โควิดโลกทะลุ 452 ล้าน! 'หมอธีระ' เตือนอย่าหลงผิดเรื่องโรคประจำถิ่น

11 มี.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความว่า ทะลุ 452 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,550,689 คน ตายเพิ่ม 5,994 คน รวมแล้วติดไปรวม 452,928,405 คน เสียชีวิตรวม 6,049,774 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.31 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 98.69

ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 51.33 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 31.61 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

…สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 74 คน สูงเป็นอันดับ 19 ของโลก

…อัปเดตความรู้จากงานวิจัย

1.”การมีนโยบายใส่หน้ากากในโรงเรียนช่วยป้องกันโควิด-19 ได้มาก” Angelique E และคณะ จากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ระดับสากล Pediatrics เมื่อวันที่ 9 March 2022 ที่ผ่านมา ทำการศึกษาในหลายรัฐ ตั้งแต่กรกฎาคมถึงธันวาคม 2021 โดยมีนักเรียนถึง 1.12 ล้านคน และบุคลากรในโรงเรียนอีก 157,069 คน

โรงเรียนที่ไม่มีนโยบายให้นักเรียนและบุคลากรใส่หน้ากาก จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อมากกว่าโรงเรียนที่ให้ใส่หน้ากากถึง 7.5 เท่า ในขณะที่โรงเรียนที่ใส่บ้างไม่ใส่บ้าง ไม่บังคับ จะมีความเสี่ยงติดเชื้อแพร่เชื้อมากกว่าโรงเรียนที่ให้ใส่หน้ากาก 2.1 เท่า

ผลจากการศึกษาในอเมริกานี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายการใส่หน้ากากในโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชน ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายนี้ พร้อมรณรงค์ และสนับสนุน กระตุ้นหนุนเสริมให้บุคลากรในสถานศึกษาและนักเรียนนิสิตนักศึกษาใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

2.”Long COVID” Science ฉบับล่าสุด 10 March 2022 ออกเป็นฉบับพิเศษเกี่ยวกับโควิด-19 ล้วนๆ บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่สนใจควรหาอ่านอย่างยิ่ง บทความวิชาการหนึ่งในนั้นสรุปให้เห็นความรู้วิชาการที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาระยะยาวที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อโรคโควิด-19

อาการผิดปกติระยะยาวหลังติดเชื้อ หรือภาวะ Long COVID นั้น พบมากขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก และเกิดได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง โอกาสเกิด Long COVID มีราว 20-40% เกิดได้ทุกเพศ ทั้งชายและหญิง แต่หญิงจะบ่อยกว่าชาย ทุกวัย ทั้งเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ โดยผู้ใหญ่พบบ่อยกว่าเด็ก

ความผิดปกติเกิดขึ้นได้หลากหลายระบบของร่างกาย ทั้งสมอง/ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ต่อมไร้ท่อ กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ผิวหนัง ทางเดินอาหาร รวมถึงอาการทั่วร่างกาย

กลไกที่ทำให้เกิดความผิดปกตินั้น ขณะนี้เชื่อว่าอาจเป็นได้ 4 กลไก ได้แก่ การเกิดการอักเสบตามระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง (Chronic inflammation), การมีไวรัสโควิด-19 หลงเหลือแฝงในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย (Viral persistence), การเกิดภูมิต่อต้านตนเอง (Auto-antibody) และภาวะไม่สมดุลของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเดินอาหาร (Dysbiosis)

…สถานการณ์ไทยเราขณะนี้ การระบาดรุนแรง กระจายทั่ว และสายพันธุ์ย่อย BA.2 ขยายวงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีสมรรถนะในการแพร่เชื้อได้ไวกว่าสายพันธุ์ Omicron ดั้งเดิมอย่าง BA.1

ด้วยสถานการณ์เช่นปัจจุบัน ไม่ใช่เวลามาสร้างกระแสให้คนหลงใหลได้ปลื้ม วาดฝันว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในระยะเวลาไม่กี่เดือน ทั้งที่เป็นไปได้ยาก

ภาวะปกติ หรือ Normal นั้น ใครๆ ก็ล้วนปรารถนา ไม่ใช่แค่ไทย แต่เป็นกันทั้งโลก

แต่ด้วยความรู้จนถึงบัดนี้ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และด้านพฤติกรรมศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่า การระบาดของโควิด-19 แบบ pandemic ทั่วโลกมาหลายปีอย่างไม่หยุดหย่อนนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่อาวุธที่มีอยู่ตอนนี้อย่างวัคซีน ต่อให้จะฉีดกี่เข็ม ก็ยับยั้งการติดเชื้อแพร่เชื้อไม่ได้ แม้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้ บทเรียนจากหลายประเทศที่หวนกลับไปประกาศอิสรภาพให้คนใช้ชีวิตแบบปกติที่คุ้นเคยในอดีต โดยปราศจากการป้องกันตัว ก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นคือ ติดเยอะ ป่วยเยอะ และตาย

ดังนั้น “ความปกติในอดีต” จึงไม่ใช่ความปกติที่จะกลับมาได้ในสภาวะที่ยังระบาดกันแบบนี้ ควรยอมรับเสียทีว่า “ความปกติ” ที่เป็นไปได้ในระยะถัดจากนี้ไป ต้องเป็น”ความปกติใหม่ที่ปลอดภัยและดีกว่าเดิม” ไม่ใช่ “ความปกติที่อันตราย” แบบในอดีต ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงาน

อย่าทำให้เกิด Endemic delusion อย่าทำให้เกิด Pretendemic เลยครับ เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งเรื่อง Long COVID และปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมจะตามมาระยะยาวอย่างมากมาย

การสร้างนโยบายที่ไม่ประมาท ก้าวเดินช้าๆ แต่มั่นคงและปลอดภัยควรเป็นสิ่งที่กระทำ การควบคุมป้องกันโรคในขณะนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอครับ ด้วยความปรารถนาดีเสมอ

อ้างอิง 1. Angelique E et al. School Masking Policies and Secondary SARS-CoV-2 Transmission. Pediatrics. 9 March 2022. 2. COVID-19: 2 Years on. Science. Special issue. 10 March 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่งตามคาด! สายพันธุ์ไม่เปลี่ยน อาการคล้ายหวัด

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี สายพันธุ์ไม่เปลี่ยนอาการคล้ายหวัด แนะ กลุ่มเสี่ยง 608 ระมัดระวังหากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย

โควิดยังพุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 728 ราย ผู้สูงอายุดับ 2 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด

โควิดพุ่ง! ไทยติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 630 ราย ดับเพิ่ม 5 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 630 ราย