LAAB แอนติบอดิ 7พันโดส ถึงไทยแล้ว ฉีดกลุ่มเสี่ยงภูมิต่ำวันแรก

27 ก.ค. 2565- ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการจัดนำร่องฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) ในการป้องกันโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน เป็นวันแรก โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วม

นายอนุทินกล่าวว่า จากการคาดประมาณ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ จำนวนกว่า 500,000 ราย ขณะนี้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) ในการป้องกันโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ลอตแรกจำนวน 7 พันโดสเข้ามาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากที่สั่งซื้อไป 2.5 แสนโดส ซึ่งที่เหลือจะทยอยจัดส่งเข้ามาจนครบภายในปีนี้ สำหรับลอตแรกจะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อฉีดให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ ตามข้อมูลผู้ป่วยที่มีการรวบรวมจัดส่งเข้ามา ซึ่งแต่ละจังหวัดจะดำเนินการกระจายต่อไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ให้สามารถเข้ารับบริการได้สะดวกที่สุด

“ยืนยันว่าบุคลากรทางการแพทย์มีความพร้อมในการใช้ภูมิคุ้มกันตามข้อบ่งชี้ เนื่องจากได้รับการอบรมทำความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว และได้ขอความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกท่านให้บริหารจัดการการฉีด LAAB โดยพิจารณาการฉีดให้เป็นไปด้วยความเสมอภาค และประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน รวมถึงสังเกตอาการภายหลังได้รับ LAAB ตามมาตรฐาน” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนวันนี้เป็นการนำร่องการให้ LAAB แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเป็นวันแรก เพื่อสร้างความมั่นใจ โดยภูมิคุ้มกัน LAAB จะมีแอนติบอดี 2 ชนิดบรรจุมา 2 ขวด โดยจะฉีดเข้าที่สะโพกของผู้ป่วยพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งการฉีด 1 ครั้งประสิทธิผลในการป้องกันโควิดจะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ยืนยันว่า LAAB มีความปลอดภัยและจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ อาการรุนแรง และการเสียชีวิตให้แก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน โดยกลุ่มเป้าหมายสามารถติดต่อเข้ารับการฉีด LAAB ได้ที่สถานพยาบาลตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครกําหนดไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนต่อ อย.ในการนำมาใช้ในการรักษาต่อไปด้วย

“สำหรับประชาชนทั่วไปย้ำว่า ขอให้เข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด โดยสามารถฉีดได้ทุก 3-4 เดือน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สามารถต่อสู้กับเชื้อโควิดได้ เนื่องจากขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ซึ่งจากการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า หลบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าสายพันธุ์ BA.2 จึงยังต้องมาฉีดวัคซีนร่วมกับการเข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อ คือ เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก และตรวจ ATK เมื่อมีอาการหรือมีความเสี่ยง” นายอนุทินกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการให้วัคซีนโควิด 19 เพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด 19 เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยกว่า 1 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้เร่งให้บริการวัคซีนโควิด 19 แก่ประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย ขณะนี้ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 141 ล้านโดส แต่มีประชาชนบางกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น กลุ่มผู้ป่วยฟอกไต กลุ่มผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด 19 จึงได้จัดหาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว LAAB เพื่อนำมาฉีดก่อนการสัมผัสโรคโควิดให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดส่ง LAAB สู่ทุกพื้นที่เพื่อให้บริการได้โดยเร็วที่สุด

ด้านนายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ประชาชนกลุ่มเปราะบางจำนวนมากยังคงวิตกกังวลจากโควิด-19 จึงมีความจำเป็นต้องแยกห่างจากสังคมและคนใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านของโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) ที่มาตรการป้องกันต่างๆ ได้ถูกยกเลิกหรือผ่อนปรนแล้ว เพราะตระหนักว่าร่างกายของตนมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนได้ไม่ดีเท่ากับคนทั่วไป การเริ่มต้นใช้ยาแอนติบอดีในวันนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่จะเอาชนะความกลัวในการใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 และยังเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการร่วมมือกันต้านภัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย”

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด1 แอนติบอดีดังกล่าวสามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในประเทศไทย และสายพันธุ์อื่นๆ ที่มี ณ ปัจจุบัน นอกจากนั้นผลการศึกษาระยะที่ 3 พรูฟเวนท์ (PROVENT) ในการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ยังระบุว่า AZD7442 (LAAB ของแอสตร้าเซนเนก้า) สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 แบบมีอาการได้ 77% จากการวิเคราะห์เบื้องต้น และ 83% จากการวิเคราะห์มัธยฐานที่ระยะเวลา 6 เดือน2

AZD7442 (LAAB ของแอสตร้าเซนเนก้า) ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาในสหภาพยุโรป และขึ้นทะเบียนตำรับยาแบบมีเงื่อนไขจากหน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (MHRA) ของสหราชอาณาจักร เพื่อใช้สำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 นอกจากนี้ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ถูกส่งมอบให้กับอีกหลายประเทศ โดยขณะนี้ บริษัทกำลังดำเนินการขอขึ้นทะเบียนยา AZD7442 ในหลายประเทศทั่วโลกเพื่อการอนุมัติใช้ทั้งในแง่ของการป้องกัน และการรักษาโควิด-19 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่งตามคาด! สายพันธุ์ไม่เปลี่ยน อาการคล้ายหวัด

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี สายพันธุ์ไม่เปลี่ยนอาการคล้ายหวัด แนะ กลุ่มเสี่ยง 608 ระมัดระวังหากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย

โควิดยังพุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 728 ราย ผู้สูงอายุดับ 2 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

โควิดพุ่ง! ไทยติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 630 ราย ดับเพิ่ม 5 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 630 ราย