'หมอธีระ' ชี้โควิดระบาดใหญ่ทะลุ 600 ล้านรายแล้ว

21 ส.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุ 21 สิงหาคม 2565 ว่า

ทะลุ 600 ล้านไปแล้ว…ใช้เวลาราว 2 ปี 9 เดือน

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 624,379 คน ตายเพิ่ม 1,145 คน รวมแล้วติดไป 600,218,960 คน เสียชีวิตรวม 6,470,506 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย อิตาลี และไต้หวัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.69 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 71.35

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

…เทียบไข้หวัดใหญ่สเปน และโควิด-19

ไข้หวัดใหญ่สเปนนั้นถือเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุดในอดีต โดยทำให้คนติดเชื้อไปราว 500 ล้านคน โดยใช้เวลาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 1918 ถึงเมษายน 1920 คิดเป็นเวลาราว 2 ปี 2 เดือน

ในขณะที่โรคโควิด-19…(ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา และไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่) นั้น ก้าวข้ามไข้หวัดใหญ่ไปมาก โดยสถิติล่าสุดวันนี้ทะลุ 600 ล้านไปแล้ว โดยใช้เวลา 2 ปี 9 เดือน

ลองดูช่วงที่โควิด-19 แตะ 500 ล้านคนนั้นพบว่าประมาณวันที่ 9 เมษายน 2022 หากประมาณระยะเวลาก็จะพบว่าเคสแรกในโลกพบเมื่อพฤศจิกายน 2019 นั่นคือใช้เวลาราว 2 ปี 5 เดือน

จะสังเกตว่าระยะเวลาถึง 500 ล้านคนนั้น โควิด-19 พอๆ กับไข้หวัดใหญ่ แต่อย่าลืมว่ายุคสมัยต่างกันถึง 100 ปี โดยปัจจุบันมีความรู้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ สุขอนามัย เทคโนโลยี และอื่นๆ มากกว่าอดีตอย่างมาก แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องของการติดเชื้อนั้นกลับไม่ต่างกันเท่าใดนัก เหตุผลหนึ่งที่พอจะอธิบายได้คือ ความหนาแน่นประชากร และปัจจัยแวดล้อมทางสังคม อาทิ รูปแบบการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยง

อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ต่างกันมากระหว่างอดีตกับปัจจุบันคือ จำนวนผู้เสียชีวิต โดยยุคไข้หวัดสเปนนั้นคาดประมาณว่ามีคนเสียชีวิตราว 17-50 ล้านคน ในขณะที่ยุคโควิด-19 นั้น นับถึงช่วงที่ติดไป 500 ล้านคน มีเสียชีวิตไปราว 6.2 ล้านคน อันเป็นผลมาจากยาและวัคซีน รวมถึงวิทยาการด้านการแพทย์และเทคโนโลยี

ที่น่ากังวลคือ โรคโควิด-19 ไม่ได้หยุดที่ 500 ล้าน แต่การระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ลักษณะการใช้ชีวิตและการป้องกันตัวของประชาชน รวมถึงความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นและทำให้การเข้าถึงบริการที่จำเป็นนั้นไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ หรือไม่มีคุณภาพ เช่น การตรวจโรค การดูแลรักษา การป้องกัน และกลไกการสนับสนุนทางสังคม

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันของไทยเรา การติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันยังสูงมาก จำนวนเสียชีวิตก็ติดอันดับต้นๆ ของเอเชีย และ Top 10-20 ของโลกมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เราตระหนักว่า การป้องกันตัวระหว่างดำรงชีวิตประจำวันถือเป็นเรื่องจำเป็น

วงวิชาการทั่วโลกมิได้กังวลแค่เรื่องติดเชื้อ ป่วย และตาย แต่ปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID คือ Pandora box ที่ไม่อยากให้แจ็คพอตเกิดขึ้น เพราะยังไม่มีความรู้ตกตะกอนดีพอ และยังไม่มีวิธีรักษาที่จำเพาะเจาะจง

การฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยง Long COVID ได้ราว 15%

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การใช้ชีวิตโดยป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นเป็นหัวใจสำคัญ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อาจารย์หมอจุฬาฯ ห่วง ‘ฝีดาษลิง’ มากขึ้นจะควบคุมยาก แนะใส่ใจสุขภาพ

ย่างก้าวของฝีดาษลิงนั้นมีแนวโน้มจะเดินตามรอยเอชไอวี/เอดส์ เพราะ mode of transmission หลักนั้นคือการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ อย่างไรก็ตามจะควบคุมโรคได้ยากกว่า

ผลวิจัยชี้ชัดหยุดงานช่วงติดโควิดลดการแพร่เชื้อในสถานที่ทำงานถึง 44%

'หมอธีระ' อัปเดตความรู้เรื่องโควิด ชี้นโยบายให้หยุดงานเมื่อป่วยช่วยลดการแพร่เชื้อในที่ทำงานถึง 44% ย้ำ Long COVID สัมพันธ์กับการคงค้างของไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัสในร่างกาย

'หมอธีระ' ยกตัวอย่างดินแดนมะกันจัดประชุมติดโควิดรวดเดียว 35 ราย!

'หมอธีระ' ยกตัวอย่างการประชุมของดินแดนมะกัน ทำติดโควิดรวดเดียว 35 ราย สะท้อนการรวมกลุ่มทำกิจกรรมด้วยกันนานๆ ยังมีความเสี่ยงแพร่เชื้อติดเชื้อจำนวนมากได้

'หมอยง' ชี้เปิดเทอม - เลือกตั้งปลุกโควิด - 19 ระบาดเพิ่ม

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสเฟซบุ๊ก ระบุว่า โรคโควิด 19 ได้ปรับตัวเป็นโรคประจำฤดูกาล และสำหรับประเทศไทยจะเริ่มระบาดเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน