ตัดรัสเซียออกจากระบบโอนเงิน SWIFT จะมีผลอย่างไร?

พันธมิตรสหรัฐและตะวันตกประกาศคว่ำบาตรธนาคารกลางของรัสเซีย และตัดธนาคารรัสเซียบางส่วนออกจากระบบการชำระเงินทั่วโลกของ SWIFT

ในแถลงการณ์ร่วม บรรดาผู้นำของคณะกรรมาธิการยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อ

"ให้รัสเซียต้องรับผิดชอบในการก่อสงครามครั้งนี้ และเราต้องร่วมมือกันทำให้แน่ใจว่าสงครามครั้งนี้เป็นความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์สำหรับปูติน”

Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป บอกว่า การตัดธนาคารรัสเซียจำนวนหนึ่งออกจากระบบ SWIFT จะระงับการทำธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่ทั่วโลก และปิดกั้นการส่งออกและนำเข้าของรัสเซียอย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส บรูโน เลอ แมร์ เรียกการขับรัสเซียออกจาก SWIFT ว่าเป็น “อาวุธนิวเคลียร์ทางการเงิน”

SWIFT คืออะไร?

SWIFT ย่อมาจาก Society of Worldwide Interbank Financial Telecommunications ก่อตั้งขึ้นในปี 1973 เป็นระบบส่งข้อความถึงกันและกันที่ช่วยให้ธนาคารสามารถส่งเงินให้กันได้

ความสำคัญของ SWIFT อยู่ที่ว่ามีการใช้งานโดยสถาบันการเงินมากกว่า 11,000 แห่งในกว่า 200 ประเทศ

เป็นข้อตกลงใช้รหัสที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย ซึ่งอนุญาตให้สถาบันส่งและรับข้อมูล เช่น คำแนะนำในการโอนเงินข้ามพรมแดน

มีคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากรัสเซียถูกตัดการเชื่อมต่อจาก SWIFT

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือธนาคารรัสเซียที่ถูกแบนจะไม่สามารถชำระเงินสำหรับกิจกรรมการค้าและการเงินได้อีกต่อไป

ผลที่ตามมาคือรัสเซียไม่สามารถส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่เคยทำมาก่อน

นอกจากนี้ มาตรการนี้ยังจะสกัดไม่ให้รัสเซียนำเข้าเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์และเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมของตนเอง

ที่ผ่านมาสถาบันการเงินของรัสเซียมีการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมูลค่าประมาณ 46 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน โดย 80% เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ SWIFT รองรับการโอนเงิน 42 ล้านครั้งต่อวัน

แล้วหากห้ามรัสเซียเข้าถึง SWIFT จะมีผลกระทบต่อประเทศอื่นอย่างไร?

มีผลทางลบสำหรับประเทศคู่ค้าของรัสเซีย ดังนั้นความเคลื่อนไหวนี้จะขัดขวางการไหลของน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียไปยังประเทศอื่นๆ ตัวอย่างเช่น

สหภาพยุโรปพึ่งพารัสเซีย 40% ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนี้ ธนาคารในยุโรปยังเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 121 พันล้านดอลลาร์ที่รัสเซียเป็นหนี้ธนาคารต่างประเทศ ตามรายงานของ Bank for International Settlements

ตอนแรกๆ หลายประเทศในยุโรปตะวันตกก็ลังเลที่จะลงโทษรัสเซียด้วยวิธีนี้ เพราะจะมีผลกระทบต่อตนเองด้วย อย่างน้อยก็ในระยะสั้น

แต่หลังจากการถกแถลงกันพอสมควร ยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ก็ยอมเข้าร่วมการคว่ำบาตรวิธีนี้เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในการต่อต้านรัสเซียเปิดสงครามในยูเครน

การถอดรัสเซียออกจาก SWIFT จะทำให้เกิดคำถามว่ามอสโกจะชำระหนี้ต่างประเทศอย่างไร

นั่นเป็นประเด็นที่ต้องหาทางคลี่คลายเมื่อรัสเซียยอมถอยออกจากยูเครน

หาไม่แล้ว หากรัสเซียประสบความสำเร็จในการทำศึกในยูเครน มอสโกก็อาจจะออกอิทธิฤทธิ์ที่มีผลกระทบต่อยุโรปมากกว่านี้ได้อีก

ทำไมจึงตัดสินใจใช้มาตรการ SWIFT เล่นงานรัสเซียตอนนี้?

ชาติตะวันตกได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรหลายครั้งแล้ว รวมถึงการอายัดทรัพย์สินและการห้ามทำธุรกรรมกับธนาคารของรัฐของรัสเซีย

แต่มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ผลเพียงเล็กน้อยในการหยุดรัสเซียไม่ให้เพิ่มการโจมตียูเครน

เอาเข้าจริงๆ มันจะได้ผลขนาดไหน?

จะว่าไปแล้วก็ยังไม่ชัดเจน รัสเซียอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ผนวกดินแดนไครเมียในปี 2014 แต่ก็ไม่ได้หยุดยั้งปูตินในการขยายการรุกรานเข้ายูเครน

ตัวอย่างที่มีความละม้ายกันคือ เกาหลีเหนือซึ่งก็ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตกมาช้านาน

แม้เปียงยางจะถูกตัดขาดจากระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยสิ้นเชิง แต่ระบอบการปกครองของคิม จองอึน ยังคงอยู่รอด และยังคงทำการทดสอบและพัฒนาอาวุธใหม่ๆ

รัสเซียสามารถหันไปหาจีนเพื่อการค้าได้ โดยไม่ต้องอาศัยเครือข่ายธุรกรรมที่ใช้เงินดอลลาร์แต่อย่างใด

แต่ครั้งนี้อะไรๆ อาจจะไม่เหมือนครั้งก่อนๆ          

เพราะการรวมตัวของโลกตะวันตกและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะการประกาศคว่ำบาตรธนาคารกลางของรัสเซียโดยตรง และการพร้อมใจกันไม่คบหารัสเซียแม้กระทั่งเรื่องกีฬาและกิจกรรมสังคม กำลังสร้างมิติใหม่ของการ “ลงโทษ” รัสเซียในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เวียดนามกวาดล้างโกงกิน ระดับนำร่วงคนที่ 3 ในปีเดียว

เวียดนามเขย่าระดับสูงอย่างต่อเนื่อง...เป็นการยืนยันว่าจะต้อง “ชำระสะสาง” ให้สามารถจะบอกประชาชนและชาวโลกว่ายึดมั่นเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอย่างจริงจัง

สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด

สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