เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๘)

 

ก่อนที่จะเรียกร้องให้มีหรือไม่มีการยุบสภา ควรเข้าใจถึงเป้าหมาย หลักการและเหตุผลในการยุบสภา ซึ่งการยุบสภาเกิดขึ้นได้เฉพาะในระบอบการปกครองแบบรัฐสภาเท่านั้น ในระบอบประธานาธิบดีแบบสหรัฐอเมริกา ไม่มีการยุบสภา

เราสามารถสรุปเป้าหมาย หลักการและเหตุผลของการยุบสภา ได้ดังนี้คือ

หนึ่ง การยุบสภาเป็นหนทางในการบังคับวินัยพรรคและสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหาร  เมื่ออำนาจยุบสภาอยู่ในการวินิจฉัยโดยลำพังของนายกรัฐมนตรี ขอบเขตของการใช้อำนาจยุบสภาจะกว้างขวาง การที่นายกรัฐมนตรีขู่ว่าจะยุบสภา  สามารถเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการควบคุมรักษาเสียงข้างมากในสภาไว้ได้   

นายกรัฐมนตรีที่สามารถยุบสภาได้ตามความต้องการของตน จะไม่ถูกบีบให้ลาออกง่ายๆโดยการลงมติไม่ไว้วางใจในสภา  เพราะนายกรัฐมนตรีจะมีทางเลือกสองทางระหว่าง ลาออก กับ ยุบสภา การยุบสภาคือ ทางเลือกที่นายกรัฐมนตรีจะขออุทธรณ์โดยตรงต่อเสียงประชาชน โดยให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะไว้วางใจให้เขากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่   โดยก้าวข้ามเสียงไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในสภาไป            

ในลักษณะนี้  อำนาจในการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีอาจจะทำให้สภาต้องพิจารณาให้ดีในการที่จะลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เพราะหากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภา และในการเลือกตั้งทั่วไปที่ตามมา  ส.ส. ฝ่ายค้านอาจจะแพ้การเลือกตั้งได้

ดังนั้น อำนาจยุบสภาอันไม่มีข้อจำกัดของนายกรัฐมนตรีจะ                                       

ก. ทำหน้าที่ควบคุมเสียงในสภา                   

ข. ลดทอนการใช้การลงมติไม่ไว้วางใจตามอำเภอใจ                                           

ค.ส่งผลอย่างยิ่งต่อสมาชิกสภาที่ยังมีฐานเสียงไม่เข้มแข็ง (backbenchers) ให้อยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี เพราะสมาชิกสภาที่ยังไม่มีชื่อเสียงคือนักการเมืองที่ยังไม่มีฐานเสียงที่มั่นคงจนมั่นใจได้ว่าหากเกิดการเลือกตั้งแล้ว เขาจะสามารถได้การเลือกตั้งกลับเข้ามาในสภาอีก

สอง การยุบสภาเป็นตัวเร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล  กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลในประชาธิปไตยแบบรัฐสภาผันแปรไปตามแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบและรัฐธรรมนูญที่กำหนดเกี่ยวกับกระบวนการการจัดตั้งรัฐบาลและรัฐธรรมนูญของประเทศนั้นๆ และขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆอื่นๆ ด้วย เช่น ระบบพรรคการเมือง ระบบเลือกตั้ง และวัฒนธรรมทางการเมือง

โดยส่วนใหญ่ของประเทศที่ระบบพรรคการเมืองเป็นระบบหลายพรรค การเจรจาต่อรองหลังเลือกตั้งในการจัดตั้งรัฐบาลอาจใช้เวลาเนิ่นนาน นับสัปดาห์จนถึงเป็นเวลาหลายเดือนจนเป็นปี  และก็ไม่จำเป็นว่าจะจัดตั้งสำเร็จเสมอไปด้วย ดังนั้น  การมีกฎที่กำหนดไว้ว่า ถ้าไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล  จะต้องยุบสภา

ดังนั้น การยุบสภาจึงเป็นแรงจูงใจและแรงขับที่ทำให้การเจรจาระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ มีความประนีประนอมมากขึ้น ซึ่งอันนี้สามารถกำหนดไว้ในกฎระเบียบหรือรัฐธรรมนูญที่ให้ผู้ที่รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ให้คำแนะนำในการยุบสภา  หรือกำหนดให้มีการยุบสภาโดยอัตโนมัติก็ได้ หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้หรือในช่วงเวลาที่เหมาะสม                           

สาม การยุบสภาเป็นทางออกจากทางตันที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างสถาบันทางการเมือง  ทางตันที่ว่านี้ ได้แก่ ทางตันระหว่างรัฐบาลและเสียงข้างมากในสภา อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ด้วยระบบรัฐสภาอยู่ภายใต้หลักการที่ให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่สร้างสรรค์ กลมกลืนและใกล้ชิดกัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับเสียงข้างมากในสภา  เมื่อความสัมพันธ์นี้มีปัญหารุนแรง การยุบสภาจะช่วยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่า ใครควรจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ—ไม่ว่าจะเป็นการคืนเสียงข้างมากให้กับสภาเพื่อไปสนับสนุนรัฐบาล หรือคืนเสียงข้างมากที่จะไปสนับสนุนรัฐบาลใหม่  ตัวอย่างคือ รัฐบาลอาจจะให้มีการยุบสภา ถ้านโยบายสำคัญใดนโยบายหนึ่งหรือการริเริ่มเสนอกฎหมายถูกปฏิเสธจากสภา

