สธ. ยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 พบวัยเด็ก-วัยทำงาน ติดเชื้อมากสุดในรอบสัปดาห์

21 ก.พ.2565 - ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควด-19 เริ่มฉีดในเด็กเพิ่มขึ้น ตั้งแต่อายุ 5-17 ปี โดยภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด -19ข้อมูลถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เข็มที่ 1 จำนวน 53,126,900 ราย หรือ ร้อยละ 76.4 ส่วน 2 เข็ม ฉีดแล้ว 49,471,890 ราย หรือ ร้อยละ 71.1 ขณะที่เข็มที่ 3 ขึ้นไปฉีดแล้ว 19,126,536 ราย หรือ ร้อยละ 27.5 จะพบว่า มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคนที่ยังไม่ฉีด ขอให้ไปรับบริการ และคนที่ฉีด 2 เข็มแล้ว หากจะป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนดีขึ้นต้องฉีดเข็มที่ 3

นพ.จักร​รัฐ​ กล่าวว่า​ผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็มที่ 3 ไปแล้ว ร้อยละ 27.7 หวังว่าหากขึ้นไปถึงร้อยละ 70 การป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตในผู้สูงอายุจะลดลงได้ ส่วนอีกกลุ่ม เป็นเด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดแล้วร้อยละ 7.7 ซึ่งฉีดเพิ่มต่อเนื่อง จึงเชิญชวนเด็กๆ ที่ต้องไปโรงเรียน และที่บ้านมีผู้สูงอายุ ขอให้พาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะป้องกันทั้งในเด็กและผู้สูงวัย” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ ยังกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดกว่า 424 ล้านราย รายใหม่วันนี้ 1.2 ล้านราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 5.2 พันราย สะสม 5.9 ล้านราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 1.39 อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 1 ล้านกว่าราย สะสมทั้งสัปดาห์ เฉลี่ยวันละ 12.4 ล้านราย เสียชีวิตสะสมรายสัปดาห์ 66,266 ราย ทั้งนี้ ภาพรวมยุโรป สหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง ขณะที่เอเชีย รัสเซีย ยังสูงอยู่ที่ 1.2 ล้านคน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น​ ส่วนเวียดนาม ตัวเลขก็ยังสูง ทั้งสัปดาห์ติดเชื้อ 2.6 แสนราย เรียกว่า รอบๆ บ้านเราติดเชื้อขาขึ้น จึงต้องติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาพรวมทั่วโลก ในฝั่งยุโรปและอเมริกาเริ่มลดลง แต่ฝั่งเอเชียเพิ่มขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก” นพ.จักรรัฐ กล่าวและว่า กรณีสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดทั่วโลก มี BA.1 และ BA.2 โดยสายพันธุ์ BA.2 มีความรุนแรงใกล้เคียง BA.1 แต่มีข้อมูลว่า BA.2 จะติดเชื้อและแพร่เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า สำหรับประเทศไทย ขณะนี้เริ่มพบ BA.2 ประมาณ ร้อยละ 50 จากการตรวจหาสายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นพ.จักรรัฐ กล่าวเพิ่มเติม​ว่า สำหรับประเทศไทย ติดเชื้อเฉลี่ย 14 วัน ประมาณ 15,981 ราย แบ่งเป็น ในประเทศ 15,793 ราย ต่างประเทศ 188 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 จำนวน 507,763 ราย​ ส่วนสถานการณ์ตอนนี้เหมือนเป็นเส้นตรงขึ้นมา จึงต้องติดตามการติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นในคลัสเตอร์ ในครอบครัว และชุมชน โดยขณะนี้ มีผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ 166,397 ราย แบ่งเป็น รักษาใน HI และ CI และโรงพยาบาล (รพ.) สนาม 89,326 ราย อยู่ใน รพ.มีอาการน้อยๆ อยู่ที่ 76,275 ราย ทั้งนี้ ข้อมูลวันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ 2565 กรณีผู้ติดเชื้อระลอกเดือนมกราคม รวมจำนวน 115,917 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสถานที่เสี่ยงต่างๆ หรือเป็นคลัสเตอร์ ทั้งโรงเรียน ตลาด แคมป์คนงาน โรงงาน ร้านอาหาร อันนี้คือ ร้อยละ 54 ส่วนอีก ร้อยละ 44.5 ผู้สัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัว หรือกลุ่มใกล้ชิดเสี่ยงสูง” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า กรณีปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยวันนี้พบผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้นเป็น 796 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 202 ราย เสียชีวิตวันนี้ 32 ราย โดยเฉลี่ยเสียชีวิต 14 วัน อยู่ที่ 25 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงวัยและผู้มีโรคเรื้อรัง

