ถามผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ว่า มีแนวคิดย้ายเมืองหลวงอย่างไร?

ใครเคยไปจาการ์ตาของอินโดนีเซีย จะรู้ว่าปัญหาของเมืองหลวงแห่งนี้หนักหนาสาหัสมาก

ตั้งแต่เรื่องมลพิษทางอากาศ, น้ำท่วมและรถติดอย่างรุนแรง

เพื่อนบางคนเคยเล่าให้ฟังว่า ออกจากโรงแรมไปสนามบินเจอสภาวะจราจรติดขัดตกเครื่องบินบ่อยๆ บางครั้งติดอยู่บนท้องถนน ไม่ขยับไปไหนถึง 6 ชั่วโมง

ทำให้ startup อย่าง Gojek ที่ให้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์มารับจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในยามรถราไม่ขยับกลายเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟู

Gojek กลายเป็น startup ที่มีรายได้มหาศาล เป็นหนึ่งใน Unicorn ของธุรกิจยุคดิจิทัลของอินโดนีเซียเลยทีเดียว

ทุกวันนี้ Gojek กลายเป็นแพลตฟอร์มบนมือถือที่ให้บริการสารพัดชนิด รวมถึงการจ่ายเงินออนไลน์และใช้บริการการขนส่งทุกประเภท

ที่เล่ามายืดยาวเพื่อจะบอกว่า รัฐสภาอินโดฯ เพิ่งผ่านกฎหมายให้ย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปอยู่บนเกาะบอร์เนียว ตั้งชื่อเมืองหลวงใหม่เป็น 'นูซานทารา' (Nusantara) ซึ่งเป็นภาษาชวาโบราณ แปลว่า หมู่เกาะ

การย้ายถิ่นฐานจากจาการ์ตาไปยังเกาะบอร์เนียวถูกเรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติ เป็นโครงการ 10 ปี 

แต่จะเริ่มย้ายสถานที่ราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอีก 2 ปีข้างหน้า

เมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซียกำลังถูกสร้างขึ้นในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกบนเกาะบอร์เนียว ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เป็นคนเสนอชื่อของเมืองหลวงใหม่นี้เอง

ที่ตั้งของเมืองหลวงใหม่ห่างจากกรุงจาการ์ตาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 2,000 กม.

เมืองหลวงปัจจุบันอยู่บนเกาะชวา ตามแผนงานนี้เมื่อย้ายเมืองหลวงแล้ว จาการ์ตาก็จะยังดำรงฐานะของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการค้าของประเทศ ส่วน “นุซานทารา” จะมีระบบการบริหารระดับจังหวัด เทียบเท่ากับอีก 34 จังหวัดของอินโดนีเซีย

ผู้บริหารสูงสุดของนครหลวง Nusantara ซึ่งจะมีความรับผิดชอบในฐานะเป็นหน่วยงานระดับชาติในการพัฒนาเมืองหลวงแห่งใหม่ จะต้องได้รับการแต่งตั้งภายใน 2 เดือนหลังจากที่กฎหมายถูกนำมาใช้ และองค์กรใหม่นี้จะเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อดำเนินการเตรียมการสำหรับการย้ายเมืองหลวงในปีต่อไป

ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดระบุว่า "การเตรียมการ การพัฒนา และการย้ายที่ตั้งเมืองหลวงใหม่" เป็น "โครงการลำดับความสำคัญระดับประเทศ 10 ปี"

กฎหมายฉบับนี้บอกด้วยว่า บรรดาสถานทูตต่างประเทศและตัวแทนขององค์กรระหว่างประเทศคาดว่าจะร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการย้ายสำนักงานไปยังเมืองหลวงใหม่ภายใน 10 ปีนับจากการย้ายที่ตั้ง

โดยรัฐบาลอินโดฯ จะช่วยจัดหาที่ดินให้

วิโดโดประกาศแผนการที่จะย้ายเมืองหลวงไม่นานหลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศรอบ 2 ในปลายปี 2019 เพราะรับรู้ถึงปัญหาคาราคาซังที่แก้ด้วยวิธีการที่ทำมาหลายสิบปีไม่สำเร็จ

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตด้านการจราจรติดขัด มลพิษ ความแออัดยัดเยียด และปัญหาน้ำท่วมชายฝั่งของจาการ์ตา

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ ความจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ให้ห่างจากเกาะชวา

แต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้แผนย้ายเมืองหลวงหยุดชะงักไปชั่วครู่

การประชุมพิจารณาของคณะกรรมการพิเศษของสภาผู้แทนราษฎร เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างกว้างขวาง มีการถ่ายทอดสดบน YouTube ในช่วงดึกของคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา

สะท้อนว่าฝ่ายนิติบัญญัติมีความกระตือรือร้นที่จะเร่งแผนการย้ายเมืองหลวงให้เริ่มต้นในครึ่งแรกของปี 2024 อีก 2 ปีข้างหน้า...หรือก่อนที่ประธานาธิบดีวิโดโดลงจากตำแหน่งในปลายปีนั้น

เพราะตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญอินโดฯ ประธานาธิบดีไม่สามารถดำรงตำแหน่งนี้เป็นสมัยที่ 3 ได้ กฎหมายกำหนดให้งบประมาณของรัฐบาลบางส่วนสำหรับการย้ายเมืองหลวงครั้งนี้

โดยแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 10 ปี และเปิดทางให้ร่วมทุนกับภาคเอกชนในการดำเนินกิจกรรมบางอย่างได้

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยประเมินว่าโครงการจะมีมูลค่า 466 ล้านล้านรูเปียห์ (32.5 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1 ล้านล้านบาท) แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีตัวเลขประเมินใหม่สำหรับค่าใช้จ่ายใหม่ล่าสุด

ประเทศในอาเซียนที่ย้ายเมืองหลวงมาแล้ว มีเช่น

ฟิลิปปินส์ย้ายจาก Quezon City ไป Manila เมื่อปี 1948

มาเลเซียย้ายจาก Kuala Lumpur ไป Putrajaya ในปี 1995

และเมียนมาย้ายจาก Rangoon ไปที่ Naypidaw เมื่อปี 2005

รัฐบาลไทยหลายชุดที่ผ่านมาก็มีการเสนอแผนการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ เช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นสระบุรี, นครนายกฯ หรือฉะเชิงเทรา

ถึงวันนี้ยังไม่มีการตัดสินใจแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ปัญหาน้ำท่วม, สิ่งแวดล้อมและรถราติดขัดของกรุงเทพฯ ก็ไม่ต่างไปจากจาการ์ตาเท่าไหร่นัก

หรือเราควรจะถามผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งหน้านี้ว่าจะมีความคิดเรื่องย้ายเมืองหลวงอย่างไรบ้าง?

เพราะไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่น่าจะสามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ เหล่านี้ได้อยู่ดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด