OPEC+: เมื่อรัสเซีย กับซาอุฯ คุมราคาน้ำมันโลก

พอราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลาย ก็ทำให้คนไทยต้องทำความเข้าใจกับปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมัน

ทำอย่างไรจึงจะทำให้จำนวนที่ผลิตออกมาพอๆ กับที่ต้องการใช้

อุปทานต้องตามอุปสงค์ให้ทัน

ผู้ผลิตน้ำมันโลกที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม OPEC ถูกเรียกร้องและกดดันให้เพิ่มปริมาณก็ผลิตเมื่อราคาน้ำมันพุ่งอย่างไม่ลดละ

สมาชิก OPEC ประชุมกันครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอย่างเสียไม่ได้ คุยกันทั้งหมด 16 นาที และตกลงกันว่าจะเพิ่มการผลิตตามที่ได้บอกเอาไว้แต่เดิมคือ วันละ 400,000 บาร์เรล

ผู้นำ OPEC อ้างว่าสาเหตุที่ราคาน้ำมันแพงขึ้นไม่ใช่เพราะการผลิตน้อย แต่เป็นเพราะความตึงเครียดทางด้านการเมืองระหว่างประเทศต่างหาก

ที่เรียกว่าปัญหา “ภูมิรัฐศาสตร์” หรือ geopolitics นั่นแหละ

เช่น กรณีรัสเซียเผชิญหน้ากับโลกตะวันตก กรณียูเครน

ความวุ่นวายทางการเมืองในคาซัคสถาน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผลิตน้ำมันในเอเชียกลาง

สัญญาณความคืบหน้าในการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน และการโจมตีด้วยโดรนของเผ่า Houthi ต่อประเทศ UAE

คนเข้าประชุม OPEC สัปดาห์ที่ผ่านมาบอกว่าไม่มีการพูดถึงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์แต่อย่างใด

เน้นแต่เรื่องปริมาณการผลิตเป็นหลัก เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะแก้ปัญหาวิกฤตในภูมิภาคต่างๆ (แม้ว่าสมาชิกหลายประเทศจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเหล่านั้น แต่คู่กรณีไม่ได้มาร่วมประชุมด้วย)

สมาชิก OPEC บอกว่า ได้พยายามช่วยเต็มที่แล้วในการปรับเพิ่มปริมาณการผลิต แต่ก็ทำได้แค่นี้ เพราะการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ต้องลดการผลิตอย่างหนัก เนื่องจากความต้องการของโลกหดหาย

OPEC อ้างว่าตอนที่พวกเขาลำบากเพราะราคาน้ำมันร่วงนั้นไม่มีใครเห็นใจ ตอนนี้พอราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการกระเตื้องก็ต้องเห็นใจพวกเขาบ้างรายได้ที่หดตัวลงจากการขายน้ำมันก็ต้องได้รับการชดเชยในช่วงขาขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งคือ ในช่วงระบาดของโควิดนั้น หลายประเทศผู้ผลิตน้ำมันไม่ได้ลงทุนในการรักษาความสามารถในการผลิตระหว่างการระบาดของโควิด จะบอกว่าเป็นเรื่องของทีใครทีเขาก็คงไม่ผิดนัก

ต้องทวนความจำว่า OPEC มีสมาชิกเป็นประเทศไหนบ้าง และ OPEC+ คือใคร

OPEC+ เป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน 24 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 14 ชาติของ Organization of Petroleum Exporting Countries (OPEC) และสมาชิกที่ไม่ใช่ OPEC อีก 10 ประเทศ รวมถึงรัสเซีย

กลุ่ม OPEC นำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของกลุ่ม

ขณะที่รัสเซียเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศที่ไม่ใช่กลุ่มโอเปก

OPEC เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลถาวรที่ก่อตั้งขึ้นในการประชุมแบกแดดในปี 2503

วันนี้รายชื่อทางการของสมาชิก OPEC คือ Algeria, Angola, Equatorial Guinea, Gabon, Iran, Iraq, Kuwait, Libya, Nigeria, the Republic of the Congo, Saudi Arabia, the United Arab Emirates and Venezuela.

อดีตสมาชิก OPEC มี Ecuador, Indonesia and Qatar.

มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการอุปทานน้ำมันเพื่อพยายามกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลก เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้ผลิตและผู้ซื้อ

มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

สมาชิกโอเปกเปิดกว้างสำหรับทุกประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่และมีหลักการร่วมกัน

OPEC Plus คืออะไร?

OPEC Plus คือประเทศผลิตน้ำมันนอกเหนือ OPEC 11 ประเทศ คือ Azerbaijan, Bahrain, Brunei, Kazakhstan, Malaysia, Mexico, Oman, Russia, South Sudan and Sudan

ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียต่างก็เป็นแกนหลักของพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมันที่รู้จักกันในนาม OPEC Plus มาเป็นเวลา 3 ปีโดยมีเป้าหมายเพื่อหนุนราคาน้ำมันด้วยการลดการผลิต

OPEC+ เกิดขึ้นเพราะอะไร?

เมื่อรัสเซียสรุปข้อตกลงเวียนนาในปี 2559 ปูตินเชื่อว่าจะช่วยเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในเดือนมีนาคม 2561

ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้มั่นใจความสามารถทางการเงินของเครมลินเพื่อผลักดันให้การรณรงค์หาเสียงที่นำไปสู่การสร้างความมั่นใจว่าปูตินจะยังคงครองอำนาจเอาไว้ได้

เท่ากับเป็นการจัด “ลำดับความสำคัญของระบอบการปกครอง” ใหม่

ซึ่งย่อมหมายถึงการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันด้วย 

สำหรับซาอุดีอาระเบีย การเปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็นพันธมิตรแบบ "เฉพาะกิจ" ให้เป็นกลุ่มที่เป็น “ทางการ” ถือเป็นวิธีลดความผันผวนและปั่นป่วนของตลาดน้ำมันในอนาคตได้ด้วย

สำหรับรัสเซีย การทำให้ความสัมพันธ์มีความ “เป็นทางการ” มากขึ้นอาจช่วยขยายอิทธิพลของปูตินในตะวันออกกลาง

น่าจะเป็นไปได้ว่าทั้งสองมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำลง เพื่อตั้งรับกับผลกระทบต่อผู้ผลิตน้ำมันจากหินดินดานของสหรัฐ

แต่วันนี้เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตยูเครน ปูตินก็ต้องปรับยุทธศาสตร์ให้รับ “ศึกรอบด้าน” ให้ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เวียดนามกวาดล้างโกงกิน ระดับนำร่วงคนที่ 3 ในปีเดียว

เวียดนามเขย่าระดับสูงอย่างต่อเนื่อง...เป็นการยืนยันว่าจะต้อง “ชำระสะสาง” ให้สามารถจะบอกประชาชนและชาวโลกว่ายึดมั่นเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอย่างจริงจัง

สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด

สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น