“โดยเฉพาะ ร้อยละ 60 ไม่ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว และไม่ฉีดบูสเตอร์ โดส อย่างวันนี้เสียชีวิต 32 รายอยู่ในกลุ่ม 608 ซึ่งมี 16 ราย ไม่ฉีดวัคซีนสักเข็ม หรือฉีดเพียง 1 เข็ม จึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้กลุ่มนี้รับวัคซีน เชื้อโอมิครอนที่มาประเทศไทย สำหรับอาการป่วยจากข้อมูล 53,709 ราย พบว่าไม่มีอาการ ร้อยละ 53.1 มีอาการป่วย ร้อยละ 46.9 ส่วนใหญ่เจ็บคอ ไอ หรือมีไข้ต่ำๆ เป็น 3 อาการหลักๆ ที่พบตอนนี้ หากเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 อาจกลายเป็นอาการหนัก เชื้อลงปอดได้ ดังนั้น สังเกตอาการแรกๆ หากตากฝนมา มีเจ็บคอ ไอ ให้รีบตรวจ ATK เลย” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดเชื้อในกลุ่มเด็ก 0-9 ปี เริ่มพบมากขึ้นเรื่อยๆ และคนทำงาน พบปะคนก็มีโอกาสติดเชื้อสูง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่ต้องเตือนภัยระดับ 4 เนื่องจากการติดเชื้อขณะนี้แบ่งสีเป็นส้ม และ แดง โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ติดเชื้อกระจายทั่วประเทศแล้ว เป็นพื้นที่สีแดงและสีส้ม โดยสีแดงมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ต่อประชากรแสนคน ส่วนสีส้มประมาณ 10-99 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งกลุ่มอายุที่ติดเชื้อพบว่า เพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม แต่มากสุดคือ วัยทำงาน และวัยเด็ก ดังนั้น การทำงาน การรับประทานข้าวด้วยกัน การมีกิจกรรมร่วมกันยังเป็นปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่วนอาการปอดอักเสบในกลุ่มวัยต่างๆ นั้น กลุ่มเด็กแม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ป่วยหนักไม่เพิ่มมาก ถ้าเทียบกับอายุ 60 ปีขึ้นไป อาการจะมากขึ้น ส่วนวัยทำงานถ้าอายุ 50 กว่าปี ที่มีโรคประจำตัวก็จะทำให้เพิ่มขึ้นได้

นพ.จักรรัฐ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มจังหวัดที่ต้องระวังคือ 18 จังหวัด ที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต กาญจนบุรี กระบี่ พังงา นนทบุรี ปทุมธานี ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบางวัน บางวันก็ลดลง อย่างกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ลดลงบางวัน แต่แนวโน้มยังขึ้นอยู่​ ซึ่งจากการคาดการณ์พยากรณ์โรค อย่างเส้นสีน้ำเงิน ผู้ติดเชื้อแต่ละวันได้ทะลุการคาดการณ์เส้นสีน้ำตาลแล้ว แสดงว่า ขณะนี้ค่อนข้างผ่อนคลาย มาตรการป้องกันควบคุมโรคอาจละเลย เมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่ม ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มตาม แม้จะไม่ได้เพิ่มมาก แต่ต้องระวังกลุ่ม 608 ผู้สูงวัยและผู้มีโรคเรื้อรัง