สี่ การยุบสภาเป็นหนทางในการสนับสนุนอำนาจที่ได้รับความนิยมจากประชาชนของรัฐบาล  เมื่อเสียงข้างมากในสภาของรัฐบาลเริ่มมีปัญหา เช่น การหันเหของสมาชิกของพรรครัฐบาลไปยังฝ่ายค้าน หรือการสูญเสียที่นั่งในการเลือกตั้งซ่อม  หรือเมื่อความนิยมหรือเสียงสนับสนุนจากสาธารณะถูกตั้งข้อสงสัย  เช่น หลังจากมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นใหญ่หรือวิกฤตเศรษฐกิจ  รัฐบาลอาจต้องการได้รับการยืนยันความชอบธรรมของตนจากเสียงสนับสนุนการยอมรับจากประชาชนโดยการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้ง 

แต่ในกรณีนี้ ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สุ่มเสี่ยง เพราะรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจอาจจะแพ้การเลือกตั้งและจำต้องออกจากตำแหน่งไป  อย่างไรก็ตาม การยุบสภาจะเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจนในการหยั่งเสียงความไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐบาล  และหากรัฐบาลชนะเลือกตั้ง ก็จะทำให้มีความเข้มแข็งกลับคืนมา

ห้า การยุบสภาเพื่อได้อาณัติจากประชาชนหลังการเปลี่ยนรัฐบาล ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา บางครั้ง มีการเปลี่ยนรัฐบาลโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เช่น รัฐบาลผสมแตกตัวและมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นใหม่ หรือถ้าพรรคเสียงข้างมากเปลี่ยนผู้นำโดยการเลือกตั้งผู้นำใหม่ภายในพรรค  อันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ในกรณีเหล่านี้ รัฐบาลใหม่อาจจะยุบสภาเพื่อหวังว่าจะชนะการเลือกตั้งทั่วไป และได้รับอาณัติการยอมรับที่ชัดเจนจากประชาชน    

หก การยุบสภาเป็นหนทางที่จะหยั่งเสียงประชาชนต่อประเด็นสำคัญ   บางครั้ง รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจต่อนโยบายที่สำคัญที่อาจจะเบี่ยงเบนไปจากที่เคยประกาศไว้หรือมีความจำเป็นต้องสนองตอบต่อปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นที่มีข้อถกเถียงกันมาก อันเป็นประเด็นที่ไม่ได้คาดถึงไว้ในช่วงการหาเสียงก่อนหน้า  ในกรณีเหล่านี้ เพื่อความชอบธรรมของรัฐบาล รัฐบาลอาจจะตัดสินใจถึงความจำเป็นที่จะต้องให้สาธารณะเป็นผู้ตัดสินใจออกมาอย่างชัดเจนว่าสังคมต้องการไปในทิศทางใด   และการจะได้มาซึ่งเสียงรับรองจากสาธารณะคือการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ขึ้น  เมื่อมีการใช้การยุบสภาด้วยเป้าหมายที่ว่านี้  การยุบสภาจะถูกใช้ไปในลักษณะที่คล้ายกับการหยั่งเสียงประชามติ แต่เป็นการหยั่งเสียงประชามติอย่างหยาบและไม่ชัดเจนและสุ่มเสี่ยง

ทั้งนี้ที่ว่าหยาบเพราะในการเลือกตั้ง มีประเด็นต่างๆ หลากหลายในการหาเสียง ในขณะที่ถ้าเป็นการทำประชามติ ก็จะมีความชัดเจนไปเลยในประเด็นเฉพาะที่ต้องการฟังเสียงประชาชน  และที่ว่าเสี่ยงก็เพราะจากจุดยืนของรัฐบาลที่ต้องการหยั่งเสียงในประเด็นหรือนโยบายเฉพาะ  การเลือกตั้งอาจจะส่งผลให้รัฐบาลนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งไปเลย  ในขณะที่ หากแพ้ประชามติ ก็มิได้จำเป็นว่าพรรครัฐบาลทั้งพรรคจะต้องพ้นไป อาจจะเป็นเพียงการเปลี่ยนตัวผู้นำเท่านั้น  ดังนั้น  การทำประชามติโดยตรงไปเลยจึงเป็นที่นิยมมากกว่าจะยุบสภา

เจ็ด การยุบสภาเป็นหนทางที่จะเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมและได้เปรียบในการเลือกตั้งก่อนสภาครบวาระ อำนาจการตัดสินใจในการยุบสภาทำให้สามารถเลือกกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมและได้เปรียบที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับผู้มีอำนาจในการยุบสภา แต่ก็เป็นไปได้ว่า รัฐบาลอาจจะคาดการณ์เสียงประชาชนผิดจังหวะด้วยก็ได้ และอาจจะแพ้การเลือกตั้ง

ซึ่ง การยุบสภาในข้อเจ็ดนี้เคยเป็นหลักการและเป้าหมายหนึ่งของการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของอังกฤษ แต่ได้เปลี่ยนแปลงไปในปี พ.ศ. 2554 เมื่อรัฐสภาอังกฤษได้ผ่านพระราชบัญญัติที่เรียกว่า  The Fixed-term Parliaments Act 2011 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองว่าด้วยการยุบสภาครั้งใหญ่ในอังกฤษและของโลกเลยก็ว่าได้  (โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490