อาจารย์หมอจุฬาอัปเดตความรู้เรื่องโควิดจากแดน 'มะกัน-ไส้กรอก'

'หมอธีระ' อัปเดตเรื่องโควิด-19 ชี้ผลวิจัยมะกันบ่งชัดการใส่หน้ากากอนามัยในโรงเรียนยังจำเป็น ส่วนผลศึกษาเยอรมนีตอกย้ำ Long COVID มีผลต่อสมาธิและความจำ

10 พ.ย.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 270,040 คน ตายเพิ่ม 653 คน รวมแล้วติดไป 638,679,312 คน เสียชีวิตรวม 6,608,881 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 87.59

...อัปเดตความรู้โควิด-19
"นโยบายการใส่หน้ากากในสถานศึกษามีความสำคัญ" Cowger TL และคณะ จากมหาวิทยาลัย Harvard ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ระดับโลก New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ดูอัตราการเกิดการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ในนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน จำนวน 72 พื้นที่ (school districts) โดยมีนักเรียนจำนวน 294,084 คน และบุคลากรจำนวน 46,530 คน ตั้งแต่ช่วงปี 2564-2565 (ระยะเวลา 40 สัปดาห์ ติดตามจนถึง 15 มิถุนายน 2565)

พบว่า โรงเรียนที่ยกเลิกการใส่หน้ากากนั้นมีอัตราการติดเชื้อแพร่เชื้อของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนสูงกว่าโรงเรียนที่ยังมีนโยบายให้ใส่หน้ากากอย่างชัดเจน ผลการศึกษานี้ตรงไปตรงมา สอดคล้องกับธรรมชาติของโรคและความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อที่เราทราบกันดี และตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันตัวเอง ทั้งนักเรียน และคุณครู เพราะการติดเชื้อนั้นนอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ในโรงเรียนแล้ว ยังจะนำพาไปสู่คนในครอบครัวและสังคมต่อกันไปเป็นโดมิโน

ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หากรวมกลุ่มคนจำนวนมาก อยู่กันใกล้ชิด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็น

"ปัญหาด้านความคิดความจำหลังติดโควิด-19" เป็นที่ทราบกันดีว่า การติดโควิด-19 นั้น จะทำให้เกิดความผิดปกติระยะยาวได้ทุกระบบในร่างกาย (Long COVID) โดยเกิดได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ มีอาการน้อย และมีอาการป่วยรุนแรง และเป็นได้ทุกเพศทุกวัย มากน้อยแตกต่างกันไป หญิงเสี่ยงกว่าชาย ป่วยรุนแรงเสี่ยงกว่าอาการน้อย และพบมากในช่วงวัยทำงานมากกว่าวัยอื่นๆ

อาการผิดปกติเรื่องหนึ่งที่พบบ่อย คือปัญหาเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความคิดความจำ (brain fog) และสมาธิ

ล่าสุด Venkataramani V และคณะ จากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ได้เผยแพร่ผลการศึกษาใน New England Journal of Medicine วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 นำเสนอผลการศึกษาในหนูทดลอง ที่ชี้ให้เห็นกลไกการเกิดความผิดปกติในสมอง และเป็นสมมติฐานที่อาจอธิบายกลไกที่เกิดปัญหา Brain fog ในคนได้
โดยพบว่า หลังจากที่ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 แล้ว ไวรัสจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์สมอง และกระตุ้นการทำงานของเซลล์ Microglia และเกิดการสูญเสียของเซลล์สมองประเภท Oligodendrocytes รวมถึงการสูญเสียปลอก Myelin ที่หุ้มเส้นใยประสาท Axon และการลดลงของการสร้างเซลล์ประสาทในส่วน Hippocampus จนกระทั่งนำไปสู่ปัญหาด้านความคิดความจำ (Cognitive impairment) ตามมา

ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานที่ Cao J และคณะ ได้เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Cell เมื่อกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ชี้ให้เห็นกลไกการอักเสบของเซลล์สมองหลังการติดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกัน

...การป้องกัน Long COVID ที่ดีที่สุดคือ "การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ" การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง
1. Cowger TL et al. Lifting Universal Masking in Schools — Covid-19 Incidence among Students and Staff. New England Journal of Medicine. 9 November 2022.
2. Venkataramani V et al. Cognitive Deficits in Long Covid-19. New England Journal of Medicine. 10 November 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

‘หมอมนูญ’ เผยผลติดตามสถานการณ์ 5 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่  ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อาร์เอสวี (RSV) และ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV)

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด

‘หมอยง’ ย้ำโควิดยังสายพันธุ์โอมิครอน JN.1 ไม่รุนแรง หายไข้-ไอมาก 1 วัน ใส่แมสทำงานได้

โควิด 19 ได้เปลี่ยนแปลงลดความรุนแรงลง จนปัจจุบันความรุนแรงเท่ากับโรคไข้หวัดใหญ่ RSVและเป็นการระบาดตามฤดูกาล