วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมากมายหลายเรื่อง
หนึ่งในปรากฏการณ์ที่สำคัญและควรจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ การที่ผู้คนย้ายกลับไปต่างจังหวัดกันเป็นจำนวนมาก
และสำหรับคนจำนวนไม่น้อยมันคือการอพยพที่กลับไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านเดิม ไม่กลับมาในเมืองอีก
เพราะโควิดทำให้เกิดความตระหนักว่าจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมอ่านเจอข่าวที่ คุณวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเห็นและมีข้อเสนอเรื่องนี้
ตรงกับที่ผมสังเกตได้จากการเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยครั้งในช่วงหลังนี้
คุณวิรไทบอกว่า วิกฤตโรคระบาดโควิดคราวนี้ได้ผลักแรงงานเคลื่อนย้ายกลับชนบทหลายล้านคนครั้งแรกในรอบ 20 ปี
ท่านแนะนำให้ผู้บริหารประเทศเอาจริงเอาจังกับการกระจายอำนาจกลับไปสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนเพิ่มศักยภาพของการสร้างชีวิตใหม่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
คุณวิรไทพูดในฐานะกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริในงานเสวนาออนไลน์ “อยู่รอด และยั่งยืน หลังโควิด” ภายใต้หัวข้อ “ใครจะอยู่รอดในสังคม แล้วจะอยู่รอดอย่างไรที่ยั่งยืน” ร่วมกับ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ ว่า
อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติบอกว่า เหตุการณ์เช่นนี้ตรงกันข้ามกับช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540
เพราะครั้งนั้นเกิดการย้ายถิ่นของแรงงานจากชนบทเข้าเมืองจำนวนมาก ผลที่ตามมาคือภาคชนบทอ่อนแอลง เพราะผู้คนทิ้งบ้านช่องเข้ากรุง
และเพราะกระแสช่วงนั้นทำให้เหลือเพียงแรงงานผู้สูงอายุและเด็ก
ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง
คุณวิรไทให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรจะหาทางสนับสนุนให้แรงงานที่เคลื่อนย้ายกลับสู่ชนบทจากผลกระทบของวิกฤตโควิดในครั้งนี้ ให้สามารถคงอยู่ในชนบทได้อย่างเป็นสุขและยั่งยืน เพราะแรงงานที่กลับไปเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ และรู้จักใช้เทคโนโลยี
สิ่งที่ผมพบเห็นเองในชนบทในช่วงการระบาดของโควิดคือ คนรุ่นใหม่อพยพจากเมืองกลับไปต่างจังหวัด และเริ่มสร้างอาชีพด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างคล่องแคล่ว
คุณวิรไทบอกว่า “ประเทศไทยสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ชนบทได้ด้วยการให้ความสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น โดยการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาครัฐในส่วนท้องถิ่นในการทำงานพัฒนา โดยคำนึงถึงบริบทในเชิงพื้นที่ และควรเป็นการพัฒนาทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมควบคู่กันไปอย่างเกื้อหนุนกัน”
ท่านบอกว่ารัฐ ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิปิดทองหลังพระควรร่วมกันทำงานเพื่อสนับสนุนให้แรงงานที่กลับไปยังชนบทเป็น change agent หรือ “ผู้ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง” ที่จะช่วยสร้างโอกาสและความเข้มแข็งให้ประเทศได้ในอนาคต
นอกจากนี้ยังควรสนับสนุนให้มีการศึกษาที่เหมาะสมในภาวะวิกฤตและในอนาคต เพราะประชาชนต้องการ reskill และ upskill ให้สอดคล้องกับบริบทของโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป
“รัฐควรช่วยอำนวยให้ประชาชนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต” คุณวิรไทกล่าว
และย้ำว่า ประชาชนไทยควรเปลี่ยนหลักคิด หรือ mindset จากความคิดพึ่งพาภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นการพึ่งตนเองได้ในระยะยาว
เช่น การเยียวยาจากภาครัฐในวิกฤตโควิดเป็นสิ่งสำคัญในช่วงแรกๆ
ทว่าอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างเหมาะสมเมื่อวิกฤตนี้ผ่านมาถึง 2 ปีแล้ว
“รัฐสามารถสนับสนุนให้ประชาชนเริ่มพึ่งตนเองได้ด้วยการเน้นการกระจายอำนาจ และให้อำนาจในการตัดสินใจไปอยู่ในมือของท้องถิ่นประชาชนเองมากขึ้น”
คุณวิรไทบอกว่า จากการที่ตนทำงานร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระได้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ใดที่ประชาชนมีความเข้มแข็งก็จะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนา และหากได้รับการสนับสนุนที่ตรงจุด ตรงตามความต้องการของพื้นที่ โดยเฉพาะจากภาครัฐในระดับท้องถิ่น ก็จะทำให้การพัฒนานั้นสำเร็จลุล่วง
คุณวิรไทบอกว่า ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้ในอดีตจากการน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องความพอเพียงที่มีหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก ความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล การมีภูมิคุ้มกัน
ประการที่สอง การตั้งอยู่บนฐานของคุณธรรม มีความอดทน มีวิริยะอุตสาหะ ซื่อสัตย์
และประการที่สาม การมีความรู้
“วิกฤตโควิดในครั้งนี้ทำให้ประชาชนไทยเห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางโลกใหม่ที่มีความผันผวนสูง”
ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณวิรไทอย่างยิ่ง หวังว่าจะมีการผลักดันจากทุกภาคส่วนกันอย่างจริงจัง
เพราะจุดเปลี่ยนผันที่สำคัญครั้งนี้อาจจะหมายถึงไทยเราไม่เพียงแต่ “รอด” หลังโควิดเท่านั้น แต่ยังต้อง “รุ่ง” อย่างยั่งยืนด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สงคราม-โควิดดันไทยสู่ ภาวะ ‘เปราะบาง-สุ่มเสี่ยง’
น่ากังวลครับสำหรับตัวเลขเกี่ยวกับสถานะเศรษฐกิจของประเทศไตรมาสแรกที่เปิดเผยโดย คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ศรีลังกา : ‘หายนะของประเทศรออยู่ข้างหน้า’
วิกฤตศรีลังกายังหนักหน่วงรุนแรง...เมื่อเศรษฐกิจล่มสลาย ประชาชนไร้ที่พึ่ง ซ้ำเติมด้วยวิกฤตข้าวของแพงเพราะสงครามยูเครน
ไบเดนเตรียมเยือนกรุงโซล จับตา คิม จองอึน ที่เปียงยาง!
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตั้งแต่วันนี้ถึงวันอังคารหน้า (20-24 พฤษภาคม)
คิม จองอึน : ขีปนาวุธ สู้โควิด-19 ได้ไหม?
2 ภาพ 2 ท่าของคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือ สะท้อนถึงความย้อนแย้งที่เด่นชัดมาก
‘บอง บอง’ : คบหาจีน แต่ไม่ห่างจากอเมริกา
พอฟิลิปปินส์ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ก็แสดงความยินดีด้วยอย่างฉับพลัน
ย้อนดูอดีตที่ยุ่งยากของ รัสเซีย-ฟินแลนด์-สวีเดน
ภาพที่เห็นนี้คือประธานาธิบดี Sauli Niinisto กับนายกรัฐมนตรี Sanna Marin ของฟินแลนด์ที่ประกาศเมื่อวันอาทิตย์อย่างเป็นทางการว่าประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซียแห่งนี้จะขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO แน่นอนแล้ว