ด้านนพ.ธงชัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศอยู่ในช่วงการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แม้ว่าจะมีการติดเชื้อรายวันจำนวนมาก แต่พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโอมิครอนมีความรุนแรงต่ำ มีการเสียชีวิตต่ำลง แต่หากมีการปล่อยให้เกิดการระบาดมากยิ่งขึ้นจะทำให้ควบคุมอยาก จากข้อมูลพบว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อจะอยู่ในวัย 18 ขึ้นไป ซึ่งพบมากในกลุ่มเด็กเล็ก วัยทำงาน และเพื่อเป็นการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ลดการแพร่ระบาดลงให้อยู่ในจุดที่สามารถควบคุมได้ กระทรวง​สาธารณสุข​ขอให้ประชาชนช่วยกันป้องกันตัวเอง เพราะโควิดสามาถติดต่อได้ง่ายในบางรายมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย เมื่อเดินทางไปพบปะผู้อื่นก็จะส่งให้มีการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัง ดังนั้นหากมีความเสี่ยงขอให้กักตัวเอง มาตรการในการควบคุมโรคยังมีความสำคัญ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข​ จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับการเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 4 ทั่วประเทศ

สำหรับระดับเตือนภัยป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทย จะมีทั้งหมด 5 ระดับ คือ ระดับ 1 ใช้ชีวิตได้ปกติ แบบ COVID-19 Free Setting ประชาชนสามารถ โดยสารขนส่งสาธารณะได้ การเดินทางเข้าประเทศโดยปกติ ระดับ 2 เร่งเฝ้าระวัง คัดกรอง เลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่ม 1,000 คนขึ้นไป งดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ปิดหรือแออัด เลี่ยงร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มจำนวนมาก เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท ระดับ 3 จำกัดการรวมกลุ่ม ทำงานจากที่บ้าน 20 -​ 50% เลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่ม 200 คนขึ้นไป เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท งดไปต่างประเทศ ระดับ 4 ปิดสถานที่เสี่ยง ทำงานจากที่บ้าน 50 -​ 80% งดไปรับประทานร่วมกัน งดดื่มสุราในร้าน งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท เลี่ยงเข้าใกล้ผู้อื่นนอกบ้าน คัดกรองก่อนเดินทาง ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ ใช้ระบบกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ ระดับ 5 จำกัดการเดินทางและกิจกรรมต่างๆ ทุกคนงดออกนอกบ้าน หากจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิต เช่น ตรวจ รักษา ซื้ออาหาร ของใช้ งดรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน งดใกล้ชิดกันในบ้าน รวมถึงเคอร์ฟิว ซึ่งจะมีการกำหนดมาตตรการตามระดับเตือนภัยทั้ง 5 ระดับด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลห่วงยอดโควิดพุ่ง แต่ขอให้มั่นใจโรงพยาบาลพร้อมรับมือ!

'เกณิกา' เผยรัฐบาลห่วงใยยอดโควิดยังพุ่งหลังสงกรานต์ ขอให้ประชาชนมั่นใจโรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมรับมือผู้ป่วยโควิด แนะใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่แออัด รีบตรวจ ATK หากมีอาการคล้ายหวัด

เร่งทำงานหนัก 'ชลน่าน' ลงพื้นที่ปัตตานีพาหมอไปหาประชาชนฯ

หมอชลน่านลงปัตตานีเปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ จัดคลินิกคัดกรองความผิดปกติบนใบหน้าและมือเด็ก ช่วยเข้าถึงการผ่าตัดแก้ไขปัญหา

โควิดพุ่งตามคาด! สายพันธุ์ไม่เปลี่ยน อาการคล้ายหวัด

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี สายพันธุ์ไม่เปลี่ยนอาการคล้ายหวัด แนะ กลุ่มเสี่ยง 608 ระมัดระวังหากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย