เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๑๕): การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการยุบสภาเมื่อใกล้ครบวาระของอังกฤษ

 

ในปี ค.ศ. 2011 อังกฤษได้มีการออกพระราชบัญญัติที่เรียกว่า the Fixed-Term Parliament ที่กำหนดให้การยุบสภาก่อนครบวาระจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนสองในสาม ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณีในการยุบสภาครั้งใหญ่ของอังกฤษและของโลกเลยก็ว่าได้

แม้ว่าอังกฤษในฐานะแม่แบบของการปกครองแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะเปลี่ยนแปลงแบบแผนในการยุบสภาโดยตราพระราชบัญญัติการมีรัฐสภาที่มีวาระที่แน่นอน the Fixed-Term Parliament ในปี ค.ศ. 2011  แต่ก็ยังไม่มีประเทศที่ใช้รูปแบบการปกครองตามอังกฤษเปลี่ยนแปลงแบบแผนการยุบสภาตามอังกฤษ

มีผู้ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการยุบสภาของอังกฤษถือเป็นวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองของอังกฤษที่ดำเนินมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว ประเทศอื่นๆก็จะเปลี่ยนแปลงตามอังกฤษ หากระบบรัฐสภาประสบปัญหาเช่นเดียวกับอังกฤษ  ซึ่งหมายความว่า ระบบรัฐสภาไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาที่ตายตัวและหยุดนิ่ง แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขต่างๆ

สถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้ง (IDEA, International Institute for Democracy and Electoral Assistance) ได้กล่าวถึง “การยุบสภาโดยการตัดสินใจของสภา” ไว้ว่า การกำหนดให้สภาเป็นผู้ลงมติยุบสภาถือเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการยุบสภา นั่นคือ การให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติตัดสินใจว่าจะยุบตัวเองเมื่อไร โดยขึ้นอยู่กับวาระสูงสุดของสภาที่ถูกกำหนดไว้ด้วย  ตัวอย่างได้แก่ มาตรา 73 รัฐธรรมนูญของโซโลมอนไอซ์แลนด์ ที่กำหนดว่า ‘ถ้าเมื่อไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจยุบสภาโดยได้รับการสนับสนุนจากการลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) ของสมาชิกสภาเห็นว่า สภาควรยุบ  ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะยุบสภาทันทีโดยการประกาศในเอกสารราชการ  ในกรณีเช่นนี้ การยุบสภาเป็นการกระทำที่เป็นทางการโดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ผู้สำเร็จราชการยุบสภาบนพื้นฐานการตัดสินใจของสภา ไม่ใช่ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีโดยลำพัง

สถาบัน IDEA เห็นว่าการกำหนดการยุบสภาเช่นนี้ส่งผลให้การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง อาทิ ปัญหาที่เกิดตามมาจากการลาออกของรัฐบาล การลงมติไม่ไว้วางใจหรือผลการเลือกตั้งที่ไม่เด็ดขาด ที่ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากชัดเจน จะยังคงอยู่ที่การตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่สุด  การตัดสินใจใดๆในการยุบสภาจะต้องผ่านการถกเถียงในสภาและเป็นที่ยอมรับโดยสภา ไม่ใช่สภาจะต้องยอมรับสภาพการยุบสภาที่มาจากการตัดสินใจโดยลับโดยประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี  ความจำเป็นที่จะต้องได้รับการยอมรับจากสภาในการยุบสภาสำหรับการยุบสภาก่อนสภาครบวาระจะช่วยป้องกันการใช้อำนาจยุบสภาอย่างไม่ถูกต้องและมักง่าย  เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีแนวโน้มที่จะหาทางแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยหนทางอื่นมากกว่าการยุบสภาและต้องเสี่ยงกับผลการเลือกตั้ง ซึ่งหนทางอื่นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจยุบสภาได้แก่ การเปลี่ยนรัฐบาลในกรณีที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ หรือการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในกรณีที่ผลการเลือกตั้งไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากชัดเจน

การกำหนดให้การตัดสินใจยุบสภาอยู่ที่ตัวสภาเองนี้  ส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถใช้การขู่ที่จะยุบสภาเป็นเครื่องมือในการหว่านล้อมหรือมีอิทธิพลต่อสภาได้ ดังนั้น วิธีการเช่นนี้จะทำให้สภาโดยรวมมีความเข้มแข็งขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสมาชิกสภาที่ยังไม่มีชื่อเสียง (backbenchers)  สามารถป้องกันการครอบงำจากฝ่ายบริหาร  ท้ายที่สุด แนวทางนี้จะช่วยขจัดความคลุมเครือเกี่ยวกับข้อถกเถียงเรื่องสถานะของอำนาจและการใช้อำนาจวินิจฉัยของประมุขของรัฐ เพราะอำนาจเหล่านี้ได้ถูกกำหนดให้อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดเจนและเป็นการปฏิเสธอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรของประมุขของรัฐ”

อย่างไรก็ตาม “ในประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองหลายพรรค ความจำเป็นที่จะต้องได้เสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (absolute majority) ของสมาชิกสภาทั้งหมดเพื่อลงมติในการยุบสภาอาจจะส่งผลให้สมาชิกพรรคในรัฐบาลผสมรุ่นเยาว์พยายามที่จะคัดค้านการยุบสภาได้ เพราะพวกเขาจะต้องเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงในการเลือกตั้งมากกว่าสมาชิกพรรคอาวุโสที่มีฐานเสียงมั่นคงเข้มแข็ง 

การให้สภาต้องมีมติเสียงข้างมากเด็ดขาดถึงจะยุบสภาได้ ส่งผลให้เกิดการต่อรองของพวกเขากับสมาชิกอาวุโสในพรรครัฐบาลผสมมีน้ำหนักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลผสมจะไปไม่รอด

ที่เป็นเช่นนี้เพราะสมาชิกสภารุ่นเยาว์จะพยายามซื้อเวลาที่จำเป็นในการแสวงหาการเจรจาต่อรองกับพรรคอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นใหม่มากกว่าที่จะเสี่ยงกับการยุบสภาและการเลือกตั้ง  

ขณะเดียวกัน ในบางประเทศได้กำหนดเงื่อนไขว่า สภาผู้แทนราษฎรจะต้องได้เสียงข้างมากพิเศษ (supramajority) ถึงจะยุบสภาได้ เช่นประเทศลิธัวเนีย กำหนดไว้ว่าจะต้องได้เสียงข้างมากสามในห้าของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2559 ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนาในประเด็นการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการยุบสภาของอังกฤษกับศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชน  

อาจารย์บวรศักดิ์ให้ความเห็นว่า “อาจารย์ (ผู้เขียน) ก็ลองไปดูของอังกฤษตอนนี้ เขาแก้แล้วนะ นายกฯ ยุบสภาไม่ได้แล้ว สภาจะต้องเป็นผู้ลงมติยุบเองโดยสภาต้องลงมติด้วยเสียง 2 ใน 3”

ผู้เขียนได้ถามท่านว่า แนวทางนี้จะสามารถเป็นทางออกที่ดีสำหรับการยุบสภาผู้แทนราษฎรของไทยในอนาคตหรือไม่ ?

อาจารย์บวรศักดิ์ตอบว่า “ผมไม่เห็นด้วย เพราะมันทำให้ระบบรัฐสภาเพี้ยน คือว่า ดุลอำนาจมันไม่มีอีกต่อไปแล้ว ที่จะให้ฝ่ายบริหารยุบสภาได้ ไม่มีความหมายแล้ว ถ้าให้สภาประกาศยุบสภาด้วยตัวเอง เพราะมันไม่มีใครยุบหรอกครับ อาจารย์ แม้กระทั่ง ส.ส.รัฐบาลเองก็จะไปโหวตกับฝ่ายค้านว่าไม่ยุบ เพราะฉะนั้นให้สภายุบสภาเอง ก็เหมือนไม่มียุบสภา มันเคยเกิดขึ้นแล้ว รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส สาธารณรัฐที่ ๓ บอกว่าการยุบสภา  ประธานาธิบดีต้องปรึกษากับเซเนตก่อน แล้วเซเนตก็พวกพรรคการเมืองนั่งอยู่ มันไม่ให้ยุบหรอก” 

ดังนั้น ในทรรศนะของอาจารย์บวรศักดิ์ พ.ร.บ. “the Fixed Term Parliament” (วาระที่แน่นอนของสภา) พ.ศ. 2554 (2011) ของอังกฤษเป็นการทำให้ระบบรัฐสภาเบี่ยงเบนเสียสมดุลในสัมพันธภาพระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ 

และถ้าใช้กับเมืองไทยเรา จะเป็นอย่างที่อาจารย์บวรศักดิ์ว่าไว้หรือไม่ นั่นคือ “ถ้าให้สภาประกาศยุบสภาด้วยตัวเอง เพราะมันไม่มีใครยุบหรอกครับ อาจารย์ แม้กระทั่ง ส.ส.รัฐบาลเองก็จะไปโหวตกับฝ่ายค้านว่าไม่ยุบ”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)