเบียบตามกฎ” หรือที่มักจะใช้ว่า Rules-based

วอชิงตันและโตเกียวตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อตอบสนองต่อกิจกรรมที่คุกคามความมั่นคงในย่านนี้

โดยเน้นย้ำจุดยืนที่พุ่งเป้าไปที่ปักกิ่งอย่างไม่ต้องสงสัย

ในแถลงการณ์หลังการประชุมเสมือนจริงของรัฐมนตรีต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของพันธมิตรทั้งสองประเทศ                 “แสดงความกังวลเกี่ยวกับกิจกรรมของจีนในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค”               

ไม่ต้องสงสัยว่าทั้งอเมริกาและญี่ปุ่นต่างก็แสดงความกังวลต่อขีดความสามารถทางทหารที่เพิ่มขึ้นของจีนอย่างเห็นได้ชัด

นั่นย่อมรวมถึงคลังอาวุธนิวเคลียร์และระบบไฮเปอร์โซนิกของจีน ที่หนีไม่พ้นจะต้องกระตุ้นให้สหรัฐฯ ต้องเร่งฝีเท้าในการยกระดับอาวุธร้ายแรงของตนไม่ให้จีนล้ำหน้า

น้องรักอย่างเกาหลีเหนือก็มีร่วมสนุกด้วยการยิงทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกตัวที่สองในจังหวะเดียวกันนี้เสียด้วย

ในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีต่างประเทศ โยชิมาสะ ฮายาชิ และโนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ทั้งสี่ยังให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากอาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียง

ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือ “เพื่อยับยั้ง และหากจำเป็น ตอบสนองต่อกิจกรรมที่ไม่มั่นคงในภูมิภาค” และเน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน

ใช่แล้ว...ไต้หวันคือจุดเปราะบางที่สุดในเอเชียในยามนี้

นอกจากนี้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังได้จัดทำข้อตกลง 5 ปี เพื่อระดมงบทางทหารให้สูงพอที่จะต้านจีนและเกาหลีเหนือได้

ญี่ปุ่นจัดงบประมาณเฉลี่ย 211 พันล้านเยน (1.8 พันล้านดอลลาร์) ต่อปี ดูแลบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ ประมาณ 50,000 นายและครอบครัว

               รัฐมนตรีทั้งสี่คนเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประสานงานเพื่อต่อสู้กับโควิด-19

รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลทันเหตุการณ์เกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินทางความมั่นคงที่อาจจะเกิดขึ้น

อีกด้านหนึ่งคือการจับมือระหว่างญี่ปุ่นกับออสเตรเลีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางด้านทหารที่ล่าสุดมาในรูปของ RAA

อาจจะไม่ใช่แค่ “ความก้าวร้าวของจีน” เท่านั้นที่ทำให้ญี่ปุ่นและออสเตรเลียต้องขยับใกล้ชิดกันมากขึ้น

แต่ลึกๆ แล้วญี่ปุ่นเองก็คงยังกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของอเมริกาด้วย

ยุคสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เกิดบทเรียนแก่ญี่ปุ่นว่าอย่าได้วางใจว่าอเมริกาจะเป็น “พี่ใหญ่” ที่จะคอยปกป้องตนเองเป็นอันขาด

การเมืองภายในของสหรัฐฯ สามารถปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่คาดไม่ถึงได้เสมอ

ดังนั้นถ้าทำได้ก็ควรจะต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตรในภูมิภาคนี้เอาไว้ให้เหนียวแน่นก่อน ย่อมจะเป็นหนทางรับประกันความปลอดภัยในระยะยาวของตนเอง                 

ข้อตกลง  RAA นี้มีเป้าหมายกระชับความสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยที่ใกล้ชิดยิ่งกว่าเดิมไปอีกขั้นหนึ่ง          

RAA สร้างกรอบทางกฎหมายสำหรับกองทัพทั้งสองเพื่อดำเนินการในและรอบๆ อาณาเขตของกัน

ต้องถือว่าเป็นข้อตกลงครั้งแรกที่ญี่ปุ่นมีกับพันธมิตรอื่นที่ไม่ใช่อเมริกา

ในแง่ของออสเตรเลีย ข้อตกลงใหม่นี้มีความสำคัญในทางปฏิบัติในทันทีมากกว่า AUKUS ที่อเมริกา, อังกฤษและออสเตรเลียสร้างกลไกใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อช่วยกันสร้างกองเรือดำน้ำให้กับออสเตรเลีย

เป้าหมายก็หนีไม่พ้นการสกัดการขยายอิทธิพลของจีนอีกนั่นแหละ

ความจริงญี่ปุ่นกับออสเตรเลียมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ยืนยาวมาแล้ว

เมื่อเพิ่มมิติทางด้านความมั่นคงแบบทวิภาคีก็จะเกิดผลดีต่อความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ญี่ปุ่นซื้อวัตถุดิบของออสเตรเลียเป็นจำนวนไม่น้อยเป็นเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นแร่เหล็กและถ่านหิน

อีกทั้งญี่ปุ่นยังเป็นแหล่งลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของออสเตรเลีย

เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของออสเตรเลีย

ในทางกลับกัน ออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยมีถ่านหินและก๊าซเป็นแกนหลัก

ทั้งสองตั้งความหวังว่าไฮโดรเจนของออสเตรเลียจะมีบทบาทที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน

RAA จึงเป็นกลไกเสริมอีกชิ้นหนึ่งของเครือข่ายต่อต้านจีนที่อเมริกากำลังประกอบร่างในภาคพื้นนี้

เป็นอีกก้าวหนึ่งที่ต้องจับตาเพื่อประเมินว่าปักกิ่งจะตีโต้กลับมาอย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พม่าจะเดินตามรอยเกาหลีเหนือ? ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์บางสายตั้งคำถามนี้?

เพราะมีข่าวหลายกระแสที่บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่า ผู้นำทหารพม่ากำลังมองคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็น “แม่แบบ” ของการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พยายามจะกดดันให้ต้องยอมเสียงเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย